xs
xsm
sm
md
lg

สหรัฐฯ คงอันดับไทย “เทียร์ 3” รายงานค้ามนุษย์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


อันเดอร์เคอร์เรนท์นิวส์ - ไทยยังคงอยู่ใน “เทียร์ 3” ในรายงานสถานการณ์ค้ามนุษย์ (Trafficking in Persons หรือ TIP) ของสหรัฐฯ ปี 2015 ที่เผยแพร่ในวันจันทร์ (27 ก.ค.) ระบุไทยยังไม่ดำเนินการอย่างเพียงพอสำหรับปฏิบัติตามมาตรฐานขั้นต่ำสุดในการกำจัดปัญหาค้ามนุษย์

ไทยถูกลดอันดับสู่ขั้น “เทียร์ 3” เมื่อปีที่แล้ว ส่วนหนึ่งมาจากปัญหาละเมิดแรงงานในภาคอุตสาหกรรมอาหารทะเล ขณะที่ในรายงานประจำปี 2015 ระบุว่า แม้ว่ากรุงเทพฯ ได้พยายามเปลี่ยนแปลงหลายๆ อย่าง แต่ก็ยังไม่เพียงพอ

เจ้าหน้าที่ของไทยหวังว่าพวกเขาดำเนินการอย่างเพียงพอแล้วที่จะได้รับการปรับอันดับขึ้น แต่รายงานล่าสุดของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า “รัฐบาลไทยไม่ได้ปฏฺิบัติตามอย่างสมบูรณ์ต่อมาตรฐานขั้นต่ำสุด เพื่อจำกัดการค้ามนุษย์ และไม่พยายามมากพอ ไทยได้สืบสวนและดำเนินคดีกับเหล่าเจ้าหน้าที่พวกที่พัวพันการค้ามนุษย์บ้าง แต่ปัญหาคอร์รัปชันที่เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ยังเป็นอุปสรรคในการต่อสู้กับการค้ามนุษย์"

ประมาณการว่ามีแรงงานต่างด้าว 3 ถึง 4 ล้านคนในไทย ส่วนใหญ่มาจากชาติเพื่อนบ้านอย่าง พม่า ลาว และกัมพูชา ซึ่งนอกเหนือเหยื่อค้ามนุษย์ที่เป็นคนไทยแล้ว เชื่อกันว่าบางส่วนของแรงงานต่างด้านเหล่านี้ถูกบังคับขู่เข็ญหรือหลอกหลอกใช้แรงงาน หรือไม่ก็ค้าบริการทางเพศ

มีรายงานว่าบางส่วนของเหยื่อค้ามนุษย์ทางแรงงาเหล่านี้ถูกแสวงหาประโยชน์ในการประมงเชิงพาณิชย์ อุตสาหกรรมที่สัมพันธ์กับการประมง ตามโรงงานต่างๆ รวมถึงแรงงานทำงานบ้าน

รัฐบาลไทยได้ปรับแก้กฎหมายการประมงที่มีอายุเก่าแก่กว่า 68 ปี นำมาสู่การขึ้นทำเบียนเรือประมงและแรงงาน นอกจากนี้ยังส่งคณะทำงานที่ประกอบด้วยหลายภาคส่วนเข้าตรวจตราบนเรือต่างๆ เพื่อตรวจสอบสภาพแวดล้อมของแรงงาน

แต่แม้จะมีความพยายามเหล่านี้ รายงาน TIP ของสหรัฐฯ ระบุว่าด้วยการบังคับใช้กฎหมายที่อ่อนแอ ขาดแคลนทรัพยากรมนุษย์และด้านการเงิน ไม่มีการเชื่อมต่อข้อมูลอย่างเป็นระบบระหว่างหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และปัญหาความร่วมมือที่ขาดตอนในหมู่หน่วยงานผู้ดูแลกฎระเบียบในอุตสากรรมประมง กลายเป็นตัวส่งเสริมให้การแสวงหาประโยชน์จากกดขี่แรงงานในภาคอุตสาหกรรมนี้ได้รับการเว้นโทษ

