xs
xsm
sm
md
lg

ท่าเรือเคอรี่ สยามซีพอร์ต รับฟังความคิดเห็นประชาชนครั้งสุดท้าย(ชมคลิป)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ท่าเรือเคอรี่ สยามซีพอร์ต รับฟังความคิดเห็นประชาชน
ศูนย์ข่าวศรีราชา - ท่าเรือเคอรี่ สยามซีพอร์ต จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโครงการขยายท่าเทียบเรือระยะที่ 4 ครั้งสุดท้าย เพื่อนำไปพิจารณาก่อนอนุมัติ ส่วนใหญ่ให้การสนับสนุน หวังสร้างความเจริญให้แก่พื้นที่ และประเทศชาติ


วันนี้ (3 ส.ค.) ที่ห้องประชุมอเนกประสงค์ ชั้น 2 เทศบาลนครเจ้าพระยาสุรศักดิ์ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี นายอาคม พันธุ์เฉลิมชัย นายกเทศมนตรีนครเจ้าพระยาสุรศักดิ์ เป็นประธานเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโครงการขยายท่าเทียบเรือระยะที่ 4 ของบริษัท เคอรี่ สยามซีพอร์ต จำกัด โดยมีประชาชนในรัศมี 5 กิโลเมตร ที่อาจจะได้รับผลกระทบจากโครงการก่อสร้าง ประกอบด้วย เขตบาลเมืองศรีราชาบางส่วน เทศบาลนครแหลมฉบังบางส่วน เทศบาลนครเจ้าพระยาสุรศักดิ์บางส่วน เข้าร่วมประมาณ 500 คน โดยมี นายณัฐ จับใจ รองอธิบดีกรมเจ้าท่า ด้านความปลอดภัย พร้อมคณะกรรมการรับฟังความคิดเห็นประชาชน ซึ่งมี รศ.ดร.อุดมพร แพ่งนคร ประธานคณะกรรมการ และกรรมการร่วมรับฟังในครั้งนี้

นายณัฐ กล่าวว่า โครงการขยายท่าเทียบเรือระยะที่ 4 ของบริษัท เคอรรี่ สยามซีพอร์ต จำกัด เป็นการขยายท่าเทียบเรือขึ้นไปทางทิศเหนือ (ทางด้านขวาของท่าเทียบเรือปัจจุบันเมื่อมองจากอีกฝากหนึ่ง) อีก 750 เมตร โดยผ่านความเห็นชอบจากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เมื่อวันที่ 30 ก.ย.57 โดยกรมเจ้าท่าในฐานะหน่วยงานอนุญาต จึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสีย เพื่อรวบรวมข้อเสนอแนะและความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนนำไปพิจารณาเสนอหน่วยงานที่รับผิดชอบดำเนินการต่อไป

ที่ผ่านมา บริษัทได้จัดเวทีสอบถามความคิดเห็นของประชาชน และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมาแล้ว 3 ครั้ง ซึ่งข้อมูลต่างๆ ที่ประชาชนเสนอมาได้นำมาแก้ไขปรับปรุงโครงการเพื่อไม่ให้โครงการส่งผลกระทบต่อประชาชน และสิ่งแวดล้อม และการรับฟังในครั้งนี้เพื่อนำข้อมูลมาปรับปรุงแก้ไขครั้งสุดท้าย ก่อนคณะกรรมการ (กลาง) จะนำเสนอคณะกรรมการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาอนุมัติต่อไป

ด้าน นายพรชัย เต่ามณี ชาวชุมชนเมืองศรีราชา กล่าวว่า จากการติดตามโครงการมาตลอดเวลา หวั่นปัญหา และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อประชาชน และสิ่งแวดล้อม แต่เมื่อสอบถามข้อมูลจากบริษัทแล้วมีการวางมาตรการดูแลป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นเป็นที่น่าพอใจ จึงพร้อมจะให้การสนับสนุน เพราะจะสร้างความเจริญเติบโตในพื้นที่ เนื่องจากพื้นที่บริเวณดังกล่าวเหมาะที่จะเป็นท่าเรือรับส่งสินค้าในประเทศ และต่างประเทศ ที่สำคัญทำให้คนมีงานทำ และเศรษฐกิจในพื้นที่และประเทศดีขึ้น นอกจากนั้น ยังมีผู้เสนอแนะ และให้การสนับสนุนให้โครงการนี้เกิดขึ้นอีกหลายราย

ส่วน นายสมยศ เฉียวกุล ตัวแทนชาวบ้านบ้านอ่าวอุดม กล่าวว่า โครงการได้รับความสนใจจากคณะกรรมการองค์กรอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (กอสส.) โดยเฉพาะเรื่องวิศวกรรมชายฝั่ง ที่โมเดลางคณิตศาสตร์ในรายงาน EHIA ฉบับนี้มีปัญหา มีข้อมูลขัดแย้งกันเองภายในผลการวิเคราะห์ ดังนั้น ตนจะมอบเอกสาร ข้อเสนอแนะให้คณะกรรมการไว้พิจารณา เพื่อเป็นประโยชน์ในการอนุมัติโครงการต่อไป

อนึ่ง ท่าเรือเคอรี่ สยามซีพอร์ต เรือขนส่งสินค้าสามารถเข้าเทียบท่าด้านนอก และด้านใน ซึ่งด้านนอกเดิมมีความยาว 786.3 เมตร สามารถจอดเรือขนาดไม่เกิน 300 เมตร และกินน้ำลึกไม่น้อยกว่า 1 เมตร โดยจอดเรือได้มากที่สุดพร้อมกัน 2 ลำ ส่วนท่าเทียบเรือด้านใน แบ่งเป็นด้านทิศใต้และฝั่งทิศเหนือ ที่มีความยาวท่าในปัจจุบัน 332 เมตร และ 338 เมตร สามารถจอดเรือขนาดความยาว 230 เมตร และความลึกไม่น้อยกว่า 1 เมตร ซึ่งทั้ง 2 ฝั่งสามารถจอดเรือได้ฝั่งละ 1 ลำ แต่เมื่อก่อสร้างท่าเทียบเรือส่วนขยายขนาด 750 เมตร จะสามารถจอดเรือได้สูงสุดทั้งฝั่งใต้ และทิศเหนือ 6 ลำ หากโครงการได้รับอนุมัติจะใช้เวลาก่อสร้าง 42 เดือน คาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณต้นปี 2560
มีประชาชนเข้าร่วมรับฟังและข้อเสนอแนะประมาณ 500 คน
ประชาชนส่วนใหญ่ให้การสนับสนุน โครงการดังกล่าว
มีประชาชนบางกลุ่มคัดค้านและมอบเอกสารการคัดค้านต่อคณะกรรมการพิจารณาในครั้งนี้ด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น