xs
xsm
sm
md
lg

เปิด3มูลเหตุบึ้มกลางกรุง "ฝ่ายมั่นคง"ยังฟันธงลำบาก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

**คงยังเร็วเกินไปที่จะฟันธง ถึงสาเหตุของการก่อวินาศกรรมที่แยกราชประสงค์ เมื่อช่วงหัวค่ำของวันที่ 17 ส.ค.ที่ผ่านมา ว่าเป็นฝีมือของกลุ่มไหน และมีแรงจูงใจมาจากเรื่องอะไร แต่อย่างหนึ่งที่ชี้ชัดคือ เป็นการก่อวินาศกรรมที่มุ่งเกิดความเสียหายแก่ชีวิตและทรัพย์สินในวงกว้าง จนมีผู้บาดเจ็บนับร้อยราย และเสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 20 ราย
ทุก“ปัจจัยบ่งชี้”สะท้อนให้เห็นถึงความอำมหิตของผู้ก่อเหตุ ที่ไม่คำนึงถึงความสูญเสียที่จะเกิดขึ้น ในทางกลับกัน ต้องการให้เกิดการสูญเสียชีวิตมากที่สุดมากกว่า ทั้งชนิดของระเบิดที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง ยังผลให้เกิดผลที่รุนแรงไม่ใช่เพียงแค่แสดงสัญลักษณ์ หรือสร้างสถานการณ์ทางการเมือง เหมือนที่เคยเกิดขึ้นหลายครั้งในระยะหลังเท่านั้น
รวมไปถึงการเลือกช่วงเวลาช่วงค่ำ ที่มีประชาชนสัญจรไปมา ทั้งที่เลิกงาน และเป็นเวลาที่นักท่องเที่ยวจากต่างประเทศนิยมออกมาท่องเที่ยวตามสถานที่ต่างๆ เนื่องจากอากาศไม่ร้อนมากนัก ที่สำคัญยังเป็นช่วงเวลาที่ดี สำหรับการแย่งชิง“พื้นที่ข่าว”ในแง่ของการสร้างผลสั่นสะเทือนให้ปฏิบัติการบรรลุเป้าหมาย จะเห็นได้ว่า รายการข่าวค่ำของทุกช่องของประเทศไทย เกาะติดรายงานเหตุการณ์อย่างต่อเนื่องตั้งแต่เกิดเหตุ รวมไปถึงสำนักข่าวจากต่างประเทศด้วย
ในส่วนของสถานที่ ก็เชื่อว่ามีการคัดสรรเลือกเฟ้นมาเป็นอย่างดี เพราะ“แยกราชประสงค์”ถือเป็นใจกลาง และเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญทางเศรษฐกิจกรุงเทพฯ มีทั้งห้างสรรพสินค้าระดับไฮเอนด์ ออฟฟิส สำนักงานบริษัท ทั้งในและต่างประเทศ และเป็นจุดศูนย์รวมของโรงแรมระดับห้าดาวหลายแห่ง ที่นักท่องเที่ยวเลือกเข้าพัก นอกจากนี้ “ศาลพระพรหม”ก็เป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวเอเชีย ที่ต้องเดินทางมาสักการะ หากมาเยือนไทย จะเห็นได้ว่ามีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต ที่เป็นนักท่องเที่ยว มาจาก จีน ฮ่องกง สิงคโปร์ และมาเลเซีย หลายต่อหลายราย
