xs
xsm
sm
md
lg

Focus : สุดอึ้ง! รอยเตอร์แฉสหรัฐฯ ปรับอันดับ “มาเลเซีย” ขึ้น “เทียร์ 2” ในรายงานค้ามนุษย์ปี 2015 ปูทางดึงเสือเหลืองร่วม “ทีพีพี”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รายงานสถานการณ์ค้ามนุษย์ประจำปี 2014 (TIP) ซึ่งออกโดยกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ระบุให้ไทย มาเลเซีย และเวเนซุเอลา ถูกลดอันดับไปสู่ เทียร์ 3 ซึ่งเป็นขั้นเลวร้ายที่สุด
รอยเตอร์ – สหรัฐฯ ตัดสินใจปรับสถานะมาเลเซียจากกลุ่มประเทศที่มีสถานการณ์การค้ามนุษย์ขั้นร้ายแรงหรือ “เทียร์ 3” กลับขึ้นไปสู่ขั้น “เทียร์ 2” ในปีนี้ เพื่อขจัดอุปสรรคในการดึงกัวลาลัมเปอร์เข้าเป็นสมาชิกความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (ทีพีพี) ท่ามกลางเสียงวิจารณ์จากนักสิทธิมนุษยชนที่ชี้ว่ารัฐบาลเสือเหลืองแทบไม่ได้แก้ไขปรับปรุงปัญหาการค้ามนุษย์เลย

การปรับสถานะมาเลเซียกลับขึ้นไปยังเทียร์ 2 เท่ากับทลายปราการด่านสำคัญที่อาจขัดขวางแผนจัดตั้งเขตการค้าเสรีทีพีพี ซึ่งประธานาธิบดี บารัค โอบามา ต้องการทิ้งไว้เป็นผลงานชิ้นโบแดง ก่อนที่ตนจะหมดวาระบริหารประเทศในปี 2017

กฎหมายการค้าที่ผ่านสภาคองเกรสเมื่อเดือนที่แล้วมีบทบัญญัติซึ่งห้ามประธานาธิบดีใช้อำนาจ “ฟาสต์แทร็ก” เจรจาทำข้อตกลงการค้าแบบเร่งด่วนกับมาเลเซียและชาติอื่นๆ ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ จัดให้อยู่ในกลุ่มที่จัดการปัญหาค้ามนุษย์ย่ำแย่ที่สุด

รัฐบาลมาเลเซียถูกนานาชาติประณามและเพ่งเล็งเรื่องการสกัดกั้นเครือข่ายค้ามนุษย์ หลังจากไม่กี่เดือนก่อนมีการค้นพบหลุมฝังศพนับร้อยใกล้ค่ายกักกันของพวกค้ามนุษย์ที่รัฐปะลิส ซึ่งอยู่ติดชายแดนไทย

ในรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ประจำปี 2014 (Trafficking in Persons - TIP) กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ได้ลดอันดับไทย มาเลเซีย และเวเนซุเอลาลงสู่ขั้นเทียร์ 3 เทียบเท่าเกาหลีเหนือ ซีเรีย และซิมบับเว โดยอ้างว่ารัฐบาลเสือเหลือง “แทบไม่พยายามแก้ไขปรับปรุงมาตรการปกป้องเหยื่อ” รวมไปถึงปัญหาอื่นๆ ขณะที่ไทยถูกกล่าวหาว่าเป็นประเทศปลายทางรองรับเหยื่อค้ามนุษย์ของโลกหลายหมื่นคน ส่วนใหญ่เป็นแรงงานต่างด้าวจากประเทศเพื่อนบ้านซึ่งถูกบังคับกดขี่ ขู่เข็ญหรือไม่ก็ถูกหลอกให้ทำงานเยี่ยงทาส ขณะที่บางส่วนก็ถูกแสวงหาผลประโยชน์ในธุรกิจทางเพศ

อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวในสภาคองเกรสคนหนึ่งได้ให้ข้อมูลกับรอยเตอร์ว่า รัฐบาลสหรัฐฯ ตัดสินใจอัพเกรดสถานะของมาเลเซียกลับไปยังขั้นเทียร์ 2 แล้ว และเมื่อรอยเตอร์ไปสอบถามจากแหล่งข่าวคนที่ 2 ก็ได้คำยืนยันตรงกัน

