xs
xsm
sm
md
lg

ยุทธศาสตร์โลกล้อมประเทศไทย : เปิดตาผู้นำไทยเรื่องพลังงานแสงอาทิตย์

เผยแพร่:   โดย: ประสาท มีแต้ม

เมื่อคืนวันศุกร์ (21 สิงหาคม) ผมได้รับเชิญให้เป็นวิทยากรนำเสนอเรื่องพลังงานแสงอาทิตย์โดยเฉพาะอย่างยิ่งโซลาร์เซลล์ให้กับกลุ่ม “เครือข่ายพัฒนาศักยภาพผู้นำการสร้างสุขภาวะ (คศน.)” วัตถุประสงค์ของผู้จัดต้องการให้ผมนำเสนอบทเรียนความสำเร็จของต่างประเทศ และปัญหาเชิงกฎหมายที่เป็นอุปสรรคของประเทศไทย

หลังจากผมพูดจบคุณหมอท่านหนึ่งซึ่งเป็นผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานรัฐแห่งหนึ่งได้กรุณาให้ความเห็นที่น่าสนใจมาก ท่านเสนอว่าลองเปรียบเทียบกับ “โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค” ซึ่งนายแพทย์สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ เป็นผู้ศึกษาเรื่องดังกล่าวมาอย่างยาวนานและครอบคลุมทุกด้าน มีข้อมูลพร้อม คุณหมอท่านนี้บอกว่า คุณหมอสงวนไม่ได้มองเรื่องการรักษาพยาบาลเป็นแค่ปัญหาการมีเงินหรือไม่มีเงินรักษา แต่มองว่าเป็นเรื่องของศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ซึ่งได้รับการบัญญัติในรัฐธรรมนูญปี 2540 ที่ทุกคนต้องได้รับการดูแลและคุ้มครองจากรัฐ

คุณหมอสงวนจึงได้นำแนวคิดและวิธีการที่ได้ศึกษามาอย่างเป็นระบบไปเสนอกับพรรคการเมือง ในที่สุดพรรคไทยรักไทยก็รับไปเป็นนโยบายและพัฒนามาจนถึงปัจจุบัน คุณหมอท่านนี้ก็กรุณาแนะนำว่า พวกที่เคลื่อนไหวเรื่องพลังงานน่าจะลองคิดแนวทางเดียวกันนี้บ้าง

ผู้ร่วมเสวนาอีกท่านหนึ่งซึ่งเป็นนักเรียนเก่าเยอรมันได้แสดงความเห็นว่า ในตอนนั้น (ประมาณปี 2542) ระบบโรงพยาบาลเอกชนยังไม่เข้มแข็งเท่าทุกวันนี้ โครงการ 30 บาทจึงเกิดขึ้นได้ แต่ระบบพลังงานไทยเป็นระบบผูกขาดซึ่งกลุ่มทุนผูกขาดมีอำนาจเหนือพรรคการเมือง และเหนือรัฐบาลด้วย จึงเป็นเรื่องยากมากที่พรรคการเมืองจะยอมรับไปเป็นนโยบายในเรื่องนี้เพราะเป็นผลประโยชน์ของเขา

ผมเองก็มองเรื่องพลังงานเป็นเรื่องของสิทธิมนุษยชนที่องค์การสหประชาชาติได้รับรองเป็นข้อแรกในปฏิญญาสากลว่า “มนุษย์ทุกคนเกิดมาเท่ากันในศักดิ์ศรีและสิทธิ ผู้ใดจะพรากสิทธิดังกล่าวออกไปจากผู้ใดไม่ได้” นอกจากนี้ผมยังได้นำบทสรุปของบางคนมาเล่าให้ฟังว่า “พลังงานทั้งหมดเป็นสิ่งที่ธรรมชาติจัดมาให้อย่างอิสระและเป็นประชาธิปไตย แต่การผูกขาดของบริษัทพลังงานได้คุกคามต่อสิ่งแวดล้อมและโลกของเรา” ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดจากการเผาเชื้อเพลิงพลังงานทำให้ธรรมชาติเสียสมดุล ทำให้เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติที่รุนแรงมาก แต่คนไทยได้ถูกพรากสิทธิการใช้ประโยชน์จากดวงอาทิตย์ให้เต็มศักยภาพซึ่งเทคโนโลยีดังกล่าวมาถึงแล้ว แต่รัฐบาลไทยคุ้มครองเฉพาะให้เราได้ตากผ้า และตากปลาเท่านั้น ไม่ยอมให้เราใช้ผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้เองและแบ่งปันกับเพื่อนบ้านข้างๆ

