xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ไทยพีบีเอส-สสส.รอด รธน.ใหม่ไม่ห้ามใช้ภาษีบาป

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี
ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -กลับลำแทบไม่ทัน เมื่อแนวคิดของ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี ที่จะให้แก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ ห้ามไม่ให้รัฐบาลใช้เงิน“ภาษีบาป”ไปอุดหนุนหน่วยงานต่างๆ โดยตรง แต่ต้องผ่านรัฐสภาแทน ได้ถูกคัดค้านอย่างกว้างขวาง จนกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญยอมถอย ไม่แก้ไขในประเด็นดังกล่าว

ที่มาของเรื่องนี้ ก็เริ่มมาจาก ม.ร.ว.ปรีดิยาธรได้ทำหนังสือถึงนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ขอให้มีการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ ในส่วนการจัดเก็บภาษีและจัดสรรเงินภาษี เนื้อหาโดยสรุปก็คือ ห้ามไม่ให้มีการตรากฎหมายให้หน่วยงานรัฐจัดเก็บภาษีและจัดสรรเงินจากผู้มีหน้าที่เสียภาษีอากรตามกฎหมายให้แก่หน่วยงานของรัฐหรือองค์กรต่างๆ โดยมีบทเฉพาะกาลให้กฎหมายลักษณะนี้ที่มีอยู่เดิมมีผลใช้บังคับได้ต่อไปไม่เกิน 4 ปี

หากมาตรานี้มีผลบังคับใช้ ก็เท่ากับว่า การนำภาษีบาป(ภาษีสรรพสามิตที่เก็บจากการจำหน่ายสุรา บุหรี่) มาอุดหนุนกองทุนสนับสนุนสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ไทยพีบีเอส) จะทำไม่ได้อีกต่อไป โดยให้ทั้งสององค์กรของบประมาณจากรัฐสภาแทน และยังจะส่งผลถึงองค์กรสนับสนุนการกีฬาฯ ที่เพิ่งผ่านมติของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ออกมา และกำหนดให้ใช้งบประมาณจากภาษีบาปมาอุดหนุนเช่นกัน

หลังจากที่ข่าวเปิดเผยออกมา ก็มีเสียงคัดค้านต่อข้อเสนอของ ม.ร.ว.ปรีดิยาธรขึ้นมาทันที โดยนายประสาร มฤคพิทักษ์ น.ส.รสนา โตสิตระกูล นายวิทยา กุลสมบูรณ์ และนายวินัย ดะห์ลัน สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ได้เปิดแถลงข่าว เมื่อวันที่ 4 ส.ค.

น.ส.รสนาระบุว่า จุดประสงค์ของภาษีบาปที่ใช้อุดหนุนกองทุน สสส.ก็เพื่อต่อกรกับบรรษัทต่างชาติที่ทำอบายมุขทั้งบุหรี่และเหล้าซึ่งมีอิทธิพลกับนักการเมือง การให้ทั้งสององค์กรและกองทุนพัฒนากีฬาแห่งชาติที่ สนช.เพิ่งผ่านเป็นกฎหมายของบประมาณจากรัฐสภา อาจถูกนักการเมืองปรับลดหรือตัดงบประมาณได้

ขณะที่ นายประสารกล่าวว่า งบประมาณที่ สสส.ใช้ 2 พันล้านบาท มีส่วนทำให้การบริโภคบุหรี่ลดลง 1.3 หมื่นล้านบาท และเหล้า 1.7 หมื่นล้านบาท นอกจากนี้ ทั้ง สสส.และไทยพีบีเอสก็ได้รับการตรวจสอบการใช้งบประมาณอย่างละเอียดอยู่แล้วจากสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และต้องรายงานให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) และรัฐสภารับทราบ

ขณะที่ ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ผู้จัดการ สสส.กล่าวว่า เรื่องนี้น่าจะเกิดจากความเข้าใจผิดในระบบการเก็บภาษีเพื่อวัตถุประสงค์เฉพาะ (Earmarked Tax) ซึ่ง กมธ. ยกร่างฯ และประชาชนทั่วไปอาจยังไม่เข้าใจ เพราะคิดว่าภาษีที่เก็บจากธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่ 100% นั้น จัดสรรให้ สสส. นำไปใช้ 2% และไทยพีบีเอส อีก 1.5% แต่ความจริงไม่ใช่ เพราะเป็นการเก็บพิเศษเพิ่มจากภาษีปกติที่ต้องจ่าย ดังนั้น การดึงเงินกลับไปสู่ระบบงบประมาณที่ต้องผ่านรัฐสภา ก็จะทำให้รัฐบาลเก็บภาษีได้น้อยลง เพราะธุรกิจดังกล่าวไม่ต้องจ่ายภาษีส่วนพิเศษตรงนี้เพิ่ม

