xs
xsm
sm
md
lg

มหากาพย์โคตรโกงไร่ส้มพ่นพิษ คนร้อนตัวนัดสุมหัวหาทางรอด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

สรยุทธ สุทัศนะจินดา
รายงานการเมือง

ความคืบหน้าของคดีที่ บริษัท ไร่ส้ม จำกัด ยักยอกเงินโฆษณาจาก บมจ.อสมท จนได้รับความเสียหายมากกว่า 138 ล้านบาท ล่าสุด “อัยการสูงสุด” เพิ่งได้ฤกษ์ส่งฟ้องต่อศาลไปเมื่อช่วงปลายเดือน ม.ค. 58 ที่ผ่านมา หลังจากที่ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้มีมติเอกฉันท์ชี้มูลความผิด และส่งเรื่องให้อัยการเพื่อส่งฟ้องตั้งแต่เมื่อเดือน ก.ย. 55

แต่เรื่องกลับถูกเตะถ่วงประวิงเวลามาเป็นเวลานานกว่า 2 ปี เหมือนมีอะไรตำคอ “อัยการ” อยู่ ทั้งๆ ที่ฝ่าย ป.ป.ช. ก็ยืนยันหนักแน่นว่า สำนวนที่ส่งให้อัยการนั้น ครบถ้วนสมบูรณ์แบบเกินร้อยเปอร์เซ็นต์ ส่วนประเด็นที่อัยการขอให้สอบสวนเพิ่มเติม ก็เป็นเรื่องหยุมหยิม ไม่ใช่สาระสำคัญของคดี

แม้ฝ่ายอัยการทำท่าจะ “ล้มมวย” อยู่หลายรอบ แต่ในที่สุดก็ต้านทานแรงกดดันจากพยานหลักฐานที่หนาแน่นไม่ไหว สุดท้ายจึงต้องส่งฟ้องต่อศาลไปตามครรลอง

จำเลยในคดีนี้ที่ทางอัยการยื่นฟ้องต่อศาล ในความผิดฐานเรียกรับผลประโยชน์โดยมิชอบ และสนับสนุนพนักงานกระทำความผิดดังกล่าว ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดพนักงานในองค์การ หรือหน่วยงานรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 6, 8, 11 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 และ 91 กรณีการโฆษณาเกินเวลาของรายการ “คุยคุ้ยข่าว” ออกอากาศสถานีโทรทัศน์ช่อง 9 อสมท ระหว่างปี 2548 - 2549 โดยไม่ชำระค่าโฆษณาเกินเวลาให้กับ อสมท รวมยอด 138,790,000 บาท ประกอบไปด้วย จำเลยที่ 1 “บริษัท ไร่ส้ม จำกัด” โดย น.ส.อังคนา วัฒนมงคลศิลป์ และ น.ส.สุกัญญา แซ่ลิ่ม ในฐานะกรรมการผู้จัดการ จำเลยที่ 2 “เฮียสอ” สรยุทธ สุทัศนะจินดา นักเล่าข่าวชื่อดัง และจำเลยที่ 3 น.ส.มณฑา ธีระเดช เจ้าหน้าที่บริษัทไร่ส้ม

ส่วน “จิ๊กซอว์สำคัญ” อย่าง นางพิชชาภา เอี่ยมสะอาด อดีตพนักงาน บมจ.อสมท นั้น ยังรอการดำเนินการส่งตัวเพื่อยื่นฟ้องต่อไป

ที่สุดศาลประทับรับฟ้อง และเมตตาอนุญาตให้ทั้งหมดได้ประกันตัว ก่อนนัดตรวจพยานหลักฐานพร้อมสอบคำให้การจำเลย ในวันที่ 27 เม.ย. นี้ ถือว่าตอนนี้อยู่ในดุลพินิจของศาล ต้องติดตามว่ามหากาพย์โคตรโกง “ไร่ส้ม” จะจบลงแบบไหน