ผมได้นำบทเรียนของประเทศเยอรมนีซึ่งสรุป ดร.เฮอร์มานน์ เชียร์ (อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร) ว่า เขาเน้นที่เครือข่ายประชาชนเป็นหลัก โดยสามัคคีกับสมาคมธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลาง ทั้งสมาคมเกษตรกร ผู้รับเหมาก่อสร้าง ธนาคารและธุรกิจโซลาร์เซลล์ ทั้งระดับประเทศ สหภาพยุโรป รวมทั้งสมาคมพลังงานลมโลก ดร.เฮอร์มานน์ ยังกล่าวในเชิงตำหนิผู้นำในระบบการเมืองของรัฐด้วยว่าเป็นพวก “ดีแต่ปาก ชอบแก้ตัว และขาดความกล้าหาญที่จะยกเลิกหรือลดผลประโยชน์ของพ่อค้าพลังงานฟอสซิลลงมา”

เสียดายที่ผมไม่ได้พูดประเด็นสำคัญไป 2 ประการคือ หนึ่ง ความสำเร็จของประเทศเยอรมนีในการออกกฎหมายเพื่อจัดลำดับความสำคัญให้กับพลังงานหมุนเวียนสามารถขายไฟฟ้าเข้าสู่สายส่งได้ก่อนนั้นโดยไม่จำกัดจำนวน เขาใช้สมาชิกรัฐสภาเพียงไม่กี่คนเท่านั้นเป็นผู้เสนอ และที่สำคัญมากคือไม่ได้เป็นสมาชิกของพรรครัฐบาลด้วยแต่เขาทำได้เพราะประชาชนสนับสนุน ประการที่สอง ในกลุ่มหนึ่งของ ดร.เฮอร์มานน์ (ผมจำไม่ได้ว่ากลุ่มอะไร) ได้ชูคำขวัญว่า “ความรู้เพื่อประชาชน การสร้างเครือข่ายเพื่อการพัฒนา” ซึ่งก็สอดคล้องกับแนวคิดของ คศน. ที่ใช้ความสำเร็จของคุณหมอสงวนมาเป็นต้นแบบ

สิ่งที่ผมเน้นในเวทีเสวนาคืนนั้นก็คือ การสร้างเครือข่ายของพลเมืองผู้ตื่นรู้ แล้วขยายผลออกไปเหมือนกับ “โครงการเสียดายแดด” ที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคกำลังดำเนินการ รวมทั้งเครือข่ายอื่นด้วยซึ่งก็เติบโตอย่างรวดเร็วพอสมควร

สิ่งที่ผมได้นำเสนอในคืนนั้นก็คือ การใช้ความสำเร็จของต่างประเทศมาลบล้างมายาคติต่างๆ นานาของผู้นำประเทศเรารวมทั้งคนไทยส่วนใหญ่ ดังชื่อบทความในวันนี้แหละครับ

ในตอนเช้าก่อนเข้าห้องเรียนที่ชื่อว่า “การรู้เท่าทันอนาคต (Future Literacy)” เพื่อนร่วมเสวนาได้เล่าให้อาจารย์เศรษฐศาสตร์คนหนึ่งซึ่งเพิ่งมาใหม่ ถึงประเด็นการแลกเปลี่ยนเพื่อนำไปสู่ความสำเร็จที่ผมได้เล่ามาแล้ว อาจารย์หนุ่มท่านนี้เสนอว่า “เราก็ควรใช้ทุกวิธีการ เหมือนกับคีมที่หนีบทั้งข้างล่างและข้างบน”

