xs
xsm
sm
md
lg

ยุทธศาสตร์โลกล้อมประเทศไทย : เปิดตาผู้นำไทยเรื่องพลังงานแสงอาทิตย์ / ประสาท มีแต้ม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

 
คอลัมน์ : โลกที่ซับซ้อน
โดย...ประสาท  มีแต้ม
 
เมื่อคืนวันศุกร์ (21 สิงหาคม) ผมได้รับเชิญให้เป็นวิทยากรนำเสนอเรื่องพลังงานแสงอาทิตย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโซลาร์เซลล์ให้แก่กลุ่ม “เครือข่ายพัฒนาศักยภาพผู้นำการสร้างสุขภาวะ (คศน.)” วัตถุประสงค์ของผู้จัดต้องการให้ผมนำเสนอบทเรียนความสำเร็จของต่างประเทศ และปัญหาเชิงกฎหมายที่เป็นอุปสรรคของประเทศไทย

หลังจากผมพูดจบ คุณหมอท่านหนึ่งซึ่งเป็นผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานรัฐแห่งหนึ่ง ได้กรุณาให้ความเห็นที่น่าสนใจมาก ท่านเสนอว่าลองเปรียบเทียบกับ “โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค” ซึ่งนายแพทย์สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ เป็นผู้ศึกษาเรื่องดังกล่าวมาอย่างยาวนาน และครอบคลุมทุกด้าน มีข้อมูลพร้อม คุณหมอท่านนี้บอกว่า คุณหมอสงวน ไม่ได้มองเรื่องการรักษาพยาบาลเป็นแค่ปัญหาการมีเงิน หรือไม่มีเงินรักษา แต่มองว่าเป็นเรื่องของ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ซึ่งได้รับการบัญญัติในรัฐธรรมนูญปี 2540 ที่ทุกคนต้องได้รับการดูแลและคุ้มครองจากรัฐ

คุณหมอสงวน จึงได้นำแนวคิด และวิธีการที่ได้ศึกษามาอย่างเป็นระบบไปเสนอต่อพรรคการเมือง ในที่สุดพรรคไทยรักไทย ก็รับไปเป็นนโยบาย และพัฒนามาจนถึงปัจจุบัน คุณหมอท่านนี้ก็กรุณาแนะนำว่า พวกที่เคลื่อนไหวเรื่องพลังงานน่าจะลองคิดแนวทางเดียวกันนี้บ้าง

ผู้ร่วมเสวนาอีกท่านหนึ่งซึ่งเป็นนักเรียนเก่าเยอรมันได้แสดงความเห็นว่า ในตอนนั้น (ประมาณปี 2542) ระบบโรงพยาบาลเอกชนยังไม่เข้มแข็งเท่าทุกวันนี้ โครงการ 30 บาทจึงเกิดขึ้นได้ แต่ระบบพลังงานไทยเป็นระบบผูกขาด ซึ่งกลุ่มทุนผูกขาดมีอำนาจเหนือพรรคการเมือง และเหนือรัฐบาลด้วย จึงเป็นเรื่องยากมากที่พรรคการเมืองจะยอมรับไปเป็นนโยบายในเรื่องนี้ เพราะเป็นผลประโยชน์ของเขา

ผมเองก็มองเรื่องพลังงานเป็นเรื่องของสิทธิมนุษยชน ที่องค์การสหประชาชาติได้รับรองเป็นข้อแรกในปฏิญญาสากลว่า “มนุษย์ทุกคนเกิดมาเท่ากันในศักดิ์ศรีและสิทธิ ผู้ใดจะพรากสิทธิดังกล่าวออกไปจากผู้ใดไม่ได้” นอกจากนี้ ผมยังได้นำบทสรุปของบางคนมาเล่าให้ฟังว่า “พลังงานทั้งหมดเป็นสิ่งที่ธรรมชาติจัดมาให้อย่างอิสระและเป็นประชาธิปไตย แต่การผูกขาดของบริษัทพลังงานได้คุกคามต่อสิ่งแวดล้อมและโลกของเรา” ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดจากการเผาเชื้อเพลิงพลังงานทำให้ธรรมชาติเสียสมดุล ทำให้เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติที่รุนแรงมาก แต่คนไทยได้ถูกพรากสิทธิการใช้ประโยชน์จากดวงอาทิตย์ให้เต็มศักยภาพ ซึ่งเทคโนโลยีดังกล่าวมาถึงแล้ว แต่รัฐบาลไทยคุ้มครองเฉพาะให้เราได้ตากผ้า และตากปลาเท่านั้น ไม่ยอมให้เราใช้ผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้เอง และแบ่งปันกับเพื่อนบ้านข้างๆ

