xs
xsm
sm
md
lg

บทความ

x

ชมรมแพทย์ (อ้าง) ชนบท ?

เผยแพร่:   โดย: ชเนษฎ์ ศรีสุโข

ชเนษฎ์ ศรีสุโข พบ., วทม.


องค์กรต่างๆ ที่สร้างความเจริญพัฒนาให้กับประเทศ ทั้งภาครัฐและเอกชนนั้น ย่อมมีวัฒนธรรมองค์กร และการสืบทอดอุดมการณ์ระหว่างรุ่นสู่รุ่น เพื่อที่จะทำให้พวกเขาสามารถดำรงเอกลักษณ์ วิถีปฏิบัติที่เหมาะสม

อดีตสมัยที่ “คนเดือนตุลา” เป็นคนรุ่นใหม่ของประเทศ หมอรุ่นคุณพ่อคุณแม่เรียนจบใหม่ ไฟแรง มีค่านิยมแห่งการอุทิศตน แข่งขันกันออกไปทำงานต่างจังหวัด รู้ว่าโรงพยาบาลที่ไหนทุรกันดาร ความเจริญไปไม่ถึง ก็ออกไปอยู่ตั้งหน้าตั้งตาทำงานช่วยคนยากไร้ ถือว่าเป็นรางวัลแห่งชีวิต หลายคนเคยเป็นหมอคนเดียวของทั้งโรงพยาบาล หรือของทั้งแผนกมาก่อน หลายคนนำทุนจากโรงพยาบาลต่างจังหวัดไปเรียนต่อเฉพาะทาง และก็กลับมาทำงานในจังหวัดนั้นๆ จนเกษียณอายุราชการ เกิดความใกล้ชิด สร้างความกินดีอยู่ดีให้ประชาชนในท้องถิ่น อุดมการณ์ที่สูงส่งของหมอรุ่นนี้ ทำให้เครือข่ายวงการสาธารณสุขเจริญเติบโตไปมาก กระจายตัวไปถึงคนชนบท ทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งที่มีความเข้มแข็งด้านการสาธารณสุข

เคยมีการรวมตัวของกลุ่มแพทย์นักเคลื่อนไหวบางส่วน ก่อตั้ง “ชมรมแพทย์ชนบท” มีอาจารย์หลายท่านเป็นต้นแบบการอุทิศตน ท่านหนึ่งคือผู้อาวุโสเจ้าของทฤษฎี “สามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา” ชมรมแพทย์ชนบทมีการสร้างเครือข่ายแพทย์ในโรงพยาบาลชุมชน หลังชมรมก่อตั้ง ใน พ.ศ.2523 ได้รับความรัก ความไว้วางใจจากเพื่อนแพทย์ที่ศรัทธาในอุดมการณ์เดียวกัน คนในชมรมได้รับการเลือกตั้งเป็นนายกแพทยสภา เป็นเลขาธิการแพทยสภา ตลอดช่วง พ.ศ.2530-2538 หลังจากนั้นเมื่อแพทย์ทั่วประเทศเสื่อมความศรัทธาในชมรมนี้ เพราะอุดมการณ์ของชมรมกับบริบทความเป็นจริงของสังคมไม่สอดคล้องกัน แพทย์ชนบทก็หันไปจับมือกับคุณทักษิณ ก่อตั้ง ตระกูลสอ เช่น สปสช. สสส. สช. สพฉ. ฯลฯ เป็นเวทีให้ตนเองตั้งแต่ พ.ศ.2540 เป็นต้นมา และเป็นต้นกำเนิดของความขัดแย้งที่ซับซ้อน ระหว่างหมอที่ทำงานจริง กับ กลุ่มชมรมแพทย์ชนบท

