xs
xsm
sm
md
lg

รัฐบาลฮั้วแห่งชาติ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ปัญญาพลวัตร
โดย พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต

ดูเหมือนความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในช่วงสิบกว่าปีของสังคมไทยเป็นสิ่งที่ไม่พึงปรารถนาของผู้คนจำนวนมาก กระแสแห่งการเรียกร้องความปรองดองจึงเกิดขึ้นควบคู่กันมาโดยตลอด จนกระทั่งมีแนวคิดให้จัดตั้งรัฐบาลปรองดองแห่งชาติ หรืออีกนัยหนึ่งคือ “รัฐบาลฮั้วแห่งชาติ” ขึ้นมา โดยจะนำไปตั้งเป็นคำถามในการลงประชามติและเตรียมการเขียนเอาไว้ในบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ

กลุ่มผู้ยกร่างรัฐธรรมนูญคงคาดการณ์ว่า หากมีรัฐบาลปรองดองแห่งชาติจะนำไประเทศไปสู่ความสงบ การคาดการณ์แบบนี้มาจากฐานคิดที่ว่าการเมืองไทยมีอยู่สองขั้ว หากขั้วใดขั้วหนึ่งขึ้นมาครอบครองอำนาจและเป็นรัฐบาล ก็จะทำให้อีกขั้วซึ่งไม่มีอำนาจรัฐออกมาชุมนุมประท้วงเพื่อขับไล่ จนเกิดความวุ่นวายทางการเมือง และนำไปสู่ความขัดแย้งที่รุนแรงมากขึ้น ดังนั้นหากให้ทั้งสองขั้วการเมืองแบ่งอำนาจรัฐกัน ก็จะทำให้ประเทศสงบเรียบร้อย

ขั้วการเมืองในมุมมองของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญน่าจะหมายถึงพรรคเพื่อไทยกับ พรรคประชาธิปัตย์ จึงพออนุมานวิธีคิดและความเชื่อของคณะกรรมาธิการยกร่างฯในเชิงรูปธรรมได้ว่า พวกเขาเชื่อว่าหากพรรคเพื่อไทยและประชาธิปัตย์อยู่ในรัฐบาลเดียวกัน ประเทศคงจะสงบเรียบร้อยเป็นแน่

กระแสของความเชื่อแบบนี้คงดำรงอยู่ในกลุ่มผู้ที่มีบทบาทและอำนาจจำนวนไม่น้อย เราจึงเห็นความพยายามในการผลักดันรัฐบาลปรองดองแห่งชาติออกมาเป็นระยะๆ ผมคิดว่าความเชื่อแบบนี้เป็นความเชื่อทางการเมืองของกลุ่มที่เราเรียกกันว่า “กลุ่มความเชื่อแบบพวกโลกสวย” นั่นเอง

พวกโลกสวยนั้นเป็นพวกที่อยากเห็นบ้านเมืองสงบ ทุกคนทุกกลุ่มอยู่ร่วมกันอย่างถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน ใครทำไม่ดีบ้างก็ให้อภัยกัน หรือหากใครทำผิดบ้างก็แกล้งเป็นมองไม่เห็น หรือหากใครระรานคนอื่นๆ และคนที่ถูกกระทำลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อความเป็นธรรม แทนที่พวกโลกสวยจะไปตำหนิหรือห้ามปรามผู้ระรานหรือผู้ใช้ความรุนแรงต่อคนอื่นๆ พวกโลกสวยกลับกล่าวด้วยตรรกะที่พิสดารว่า “ให้ผู้ที่ถูกรังแกยอมๆเขาไปเพื่อความปรองดอง เรื่องจะได้จบ”

เมื่อมีคนแข็งแรงกว่ามาช่วยผู้ที่ถูกรังแก โดยเข้าไปจัดการกับผู้ระราน พวกโลกสวยกลับบอกว่าอย่าไปใช้ความรุนแรงกับผู้ระราน อย่าไปทำอะไรเขา และควรจะปรองดองโดยเปิดโอกาสให้ผู้ใช้ความรุนแรงเข้ามามีอำนาจบ้าง เพราะหากกีดกันพวกอันธพาลไม่ให้มีอำนาจ ก็จะกลายเป็นการเลือกปฏิบัติสองมาตรฐานไปโน่น