รายงานระบุต่อไปว่า “ผู้ชายไทย พม่า กัมพูชา และอินโดนีเซีย ถูกบังคับใช้แรงงานบนเรือประมงไทย บางส่วนต้องอยู่กลางทะเลนานหลายปี ได้รับค่าจ้างแค่เล็กน้อยหรือแค่ชั่วคราว ต้องทำงาน 18 ถึง 20 ชั่วโมงต่อวันตลอดทั้งสัปดาห์ หรือไม่ก็ถูกข่มขู่และทำร้ายร่างกาย”

“เหยื่อค้ามนุษย์บางคนในภาคการประมงไม่สามารถกลับบ้านได้ เนื่องจากต้องทำงานในสถานที่โดดเดี่ยว ไม่ได้รับจ้างและไม่มีเอกสารระบุตัวตนเอย่างถูกต้องตามกฎหมาย หรือแม้แต่ไม่มีหนทางในการเดินทางกลับประเทศบ้านเกิดอย่างปลอดภัย” รายงานระบุ “ชายไทยบางส่วนก็ถูกบังคับใช้แรงงานบนเรือประมงไทยที่แล่นไปทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรือไกลกว่านั้น”

ในรายงานของกระทรวงการต่างประะเทศสหรัฐฯ ระบุต่อว่า เนื่องจากขาดความไว้เนื้อเชื่อใจต่อเจ้าหน้าที่รัฐบาล และไม่ทราบสิทธิของตนเอง แรงงานต่างด้าวเหล่านั้นโดยเฉพาะพวกที่ไม่มีเอกสาร จึงกลัวที่จะแจ้งเหตุเกี่ยวกับอาชญากรรมค้ามนุษย์ “เจ้าหน้าที่ของไทยบางส่วนมีส่วนรู่เห็นกับอาชญากรรมค้ามนุษย์และการคอรัปชันยังคงกัดเซาะความพยายามต่อต้านการค้ามนุษย์”

รายงาน TIP ยกตัวอย่างว่ามีการคอรัปชันของเหล่าเจ้าหน้าที่จากทั้ง2ฝั่งของแนวชายแดนที่รับสินบนจากพวกลักลอบนำเข้าแรงงานระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซีย ลาว พม่าและกัมพูชา ซึ่งบ่อยครั้งแรงงานต่างด้าวบางส่วนเหลานี้ก็กลายเป็นเหยื่อของขบวนการค้ามนุษย์

“แหล่งข่าวสื่อมวลชนในปี 2013 รายงานว่าพลเรือนและเจ้าหน้าที่ทหารของไทยทำเงินจากการขายผู้แสวงหาที่ลี้ภัยชาวโรฮีนจาจากพม่าและบังกลาเทศ ซึ่งจะถูกนำไปบังคับใช้แรงงานบนเรือประมงต่างๆ” รายงานของสหรัฐฯ ระบุ “ตำรวจไทยบางนายพาตัวชาวโรฮีนจาออกจากค่ายกักกัน และขายพวกเขาแก่นายหน้าที่ลำเลียงพวกเขาไปยังภาคใต้ของประเทศ บางส่วนถูกบังคับให้ทำงานเป็นกุ๊กและการ์ดในค่าย หรือไม่ก็ขายเป็นแรงงานบังคับแก่ฟาร์มการเกษตรหรือบริษัทเดินเรือต่างๆ”

นอกเหนือจากไทยแล้ว ประเทศที่อยู่ในเทียร์ 3 ซึ่งเป็นอันดับต่ำสุดในรายงานสถานการณ์ค้ามนุษย์ของสหรัฐฯ ก็มี รัสเซีย อิหร่าน ลิเบีย เวเนซุเอลา แอลจีเรีย ซีเรีย เยเมน เกาหลีเหนือ ซูดานใต้และซิมบับเว

ส่วนมาเลเซีย คิวบา อุซเบกิสถาน ได้ถูกปรับอันดับขึ้นเป็น กลุ่มเทียร์ 2 ซึ่งหมายถึงประเทศหรือรัฐบาลที่ปฏิบัติตามมาตรฐานขั้นต่ำตามกฎหมายด้านการค้ามนุษย์ของสหรัฐฯ ไม่ครบถ้วน แต่มีความพยายามอย่างมีนัยสำคัญเพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานเหล่านั้น


กำลังโหลดความคิดเห็น