ด้านคดีก็ว่ากันไปตามกระบวนการยุติธรรม แต่อีกด้านซึ่งอาจไม่ได้เป็นข่าวเกรียวกราว แต่มีความน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง เมื่อ “คดีไร่ส้ม” ได้รับเกียรติจาก คณะกรรมาธิการการสื่อสารมวลชน การวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสารสนเทศ ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่มี พล.อ.อ.ชาลี จันทร์เรือง เป็นประธาน หยิบยกขึ้นมาเป็นกรณีศึกษาถึงสาเหตุที่มีการปล่อยปละละเลยให้มีการทุจริตเกิดขึ้นในหน่วยงานภาครัฐ ที่สำคัญ เป็นการทุจริตที่กินระยะเวลากว่า 2 ปี บวกกับมีพนักงาน อสมท ที่หวังดีกับหน่วยงานร้องเรียนให้ กมธ.สอบสวนหาคนผิดเพิ่มเติม

โดย กมธ.สื่อสารฯ สนช. มอบหมายให้ “มนตรี ศรีเอี่ยมสะอาด” ผู้พิพากษาชั้นอ๋อง เป็นประธานอนุ กมธ. แถมด้วย “ประมุท สูตะบุตร” อดีต ผอ.อสมท ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ที่ร้องเรียนความผิดปกติในกรณี “ไร่ส้ม” ต่อ ป.ป.ช. ร่วมพิจารณาเรื่องนี้ด้วย

สิ่งที่ กมธ.สื่อสารฯ สนช. ตั้งประเด็นสงสัยคือ เหตุใดจึงมีการทุจริตเกิดขึ้นใน อสมท เป็นระยะเวลานาน ทั้งที่ อสมท มีสถานะเป็นทั้งหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ และบริษัทมหาชนจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ด้วย จึงมีผู้กำกับดูแลหลายชั้น ทั้งในระดับนโยบาย ตลอดจนในระดับบริหารภายในองค์กรเอง

ในฐานะหน่วยงานรัฐ เป็นอำนาจนายกรัฐมนตรี ผ่านสำนักนายกรัฐมนตรี หรือรองนายกฯที่ได้รับมอบหมาย มีสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) คณะกรรมการ (บอร์ด) และฝ่ายบริหาร กำกับดูแลในชั้นถัดมา นอกจากนี้ ยังมี สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ทำหน้าที่ตรวจสอบการเงินเหมือนกับหน่วยงานรัฐอื่นๆ และในฐานะบริษัทมหาชน มีกระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ย่อมต้องยึดหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี และการบริหารจัดการที่ดี โดยมีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)

นับไปนับมาเกือบ 10 หน่วยงานทีเดียวที่มีอำนาจในการกำกับดูแล อสมท แต่กลับปล่อยให้มีการโกงเงินค่าโฆษณากันอย่างโจ๋งครึ๋ม ทั้งๆ ที่เป็นรายได้หลักเพียงอย่างเดียวของทาง อสมท

กมธ.สื่อสารฯ สนช. ถึงขั้นยกให้ “คดีไร่ส้ม” เป็นการทุจริตในระนาบเดียวกับ “โครงการรับจำนำข้าว” ที่ “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” ในฐานะนายกฯ ถูกตั้งข้อหาปล่อยปละละเลยให้มีการทุจริตเลยทีเดียว โดยมองว่าหากการ “คดีจำนำข้าว” คนที่เป็นนายกฯมีความผิด ใน “คดีไร่ส้ม” ก็ควรมีผู้บริหารระดับสูงมีความผิดด้วย ไม่ใช่ปลาซิวปลาสร้อยกับภาคเอกชนไม่กี่คน

เป็นเหตุให้ กมธ.สื่อสารฯ สนช. ทุ่มเทเวลาประชุมในประเด็น “คดีไร่ส้ม” อย่างละเอียดยิบ นับถึงวันนี้ก็ปาเข้าไปเกือบ 20 นัดเข้าให้แล้ว โดยมีการเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูลอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะบรรดาบอร์ด อสมท และกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ อสมท ทั้งในอดีตและปัจจุบัน รวมไปถึงฝ่ายบริหารที่เกี่ยวข้อง อาทิ นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ และ นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ เป็นต้น

