ป้อมพระสุเมรุ
สปอตไลต์ สาดส่องมาที่ประเด็น บริษัท ไร่ส้ม จำกัด ยักยอกเงินโฆษณาจาก บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) จนได้รับความเสียหายมากกว่า 138 ล้านบาทอีกครั้ง หลังจากที่คณะกรรมาธิการการสื่อสารมวลชน การวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสารสนเทศ ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่มี พล.อ.อ.ชาลี จันทร์เรือง เป็นประธาน หยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นการพิจารณาในตอนนี้
สาเหตุที่กมธ.สื่อสารฯ ของสนช.นำเรื่องนี้ขึ้นมาถกในที่ประชุม ก็เพื่อเป็นกรณีศึกษา เรื่องการคอร์รัปชันในหน่วยงานภาครัฐ จากเหตุการณ์ที่ อสมท ปล่อยปละละเลยให้มีการทุจริตเกิดขึ้น กินระยะเวลากว่า 2 ปี โดยที่ “ผู้บริหาร”ได้แต่แบ๊ะๆ ไม่รู้ไม่เห็น
เมื่อกมธ.สื่อสารฯของสนช.ตั้งเรื่องขึ้นมาไม่นาน ก็มีพนักงาน อสมท ที่หวังดีกับองค์กร ยื่นเรื่องร้องเรียนให้เพิ่มประเด็นสอบสวนหา“ผู้กระทำผิด”เพิ่มเติมด้วย
กลายเป็นว่า “งานเข้า”แบบไม่รู้เนื้อรู้ตัว สำหรับบรรดา“ตัวบงการ”ที่เคยคิดว่า ตัวเองลอยนวล หลังตัดตอนความผิด ทิ้งทุ่น“ปลาซิวปลาสร้อย”อย่าง “พิชชาภา หรือชนาภา เอี่ยมสะอาด หรือ บุญโต”เจ้าหน้าที่ธุรการ ระดับ 5 สำนักกลยุทธ์การตลาด บมจ.อสมท ไปเป็นที่เรียบร้อย
จริงอยู่ “พิชชาภา”ถือเป็นฟันเฟืองสำคัญใน“ขบวนการโคตรโกง”ครั้งนี้ เพราะเป็นผู้รับผิดชอบในการจัดทำคิวโฆษณารวม และเป็นผู้รายงานโฆษณาเกินเวลา เพื่อเรียกเก็บเงินจาก บริษัท ไร่ส้ม จำกัด จึงถูกตั้งข้อหาความผิดว่าได้ให้ความช่วยเหลือ บริษัท ไร่ส้ม จำกัด โดยไม่มีการรายงานการโฆษณาเกินเวลาเพื่อเรียกเก็บเงิน ตั้งแต่วันที่ 4 ก.พ.48 - 30 มิ.ย.49 รวมระยะเวลากว่า 15 เดือน
เรื่องนี้“พิชชาภา”จะผิด ถูก หรือพ้นมลทินอย่างไร ก็อยู่ที่ดุลพินิจของศาลสถิตยุติธรรม หลังจากที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้มีมติเอกฉันท์ 7 ต่อ 0 ชี้มูลความผิดของ“พิชชาภา”ไปตั้งแต่เดือน ก.ย. 55 และขณะนี้อยู่ในระหว่างรอการดำเนินการส่งตัวเพื่อยื่นฟ้องต่อไป
ส่วนที่คอพาดเขียงไปแล้ว ก็บรรดาจำเลยร่วมในคดีที่ทางอัยการฯยื่นฟ้องต่อศาลไปแล้ว ตั้งแต่จำเลยที่ 1 “บริษัท ไร่ส้ม จำกัด”โดย “อังคนา วัฒนมงคลศิลป์ - สุกัญญา แซ่ลิ้ม”ในฐานะกรรมการผู้จัดการ จำเลยที่ 2 “เฮียสอ - สรยุทธ สุทัศนะจินดา”นักเล่าข่าวชื่อดัง และ จำเลยที่ 3 “มณฑา ธีระเดช”เจ้าหน้าที่ของบริษัทไร่ส้ม