จากบทความก่อน ผมได้เกริ่นถึงความเป็นมาของกลุ่มแพทย์ชนบทไว้ บทความนี้จะนำเสนอข้อมูลให้ท่านพิจารณาว่า เหตุใด ชื่อแพทย์ชนบทที่มีความหมายถึงอุดมการณ์อันดีงาม การช่วยเหลือประชาชนโดยไม่หวังผลตอบแทนในสมัยก่อน จึงถูกตั้งคำถามเชิงอุดมการณ์ และประชาชนเสื่อมความศรัทธาในทิศทางการเคลื่อนไหว

1. บรรดาผู้ก่อตั้งชมรมแพทย์ชนบท กลับมาทำงานในเมือง ไม่ได้ตรวจคนไข้

บรรดาผู้ก่อตั้งที่เคยทำงานในชนบทเมื่อราว 30-40 ปีก่อนเป็นต้นมา ได้กลับมาทำงานในเมือง พวกเขาทำงานใน ตระกูล สอ มีงบประมาณ มาสร้างอาคาร ที่ทำงานของตนเองให้ทันสมัย ใหม่ สะอาด โอ่โถง และใช้จ่ายทำโครงการต่างๆ ตามสะดวก ไม่ต้องอยู่เวรอดหลับอดนอน มีภาพความเป็นผู้บริหาร เงินเดือนสูงกว่าหมอที่รักษาคนไข้ พวกเขาไม่เข้าใจแล้วว่าผู้ปฏิบัติงานจริงจะมีชีวิตอย่างไร หรือมีปัญหาขัดแย้งกับคนไข้อย่างไร คุณภาพชีวิตของพวกเขา จึงเป็นภาพตรงกันข้ามกับคุณภาพชีวิตของคนทำงานจริงในโรงพยาบาลรัฐบาลทั่วประเทศ คนทำงานจริงเหน็ดเหนื่อยสนองนโยบาย โดยขาดแคลนงบประมาณ ตระกูล สอ กลับนำงบส่วนนี้ไปทำโครงการอื่นแทน เชิญประชาชน NGOs มาร่วมทำงานต่างๆ ก่อเป็นเครือข่ายผลประโยชน์ขนาดใหญ่ สร้างเสริมสุขภาพ สร้างเสริมความสัมพันธ์ จริงๆ โครงสร้างเหล่านี้มีประโยชน์แก่สังคม หากไม่มีการทุจริตคอรัปชั่น หรือ การใช้เงินผิดวัตถุประสงค์ ดังที่คณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) ได้ทำหนังสือ 15 พฤษภาคม 2558 ถึงรัฐมนตรีสาธารณสุข มี 6 ประเด็นใหญ่ อาทิ พบว่า สปสช. ใช้เงินผิดวัตถุประสงค์ตามกฎหมาย - มีการจ่ายเงินให้หน่วยงานนอกที่ไม่มีสิทธิ์ได้รับเงินตามกฎหมาย (มูลนิธิของพี่ใหญ่ แพทย์ชนบท) - มีผลประโยชน์จากการจัดซื้อยา เวชภัณฑ์ เครื่องมือการแพทย์ และต่อมาหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จึงมีคำสั่งที่ 19/2558 โยกย้าย เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และ ระงับการปฏิบัติงานเป็นการชั่วคราว

2. ชมรมแพทย์ชนบทในปัจจุบัน ไม่สร้างความปรองดอง น่าสงสัยมีประโยชน์ทับซ้อน

ทุกวันนี้เวลาเราได้ยินชื่อ ชมรมแพทย์ชนบท ตามหน้าหนังสือพิมพ์ พวกเขาคือผู้สืบทอดรุ่นถัดมา มักมีทิศทางการเคลื่อนไหว ระดมมวลชนสนับสนุนแนวทาง ตระกูล สอ การนำประชาชนและเครือข่าย NGOs ที่เคยร่วมงานกัน มาเคลื่อนไหวกดดันรัฐบาล ต่อต้านระบบตรวจสอบ ต่อต้านฝั่งคนทำงานอีกส่วนหนึ่งในกระทรวงสาธารณสุข โดยสร้างเรื่องว่าจะมีคนล้มระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า แท้จริงแล้วเป็นข้ออ้างในการสนับสนุนกลุ่มพี่ใหญ่ให้อยู่ในอำนาจ ดูแลงบประมาณ ตามเดิม