ทั้งนี้ การเชิญตัวบุคคลแต่ละครั้ง กมธ.สื่อสารฯ สนช. ได้เน้นย้ำกับบุคคลนั้นๆ ว่า ไม่ได้ตั้งธงสอบสวนเพื่อเอาผิดกับผู้ใดเพิ่มเติม แต่เป็นการขอข้อมูลเพื่อมาสรุปเป็นรายงานถึงข้อบกพร่องในกำกับดูแล อสมท รวมไปถึงเป็นแนวทางสำหรับหน่วยงานภาครัฐอื่นๆ ด้วย

แต่เรื่องราว “คดีไร่ส้ม” ก็ยิ่งสอบยิ่งรู้ ยิ่งสาวยิ่งลึก ไม่ต่างจากยัดถังขยะถังใหญ่ไว้ใต้พรม ปิดยังไงก็ไม่มิด เพียงแค่ลมโชยมาก็พบเรื่องไม่ชอบมาพากลบานตะเกียงไปหมด อย่างเรื่องการคำนวณค่าโฆษณาในแต่ละวัน ซึ่งที่ผ่านมาเป็น “ข้ออ้าง” ของผู้บริหารหลายๆ คนที่ทำเป็นไม่รู้ไม่เห็นเรื่องที่ “ไร่ส้ม” ยักยอกค่าโฆษณา แต่พอมีการอธิบายวิธีการคำนวณค่าโฆษณาในที่ประชุม กมธ.สื่อสารฯ สนช. เพียงไม่กี่นาทีทุกคนในห้องประชุมก็สามารถคำนวณได้อย่างง่ายดาย

กลายเป็นอีกหนึ่งใบเสร็จที่ชี้ว่า ระดับ “บิ๊ก อสมท” รู้เห็นเรื่อง “ค่าโฆษณาส่วนเกิน - โฆษณาผี” มาโดยตลอด

แม้ กมธ.สื่อสารฯ สนช. จะย้ำนักย้ำหนาว่า หยิบยก “คดีไร่ส้ม” ขึ้นมาพิจารณาเพื่อเป็นกรณีศึกษาเท่านั้น แต่ก็พบความไม่ชอบมาพากลมากขึ้นในทุกๆ ครั้งที่มีการประชุม ตรงนี้เองที่ทำให้ “ตัวการใหญ่” เริ่มนั่งไม่ติด หลังจากสบายอกสบายใจ เพราะตัดตอนความผิดให้พนักงานธุรการระดับล่างเพียงคนเดียว และได้ส่งคนไป “ล็อบบี้” พนักงาน อสมท ที่เป็นผู้ร้องเรียนต่อ กมธ.สื่อสารฯ สนช. ให้ถอนเรื่องออก

ไม่กี่วันก่อนมีคนเห็นบรรดา “คนร้อนตัว” ไปนั่งสุมหัวกันที่ “โรงแรมทิวลิปสีทอง” หารือถึงทางหนีทีไล่เรื่องนี้กันอีกครั้ง หลังจากที่ลอยนวลจากความผิดที่ก่อร่วมกันมานาน วงสนทนาวันนั้น ประกอบไปด้วย “อดีต กก.ผอ.ใหญ่ อสมท” ผู้นำพา “สรยุทธ์ - ไร่ส้ม” เข้ามาสู่ อสมท, “อดีตประธาน บอร์ด อสมท” ในช่วงที่ “โฆษณาผี” ระบาด และ “รอง ผอ.อสมท คนปัจจุบัน” รายหนึ่งที่ว่ากันว่าเป็น “คนเดินเรื่อง” ทั้งหมด

เชื่อว่าคนในวงสนทนาวันนี้รู้ดีว่างานนี้ไม่ใช่เรื่องเล็กๆ และยังเป็นยุครัฐบาลทหาร หากพลาดพลั้งเสียทีไป โอกาส “วิ่งเต้น” ผู้ใหญ่เหมือนที่แล้วๆ มาคงทำได้ยาก ถึงขั้นส่งเทียบเชิญ “นักกฎหมายใหญ่” มาเตรียมเป็น “กุนซือ” ในทางคดีเอาไว้แล้ว

นี่แหละหนา บาปกรรมมันตามทัน ไอ้ที่คิดว่าจะลอยตัวพ้นไปแล้ว กลับมาพ่นพิษใส่แบบตั้งตัวไม่ติด
กำลังโหลดความคิดเห็น