ทั้ง 4 รายนี้ ถูกยื่นฟ้องต่อศาลในความผิดฐานเรียกรับผลประโยชน์โดยมิชอบ และสนับสนุนพนักงานกระทำความผิดดังกล่าว ตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยความผิดพนักงานในองค์การ หรือหน่วยงานรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 6, 8, 11 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 และ 91 ซึ่งเป็นข้อหาเดียวกับ “พิชชาภา” แต่ในกรณีที่จำเลยทั้งสามไม่ใช่เจ้าหน้าที่ของรัฐ กฎหมายระบุว่า หากพบว่ากระทำผิดจริงก็ต้องรับโทษ 2 ใน 3 ของอัตราโทษ ฐานร่วมกันสนับสนุนเจ้าหน้าที่กระทำความผิด
สำหรับความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดพนักงานในองค์การฯ มาตรา 6 ฐานพนักงานเรียกรับสินบน ระวางโทษจำคุก 5-20 ปี หรือตลอดชีวิต หรือประหารชีวิต และ ปรับตั้งแต่ 2,000-40,000 บาท , มาตรา 8 ฐานเป็นพนักงานใช้อำนาจหน้าที่โดยทุจริต โทษจำคุก 5-20 ปี หรือตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่ 2,000-40,000 บาท และ มาตรา 11 ฐานพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ จำคุก 1-10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 2,000-20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
จริงๆ เรื่องราวการทุจริตของ“ไร่ส้ม”น่าจะจบและจำกัดวง“คนร้าย”ไว้เพียงแค่นี้ รอให้ศาลยุติธรรมเป็นผู้ตัดสินชี้ขาด แต่ก็มีการตั้งข้อสังเกตมาตั้งแต่เรื่องแดงขึ้นมาแล้วว่า ขบวนการปล้นเงิน อสมท อย่างมโหฬาร และยาวนานแรมปีนี้ ไม่มีระดับ“ผู้บริหาร”รู้เห็นเลยหรือ
ซึ่งก็ตรงกับประเด็นสงสัยที่ กมธ.สื่อสารฯของ สนช. ตั้งคำถามไว้ และมอบหมายให้“มนตรี ศรีเอี่ยมสะอาด”ผู้พิพากษามือดีเป็นประธานอนุกมธ. ผนึกกำลังกับ“ประมุท สูตะบุตร”อดีต ผอ.อสมท ยุคแรก ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ที่ร้องเรียนความผิดปกติในกรณี“ไร่ส้ม”ต่อ ป.ป.ช. ร่วมเป็นมือสอบสวนในเรื่องนี้
นับถึงวันนี้ กมธ.สื่อสารฯ สนช. ได้ประชุมในประเด็น“คดีไร่ส้ม”ไปเกือ 20 นัด เรียกได้ว่า ถกเถียงซักถามกันแบบละเอียดยิบ โดยได้เชิญผู้ที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูลอย่างต่อเนื่อง ทั้งบรรดาบอร์ด อสมท และกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ อสมท ทั้งในอดีตและปัจจุบัน รวมไปถึงฝ่ายบริหารที่เกี่ยวข้อง อาทิ นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ และ นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ ก็ได้มาให้ข้อมูลไปแล้ว