ผมรู้สึกว่า เวทีที่ คศน.จัดในครั้งนี้ทำให้ผมได้เรียนรู้ในสิ่งที่มีค่ามากครับ ก่อนจากกันในตอนบ่ายคุณหมออีกท่านหนึ่ง (ซึ่งที่บ้านของท่านได้ติดโซลาร์เซลล์ในเช้าวันวาน) ได้บอกผมก่อนจากลาว่า “วันหลังจะเชิญอาจารย์มาสร้างแรงบันดาลใจให้พวกเราอีก” แม้จะทราบดีว่าส่วนหนึ่งเป็นมารยาทของเจ้าภาพ แต่ผมก็ดีใจและยินดีมากกับสิ่งดีๆ ที่คนรุ่นใหม่ๆ กำลังขับเคลื่อนสังคมกันอยู่ครับ

ผมได้สัญญากับตัวเองจะพยายามเขียนบทความทุกสัปดาห์ ทั้งๆ ที่ไม่มีค่าตอบแทนใดๆ แต่ละชิ้นผมใช้เวลาในการค้นคว้าตลอดทุกวัน ผมมีเครือข่ายที่เคลื่อนไหวในระดับโลกที่ผมสมัครเป็นสมาชิกให้ส่งข่าวคราวมาให้ผมแทบทุกวัน เพื่อเป็นวัตถุดิบในการเขียนบทความ ท่านที่เข้าใจในพลังการสื่อสารโปรดช่วยกันเผยแพร่และแบ่งปันด้วยนะครับ

วันนี้จึงขอนำเรื่องการติดโซลาร์เซลล์สนามบินแห่งหนึ่งในประเทศอินเดีย ซึ่งเป็นสนามบินนานาชาติที่มีผู้โดยสารมากเป็นอันดับ 4 ของอินเดียในปี 2559 คาดว่าจะมีผู้โดยสารปีละประมาณ 20 ล้านคน

สนามบินนานาชาตินี้ชื่อ Cochin ตั้งอยู่ในรัฐ Kerala ทางตอนใต้ของประเทศอินเดีย ผมได้นำภาพและสรุปประเด็นสำคัญมาเสนอในแผ่นสไลด์ข้างล่างนี้ครับ

ผมรับรู้เรื่องนี้ครั้งแรกจากกลุ่มที่จับตาด้านระบบนิเวศน์ที่ชื่อว่า “EcoWatch” ในบทความเรื่อง “World’s First Solar Powered Airport Has Arrived” (สนามบินที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานแสงอาทิตย์แห่งแรกของโลกได้เกิดขึ้นแล้ว) เขียนโดย Cole Mellino เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม นี้เอง วันเดียวก่อนที่ผมจะไปพูดให้กลุ่ม คศน. เห็นหรือยังครับว่า การสื่อสารยุคใหม่มันรวดเร็วขนาดไหน แต่สิ่งที่เป็นปัญหาคือเราจะใช้ประโยชน์นี้ให้เต็มที่ได้อย่างไร

เมื่อ 2 ปีก่อน สนามบินแห่งนี้ได้ติดตั้งโซลาร์เซลล์ขนาด 1 เมกะวัตต์ โดยผลิตไฟฟ้าได้เฉลี่ยวันละ 4,000 หน่วยไฟฟ้า (เฉลี่ยผลิตได้ปีละ 1,460 หน่วยไฟฟ้าต่อหนึ่งกิโลวัตต์ ซึ่งมากกว่าข้อมูลของทางราชการในประเทศไทยคือ 1,350 หน่วย)

“หลังจากทางสนามบินพบว่า การติดตั้งดังกล่าวมีความเป็นไปได้ทางการเงิน ทางสนามบินได้เชิญให้มีการประมูล 12 เมกะวัตต์ ซึ่งใช้เวลาในการก่อสร้างเพียง 6 เดือน ด้วยเงินลงทุน $9.5 ล้าน” ผู้บริหารท่านหนึ่งให้ข้อมูล (http://qz.com/482985/kerala-india-has-the-worlds-first-solar-powered-airport/)