ความคิดเกี่ยวกับรัฐบาลปรองดองแห่งชาติจึงเป็นความคิดที่ตื้นเขินและเสี่ยงเสี้ยวแบบแก้ผ้าเอาหน้ารอดหรือสุกเอาเผากิน เพื่อกลบเกลื่อนปัญหาที่แท้จริงของประเทศ หรือไม่ก็เป็นแบบนกกระจอกเทศที่เอาหน้าเข้าซุกทรายเมื่อยามมีภัยมาถึงตัว ซึ่งสะท้อนการไม่ยอมรับความจริง การจนปัญญาและการขาดความกล้าหาญในการแก้ปัญหา

นอกจากมีความคิดแบบโลกสวยแล้ว ลึกลงไปผู้เสนอความคิดรัฐบาลปรองดองแห่งชาติเป็นผู้ที่ถูกห้อมล้อมด้วยความกลัว กล่าวคือกลัวว่าหากร่างรัฐธรรมนูญเสร็จและจัดให้มีการเลือกตั้งแล้ว พรรคเพื่อไทยจะได้กลับมาเป็นรัฐบาลอีก เมื่อพรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาลใหม่อีกครั้งก็อาจทำพฤติกรรมแบบเดิม นั่นคือการเสนอกฎหมายนิรโทษกรรมแบบสุดซอย หรือใช้นโยบายประชานิยมจนประเทศเกือบล่มสลาย และท้ายที่สุดก็จะเกิดการชุมนุมประท้วงขับไล่รัฐบาลอีก

หากถามว่าความเป็นไปได้มากหรือน้อยที่พรรคเพื่อไทยจะได้กลับมาเป็นรัฐบาลหลังการเลือกตั้งครั้งใหม่ ผมคิดว่าภายใต้สถานการณ์การบริหารประเทศของรัฐบาลที่เป็นอยู่ปัจจุบันและการร่างรัฐธรรมนูญซึ่งไม่ได้เปลี่ยนโครงสร้างของระบอบการเมืองใดๆ จะเป็นเงื่อนไขที่เอื้ออำนวยให้พรรคเพื่อไทยกลับเข้ามามีอำนาจอีกครั้งมีความเป็นไปได้ค่อนข้างสูง

เหตุผลที่ง่ายๆก็คือ รัฐบาลและผู้กุมอำนาจรัฐในปัจจุบันไม่ได้ทำให้ประชาชนกลุ่มรากหญ้าเปลี่ยนแปลงความคิดและความเชื่อที่พวกเขามีต่อทักษิณ ชินวัตรได้ กลับมีท่าทีประนีประนอม หรือทำอะไรแบบกล้าๆกลัวๆ หรือครึ่งๆกลางๆ และระบอบการเมืองแบบรวมอำนาจที่ออกแบบไว้ในร่างรัฐธรรมนูญก็ยังเป็นแบบเดิมคือฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารทับซ้อนกันอยู่ โดยนายกรัฐมนตรีมาจากการเลือกของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หากสถานการณ์และเงื่อนไขยังเป็นอย่างนี้ การเลือกตั้งครั้งใหม่ที่เกิดขึ้นก็เป็นไปอย่างที่หลายฝ่ายทำนายไว้ นั่นคือพรรคเพื่อไทยจะได้รับคะแนนเสียงมากที่สุด และเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลผสม

การพยายามกำหนดให้มีรัฐบาลปรองดองแห่งชาติจึงเป็นการแก้ปัญหาแบบปะผุ และหากความคิดนี้ถูกทำให้เกิดขึ้นมาจริง นั่นคือทุกพรรคการเมืองร่วมกันเป็นรัฐบาล ผมคิดว่าสิ่งที่จะตามมาคือ การเกิด “รัฐบาลฮั้วแห่งชาติ” ซึ่งทำให้ระบบการตรวจสอบในรัฐสภาไม่ทำงานอย่างสิ้นเชิง และทำให้ระบบตรวจสอบที่เป็นทางการอื่นๆขององค์การอิสระตามรัฐธรรมนูญทั้งหลายกลายเป็นอัมพาตตามไปด้วย เพราะจะถูกครอบงำโดยฝ่ายการเมือง นักการเมืองทั้งหลายก็คงปิติยินดีกันทั่วหน้าเพราะจะได้ส่วนแบ่งกันครบถ้วน