“ประมุท”เปิดเผยกับ “ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์”ว่า การสอบสวนของ กมธ.สื่อสารฯ ในเรื่อง“ไร่ส้ม”นั้น ไม่ได้ตั้งธงว่า จะหาตัวผู้กระทำความผิดเพิ่มเติม เพียงแต่ตั้งประเด็นถึงความหละหลวมของสายการบังคับบัญชา และการตรวจสอบ จากการทุจริตที่เกิดขึ้นกินเวลาค่อนข้างนาน ทั้งที่ อสมท มีสถานะเป็นทั้งหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ และบริษัทมหาชน จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯด้วย จึงมีผู้กำกับดูแลหลายชั้น ทั้งในระดับนโยบาย ตลอดจนในระดับบริหารภายในองค์กรเอง
โดยในฐานะหน่วยงานรัฐนั้น หากว่ากันตามจริง อสมท อยู่ภายใต้การกำกับโดยตรงของ นายกรัฐมนตรี ผ่านสำนักนายกรัฐมนตรี แต่ส่วนใหญ่จะมอบหมายให้รองนายกฯ คนใดคนหนึ่งเป็นผู้ผิดชอบ นอกจากนี้ยังมีสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ทำหน้าที่ตรวจสอบเหมือนกับหน่วยงานรัฐอื่นๆ ส่วนคณะกรรมการ (บอร์ด) และฝ่ายบริหารก็กำกับดูแลในชั้นถัดมา ซึ่งก็มีการตรวจสอบภายในองค์กรเองอยู่แล้ว
และในฐานะบริษัทมหาชน มีกระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ มีหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี และการบริหารจัดการที่ดี ของ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เป็น “กฎเหล็ก”ให้ปฏิบัติตามอยู่
ตามหลักคิดของ“ประมุท”ก็สะท้อนความเป็นจริงที่ว่า อสมท มีระบบกลั่นกรองตรวจสอบที่รัดกุมมากที่สุดองค์กรหนึ่ง และมีหน่วยงานหรือองค์กรที่เกี่ยวข้องกับการกำกับดูแลถึงกว่า 10 แห่ง แต่กลับปล่อยให้มีการโกงเงินค่าโฆษณากันอย่างโจ๋งครึ่ม กินเวลามากกว่า 1 ปี
“ประมุท”ผู้ได้รับการยกให้เป็นหนึ่งในผู้ให้กำเนิด อสมท ยังมีปมสงสัยส่วนตัว ในฐานะที่เคยบริหาร อสมท มาก่อนด้วยว่า “ค่าโฆษณาเป็นรายได้หลักเพียงอย่างเดียวของ อสมท หากมีการทุจริต หรือเงินโฆษณาตกหล่นไป มีหรือที่ผู้บริหารจะไม่รู้ เพราะต้องมีรายงานสรุปรายได้ในแต่ละวันวางไว้บนโต๊ะทำงานทุกเช้า อ่านไม่นานก็รู้ว่าเงินขาดหรือตกหล่น หรือไม่อย่างไร”
พูดได้ว่า“คดีไร่ส้ม”เทียบชั้นการทุจริตใน“โครงการรับจำนำข้าว”ที่คนเป็นนายกฯ ถูกตั้งข้อหาปล่อยปละละเลยให้เกิดการทุจริต เพียงแต่มูลค่าความเสียหายอาจเทียบกันไม่ได้ แต่หาก“คดีจำนำข้าว”คนที่เป็นนายกฯ มีความผิด “คดีไร่ส้ม”ก็ควรมีผู้บริหารระดับสูงมีความผิดด้วย ไม่ใช่ปลาซิวปลาสร้อย หรือเอกชนไม่กี่คน
