รอยเตอร์ – เจ้าหน้าที่พิทักษ์สัตว์เผย “เซซิล” สิงโตที่มีอายุมากและโด่งดังที่สุดของซิมบับเว ถูกฆ่าตายด้วยน้ำมือทันตแพทย์ชาวอเมริกันที่จ่ายเงิน 50,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ให้พรานท้องถิ่นช่วยล่อมันออกมาถึงที่ตาย
จอห์นนี โรดริเกวซ ประธานคณะทำงานอนุรักษ์แห่งซิมบับเว (ZCTF) บอกกับผู้สื่อข่าวว่า พรานท้องถิ่น 2 คนได้ใช้เหยื่อล่อสิงโตตัวนี้ออกมาจากอุทยานแห่งชาติฮวาเง (Hwange National Park) ก่อนที่มันจะถูกปลิดชีพด้วยมือของ วอลเตอร์ เจมส์ พาลเมอร์ ทันตแพทย์ชาวอเมริกันจากรัฐมินนิโซตา
องค์กรพิทักษ์สัตว์ไลออนเอด ระบุว่า เซซิลถูกยิงด้วยหน้าไม้จนบาดเจ็บสาหัส และต้องทนทรมานเพราะพิษบาดแผลอยู่นานถึง 40 ชั่วโมงกว่าจะตาย
หลังถูกชาวเน็ตรุมประณามย่อยยับจากการล่าสิงโตครั้งนี้ พาลเมอร์ ก็ได้ออกมาเปิดใจเมื่อวันอังคาร(28 ก.ค.)ว่า ตนได้จ้างคณะพรานนำทางที่มีประสบการณ์สูง และได้รับอนุญาตให้เข้าไปล่าสัตว์ด้วยหน้าไม้อย่างถูกต้อง แต่ก็รู้สึกเสียใจเมื่อทราบว่าสิงโตที่ตนฆ่ามีความสำคัญต่อชาวซิมบับเวมากเพียงใด
“เท่าที่ผมทราบ รายละเอียดทุกอย่างของทริปนี้ถูกจัดเตรียมมาแล้วอย่างถูกต้อง” พาลเมอร์ ระบุในคำแถลงที่โพสต์ลงเว็บไซต์หนังสือพิมพ์ เดอะ สตาร์ ทริบิวน์
โรดริเกวซ เผยว่า เมื่อวันที่ 1 ก.ค. หมอฟันผู้นี้ได้ว่าจ้าง ธีโอ บรอนคอร์สต์ พรานล่าสัตว์ และ ออเนสต์ เอ็นดโลวู เจ้าของเกมพาร์คเอกชนแห่งหนึ่ง เข้าไปล่อเจ้าเซซิลวัย 13 ปีออกมาให้ยิง ซึ่งในวันนี้ (29) ทั้ง บรอนคอร์สต์ และ เอ็นดโลวู จะถูกตั้งข้อหาบุกรุกเข้าไปล่าสัตว์ที่อุทยานแห่งชาติฮวาเง
พาลเมอร์ ระบุว่า ตนยังไม่ได้รับการติดต่อจากทางการซิมบับเวหรือเจ้าหน้าที่ของสหรัฐฯ แต่ยินดีที่จะให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่
“ผมไม่รู้มาก่อนว่าสิงโตตัวที่ผมยิงมีชื่อเสียง เป็นที่รักของคนท้องถิ่น และเป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัย จนกระทั่งสิ้นสุดการล่าแล้ว” เขากล่าว
“ผมเชื่อในความเป็นมืออาชีพของพรานนำทางทั้งสองคนว่าพวกเขาคงจะจัดการทุกอย่างให้ถูกต้องตามกฎหมาย”
กิจกรรมล่าสัตว์ของ พาลเมอร์ เคยถูกทางการเพ่งเล็งมาแล้วหลายครั้ง
เมื่อปี 2008 เขารับสารภาพว่าได้แจ้งข้อมูลเท็จต่อเจ้าหน้าที่พิทักษ์สัตว์สหรัฐฯ เกี่ยวกับหมีดำที่เขาฆ่าในรัฐวิสคอนซินเมื่อ 2 ปีก่อนหน้า
หมีดำตัวดังกล่าวถูก พาลเมอร์ ยิงตายห่างจากเขตอนุญาตล่าสัตว์ถึง 40 ไมล์ แต่ทันตแพทย์รายนี้ก็เลี่ยงกฎหมายด้วยการนำซากของมันกลับไปโยนไว้ในเขตที่ล่าสัตว์ได้ และอ้างว่ายิงมันตายที่นั่น
เขาถูกทำทัณฑ์บน 1 ปี และปรับเป็นเงินอีก 2,938 ดอลลาร์สหรัฐฯ
เซซิล เป็นสิงโตแผงคอดำ (black-maned lion) ที่มีชื่อเสียงโด่งดังของอุทยานแห่งชาติฮวาเง และเคยถูกถ่ายภาพไปลงสื่อต่างๆ มาแล้วหลายครั้ง
โรดริเกวซ ระบุว่า หัวและผิวหนังของมันถูกเก็บรักษาไว้ และจะถูกนำไปเป็นหลักฐานในชั้นศาล
สิงโตไม่ใช่สัตว์ป่าคุ้มครองตามกฎหมายซิมบับเว ดังนั้น หากพรานนำทางทั้ง 2 คนของ พาลเมอร์ ถูกพบว่ากระทำผิดจริง ก็มีโทษเพียงจ่ายค่าปรับ 20,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ทว่าศาลอาจสั่งจำคุกเพิ่มเติมได้