ก่อนหน้านี้ไม่กี่ปี ในช่วงการเคลื่อนไหว ของ กปปส. นำโดยกำนันสุเทพ เพื่อล้มรัฐบาลของคุณยิ่งลักษณ์ ชมรมแพทย์ชนบท ได้มีส่วนช่วยเหลือ ในการจัดโรงพยาบาลภาคสนาม และบางครั้งมีการแอบอ้างว่าทั้งหมดคือผลงานของชมรม ข้อเท็จจริงโรงพยาบาลสนาม หรือเต็นท์การพยาบาลเหล่านั้น ล้วนเกิดจากจิตอาสาของ พี่น้อง แพทย์ พยาบาล เภสัชกร ทันตแพทย์ ฯลฯ ทุกหมู่เหล่า ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ที่ไม่ได้รับผลประโยชน์ตอบแทนส่วนตัว เพียงแต่ใช้ความสามารถทางวิชาชีพ ช่วยเหลือประชาชน โดยไม่แบ่งฝักฝ่าย พวกเขาไม่ได้สังกัดแพทย์ชนบท และไม่ได้รับการปูนบำเหน็จใดหลังการรัฐประหาร ข้อนี้จึงต่างกับกลุ่มแพทย์ชนบท ที่คนในชมรมรุ่นใหญ่ ได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรี แต่พอมาปกครองกระทรวงสาธารณสุข กลับไม่เข้าใจปัญหา ออกนโยบายที่ทำให้หมอและบุคลากรสาธารณสุขปฏิบัติงานโดยแบกรับความคาดหวังและความเสี่ยงถูกฟ้องมากขึ้น และมีการโยกย้ายคนทำงานในหลายระดับ สร้างความขัดแย้งมากกว่าเก่า ตลอดวาระที่ท่านดำรงตำแหน่ง

3. ชมรมแพทย์ชนบท มีการสื่อสารกับมวลชน ด้วยความจริงด้านเดียว และก้าวร้าว

พวกเขา มีเพจชมรมแพทย์ชนบท คอยส่งข้อมูลในโลกออนไลน์ เคลื่อนไหวในลักษณะโจมตีหมอที่ปฏิบัติงานจริงในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ด้วยข้อหาโคมลอยต่างๆ , เคลื่อนไหวปกป้องเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายของตนเอง , ไม่อยากให้ยกระดับโรงพยาบาลชุมชนของตนเป็นโรงพยาบาลทั่วไปเพราะจะสูญเสียงบประมาณสนับสนุนสำหรับโรงพยาบาลในพื้นที่ทุรกันดาร

เพจนี้ ละเลยที่จะไม่กล่าวถึง กรณีพี่ใหญ่แพทย์ชนบทเคยถูก ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดทางวินัยร้ายแรง เรื่องการผิดระเบียบเบิกค่าน้ำมันรถ หรือ ละเลยที่จะพูดกรณี เลขาธิการ สปสช. ใช้งบประมาณผิดวัตถุประสงค์ จนถูกโยกย้าย เป็นต้น

นอกจากนี้ จะเห็นบทความที่ใช้คำหยาบคาย และอารมณ์ที่รุนแรง อย่างมากในเพจ แพทย์ชนบท อาทิ เปรียบเทียบ ปลัดกระทรวงสาธารณสุขที่เคยออกมาพูดเรื่องการทุจริตงบประมาณ ตระกูลสอ ให้กลายเป็นสัตว์ “ทรพี” มีภรรยาหลายตัว เปรียบเทียบแนวร่วมของหมอโรงพยาบาลศูนย์โรงพยาบาลทั่วไป ซึ่งเป็นผู้ทำงานจริง ให้เป็น เมียทรพี เป็นต้น รวมทั้งหากมีความคิดเห็นแตกต่างใดใด เพจจะรีบลบความคิดเห็นนั้นๆ ทันที นี่คือความก้าวร้าว เผด็จการ และไม่ยอมรับฟังเสียงเพื่อนแพทย์ เพื่อนคนทำงานจริง