อย่างไรก็ตาม “ประมุท”ยืนยันว่า กมธ.สื่อสารฯ สนช. ไม่ได้ตั้งธงสอบสวนเพื่อเอาผิดกับผู้ใดเพิ่มเติม แต่เป็นการขอข้อมูลเพื่อมาสรุปเป็นรายงานถึงข้อบกพร่องในกำกับดูแล อสมท รวมไปถึงเป็นแนวทางสำหรับหน่วยงานภาครัฐอื่นๆ เท่านั้น
สำหรับกรณีของ “ไร่ส้ม”ได้เริ่มเข้ามาที่ อสมท ตั้งแต่เดือน มิ.ย.46 โดยในช่วงต้น อสมท เป็นผู้ว่าจ้าง “สรยุทธ”เป็นพิธีกรดำเนินรายการ “ถึงลูกถึงคน”แบบรายวัน รับค่าเหนื่อย 5,000 บาทต่อตอน เมื่อกระแสตอบรับดีพอเดือน ก.พ.47 “สรยุทธ”ก็ตั้ง“บริษัท ไร่ส้ม จำกัด” ขึ้นมา เพื่อทำสัญญาร่วมผลิตรายการ“คุยคุ้ยข่าว”ออกอากาศทุกวันเสาร์-อาทิตย์ เวลาประมาณ 12.00-13.00 น. ครั้งละ 60 นาที (รวมเวลาโฆษณา) โดย อสมท ตกลงแบ่งเวลาโฆษณาให้ บจ.ไร่ส้ม ครั้งละ 5 นาที ถ้ามีโฆษณาเกินกว่ากำหนด ต้องชำระค่าโฆษณาเกินเวลาให้ อสมท ในอัตรานาทีละ 2 แสนบาท ขณะเดียวกันก็ได้ทำสัญญาร่วมผลิตรายการ “คุยคุ้ยข่าว”ออกอากาศทุกวันจันทร์ - ศุกร์ เวลาประมาณ 21.30-22.00 น. ครั้งละ 30 นาที (รวมเวลาโฆษณา) โดยแบ่งเวลาโฆษณาให้ บจ.ไร่ส้ม ได้ครั้งละ 2.30 นาที หากมีโฆษณาเกิน ต้องชำระค่าโฆษณาเกินเวลาให้ อสมท ในอัตรานาทีละไม่ต่ำกว่า 2.4 แสนบาท
จนมาถึงเดือน ก.ค. 49 ผู้บริหาร อสมท รายหนึ่งสังเกตว่า รายการข่าวเที่ยงคืน มีการออกอากาศล่าช้ากว่าเวลาที่กำหนด จึงได้ตรวจสอบและได้เรียก “พิชชาภา”มาสอบถาม ซึ่งก็ได้รับคำสารภาพว่า“ไร่ส้ม”มีการโฆษณาเกิน และไม่มีการรายงานเพื่อเรียกเก็บเงินจริง โดย“พิชชาภา”ได้ลบข้อความบางส่วน เฉพาะคิวโฆษณาเกินเวลาของ“ไร่ส้ม”ในใบคิวโฆษณารวมของ อสมท และซักทอดว่า ทำตามคำแนะนำของ “สรยุทธ”
สอดคล้องกับความเคลื่อนไหวของ “สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ อสมท” ที่ออกมาเปิดเผยว่า “ไร่ส้ม”ค้างจ่ายค่าโฆษณาให้กับ อสมท เป็นเงินมากกว่า 100 ล้านบาท จนเป็นที่มาทำให้ “ไร่ส้ม”รีบชำระเงินค่าโฆษณาส่วนเกินให้ อสมท เป็นเงินจำนวนกว่า 138 ล้านบาท เมื่อรวมดอกเบี้ยเป็นเงินกว่า 152 ล้านบาท
ซึ่งทาง อสมท ได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงถึง 2 ชุด คณะหนึ่งมี "พลชัย วินิจฉัยกุล" และอีกคณะดึง "มือปราบโกง" อย่าง “พล.ต.อ.ประทิน สันติประภพ”มาเป็นประธานสอบ พร้อมด้วยผู้ทรงคุณวุฒิอีกคับคั่ง ทั้ง "นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ -ธานี สมบูรณ์ทรัพย์ -สมัคร เชาวภานันท์ - รัตพงษ์ สอนสุภาพ”