ผมได้นำบทเรียนของประเทศเยอรมนี ซึ่งสรุป ดร.เฮอร์มานน์ เชียร์ (อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร) ว่า เขาเน้นที่เครือข่ายประชาชนเป็นหลัก โดยสามัคคีกับสมาคมธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลาง ทั้งสมาคมเกษตรกร ผู้รับเหมาก่อสร้าง ธนาคารและธุรกิจโซลาร์เซลล์ ทั้งระดับประเทศ สหภาพยุโรป รวมทั้งสมาคมพลังงานลมโลก ดร.เฮอร์มานน์ ยังกล่าวในเชิงตำหนิผู้นำในระบบการเมืองของรัฐด้วยว่า เป็นพวก “ดีแต่ปาก ชอบแก้ตัว และขาดความกล้าหาญที่จะยกเลิก หรือลดผลประโยชน์ของพ่อค้าพลังงานฟอสซิลลงมา”

เสียดายที่ผมไม่ได้พูดประเด็นสำคัญไป 2 ประการคือ หนึ่ง ความสำเร็จของประเทศเยอรมนีในการออกกฎหมาย เพื่อจัดลำดับความสำคัญให้แก่พลังงานหมุนเวียนสามารถขายไฟฟ้าเข้าสู่สายส่งได้ก่อนนั้นโดยไม่จำกัดจำนวน เขาใช้สมาชิกรัฐสภาเพียงไม่กี่คนเท่านั้นเป็นผู้เสนอ และที่สำคัญมากคือ ไม่ได้เป็นสมาชิกของพรรครัฐบาลด้วย แต่เขาทำได้เพราะประชาชนสนับสนุน ประการที่สอง ในกลุ่มหนึ่งของ ดร.เฮอร์มานน์ (ผมจำไม่ได้ว่ากลุ่มอะไร) ได้ชูคำขวัญว่า “ความรู้เพื่อประชาชน การสร้างเครือข่ายเพื่อการพัฒนา” ซึ่งก็สอดคล้องต่อแนวคิดของ คศน. ที่ใช้ความสำเร็จของคุณหมอสงวนมาเป็นต้นแบบ

สิ่งที่ผมเน้นในเวทีเสวนาคืนนั้นก็คือ การสร้างเครือข่ายของพลเมืองผู้ตื่นรู้ แล้วขยายผลออกไปเหมือนกับ “โครงการเสียดายแดด” ที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคกำลังดำเนินการ รวมทั้งเครือข่ายอื่นด้วย ซึ่งก็เติบโตอย่างรวดเร็วพอสมควร

สิ่งที่ผมได้นำเสนอในคืนนั้นก็คือ การใช้ความสำเร็จของต่างประเทศมาลบล้างมายาคติต่างๆ นานาของผู้นำประเทศเรา รวมทั้งคนไทยส่วนใหญ่ ดังชื่อบทความในวันนี้แหละครับ

ในตอนเช้าก่อนเข้าห้องเรียนที่ชื่อว่า “การรู้เท่าทันอนาคต (Future Literacy)” เพื่อนร่วมเสวนาได้เล่าให้อาจารย์เศรษฐศาสตร์คนหนึ่งซึ่งเพิ่งมาใหม่ ถึงประเด็นการแลกเปลี่ยนเพื่อนำไปสู่ความสำเร็จที่ผมได้เล่ามาแล้ว อาจารย์หนุ่มท่านนี้เสนอว่า “เราก็ควรใช้ทุกวิธีการ เหมือนกับคีมที่หนีบทั้งข้างล่างและข้างบน”

