xs
xsm
sm
md
lg

กมธ.ยกร่างฯ ไม่แตะภาษีบาป สสส.- ไทยพีบีเอส ตั้ง “คณะกรรมการประเมินผล” แก้เกี้ยว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ (ภาพจากแฟ้ม)
ที่ประชุมกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ยกเว้นให้ “สสส.- ไทยพีบีเอส” และกองทุนกีฬาฯ ใช้ระบบภาษีเพื่อวัตถุประสงค์เฉพาะในบทเฉพาะกาล ส่วนองค์กรใหม่ต่อจากนี้ใช้ระบบงบประมาณเป็นกรอบหลัก แต่แก้เกี้ยวตั้งคณะกรรมการประเมินผลแห่งชาติ ตรวจสอบการใช้งบประมาณ ภายใน 2 ปี

วันนี้ (10 ส.ค.) นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญเห็นชอบให้คงหลักการที่กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญได้ปรับแก้เอาไว้ คือ การใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดินต้องเข้าสู่ระบบของพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีทุกกรณี แต่จะไม่ให้มีผลกระทบต่อองค์กรที่มีอยู่ก่อนรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะมีผลบังคับใช้ โดยจะต้องมีการแก้กฎหมายเพื่อให้มีระบบควบคุมตรวจสอบที่รัดกุมเพิ่มขึ้น

ด้าน แหล่งข่าวในกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เปิดเผยว่า ที่ประชุมกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ยืนยันให้คงหลักการใหญ่เอาไว้ คือ ใช้ระบบงบประมาณเป็นกรอบหลัก ซึ่งส่งผลให้อนาคตจะไม่สามารถใช้ระบบภาษีเพื่อวัตถุประสงค์เฉพาะ หรือ เอียร์มาร์ค แทกซ์ (Earmarked Tax) หรือ ภาษีบาป อีกต่อไป โดยยกเว้นในบทเฉพาะกาลให้กับองค์กรที่มีอยู่ก่อนรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีผลบังคับใช้ ซึ่งปัจจุบันนี้มี 3 องค์กร ได้แก่ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.), องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (สสท.) หรือ ไทยพีบีเอส และ กองทุนกีฬาแห่งชาติ ทั้งนี้ ร่างเดิมในมาตรา 190 กมธ.ยกร่างฯ จะให้คงไว้ตามเดิมดังนี้

“การจัดเก็บภาษีอากรเพื่อเป็นรายได้แผ่นดินจะต้องจัดเก็บจากฐานภาษีต่าง ๆ ให้ครบฐาน ทั้งจากฐานรายได้ ฐานการซื้อขาย และจากฐานทรัพย์สิน

การกำหนดนโยบายและอัตราภาษีตามวรรคหนึ่ง ต้องคำนึงถึงความเป็นกลาง ความเป็นธรรมในสังคม ความทั่วถึง ตลอดจนความยั่งยืนทางการคลัง และข้อผูกพันระหว่างประเทศ

ให้มีการจัดระดับของภาษีเป็นสองระดับ คือ ภาษีระดับชาติ และภาษีระดับท้องถิ่น

การตรากฎหมายให้หน่วยงานรัฐจัดเก็บภาษีและจัดสรรเงินจากผู้มีหน้าที่เสียภาษีอากรตามกฎหมายซึ่งมิใช่การจัดสรรภาษีหรืออากรให้องค์การบริหารท้องถิ่นหรือมิใช่การจัดสรรเงินให้พรรคการเมืองตามกฎหมาย จะกระทำมิได้”


และในบทเฉพาะกาล ในมาตรา 281 (1) เดิมระบุไว้ว่า

“ในวาระเริ่มแรก มิให้นำบทบัญญัติดังต่อไปนี้ มาบังคับใช้ในกรณีต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

(1) มิให้นำบทบัญญัติ มาตรา 190 วรรคสี่ มาบังคับใช้กับหน่วยงาน ซึ่งมีกฎหมายให้จัดเก็บและจัดสรรเงินจากผู้มีหน้าที่เสียภาษี หรืออากร โดยให้บทบัญญัติที่ให้หน่วยงานจัดเก็บและจัดสรรเงินดังกล่าวได้นั้น มีผลบังคับใช้ต่อไปอีก เป็นเวลาไม่เกินสี่ปีนับจากวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้”


แหล่งข่าวเปิดเผยว่า ที่ประชุมกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ตัดสินใจปรับแก้บทเฉพาะกาล โดยคงองค์กรเดิมที่มีอยู่ก่อนบังคับใช้รัฐธรรมนูญนี้ ทั้งยังกำหนดให้ต้องมีการออกกฎหมายลูกภายใน 2 ปี เพื่อกำหนดเพดานเงินภาษีบาป โดยมีคณะกรรมการที่เป็นกลาง ผ่านการเห็นชอบขององค์กรประเมินแห่งชาติ

โดยเนื้อหาในมาตรา 281 (1) ถูกปรับแก้เป็น

“(1) มิให้นำบทบัญญัติมาตรา 190 วรรคสี่ มาใช้บังคับกับหน่วยงานซึ่งมีกฎหมายให้จัดเก็บและจัดสรรเงินจากผู้มีหน้าที่เสียภาษี หรืออากรที่อยู่ในวันก่อนวันที่ประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ แต่ต้องดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อกำหนดเพดานขั้นสูงสุดที่ให้จัดเก็บ หรือจัดสรรได้ และต้องมีกลไกการติดตามประเมินผลจากกรรมการประเมินผล ซึ่งเห็นชอบโดยคณะกรรมการประเมินผลแห่งชาติ เพื่อให้มีการบริหารการเงินและงบประมาณขององค์กรดังกล่าวมีประสิทธิภาพ คุ้มค่า และเป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดรวมทั้งต้องมีรายการจัดสรรงบประมาณภายในหน่วยงานที่ใช้จ่ายจากเงินดังกล่าวและเงินเหลือจ่ายแต่ละปี ต่อคณะรัฐมนตรี สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา ซึ่งต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในสองปีนับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้”

โดยแหล่งข่าวระบุด้วยว่า คณะกรรมการประเมินที่เป็นกลางนั้น ต้องมาจากองค์กรประเมิน สถาบันวิชาการ นักวิชาการอิสระที่เป็นกลาง ที่คณะกรรมการประเมินผลแห่งชาติเป็นผู้ให้ความเห็นชอบ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อน


กำลังโหลดความคิดเห็น