4. แกนนำแพทย์ชนบท เป็นคนดี ทำเพื่อคนไข้ แต่ไม่สะท้อนภาพการทำงานในชนบทจริง

แกนนำชมรมนี้ เป็นอาจารย์ที่ผมเคารพหลายท่าน ทราบกันดีว่า ชื่อแพทย์ชนบทยังเป็นจุดเด่น ดึงความสนใจจากสื่อมวลชนได้ และคนที่รู้ไม่เท่าทันก็คงเชื่อว่าชมรมแพทย์ชนบท เป็นตัวแทนแพทย์ที่ทำงานในต่างจังหวัด หรือพื้นที่ห่างไกลทั่วประเทศ

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 ให้ความหมายของ “ชนบท” ว่าหมายถึง บ้านนอก หรือเขตแดนที่พ้นจากเมืองหลวงออกไป เวลาพูดถึงคำว่าชนบท เราจะนึกถึงความแห้งแล้งกันดารและห่างไกลความเจริญ ทั้งในมิติของสังคมศาสตร์ วัฒนธรรม ภูมิศาสตร์

แกนนำแพทย์ชนบท ในโรงพยาบาลแห่งหนึ่งทางภาคอิสาน ตลอด 17 ปีที่ผ่านมา แม้ว่ากระทรวงสาธารณสุขจะยกระดับให้เป็นโรงพยาบาลทั่วไป แต่ก็ยังขอใช้ความเป็นโรงพยาบาลชุมชนในพื้นที่กันดารอยู่ เพื่อให้ได้รับงบประมาณพิเศษ ขัดต่อบริบท ที่ หน้าโรงพยาบาล มีถนนคอนกรีต 8 เลน (ใหญ่กว่าถนนหน้าโรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลจังหวัดหลายๆ แห่ง) เป็นโรงพยาบาลอยู่ในชุมชนเมือง มีร้านค้าสะดวกซื้อ มีธนาคาร 16 ธนาคาร รายได้เฉลี่ยต่อคนต่อปีของคนในพื้นที่อำเภอนี้ ราว 40,400 บาท ซึ่งมากกว่าประชาชน ร้อยละ 90 ของประเทศไทย นี่คือแกนนำใหญ่ของชมรมแพทย์ชนบทในปัจจุบัน ที่รับใช้ประชาชนในพื้นที่เป็นอย่างดี และน่ายกย่อง หากแต่ว่าการใช้ชื่อแพทย์ชนบท มาร่วมสิบปีนั้น อาจไม่ตรงไปตรงมานัก

กรรมการชมรมแพทย์ชนบท อีกหลายท่าน ที่มักให้สัมภาษณ์สื่อ ก็อยู๋ในโรงพยาบาลชุมชนเมืองเช่นเดียวกัน ท่านคอยให้ความรู้ประชาชนด้านการดูแลรักษาตัวเอง และความรู้เรื่องโรคภัยไข้เจ็บต่างๆเป็นอย่างดี ถือว่าช่วยเหลือประชาชนมาก

5. ชมรมแพทย์ชนบท อาจทำให้วงการแพทย์เสื่อมเสีย

ด้วยการเคลื่อนไหวดังที่กล่าวมา ชมรมนี้ ทำให้คนที่ติดตามข่าววงการสาธารณสุขเอือมระอา สะท้อนพฤติกรรมของ การสร้างปัญหาใหม่ๆมากกว่าหาทางแก้ไขปัญหาเดิมที่มีอยู่ ประชาชนบางส่วนจึงมองเหมารวมว่าพวกหมอแก่งแย่งผลประโยชน์กัน และทำให้ภาพลักษณ์แพทย์เสียหายทั้งวงการ แท้จริงแล้ว มีแต่กลุ่มแพทย์ชนบทเท่านั้นที่อยู่ในอำนาจของวงการสาธารณสุข ณ ขณะที่ผู้เคลื่อนไหวกลุ่มอื่น ต้องการให้มีการตรวจสอบการใช้งบประมาณไม่ชอบของพวกท่าน