สมาชิกสภาคองเกรสและนักสิทธิมนุษยชนบางคนชี้ว่า มาเลเซียสมควรติดอยู่ในกลุ่มเทียร์ 3 ต่อไปในปีนี้ เนื่องจากการดำเนินคดีกับบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับขบวนการค้ามนุษย์ยังคงล่าช้า และธุรกิจมืดชนิดนี้ก็ยังคงเพื่องฟูในภาคการผลิตสินค้าหลากหลายประเภท เช่น อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และปาล์มน้ำมัน เป็นต้น
ประธานาธิบดี บารัค โอบามา แห่งสหรัฐฯ เชิญนายกรัฐมนตรี นาจิบ ราซัก แห่งมาเลเซีย ไปออกรอบตีกอล์ฟที่ฮาวาย เมื่อเดือนธันวาคม ปี 2014
ในช่วง 1 ปีจนถึงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา นักสิทธิมนุษยชนพบว่า สถิติการพิพากษาลงโทษเครือข่ายค้ามนุษย์ในมาเลเซียยิ่งลดต่ำลงไปอีก แม้จะมีการสอบสวนเพิ่มขึ้นก็ตาม ซึ่งประเด็นนี้เองที่ทำให้น่าเชื่อว่ามาเลเซียยังไม่สมควรพ้นไปจากกลุ่ม “เทียร์ 3”

“ถ้าเรื่องนี้เป็นความจริง การที่ฝ่ายบริหารของสหรัฐฯ ใช้อำนาจก้าวก่ายการจัดอันดับมาเลเซียในรายงานสถานการณ์ค้ามนุษย์ ปี 2015 จะถือเป็นพฤติกรรมนอกลู่นอกทางที่ทำลายความน่าเชื่อถือของรายงานฉบับนี้ รวมถึงบั่นทอนการต่อสู้กับรัฐที่มีปัญหาค้ามนุษย์ด้วย”โรเบิร์ต เมเนนเดซ ส.ว.เดโมแครตซึ่งเป็นคนหนึ่งที่คัดค้านไม่ให้กลุ่มประเทศเทียร์ 3 เข้าร่วมทีพีพี กล่าว

ฟีล โรเบิร์ตสัน รองผู้อำนวยการฮิวแมนไรต์วอตช์ประจำภูมิภาคเอเชีย ยอมรับว่ารู้สึก “อึ้ง” กับข่าวการอัพเกรดสถานะให้มาเลเซีย

“รัฐบาลมาเลเซียแทบไม่ทำอะไรเลยที่เป็นการปกป้องแรงงานผู้อพยพจากการถูกล่วงละเมิด... สหรัฐฯ ทำเช่นนี้เหมือนให้รางวัลทางการเมือง (แก่มาเลเซีย) มากกว่า ผมขอเรียกร้องให้สภาคองเกรสพิจารณาสอบสวนตัวบุคคลที่ตัดสินใจเรื่องนี้” โรเบิร์ตสัน กล่าว

ทั้งนี้ คาดว่ากระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ จะเผยแพร่รายงานสถานการณ์ค้ามนุษย์ประจำปี 2015 รวมถึงผลประเมินความพยายามของแต่ละประเทศในการจัดการปัญหาค้ามนุษย์ ภายในสัปดาห์หน้า

โอบามาได้ไปเยือนมาเลเซียอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนเมษายน ปี 2014 เพื่อกระชับความสัมพันธ์ทั้งในด้านเศรษฐกิจและความมั่นคง และหวังที่จะสร้างความเป็นเอกภาพในกลุ่มอาเซียน 10 ประเทศเพื่อต้านทานการขยายอิทธิพลของจีนในทะเลจีนใต้

รัฐบาลเสือเหลืองเองก็หวังที่จะเป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลงทีพีพี ซึ่งครอบคลุมมูลค่าเศรษฐกิจถึง 40 เปอร์เซ็นต์ของโลก และเป็นหัวใจสำคัญในยุทธศาสตร์ “ปรับสมดุลสู่เอเชีย” ที่ โอบามา ต้องการผลักดัน

ปัจจุบันมี 12 ชาติในเอเชีย-แปซิฟิกประกาศเข้าร่วม หรืออยู่ระหว่างการเจรจาเข้าร่วมทีพีพี เช่น ออสเตรเลีย, สิงคโปร์, ญี่ปุ่น, มาเลเซีย และเวียดนาม


กำลังโหลดความคิดเห็น