**นับว่าปฏิบัติการก่อวินาศกรรมที่โหดเหี้ยมครั้งนี้ เข้าเป้า และได้ผล ทั้งในแง่ผลกระทบทางลบด้านเศรษฐกิจ และบรรยากาศการท่องเที่ยว ทั้งยังลดความน่าเชื่อถือของรัฐบาลอีกด้วย
พลันที่เกิดเหตุร้ายขึ้น ก็มีการวิเคราะห์กันไปต่างๆ นานา ถึงสาเหตุและผู้ที่อยู่เบื้องหลัง บ้างก็ว่า “ฝ่ายทหาร”สร้างสถานการณ์เพื่อความชอบธรรมในการอยู่ในอำนาจ และเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ ของการนำเสนอร่างรัฐธรรมนูญที่เป็นไคลแมกซ์สำคัญๆ ในโรดแมปของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แต่เมื่อวิเคราะห์ลงลึกแล้ว จะเห็นว่า ผลจากการระเบิดครั้งนี้ “รัฐบาลไทย”คือผู้ที่สูญเสียมากที่สุด นอกเหนือจากในแง่เศรษฐกิจ การท่องเที่ยว และภาพลักษณ์ของประเทศแล้ว ยังถูกท้าทายอำนาจรัฐอย่างชัดเจน
**ประเมินในมุมนี้ต้องถามว่า ได้คุ้มเสียหรือไม่
ขณะที่ฝ่ายรัฐบาลเอง นอกเหนือจากต้องถูกตำหนิด้านการข่าว และมาตรการรักษาความปลอดภัยแล้ว ยังคงต้องพิจารณาในแง่การ“ให้ข่าว”ที่รอบคอบมากกว่านี้ โดยเฉพาะบรรดา“กระบอกเสียง”ของรัฐบาล และคสช. ที่เหมือนจะสรุปเสร็จสรรพไปแล้วว่า เป็นฝีมือของ“ฝ่ายตรงข้ามรัฐบาล”โดยระบุถึงสาเหตุของการระเบิดว่า เป็นการกระทำของกลุ่มบุคคลใด แต่มีแนวโน้มว่าอาจจะเป็นกลุ่มเดิมๆ ที่เสียประโยชน์และต้องการสร้างสถานการณ์วุ่นวายในประเทศ
ถือเป็นการด่วนสรุปที่รวดเร็วเกินไป ในสถานการณ์ที่ค่อนข้างละเอียดอ่อน เพราะฝ่ายตรงข้าม หรือกลุ่มเดิมๆ ที่เสียประโยชน์ ถูกเชื่อมโยงไปถึง“คนเสื้อแดง” อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภายหลังจากที่“ทักษิณ ชินวัตร”และ “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร”เพิ่งเรียงหน้าออกมาวิพากษ์วิจารณ์ ร่างรัฐธรรมนูญไปหมาดๆ สำทับกับ “เพจคนเสื้อแดง”ในเฟซบุ๊ก ที่มีการโพสต์ข้อความในลักษณะเตือนภัยว่า จะเกิดเหตุการณ์ในกรุงเทพฯ พร้อมระบุช่วงเวลา 14 –18 ส.ค.นี้ ไว้ด้วย แถมหลังมีการระเบิด ก็ยังมีการโพสต์ข้อความตอกย้ำด้วยว่า มันเกิดขึ้นแล้ว
ถามว่า เหตุการณ์นี้ “คนเสื้อแดง”หรือ “ฝ่ายทักษิณ”ได้ประโยชน์หรือไม่ ก็ต้องบอกว่า ในแง่ลดความน่าเชื่อถือของรัฐบาล คสช.อาจจะได้ประโยชน์บ้าง แต่หากมอง“เกมยาว”แล้วก็ต้องบอกว่า ไม่ใช่เรื่องฉลาดนักที่ “ฝ่ายทักษิณ”จะเลือกเดินเกมนี้ เพราะระเบิดหนนี้ อาจกลายเป็น “ข้ออ้าง” ที่รัฐบาลทหารหยิบยกขึ้นมาใช้อยู่ในอำนาจต่อไป เพื่อควบคุมสถานการณ์ที่อาจจะลุกลามปลายบาน
ประเมินในมุมนี้ต้องถามว่าได้คุ้มเสียหรือไม่เช่นกัน