6. คนที่ทำงานจริงไม่ได้สังกัดแพทย์ชนบท

ชมรมแพทย์ชนบท ไม่มีการเปิดรับสมัครแพทย์ที่ทำงานในต่างจังหวัด เข้าชมรม พวกเขามีการสลับเปลี่ยนหมุนเวียนแกนนำแพทย์เพียงไม่กี่ท่านที่ออกสื่อมวลชนตลอด 10 ปี ที่ผ่านมานี้ และอาศัยมวลชนจัดตั้งที่ไม่ใช่กลุ่มผู้ปฏิบัติงานจริง มาสนับสนุนตนเอง

เมื่อเวลาเปลี่ยนไป ประเทศไทยมีความเจริญทางด้านเทคโนโลยีขนส่งมวลชน เมืองต่างๆ ขยายใหญ่ มีการพัฒนาทางด้านอุตสาหกรรม และเศรษฐกิจ เมืองขยายใหญ่ขึ้น แพทย์บางส่วนอยู่ในพื้นที่ที่เจริญแล้ว อย่างไรก็ตามแพทย์ที่ทำงานจริงในพื้นที่ต่างจังหวัด ต่างอำเภอ หรือพื้นที่ทุรกันดารจริงยังมีอยู่มาก แพทย์ที่ทำงานหนักมากคือแพทย์ในโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลชายขอบ คนทำงานระดับล่าง แพทย์ผู้น้อย น้องๆแพทย์เพิ่มพูนประสบการณ์ พยาบาล เภสัชใหม่ และบุคลากรสาธารณสุข พวกเขาเหล่านี้ไม่ได้สังกัดชมรมแพทย์ชนบท และพวกเขาทุ่มเทให้คนไข้โดยไม่ห่วงผลประโยชน์เฉพาะตน

ชมรมแพทย์ชนบท จึงเป็นชื่อของชมรมที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับแพทย์ส่วนใหญ่ที่ทำงานในพื้นที่ห่างไกล ในด้านหนึ่งที่แกนนำแพทย์ชนบททำงานเพื่อคนไข้ย่อมต้องชื่นชม พวกเขามีการเคลื่อนไหวเรื่องการปฏิรูปพลังงาน หรือลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมต่างๆ แต่อีกด้าน การเคลื่อนไหวในวงการสาธารณสุข โดยอ้างว่าทำเพื่อประชาชน ก็อยากให้ผู้อ่านทุกท่านรู้ทัน แท้จริงแล้วพวกเขากระทำเพื่อเพื่อผลประโยชน์ของคนบางกลุ่ม สืบทอดอุดมการณ์ที่ไม่ใช่เพื่อประชาชนส่วนใหญ่อีกต่อไป คนรู้ทันจึงพร้อมใจเรียกชมรมนี้ว่า “ชมรมแพทย์ (อ้าง) ชนบท”

บทความแนะนำ
• ความสำเร็จ และ การสืบทอดของแพทย์ชนบท
manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9580000090354
• อวสานแพทย์ชนบท โดย ดวงจำปา
manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9570000011968

เกี่ยวกับผู้เขียน : ชเนษฎ์ ศรีสุโข เป็นหมอคนหนึ่งที่สนใจด้านการเมือง สังคม และ เป็นแฟนพันธุ์แท้ วงการสาธารณสุขไทย งานหลักตรวจคนไข้ งานอดิเรก เรียน และ รู้ เรื่องชาวบ้าน ว่างๆ มักถูกปรึกษาเรื่องราวสุขภาพ และโรคผิวหนัง ช่วงนี้ ชอบกินอาหารคลีน และมีชีวิตอยู่อย่างสามัญชน
กำลังโหลดความคิดเห็น