ทีนี้เมื่อระบบการตรวจสอบอย่างเป็นทางการเป็นง่อยแล้ว ระบบการตรวจสอบจากภาคประชาสังคมจะเป็นอย่างไรบ้าง เริ่มจากการตรวจสอบจากสื่อมวลชน ผมคิดว่าการตรวจสอบจะด้อยประสิทธิภาพลงไปด้วยสองสาเหตุ สาเหตุแรกคือ ความเกรงใจเพื่อนๆและพรรคที่ตนเองสนับสนุนซึ่งนั่งอยู่ในรัฐบาล การตรวจสอบก็จะเป็นไปแบบถ้อยทีถ้อยอาศัย และสาเหตุประการที่สองคือ ผลประโยชน์ที่ได้รับจัดสรรเพื่อการประชาสัมพันธ์นั่นเองที่จะทำให้เสียงของการตรวจสอบแผ่วเบาลงไป

สำหรับการตรวจสอบจากมวลชน จากความจริงที่ว่า พรรคการเมืองใหญ่มีฐานมวลชนของตนเองทั้งคู่ พรรคเพื่อไทยมี นปช. เป็นฐาน ส่วนพรรคประชาธิปัตย์มี กปปส. เป็นฐาน การตรวจสอบจึงมีแนวโน้มที่ทำกันอย่างถ้อยทีถ้อยอาศัย เช่น มวลชน นปช.คงไม่ตรวจสอบหรือวิจารณ์พรรคเพื่อไทยอย่างรุนแรงมากนัก ขณะที่มวลชน กปปส. ก็คงไม่วิจารณ์พรรคประชาธิปัตย์อย่างเข้มข้น ส่วนการวิจารณ์ข้ามพรรคก็วิจารณ์กันไปพอเป็นพิธีเท่านั้นเอง

การตรวจสอบที่พอจะมีบ้างก็คงมาจากสื่อมวลชนและประชาชนที่ไม่สังกัดหรือผูกพันกับกับสองพรรคการเมืองใหญ่ทั้งสอง แต่กลุ่มเหล่านี้จะมีพลังมากน้อยเพียงใด ในขณะนี้ยังประเมินได้ยาก เพราะว่ามีความเป็นไปได้เกิดขึ้นเสมอสำหรับภาคประชาชนในสังคมไทย เช่น ก่อนการชุมนุมใหญ่ของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.)ในปี 2549 ก็ไม่มีใครคาดคิดมาก่อนว่าประชาชนจะเข้ามาร่วมชุมนุมได้มากขนาดนั้น เช่นเดียวกันกับการชุมนุมของกลุ่มนปช.ในปี 2553 และการชุมนุมของ กปปส. ในปี 2556-2557 เหตุการณ์ชุมนุมใหญ่ของประชาชนจึงมีศักยภาพที่เกิดขึ้นได้เสมอในบริบทการเมืองไทย หากมีเงื่อนไขที่สุกงอมเพียงพอ

การมี “รัฐบาลฮั้วแห่งชาติ” จึงไม่มีหลักประกันแม้แต่นิดเดียว ว่าเราจะได้ ”รัฐบาลที่ดี” ซึ่งมุ่งทำคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติเป็นหลัก เราอาจได้รัฐบาลที่เป็น “เผด็จการสมบูรณ์แบบ” ที่สามารถอ้างชอบธรรมในการใช้อำนาจตามอำเภอใจเพราะพวกเขาถือว่ามาจากการเลือกตั้งของประชาชน และนั่นก็จะเป็นเงื่อนไขที่นำไปสู่ความขัดแย้งทางการเมืองและสังคมหรือวิกฤติรอบใหม่ซึ่งอาจมีขนาดใหญ่โตกว่าที่เคยเกิดขึ้นในอดีตรวมกันก็ได้

ผมจึงขอคาดการณ์ในทางร้ายว่า “เมื่อสองขั้วอำนาจจับมือกันหรือฮั้วกัน ความวิบัติแห่งชาติก็จะเกิดขึ้นมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ”


กำลังโหลดความคิดเห็น