ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -แม้จะไม่ได้เป็นความครึกโครมมากมายในช่วงนี้ แต่ก็ถือเป็นประเด็นที่สวังคมเฝ้าจับตามอง สำหรับมหากาพย์ “โคตรโกงไร่ส้ม” หรือคดีที่ บริษัท ไร่ส้ม จำกัด ยักยอกเงินโฆษณาจากบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) (อสมท) จนได้รับความเสียหายมากกว่า 138 ล้านบาท ซึ่ง "อัยการสูงสุด" (อสส.) ได้ส่งฟ้องต่อศาลไปเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา หลังจากที่ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้มีมติเอกฉันท์ชี้มูลความผิด และส่งเรื่องให้อัยการฯ เพื่อส่งฟ้อง
โดย อสส.เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง “พิชชาภา เอี่ยมสะอาด” อดีตพนักงาน อสมท “สรยุทธ สุทันะจินดา” นักเล่าข่าวชื่อดัง “บริษัท ไร่ส้ม จำกัด” และ “มณฑา ธีรเดช” พนักงาน บ.ไร่ส้ม เป็นจำเลยในคดียักยอกเงินค่าโฆษณา ศาลได้แบ่งการไต่สอนเป็น 3 ประเด็นหลัก ได้แก่ 1.นางพิชชาภาปฏิบัติตามสัญญากับบริษัท ไร่ส้ม จำกัด และพวกหรือไม่ 2.นางพิชชาภา ในฐานะเจ้าหน้าที่รัฐมีความผิดตามสัญญาหรือไม่ ที่เอกสารที่เกี่ยวกับข้อปฏิบัติต่างๆไม่มีการลงลายลักษณ์อักษร และ 3.บจ.ไร่ส้ม กับพวก สนับสนุนการกระทำของนางพิชชาภาหรือไม่
ความเคลื่อนไหวล่าสุด เมื่อวันที่ 17 ส.ค.ที่ผ่านมา ศาลอาญาได้นัดเตรียมความพร้อมไต่สวนพยานหลักฐานในคดีดังกล่าว โดยทาง “สรยุทธ์ - บจ.ไร่ส้ม” ได้ยกรูปแบบสัญญาร่วมจัดรายการ Time Sharing (แบ่งเวลาโฆษณา) มาต่อสู้ในคดีนี้ พร้อมระบุว่า บริษัทผู้ผลิตรายการรายอื่นก็ปฏิบัติอย่างนี้เช่นกัน รวมทั้งขอเบิกพยานเพิ่มเติมเป็นพนักงานจากบริษัทเอเจนซี่โฆษณาแห่งหนึ่งอีกด้วย ซึ่งเป็นประเด็นที่ไม่ได้ผ่านการตรวจสอบในชั้นคณะกรรมการ ป.ป.ช. โดย ศาลได้นัดสืบพยานฝ่ายโจทก์จำนวน 4 ครั้ง ในวันที่ 17-18 และ 29-30 ก.ย.58 เวลา 09.30 น. นัดสืบพยานฝ่ายจำเลย 5 ครั้ง ในวันที่ 2, 8 ต.ค. 2558 และ 28-30 ต.ค.58
ย้อนกลับไปเมื่อช่วงเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการการ (กมธ.) สื่อสารมวลชน การวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และสารสนเทศ ในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่มี “พล.อ.อ.ชาลี จันทร์เรือง” สมาชิก สนช. เป็นประธาน กมธ. ได้ทำหนังสือเรื่องการแก้ไขปัญหาทุจริตในหน่วยงานของรัฐและการขาดอายุความ ถึง “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี
โดยใจความสำคัญของหนังสือดังกล่าวเป็นรายงานของ คณะทำงานพิจารณาศึกษากรณีการทุจริตค่าโฆษณาระหว่างบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) กับบริษัท ไร่ส้ม จำกัด ที่ กมธ.สื่อสารฯตั้งขึ้น หลังมีพนักงาน อสมท ที่หวังดีกับหน่วยงาน ร้องเรียนให้ กมธ.สอบสวนหาคนผิดเพิ่มเติม จึงได้มอบหมายให้ "มนตรี ศรีเอี่ยมสะอาด" ผู้พิพากษาชั้นอ๋อง เป็นประธาน พร้อมด้วย "ประมุท สูตะบุตร" สมาชิก สนช. ในฐานะอดีต ผอ.อสมท และเป็นหนึ่งในผู้ที่ร้องเรียนความผิดปกติในกรณี "ไร่ส้ม" ต่อ ป.ป.ช. ร่วมพิจารณาเรื่องนี้ด้วย
