xs
xsm
sm
md
lg

กมธ.ไม่แตะสสส.-TPBS ตั้งกก.ประเมินคุมใช้งบฯ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กมธ.ยกร่างฯถอยไม่แตะ "สสส.-ไทยพีบีเอส." ให้ใช้วิธีตั้งกก.ประเมินผลคุมใช้งบแทน "ยงยุทธ" รับลูก"บิ๊กตู่" ให้คตร.สอบ สสส. ที่ถูกวิจารณ์ว่าใช้งบฟุ่มเฟือย

วานนี้ (10 ส.ค.) นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ เปิดเผยว่า ที่ประชุมกมธ.ยกร่างฯเห็นชอบให้คงหลักการที่ กมธ.ได้ปรับแก้เอาไว้ คือ การใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดินต้องเข้าสู่ระบบของ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายทุกกรณี แต่จะไม่ให้มีผลกระทบต่อองค์กรที่มีอยู่ก่อนรัฐธรรมนูญฉบับนี้ จะมีผลบังคับใช้ โดยจะต้องมีการแก้กฎหมาย เพื่อให้มีระบบควบคุมตรวจสอบที่รัดกุมเพิ่มขึ้น

แหล่งข่าวใน กมธ.ยกร่างฯ เปิดเผยว่าที่ประชุม ยืนยันให้คงหลักการใหญ่เอาไว้ คือใช้ระบบงบประมาณเป็นกรอบหลัก ซึ่งส่งผลให้อนาคตจะไม่สามารถใช้ระบบ Earmarked Tax อีกต่อไป โดยยกเว้นในบทเฉพาะกาลให้กับองค์กรที่มีอยู่ก่อนรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีผลบังคับใช้ ซึ่งปัจจุบันนี้มี 3 องค์กร ได้แก่ สสส. ,ไทยพีบีเอส และกองทุนกีฬาแห่งชาติ ทั้งนี้ร่างเดิมใน มาตรา 190 กมธ.ยกร่างฯ จะให้คงไว้ตามเดิมดังนี้

"การจัดเก็บภาษีอากรเพื่อเป็นรายได้แผ่นดินจะต้องจัดเก็บจากฐานภาษีต่างๆให้ครบฐาน ทั้งจากฐานรายได้ ฐานการซื้อขาย และจากฐานทรัพย์สินการกำหนดนโยบาย และอัตราภาษีตามวรรคหนึ่ง ต้องคำนึงถึงความเป็นกลาง ความเป็นธรรมในสังคม ความทั่วถึง ตลอดจนความยั่งยืนทางการคลัง และข้อผูกพันระหว่างประเทศ ให้มีการจัดระดับของภาษีเป็นสองระดับคือ ภาษีระดับชาติ และภาษีระดับท้องถิ่น การตรากฎหมายให้หน่วยงานรัฐจัดเก็บภาษี และจัดสรรเงินจากผู้มีหน้าที่เสียภาษีอากรตามกฎหมายซึ่งมิใช่การจัดสรรภาษีหรืออากรให้องค์การบริหารท้องถิ่น หรือมิใช่การจัดสรรเงินให้พรรคการเมืองตามกฎหมาย จะกระทำมิได้"

และในบทเฉพาะกาลในมาตรา 281(1) ระบุไว้ว่า "ในวาระเริ่มแรก มิให้นำบทบัญญัติดังต่อไปนี้ มาบังคับใช้ในกรณีต่างๆ ดังต่อไปนี้ (1) มิให้นำบทบัญญัติ มาตรา 190 วรรคสี่ มาบังคับใช้กับหน่วยงาน ซึ่งมีกฎหมายให้จัดเก็บ และจัดสรรเงินจากผู้มีหน้าที่เสียภาษีหรืออากร โดยให้บทบัญญัติที่ให้หน่วยงานจัดเก็บ และจัดสรรเงินดังกล่าวได้นั้น มีผลบังคับใช้ต่อไปอีก เป็นเวลาไม่เกินสี่ปี นับจากวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้"

แหล่งข่าวเปิดเผยว่า ที่ประชุมกมธ.ยกร่างฯ ตัดสินใจปรับแก้บทเฉพาะกาล โดยคงองค์กรเดิมที่มีอยู่ก่อนบังคับใช้รัฐธรรมนูญนี้ ทั้งยังกำหนดให้ต้องมีการออกกฎหมายลูกภายใน 2 ปี เพื่อกำหนดเพดานเงินภาษีบาป โดยมีคณะกรรมการที่เป็นกลาง ผ่านการเห็นชอบขององค์กรประเมินแห่งชาติ โดยเนื้อหาใน มาตรา 281 (1) ถูกปรับแก้เป็น

" มิให้นำบทบัญญัติมาตรา 190 วรรคสี่ มาใช้บังคับกับหน่วยงานซึ่งมีกฎหมายให้จัดเก็บและจัดสรรเงินจากผู้มีหน้าที่เสียภาษีหรืออากรที่อยู่ในวันก่อนวันที่ประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ แต่ต้องดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อกำหนดเพดานขั้นสูงสุดที่ให้จัดเก็บหรือจัดสรรได้ และต้องมีกลไกการติดตามประเมินผลจากกรรมการประเมินผล ซึ่งเห็นชอบโดยคณะกรรมการประเมินผลแห่งชาติ เพื่อให้มีการบริหารการเงินและงบประมาณขององค์กรดังกล่าวมีประสิทธิภาพ คุ้มค่า และเป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดรวมทั้งต้องมีรายการจัดสรรงบประมาณภายในหน่วยงานที่ใช้จ่าย จากเงินดังกล่าว และเงินเหลือจ่ายแต่ละปี ต่อคณะรัฐมนตรี สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา ซึ่งต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในสองปี นับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้"