เมื่อคิดเป็นเงินไทยโดยเฉลี่ยประมาณ 2.7 หมื่นบาทต่อหนึ่งกิโลวัตต์ ซึ่งถือว่าเป็นราคาที่ถูกมากๆ เพราะการติดบนหลังคาในบ้านเราประมาณ 5 หมื่นบาทต่อหนึ่งกิโลวัตต์ นอกจากนี้การใช้เวลาในการก่อสร้างเพียง 6 เดือน ถือว่าเป็นข้อที่ดีมากเพราะมีความยืดหยุ่นให้ทันกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงเร็วมาก ในขณะที่โรงไฟฟ้าถ่านหินต้องใช้เวลานาน 5-7 ปีกว่าจะเปิดดำเนินการได้

จากข่าวที่ผมอ้างแล้ว (Quartz India) บอกว่าสนามบิน Kolkata’s NetajiSubhas Chandra Bose International Airport ซึ่งอยู่ในรัฐเดียวกันกำลังมีแผนจะติดโซลาร์เซลล์ขนาด 15 เมกะวัตต์

ขณะนี้ต้นทุนไฟฟ้าที่ผลิตจากโซลาร์เซลล์ในอินเดียมีราคาแพงกว่าที่ผลิตจากถ่านหินประมาณ 50% ซึ่งคาดว่าในปี 2019 ราคาจะเท่ากัน ทั้งๆ ที่อินเดียมีแหล่งถ่านหินเป็นของตนเอง ในขณะที่ประเทศไทยต้องมีการนำเข้าจากต่างประเทศ

นักการธนาคารจากญี่ปุ่นคนหนึ่งพูดว่า “พลังงานแสงแดดในอินเดียมีความเข้มข้นกว่าในญี่ปุ่นสองเท่า ในขณะที่ต้นทุนการติดตั้งต่ำกว่าประเทศญี่ปุ่นประมาณครึ่งหนึ่ง ดังนั้นการลงทุนติดโซลาร์เซลล์ในอินเดียจึงถือว่ามีประสิทธิภาพมากกว่าในญี่ปุ่นถึง 4 เท่าตัว” ผมเข้าใจว่าธนาคารดังกล่าวเป็นแหล่งเงินในการลงทุนจำนวนกว่า 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐในช่วง 7 ปีข้างหน้าของรัฐบาลนายกรัฐมนตรีนเรนทระ โมที

อีกข่าวหนึ่งซึ่งถือเป็นความก้าวหน้าในเรื่องพลังงานแสงแดดก็คือ บริษัทกูเกิลได้ออกโปรแกรมใหม่ที่เรียกว่า Project Sunroof เพื่อออกแบบการติดโซลาร์เซลล์บนหลังคา เพียงแต่ผู้ใช้ให้ข้อมูลตำแหน่งบ้าน ค่าไฟฟ้าที่เคยจ่าย แล้วโปรแกรมจะคำนวณให้เสร็จว่า จะลงทุนเท่าใด หันแผงไปทางใด ใช้กี่วัตต์ ลงทุนเท่าใด และจะประหยัดเงินได้เท่าใดในช่วง 25 ปี โดยเชื่อมโยงกับแผนที่อากาศที่เกี่ยวกับความเข้มของแสงแดด

โปรแกรมนี้เพิ่งประกาศ ในระยะแรกจะให้บริการกับบางรัฐในสหรัฐอเมริกาก่อน จากนั้นจะขยายไปทั่วโลกครับ แต่ไม่ได้บอกว่าเมื่อใด

ผมเขียนเรื่องนี้ก็เพื่อจะบอกกับผู้นำประเทศไทยเรารวมทั้งคนไทยทุกคนว่า ต่างประเทศเขาก้าวหน้ากันไปถึงไหนแล้ว แต่คนไทยเราถูกหลอกต่างๆ นานาจากกลุ่มพ่อค้าพลังงานผูกขาด

เราน่าจะร่วมกันทำให้คนไทยเราได้รู้ความจริงมากขึ้นโดยใช้ความสำเร็จของต่างประเทศมานำเสนอ เรียกว่าใช้ยุทธศาสตร์โลกล้อมประเทศไทย ลองดูซิว่าเขาจะดื้อไปได้นานสักเท่าใด

แต่ผมเชื่อมั่นว่า เขาไม่อาจดื้อด้านอยู่ได้นานอย่างแน่นอน หากคนที่รู้เท่าทันไม่พากันเฉยเมยครับ
กำลังโหลดความคิดเห็น