ผลการตรวจสอบของคณะกรรมการทั้ง 2 ชุด พบว่ามีการกระทำผิดจริง โดยมีบุคคลระดับ“ผู้บริหาร”เกี่ยวข้องด้วย สอดคล้องกับข้อสงสัยของ“ประมุท”ที่ว่า ผู้บริหาร อสมท ต้องรู้เห็นการกระทำความผิด เพราะมีทั้งรายงานสรุปค่าโฆษณารายวัน และวิธีการคำนวณค่าโฆษณา ก็ไม่ได้ซับซ้อนอะไรมากมาย ซึ่งใครๆ ก็คิดได้
ยิ่งไปเปิดดูรายงานของคณะกรรมการชุด“ประทิน”ระบุความตอนหนึ่งน่าสนใจถึง“ธนะชัย วงศ์ทองศรี”ที่ขณะเกิดกรณี“คุยคุ้ยข่าว” เมื่อปี 2548 นั่งคร่อมเก้าอี้ใน อสมท อยู่หลายตำแหน่ง ทั้งหัวหน้าฝ่ายกฎหมายธุรกิจ , ผู้อำนวยการฝ่ายกฎหมายธุรกิจ , รักษาการผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยใหญ่ สำนักกฎหมายและเลขานุการบริษัท ตลอดจนไปถึง “ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สำนักกลยุทธ์การตลาด”หรือพูดง่ายๆ “ธนะชัย” เป็นผู้บังคับบัญชาของพนักงาน อสมท ที่ถูกสอบสวนว่ามีความเกี่ยวพันในการยักยอกค่าโฆษณาของ“ไร่ส้ม”
ปัจจุบัน“ธนะชัย”ยังคงทำงานอยู่ที่ อสมท และมีตำแหน่งใหญ่โตเป็นถึง“รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่”โดยไม่ได้ถูกสอบสวน หรือตั้งข้อหาความผิดแต่อย่างใด คนใน อสมท มีเพียง“พิชชาภา”เท่านั้น ที่ถูกสอบสวนและตั้งข้อหา
นอกเหนือจาก “ธนะชัย”แล้วยังต้องย้อนกลับไปไล่เรียงชื่อ“บิ๊ก อสมท”ที่มีอำนาจใน“แดนสนธยา”ระหว่างปี 48-49 ซึ่งเป็นช่วงที่มีการทุจริตเกินขึ้น ก็จะพบว่ามี“ตัวละคร”ตามท้องเรื่องที่มีบทบาทสำคัญไม่แพ้ “เฮียสอ ณ ไร่ส้ม”หรือ “พิชชาภา”ที่เป็นพนักงานระดับล่าง และเป็นจำเลยอยู่ในขณะนี้
ล่าสุดมีคนตาดีไปบังเอิญเห็นบรรดา“แก๊งคนร้อนตัว”ซึ่งทั้งหมดเป็น“ตัวละครเอก”ในท้องเรื่อง“ไร่ส้มเดอะซีรีย์”ไปนั่งสุมหัวกันที่ห้องอาหารจีน“โรงแรมย่านพระราม 9”ทั้ง“อดีต กก.ผอ.ใหญ่ อสมท”ผู้นำพา“เฮียสอ -ไร่ส้ม”มาสร้างชื่อที่ อสมท พร้อมด้วย “อดีตประธาน บอร์ด อสมท”ในยุคที่ปล่อยให้มีการโฆษณาเกินเวลา รวมทั้ง“รอง ผอ.อสมท คนปัจจุบัน”รายหนึ่ง ที่ว่ากันว่าเป็น “ผู้อำนวยการสร้าง”ทั้งหมด
และเริ่มมีความเคลื่อนไหวในการส่งคนไป“ล็อบบี้”พนักงาน อสมท ที่เป็นผู้ร้องเรียนต่อ กมธ.สื่อสารฯ สนช. ให้ถอนเรื่องออก นอกจากนี้ “แก๊งคนร้อนตัว”ยังดึง "นักกฎหมายใหญ่" มาเตรียมเป็น "กุนซือ" ในทางคดีเอาไว้แล้ว เหตุเพราะคงรู้ดีว่า หากพลาดพลั้งถูกตั้งข้อหาความผิดในยุครัฐบาลทหาร คงจะไป“วิ่งเต้น”เหมือนที่แล้วๆมา คงทำได้ยาก จึงรีบทำการบ้านด้านกฎหมายไว้ล่วงหน้า
เรื่องราว “คดีไร่ส้ม”ยิ่งสอบยิ่งรู้ ยิ่งสาวยิ่งลึก และคงยังไม่จบง่ายอย่างที่บางคนคิดไว้ แต่สุดท้ายจะลาก“ผู้บงการ”มาลงเข่ง ร่วมรับโทษทัณฑ์ได้หรือไม่ ต้องติดตามแบบตาไม่กระพริบ