เอเอฟพี – เรือนจำปากีสถานประหารชีวิตนักโทษชายที่ก่อคดีฆาตกรรมเมื่อ 20 กว่าปีก่อนในวันนี้ (10 มิ.ย.) ขณะที่นักสิทธิมนุษยชนเผย ผู้ต้องหากระทำผิดขณะเป็นผู้เยาว์ และยังถูกทรมานจนต้องรับสารภาพ
เจ้าหน้าที่เรือนจำให้สัมภาษณ์กับเอเอฟพีว่า “อัฟตาบ บาฮาดูร์ มาซิห์ ซึ่งเป็นชาวคริสต์ ถูกแขวนคอที่เรือนจำ กอต ลัคปัต ในเมืองลาฮอร์ เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา”
เจ้าหน้าที่อาวุโสของเรือนจำอีกคนหนึ่งยืนยันว่ามีการประหารเกิดขึ้นจริง หลังจากก่อนหน้านี้ไม่กี่วัน มีนักโทษชายอีกคนที่ถูกตัดสินประหารชีวิตเพราะก่อคดีฆาตกรรมขณะยังเป็นผู้เยาว์ ได้รับการชะลอการลงโทษในนาทีสุดท้าย
มาซิห์ ใช้ชีวิตในเรือนจำมานานถึง 23 ปีหลังถูกตัดสินว่ามีความผิดฐานฆาตกรรมที่เมืองลาฮอร์ ในปี 1992
จัสติส โปรเจ็กต์ ปากีสถาน (จีพีพี) ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษากฎหมายของฝ่ายจำเลย รวมถึงกลุ่มสิทธิมนุษยชน Reprieve ในอังกฤษ ระบุว่า มาซิห์ เพิ่งอายุเพียง 15 ปีขณะที่ถูกจับ จึงถือว่าเป็นผู้เยาว์ที่ศาลไม่สามารถลงโทษประหารชีวิตได้ นอกจากนี้ยังอ้างว่า มาซิห์ ถูกทรมานให้ต้องรับสารภาพ เช่นเดียวกับพยาน 2 คนที่ให้การซัดทอดเขา ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ ฆุลาม มุสตาฟา ผู้ต้องหาร่วมกระทำความผิด ซึ่งต่อมาบุคคลทั้งสองล้วนกลับคำให้การ
“วันนี้เป็นวันที่น่าละอายสำหรับกระบวนการยุติธรรมของปากีสถาน” มายา โฟอา ผู้อำนวยการฝ่ายต่อต้านการลงโทษประหารชีวิตของกลุ่ม Reprieve ระบุในคำแถลง
“ทางการปากีสถานไม่ยอมให้เวลาอีกแม้แต่ 2-3วัน เพื่อให้ทนายฝ่ายจำเลยได้นำหลักฐานมายืนยันว่าลูกความของพวกเขาบริสุทธิ์... นี่คือการเย้ยหยันต่อกระบวนการยุติธรรม และเป็นเรื่องน่าเสียใจสำหรับทุกๆ คนที่เคยรู้จัก อัฟตาบ”
เมื่อวานนี้ (9) นักสิทธิมนุษยชนและญาติๆ ของ มาซิห์ หลายสิบชีวิตได้ไปประท้วงที่หน้าสมาคมผู้สื่อข่าวเมืองลาฮอร์ เพื่อเรียกร้องให้ยับยั้งการประหารชีวิตไว้ก่อน ขณะที่ผู้นำโบสถ์คริสต์ก็วิงวอนขอให้ประธานาธิบดีแห่งปากีสถานเข้าแทรกแซงเรื่องนี้
โจเซฟ คูตส์ พระบิชอปนิกายโรมันคาทอลิกในเมืองการาจี เขียนจดหมายเรียกร้องให้เลื่อนการประหารชีวิต มาซิห์ ออกไปก่อน ส่วนเจ้าหน้าที่อาวุโสของโบสถ์รายอื่นๆ รวมถึงอดีตบิชอปแห่งโรเชสเตอร์ในอังกฤษ ก็ได้ยื่นจดหมายวิงวอนขอให้รัฐบาลปากีสถานลดหย่อนโทษแก่ มาซิห์
“เขาติดคุกมาแล้ว 23 ปี... ด้วยข้อหาอาชญากรรมซึ่งพยานเพียง 2 คนที่กล่าวหาเขาก็ได้กลับคำให้การ และยืนยันแล้วว่าเขาเป็นผู้บริสุทธิ์... การประหารชีวิตในลักษณะเช่นนี้จึงถือว่าอยุติธรรมอย่างร้ายแรง”
ปากีสถานเริ่มนำโทษประหารกลับมาใช้เมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว หลังจากกลุ่มติดอาวุธตอลิบานบุกโจมตีและสังหารคนไปกว่า 150 ชีวิตที่โรงเรียนแห่งหนึ่ง ซึ่งนับแต่นั้นเป็นต้นมาก็มีนักโทษที่ถูกแขวนคอไปแล้วกว่า 130 คน
นักสิทธิมนุษยชนชี้ว่า ผู้ที่ถูกตัดสินประหารชีวิตส่วนใหญ่ไม่ได้รับการไต่สวนอย่างยุติธรรม