ผมรู้สึกว่า เวทีที่ คศน.จัดในครั้งนี้ทำให้ผมได้เรียนรู้ในสิ่งที่มีค่ามากครับ ก่อนจากกันในตอนบ่ายคุณหมออีกท่านหนึ่ง (ซึ่งที่บ้านของท่านได้ติดโซลาร์เซลล์ในเช้าวันวาน) ได้บอกผมก่อนจากลาว่า “วันหลังจะเชิญอาจารย์มาสร้างแรงบันดาลใจให้พวกเราอีก” แม้จะทราบดีว่าส่วนหนึ่งเป็นมารยาทของเจ้าภาพ แต่ผมก็ดีใจ และยินดีมากกับสิ่งดีๆ ที่คนรุ่นใหม่ๆ กำลังขับเคลื่อนสังคมกันอยู่ครับ

ผมได้สัญญากับตัวเองจะพยายามเขียนบทความทุกสัปดาห์ ทั้งๆ ที่ไม่มีค่าตอบแทนใดๆ แต่ละชิ้นผมใช้เวลาในการค้นคว้าตลอดทุกวัน ผมมีเครือข่ายที่เคลื่อนไหวในระดับโลกที่ผมสมัครเป็นสมาชิกให้ส่งข่าวคราวมาให้ผมแทบทุกวัน เพื่อเป็นวัตถุดิบในการเขียนบทความ ท่านที่เข้าใจในพลังการสื่อสารโปรดช่วยกันเผยแพร่ และแบ่งปันด้วยนะครับ

วันนี้จึงขอนำเรื่องการติดโซลาร์เซลล์สนามบินแห่งหนึ่งในประเทศอินเดีย ซึ่งเป็นสนามบินนานาชาติที่มีผู้โดยสารมากเป็นอันดับ 4 ของอินเดียในปี 2559 คาดว่าจะมีผู้โดยสารปีละประมาณ 20 ล้านคน

สนามบินนานาชาตินี้ชื่อ Cochin ตั้งอยู่ในรัฐ Kerala ทางตอนใต้ของประเทศอินเดีย ผมได้นำภาพ และสรุปประเด็นสำคัญมาเสนอในแผ่นสไลด์ข้างล่างนี้ครับ

ผมรับรู้เรื่องนี้ครั้งแรกจากกลุ่มที่จับตาด้านระบบนิเวศที่ชื่อว่า “EcoWatch” ในบทความเรื่อง “World’s First Solar Powered Airport Has Arrived” (สนามบินที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานแสงอาทิตย์แห่งแรกของโลกได้เกิดขึ้นแล้ว) เขียนโดย Cole Mellino เมื่อวันที่ 20 สิงหาคมนี้เอง วันเดียวก่อนที่ผมจะไปพูดให้กลุ่ม คศน. เห็นหรือยังครับว่า การสื่อสารยุคใหม่มันรวดเร็วขนาดไหน แต่สิ่งที่เป็นปัญหาคือ เราจะใช้ประโยชน์นี้ให้เต็มที่ได้อย่างไร
 

 
เมื่อ 2 ปีก่อน สนามบินแห่งนี้ได้ติดตั้งโซลาร์เซลล์ขนาด 1 เมกะวัตต์ โดยผลิตไฟฟ้าได้เฉลี่ยวันละ 4,000 หน่วยไฟฟ้า (เฉลี่ยผลิตได้ปีละ 1,460 หน่วยไฟฟ้าต่อหนึ่งกิโลวัตต์ ซึ่งมากกว่าข้อมูลของทางราชการในประเทศไทยคือ 1,350 หน่วย)

“หลังจากทางสนามบินพบว่า การติดตั้งดังกล่าวมีความเป็นไปได้ทางการเงิน ทางสนามบินได้เชิญให้มีการประมูล 12 เมกะวัตต์ ซึ่งใช้เวลาในการก่อสร้างเพียง 6 เดือน ด้วยเงินลงทุน $9.5 ล้าน” ผู้บริหารท่านหนึ่งให้ข้อมูล (http://qz.com/482985/kerala-india-has-the-worlds-first-solar-powered-airport/)