ภายหลังการศึกษาอย่างละเอียดผ่านการประชุมหลายสิบครั้ง มีการเรียกข้อมูลจากหน่วยงานต่างๆ ศึกษาการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง และเชิญ “ตัวละคร” ที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูล ได้สรุปข้อสังเกตหลายประเด็น ไล่ตั้งแต่การพบว่า สัญญาร่วมดำเนินการรายการโทรทัศน์ระหว่าง “อสมท - ไร่ส้ม” อาจเข้าลักษณะการร่วมดำเนินกิจการระหว่างรัฐกับเอกชน ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ.2535 เนื่องจากเป็นสัญญาที่มีวงเงินหรือทรัพย์สินมากกว่า 1 พันล้านบาทขึ้นไป รวมทั้งอาจเข้าข่ายการกระทำผิดตาม พ.ร.บ.พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 หรือ พ.ร.บ.ฮั้ว เนื่องจากดำเนินการโดยไม่ได้มีขั้นตอนการประกวดราคาแต่อย่างใด
เดิมทีคณะทำงานชุดนี้ได้มุ่งเน้นไปที่ระบบการตรวจสอบและการกำกับดูแลหน่วยงานที่ไร้ประสิทธิภาพ จนเปิดช่องให้มีการทุจริตเกิดขึ้นใน อสมท เป็นระยะเวลายาวนานและต่อเนื่อง ทั้งที่ อสมท มีหลายหน่วยงานรัฐ และเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งมีอำนาจหน้าที่โดยตรงในการกำกับดูแล การตรวจสอบ และการบริหารงานของรัฐวิสาหกิจแห่งนี้ ขณะที่ในฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจเต็มรูปแบบในสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี และเมื่อแปลงสภาพเป็นบริษัทมหาชนจำกัด ตาม พ.ร.บ.ทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2542 จดทะเบียนเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ที่มีกฎเกณฑ์การตรวจสอบที่เข้มงวด
ในฐานะหน่วยงานรัฐ เป็นอำนาจนายกรัฐมนตรี ผ่านสำนักนายกรัฐมนตรี หรือรองนายกฯ ที่ได้รับมอบหมาย มีสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) คณะกรรมการ (บอร์ด) และฝ่ายบริหาร กำกับดูแลในชั้นถัดมา นอกจากนี้ยังมี สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ทำหน้าที่ตรวจสอบการเงินเหมือนกับหน่วยงานรัฐอื่นๆ และในฐานะบริษัทมหาชน มีกระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ย่อมต้องยึดหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี และการบริหารจัดการที่ดี โดยมีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)
ซึ่งนับได้เกือบ 10 หน่วยงานทีเดียว ที่มีอำนาจในการกำกับดูแล อสมท แต่กลับปล่อยให้มีการโกงเงินค่าโฆษณากันอย่างโจ๋งครึ่ม ทั้งๆที่ “ค่าโฆษณา” เป็นรายได้หลักเพียงอย่างเดียวของทาง อสมท
นอกจากนี้ยังพบ “พิรุธ” ความผิดปกติในเรื่องนี้อีกเป็นจำนวนมาก เมื่อพบว่า การทุจริตฉ้อโกงและปลอมแปลงเอกสารคดีนี้ เกิดขึ้นต่างกรรมต่างวาระต่อเนื่องกว่า 340 วัน หรือเกือบ 1 ปี มีการทุจริตฉ้อโกงและปลอมแปลงเอกสารมากกว่า 500 ครั้ง ด้วยการปล่อยปละละเลย และการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่รัฐ บุคคล คณะบุคคล และหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่โดยตรงกับการบริหารกิจการของรัฐวิสาหกิจแห่งนี้
