เอเอฟพี/รอยเตอร์ - นายแพทย์ชาวอเมริกันอีกรายหนึ่งตกเป็นผู้ต้องสงสัยว่าสังหารสิงโตในซิมบับเวโดยไม่ได้รับอนุญาต หน่วยงานอุทยานของประเทศนี้ระบุเมื่อวานนี้ (2 ส.ค.) ไม่กี่วันหลังจากที่ข่าวการสังหารสิงโตซีซิลโดยทันตแพทย์ชาวอเมริกันรายหนึ่งได้สร้างกระแสความโกรธเคืองไปทั่วโลก
ถ้อยแถลงของรัฐบาลระบุว่า การเดินหน้ากวาดล้างนับตั้งแต่การสังหารซีซิลได้นำไปสู่การจับกุม เฮดแมน ซีแบนดา ผู้จัดทริปล่าสัตว์ในข้อหาฝ่าฝืนกฎหมายการล่าสัตว์
รัฐบาลระบุว่า ลูกค้าของซีบันดาเป็นนายแพทย์ชาวอเมริกันชื่อว่า แจน แคสมีร์ ซีเอสกี ซึ่งเดินทางไปซิมบับเวเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา
“คดีของเฮดแมน ซีแบนดา มีความเชื่อมโยงกับสิงโตตัวหนึ่งที่ถูกสังหารโดยชาวอเมริกันอีกคนหนึ่ง (ซีเอสกี) ในเดือนเมษายน” แคโรไลน์ วาชายา-โมโย โฆษกของหน่วยงานอุทยานกล่าว
ปรินซ์ มูปาซวีรีโว เจ้าหน้าที่กระทรวงสิ่งแวดล้าม กล่าวว่า ซีแบนดา ไม่มีใบอนุญาตสำหรับการล่าสัตว์
เว็บไซต์ Horns of Africa Safaris ได้ลงภาพชายคนหนึ่งที่ถูกระบุว่าเป็น เซสกีกำลังโพสต์ท่าถ่ายรูปกับสัตว์ต่างๆ ที่ทางเว็บไซต์ระบุว่าถูกเขาฆ่าด้วยธนู รวมถึงม้าลาย, ควายป่าแอฟริกา และนกกระจอกเทศ
ด้านเว็บไซต์ของบริษัท Alaska Bowhunting Supply ก็ลงภาพชายคนหนึ่งที่ถูกระบุว่าเป็นเซสกี ยืนข้างๆ กับซากช้างและมีข้อความใต้ภาพว่า “ช้างซิมบับเวตัวนี้เป็นช้างแอฟริกันตัวที่ 5 ที่ถูกล้มโดย นพ.แจน เซสกี”
เมื่อวันเสาร์ (1) หน่วยงานอุทยานประกาศระงับการล่าสิงโต, เสือดาว และช้าง ในพื้นที่รอบๆ อุทยานแห่งชาติฮวาเง เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าที่ ซีซิล อาศัยอยู่
รัฐบาลระบุว่า พวกเขาได้จัดตั้งกองทุนอนุรักษ์และเฝ้าติดตามสัตว์ป่า และกำลังเรี่ยไรเงินบริจาคสำหรับปฏิบัติการเพื่อเฝ้าสังเกตการณ์กิจกรรมต่างๆ ในอุตสาหกรรมการล่าสัตว์นี้
ก่อนหน้านั้นในวันอาทิตย์ (2) สำนักงานการบริหารจัดการสัตว์ป่าและอุทยานในซิมบับเว (ซิมปาร์ก) ออกมาปฏิเสธข่าวลือที่ว่า เจริโช พี่น้องของ ซีซิล ถูกสังหารเมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา
“สิงโตชื่อ เจริโช ยังมีชีวิตอยู่และถูกเฝ้าสังเกตการณ์โดย เบรนท์ สตาเพเลียส จากโครงการวิจัยสิงโต” ซิมปาร์คสระบุในถ้อยแถลง
การสังหารซีซิล สิงโตซึ่งดึงดูดนักท่องเที่ยวด้วยแผงคอสีดำอันโดดเด่นของมัน ได้ก่อให้เกิดกระแสความโกรธเคืองไปทั่วโลก วอลเตอร์ พาลเมอร์ ทันตแพทย์ชาวอเมริกันยิงสิงโตตัวนี้ด้วยธนูนอกอุทยานฮวาเงเมื่อต้นเดือนกรกฎาคม
หลังจากยิงเจ้าแมวใหญ่ตัวนี้แล้ว พาลเมอร์ และ ธีโอ บรอนคอร์สต์ ไกด์ท้องถิ่นก็ตามรอยเจ้าสิงโตตัวบาดเจ็บตัวนี้อยู่นานถึง 40 ชั่วโมงก่อนที่จะปลิดชีวิตมันด้วยปืน
บรอนคอร์สต์ มีกำหนดปรากฏตัวในศาลในวันที่ 5 สิงหาคมจากข้อหา “ล้มเหลวในการยับยั้งการล่าสัตว์ผิดกฎหมาย”
โอปปาห์ มูชินกูรี รัฐมนตรีกระทรวงสิ่งแวดล้อมของซิมบับเวได้ร้องขอให้สหรัฐฯ ส่งตัว พาลเมอร์ เป็นผู้ร้ายข้ามแดน เพื่อให้สามารถนำตัวเขามาดำเนินคดีได้