เมื่อคิดเป็นเงินไทยโดยเฉลี่ยประมาณ 2.7 หมื่นบาทต่อหนึ่งกิโลวัตต์ ซึ่งถือว่าเป็นราคาที่ถูกมากๆ เพราะการติดบนหลังคาในบ้านเราประมาณ 5 หมื่นบาทต่อหนึ่งกิโลวัตต์ นอกจากนี้ การใช้เวลาในการก่อสร้างเพียง 6 เดือน ถือว่าเป็นข้อที่ดีมากเพราะมีความยืดหยุ่นให้ทันต่อสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงเร็วมาก ในขณะที่โรงไฟฟ้าถ่านหินต้องใช้เวลานาน 5-7 ปี กว่าจะเปิดดำเนินการได้

จากข่าวที่ผมอ้างแล้ว (Quartz India) บอกว่า สนามบิน Kolkata’s NetajiSubhas Chandra Bose International Airport ซึ่งอยู่ในรัฐเดียวกันกำลังมีแผนจะติดโซลาร์เซลล์ขนาด 15 เมกะวัตต์

ขณะนี้ต้นทุนไฟฟ้าที่ผลิตจากโซลาร์เซลล์ในอินเดียมีราคาแพงกว่าที่ผลิตจากถ่านหินประมาณ 50% ซึ่งคาดว่าในปี 2019 ราคาจะเท่ากัน ทั้งๆ ที่อินเดียมีแหล่งถ่านหินเป็นของตนเอง ในขณะที่ประเทศไทยต้องมีการนำเข้าจากต่างประเทศ

นักการธนาคารจากญี่ปุ่นคนหนึ่งพูดว่า “พลังงานแสงแดดในอินเดียมีความเข้มข้นกว่าในญี่ปุ่นสองเท่า ในขณะที่ต้นทุนการติดตั้งต่ำกว่าประเทศญี่ปุ่นประมาณครึ่งหนึ่ง ดังนั้น การลงทุนติดโซลาร์เซลล์ในอินเดียจึงถือว่ามีประสิทธิภาพมากกว่าในญี่ปุ่นถึง 4 เท่าตัว” ผมเข้าใจว่าธนาคารดังกล่าวเป็นแหล่งเงินในการลงทุนจำนวนกว่า 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐในช่วง 7 ปีข้างหน้าของรัฐบาลนายกรัฐมนตรีนเรนทระ โมที

อีกข่าวหนึ่งซึ่งถือเป็นความก้าวหน้าในเรื่องพลังงานแสงแดดก็คือ บริษัทกูเกิลได้ออกโปรแกรมใหม่ที่เรียกว่า Project Sunroof เพื่อออกแบบการติดโซลาร์เซลล์บนหลังคา เพียงแต่ผู้ใช้ให้ข้อมูลตำแหน่งบ้าน ค่าไฟฟ้าที่เคยจ่าย แล้วโปรแกรมจะคำนวณให้เสร็จว่า จะลงทุนเท่าใด หันแผงไปทางใด ใช้กี่วัตต์ ลงทุนเท่าใด และจะประหยัดเงินได้เท่าใดในช่วง 25 ปี โดยเชื่อมโยงกับแผนที่อากาศที่เกี่ยวกับความเข้มของแสงแดด

โปรแกรมนี้เพิ่งประกาศ ในระยะแรกจะให้บริการแก่บางรัฐในสหรัฐอเมริกาก่อน จากนั้นจะขยายไปทั่วโลกครับ แต่ไม่ได้บอกว่าเมื่อใด
 

 
ผมเขียนเรื่องนี้ก็เพื่อจะบอกต่อผู้นำประเทศไทยเรา รวมทั้งคนไทยทุกคนว่า ต่างประเทศเขาก้าวหน้ากันไปถึงไหนแล้ว แต่คนไทยเราถูกหลอกต่างๆ นานาจากกลุ่มพ่อค้าพลังงานผูกขาด

เราน่าจะร่วมกันทำให้คนไทยเราได้รู้ความจริงมากขึ้น โดยใช้ความสำเร็จของต่างประเทศมานำเสนอ เรียกว่าใช้ยุทธศาสตร์โลกล้อมประเทศไทย ลองดูสิว่าเขาจะดื้อไปได้นานสักเท่าใด

แต่ผมเชื่อมั่นว่า เขาไม่อาจดื้อด้านอยู่ได้นานอย่างแน่นอน หากคนที่รู้เท่าทันไม่พากันเฉยเมยครับ
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น