โดยแหล่งข่าวระบุด้วยว่า คณะกรรมการประเมินที่เป็นกลางนั้น ต้องมาจากองค์กรประเมิน สถาบันวิชาการ นักวิชาการอิสระที่เป็นกลาง ที่คณะกรรมการประเมินผลแห่งชาติเป็นผู้ให้ความเห็นชอบ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อน

ให้คตร. สอบสสส.ใช้งบฟุ่มเฟือย

วันเดียวกันนี้ มีรายงานว่า นายยงยุทธ ยุทธวงศ์ รองนายกรัฐมนตรีด้านสังคม ได้ออกมายอมรับว่าทางสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)ได้แจ้งให้ตนทราบแล้วว่า คณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) จะเข้ามาตรวจสอบในประเด็นการถูกกล้าวหาว่า องค์กรนี้ใช้เงินฟุ่มเฟือย โดยได้แสดงความยินดีที่จะให้คตร.เข้ามาตรวจสอบ

"เพราะเงินส่วนนี้ เมื่อได้มา ก็ต้องมีการตรวจสอบให้ชัดเจนว่ามีการนำไปใช้อย่างถูกต้อง และไม่ฟุ่มเฟือย ดังนั้นเห็นด้วยเต็มที่ ที่จะมีระบบตรวจสอบที่เหมาะสม" นายยงยุทธกล่าว และว่า ส่วนที่หากมีการกำหนดให้ในอนาคต การใช้เงินงบประมาณของ สสส. ต้องผ่านการพิจารณาของรัฐสภา จะทำให้การพิจารณารอบคอบขึ้นหรือไม่ เห็นว่า "ถ้ามองในแง่ดี ก็ถือว่ารอบคอบขึ้น แต่ถ้ามองในแง่ของความเป็นห่วง ก็อาจเป็นไปได้ที่จะถูกแทรกแซงทางการเมืองได้ ยิ่งถ้าหน่วยงานที่เกิดขึ้นใหม่ไปอยู่ใต้กระทรวง ซึ่งต่อไปยังไม่รู้ใครจะมาคุม ถ้าเผื่อเป็นนักการเมืองที่มีแนวคิดที่ส่วนใหญ่รับไม่ได้ ก็จะมีปัญหาได้ เราก็ต้องระวัง บางทีอยากทำให้ดี กลับกลายเป็นไม่ดี"

ส่วนข้อข้อเสนอให้องค์กรเพื่อประโยชน์สาธารณะเช่น สสส. , ไทยพีบีเอส และสำนักงานบริหารงานกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ ให้เปลี่ยนมาใช้งบประมาณปกติ แทนเงินอุดหนุนจากภาษีบาป ซึ่งถูกมองว่าไม่ได้รับการตรวจสอบเท่าที่ควร ยอมรับว่าขณะนี้ยังไม่มีข้อยุติว่าจะเป็นอย่างไร แต่เห็นหลายฝ่ายออกมาแสดงความเห็นด้วย

มีรายงานว่า ก่อนหน้านั้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. ระบุว่าจะให้ คตร. เข้าไปดู โดยยืนยันว่า เป็นการเข้าไปตรวจสอบ ไม่ได้ไปกลั่นแกล้ง

"เป็นการตรวจสอบตามปกติ ที่ทุกหน่วยงาน ทุกกองทุนจะต้องมีการตรวจสอบ โดยให้ คตร.ไปตรวจสอบ เพื่อทำให้มันถูก เรื่องนี้สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ตรวจสอบอยู่แล้ว ส่วนจะมีวิธีการอย่างไรก็ให้ไปว่ากันมา"

มีรายงานจาก คตร.ว่า คตร. จะนำรายงานของสตง. เรื่องการตรวจสอบการดำเนินงานของ สสส. เมื่อปี 51 และรายงานประจำปีของกองทุน สสส. ระหว่างปี 44-57 ที่รายงานต่อคณะรัฐมนตรี สภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (2544-2557) มาตรวจสอบประกอบไปด้วย รวมไปถึงบัญชีเงินบำรุงกองทุนที่ สสส.ได้รับมาพิจารณา โดยเฉพาะรายได้หลักที่ได้มาจากภาษีบาป

เบื้องต้นรายงานของ สตง. ปี 2551 ระบุว่า "การใช้จ่ายเงินของ สสส. ไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร

อีกด้าน รศ.ดร.พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความลงยังเฟซบุ๊ก ส่วนตัวระบุว่า กองทุน สสส. นั้น เป็นบ่ออุจจาระ ที่พวกเอ็นจีโอ ใช้ทำมาหารับประทานกันอย่างสุรุ่ยสุร่าย อิ่มหนำ ปากมัน กันมานานมาก
กำลังโหลดความคิดเห็น