ทั้งนี้“ฝ่ายความมั่นคง”ได้วิเคราะห์มูลเหตุของระเบิดไว้ 3 แนวทางหลัก คือ เรื่องทางการเมืองภายในประเทศ ทั้งการสร้างสถานการณ์ และ การแสดงออกของฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลคสช. โดยเลือก“แยกราชประสงค์”ที่ถือเป็นพื้นที่เชิงสัญลักษณ์ทางการเมือง เพราะถูกใช้เป็นพื้นที่การชุมนุมทางการเมืองบ่อยครั้ง ในการก่อเหตุ แต่อาจจะขัดแย้งไปบ้าง ในส่วนของชนิดของระเบิด และวิธีการก่อเหตุ ที่ไม่ปรากฎว่า การสร้างสถานการณ์ทางการเมืองครั้งใด หรือมีกลุ่มใด ที่มีขีดความสามารถในการใช้ระเบิดที่มีอาณุภาพทำลายสูงขนาดนี้ เพราะการสร้างสถานการณ์ “ก่อกวน”ไม่มุ่งสร้างความสูญเสียมากเช่นนี้ ดูได้จากเหตุการณ์ระเบิดที่บริเวณสถานีรถไฟฟ้าสยาม เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา
อีกมูลเหตุหนึ่งที่ถูกจับตา คือ สถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งอาจจะถือว่ามีน้ำหนักน้อยที่สุด เพราะรูปแบบการก่อความไม่สงบนั้น ยังยึดถือการสร้างสถานการณ์ในพื้นที่เป็นหลัก น้อยครั้งที่จะเชื่อมโยนงกับเหตุการณ์นอกพื้นที่ โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯ ที่ไม่ค่อยปรากฏให้เห็น
สุดท้ายที่มองข้ามไม่ได้คือ กลุ่มก่อการร้ายต่างชาติ ด้วยสถานการณ์ก่อการร้ายทั่วโลก ที่ยังคงมีความรุนแรงเกิดขึ้นบ่อยครั้งและต่อเนื่อง แม้ฝ่ายความมั่นคงจะยังยืนยันว่า ประเทศไทยไม่ใช่เป้าหมายของกลุ่มก่อการร้าย แต่ล่าสุดก็มีประเด็นเรื่องการส่งกลับ“ชาวอุยกูร์”ให้แก่ทางการจีน จนสร้างความไม่พอใจให้แก่ ทั้งสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป (อียู) ที่มองว่าไทยทำไม่ถูกต้อง โดยเฉพาะประเทศตุรกี ที่มีชาวอุยกูร์ อาศัยอยู่จำนวนมาก จนมีผู้ประท้วงกลุ่มหนึ่งได้ก่อเหตุโจมตีสถานกงสุลไทย ที่ตั้งอยู่ในเมืองอิสตันบูล ประเทศตุรกี
ยิ่งเมื่อปรากฏภาพชายที่มีลักษณะคล้ายชาวต่างชาติ เป็นผู้ต้องสงสัย ที่นำระเบิดไปวางบริเวณรั้วของศาลพระพรหม จึงยิ่งถูกเชื่อมโยงกับกระบวนการก่อการร้ายสากลมากขึ้นไปอีก
ถือเป็น 3 แนวทางกว้างๆ ที่ “ฝ่ายความมั่นคง”ประเมินถึงมูลเหตุ ของการระเบิดกลางกรุงครั้งนี้ แต่ก็ยังไม่สามารถสรุปได้ จนกว่าจะมีพยานหลักฐานเพิ่มเติม หรือสามารถจับกุมผู้ต้องสงสัยได้
ถึงนาทีนี้คงยัง“ฟันธง”ไม่ได้ถึง“มูลเหตุ”หรือ “ใคร”เป็นผู้ก่อเหตุ แต่สิ่งหนึ่งที่สะท้อนได้อย่างชัดเจนคือ มาตรการรักษาความปลอดภัยในกรุงเทพฯ ที่ไม่มีประสิทธิภาพ
**ต่อจากนี้“รัฐบาล คสช.”จึงมีการบ้านเพิ่มในการสร้างความมั่นใจในการป้องกันเหตุวินาศกรรมให้แก่ทั้งคนไทย และชาวต่างชาติ พร้อมๆ กับการล่าตัว“คนร้าย”จิตใจเลวทรามมาลงโทษให้ได้โดยเร็ว
กำลังโหลดความคิดเห็น