โดยคณะทำงานได้มีหนังสือสอบถามความคืบหน้าของคดีไปยังหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง พบว่า ความผิดฐานฉ้อโกงและปลอมแปลงเอกสาร มิได้มีการพิจารณาและดำเนินการมาก่อนหน้านี้แต่อย่างใด และ อสมท ในฐานะผู้เสียหายโดยตรง ขาดความรับผิดชอบในการติดตามการดำเนินคดีดังกล่าว โดยไม่ปรากฏหลักฐานที่ อสมท และหน่วยงานที่รับผิดชอบได้ดำเนินการอันใดเพื่อป้องกัน ความเสียหายและการขาดอายุความ ทั้งนี้ คดีเริ่มขาดความอายุความตั้งแต่เดือน ก.พ.58 - มิ.ย.59
มีข้อมูลด้วยว่า ผู้รับมอบอำนาจจาก อสมท ได้เคยร้องทุกข์กล่าวโทษให้ดำเนินคดีอาญากับ “สรยุทธ - ไร่ส้ม” ตั้งแต่เมื่อช่วงเดือน ต.ค.-พ.ย.50 ที่สถานีตำรวจนครบาลห้วยขวาง ฐานฉ้อโกงและปลอมเอกสาร ก่อนที่จะร้องทุกข์เพิ่มเติมให้ดำเนินคดี “พิชชาภา” รวมทั้ง “อัญญา อู่ไทย” พนักงาน อสมท อีกราย ฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และความผิดฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ซึ่งพนักงานสอบสวนได้รวบรวมสำนวนการสอบสวนส่งไปยัง ป.ป.ช.เพื่อพิจารณา และต่อมา ป.ป.ช. ได้มีมติชี้มูลความผิด “พิชชาภา - ไร่ส้ม” ซึ่งเป็นคดีที่ อสส.ยื่นฟ้องต่อศาลไปนั้น
หากแต่ในส่วนความผิดฐานฉ้อโกงและปลอมแปลงเอกสาร ซึ่ง ป.ป.ช.ไม่รับพิจารณาในความผิดฐานนี้ และไม่ได้ส่งสำนวนการสอบสวนในส่วนนี้คืนให้แก่พนักงานสอบสวนไปดำเนินคดีตามกฎหมายแต่อย่างใด จนถึงปัจจุบันยังไม่มีหน่วยงานใด รวมทั้ง อสมท ดำเนินคดีในความผิดข้อหาดังกล่าว เป็นเหตุให้คดีขาดอายุความไปแล้วบางส่วน
คณะทำงานฯระบุด้วยว่า ในการสอบสวนมีอุปสรรค เนื่องจากไม่ได้รับความร่วมมือ ตามหลักธรรมาภิบาลและทันเวลาจาก อสมท และได้เสนอแนะให้เร่งดำเนินการเอาผิดในส่วนของการฉ้อโกง ปลอมเอกสาร ที่ได้ขาดอายุความไปแล้วบางส่วน เพราะหากไม่ดำเนินการโดยเร่งด่วน ย่อมเกิดความเสียหายต่อราชการ และไม่สามารถดำเนินตามกฎหมายได้อีกต่อไป
จากการเชิญผู้แทนจาก สตง.มาซักถามพบว่า ในสำนวนการตรวจสอบของ สตง.ได้รายงานถึงความไม่ถูกต้องและตั้งข้อสังเกตในประเด็นที่ บจ.ไร่ส้ม ทุจริตเงินค่าโฆษณาดังกล่าว เป็นเหตุให้ อสมท รัฐ และประชาชนผู้ถือหุ้นได้รับความเสียหายและส่งผลกระทบต่อรายได้ของแผ่นดิน แต่รายงานดังกล่าวกลับถูกยับยั้งโดยความเห็นแย้งของ “ผู้บังคับบัญชาระดับที่เหนือกว่า” มิให้แสดงผลการตรวจสอบงบการเงินของ อสมท ไว้ในเอกสารรายงานตามกฎหมาย เป็นสาเหตุที่ทำให้การทุจริตดังกล่าวมิได้ถูกแสดงไว้ในรายการการรับรองงบการเงินของ อสมท
หนังสือที่ กมธ.สื่อสารฯทำถึงนายกฯได้แนบข้อสังเกตแนวทางปรับปรุงแก้ไขที่น่าสนใจไปด้วย อาทิ ให้สำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นผู้เสียหายในฐานะที่ได้รับมอบอำนาจให้ใช้สิทธิเป็นผู้ถือหุ้น อสมท แทนกระทรวงการคลัง ดำเนินการกฎหมายต่อเจ้าหน้าที่ของรัฐ บุคคล คณะบุคคล และนิติบุคคล ที่ต้องมีส่วนรับผิดชอบในการทุจริตก่อนที่คดีจะขาดอายุความ
พร้อมย้ำด้วยว่า ต้องกำกับดูแลเพื่อแก้ไขความเสียหายจากการกระทำของ “พนักงานระดับบริหาร” ของ อสมท ที่ปรากฏหลักฐานน่าเชื่อได้ว่าเกี่ยวข้องกับการทุจริตดังกล่าว เนื่องจากอาจเป็นอุปสรรคสำคัญต่อบรรดาเอกสารหลักฐาน
กมธ.สื่อสารฯได้เสนอแนะด้วยว่า นายกฯควรมอบหมาย กระทรวงยุติธรรม ใช้กลไกจากหน่วยงานในสังกัด ทั้งสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ป.ป.ง.) กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) และศูนย์อำนวยการต่อต้านทุจริตแห่งชาติ (ศอ.ตช.) ดำเนินการสอบสวนเรื่องนี้โดยละเอียด รวมทั้ง กระทรวงการคลัง ในฐานะผู้รักษาการตาม พ.ร.บ.ภาษีอากร พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ร.บ.บริษัทมหาชน และกำกับดูแลกรมสรรพากร และ ก.ล.ต. ดำเนินการตามกฎหมายกับผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดที่ร่างหนังสือชี้ชวนและเอกสารชี้ชวนแสดงข้อความอันเป็นเท็จ โดยที่กระทรวงการคลังและ ก.ล.ต.ถือเป็นผู้เสียหายโดยตรง
ทั้งหลายทั้งปวงคือผลสรุปของคณะทำงานฯดังกล่าว ที่นอกเหนือจากจะตอกย้ำว่า มีการทุจริตเกิดขึ้นจริงอย่างโจ๋งครึ้ม โดยที่หน่วยงานที่รัลบผิดชอบปล่อยปละละเลยจนเกิดความเสียหาย จนพูดได้ว่า "คดีไร่ส้ม" เป็นการทุจริตในระนาบเดียวกับ "โครงการรับจำนำข้าว" ที่ "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" ในฐานะนายกรัฐมนตรี ถูกตั้งข้อหาปล่อยปละละเลยให้มีการทุจริตเลยทีเดียว
และหากการ "คดีจำนำข้าว" คนที่เป็นนายกฯ มีความผิด ใน "คดีไร่ส้ม" ก็ควรมีผู้บริหารระดับสูงมีความผิดด้วย ไม่ใช่ปลาซิวปลาสร้อย กับภาคเอกชนไม่กี่คน ผลการศึกษาที่มีความเชื่อมโยงไปถึงบุคคลระดับ “บิ๊ก อสมท” ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในแทบทุกขั้นตอนของการทุจริต
ที่น่าตกใจคือปัจจุบัน “บิ๊ก อสมท” ที่ว่านอกเหนือจากจะลอยตัวจากความผิดแล้ว ก็ยังมีความเจริญเติบโตในสายงาน อยู่ในตำแหน่งสำคัญของ อสมท อยู่ในปัจจุบัน
เพราะต้องยอมรับว่า ขั้นตอนในการทำทุจริตเกินกว่าอำนาจหน้าที่ของ "พนักงาน อสมท ระดับธุรการคนหนึ่ง" รวมทั้ง “สรยุทธ - ไร่ส้ม” ที่คงไม่มีวิทยายุทธ์เข้าไปล้วงลูกจนมีการปลอมแปลงเอกสารภายใน อสมท ได้มากกว่า 500 ครั้ง หรือหากทำได้จริงก็คงไม่รอดการตรวจสอบของระดับบริหารได้
ในเมื่อ “นายกฯประยุทธ์” และรัฐบาล คสช.ประกาศเองว่าจะเอาจริงเอาจังกับการปราบปรามทุจริต เมื่อมีข้อมูลโดยคณะทำงานฯถวายพานให้ขนาดนี้แล้ว ก็ควรเร่งดำเนินการตามคำแนะนำของ กมธ.สื่อสารฯ เพราะแทบไม่ต้องทำอะไรเลย เมื่อมีข้อมูลแทบทุกด้านอยู่ในมือแล้ว
ที่สำคัญต้องลากคอ “บิ๊ก อสมท” ที่ถือเป็น “ตัวจักร” สำคัญในมหากาพย์โคตรโกงครั้งนี้มารับโทษทัณฑ์ให้จงได้ ไม่ใช่ปล่อยให้เคราะห์กรรมตกกับปลาซิวปลาสร้อยเช่นนี้
มิเช่นนั้น อสมท ก็ยังคงเป็นแดนสนธยาต่อไป และเป็นแหล่งหากินของ “ไอ้โม่ง” ผู้นี้ต่อไปอีกนานแสนนาน