ถ้ารัฐบาลนำภาษีปกติมาจัดสรรให้ สสส. ไทยพีบีเอส และองค์กรสนับสนุนการกีฬาฯ แทน กลุ่มธุรกิจดังกล่าวจะได้รับประโยชน์ และการที่ไม่ต้องจ่ายภาษีเพิ่มก็อาจทำให้ธุรกิจกลุ่มนี้นำเงินดังกล่าวไปใช้ส่งเสริมกิจกรรมทางการตลาด ทำให้พฤติกรรมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และยาสูบเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ มองว่าการกลับไปสู่ระบบงบประมาณก็ทำให้มีโอกาสถูกการเมืองแทรกแซงได้

ด้าน นพ.หทัย ชิตานนท์ ประธานสถาบันส่งเสริมสุขภาพไทย ให้ความเห็นว่า เรื่องนี้ไม่สมควร เพราะเป็นการถอยหลังเข้าคลอง ทั้งนี้ สสส. เกิดมาจาก พ.ร.บ.ที่ถือเป็นนวัตกรรมในการทำงานควบคุมปัญหาจากเหล้า บุหรี่ และปัญหาสุขภาพต่าง ๆ ซึ่งสามารถควบคุมปัญหาได้ดี ซึ่งในโลกนี้มีไม่กี่ประเทศที่ทำงานลักษณะ สสส. โดยนำเงินจากภาษีบาป คือ ธุรกิจเหล้าและบุหรี่มารณรงค์และป้องกันปัญหา ที่สำคัญภาษีที่ดึงมา 2% เป็นการเก็บเพิ่มจากภาษีปกติที่ให้รัฐบาล ดังนั้น ไม่กระทบภาครัฐ หนำซ้ำยังก่อประโยชน์ในภาพรวม จึงไม่เห็นด้วยที่จะมีการปรับแก้การใช้งบของ สสส. เพราะจะกระทบต่อประชาชน

ต่อมา นายยงยุทธ ยุทธวงศ์ รองนายกรัฐมนตรีด้านสังคม ได้ชี้แจงเรื่องดังกล่าวว่า เป็นเรื่องที่กรรมาธิการยกร่างฯ บางคนได้เสนอเช่นนี้ และกรรมาธิการยกร่างฯ ต้องไปพิจารณา รัฐบาลไม่ได้เป็นผู้เสนอ โดยมีผู้ที่เป็นห่วงว่าจะมีหน่วยงานที่ขอใช้ภาษีสรรพสามิตมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะขณะนี้มีแค่ 2 หน่วยเท่านั้น คือ สสส. กับ ไทยพีบีเอส และกำลังจะมีการเสนอในส่วนของกองทุนการกีฬาแห่งชาติ การส่งเสริมสร้างการเรียนรู้ ขอใช้ภาษีนี้ ดังนั้นหากมีมากขึ้นจะกลายเป็นการผิดหลักการในการใช้ภาษีบาป

อย่างไรก็ตาม นายยงยุทธให้ความเห็นส่วนตัวว่า ที่ผ่านมาทั้ง 2 หน่วยงาน คือ สสส. และไทยพีบีเอส ก็ทำมาได้ดี ถ้าจะไม่ให้มีหน่วยงานลักษณะนี้เพิ่มขึ้นอีกก็ไม่ว่ากัน แต่ 2 หน่วยงานก็น่าจะยังคงอยู่ ส่วนที่เกรงกันว่าหากให้มีการใช้งบประมาณนี้โดยผ่านรัฐสภาโดยบัญญัติไว้ในหลักการของรัฐธรรมนูญจะทำให้การเมืองสามารถแทรกแซงการทำงานได้นั้น ก็เป็นสิ่งที่ตนเป็นห่วง

ด้านนายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษกกรรมาธิการยกร่างฯ กล่าวว่า เมื่อช่วงเช้าวันที่ 4 ส.ค.ได้มีโอกาสสนทนาอย่างไม่เป็นทางการกับกรรมาธิการฯ บางคนเห็นร่วมกันว่าจะเสนอทบทวนบทบัญญัติที่เกี่ยวกับกรณี สสส. ไทยพีบีเอส และกองทุนกีฬาฯ โดยน่าจะทบทวนเป็น 2 ระดับ ระดับแรกที่ต้องทบทวนแน่ๆ คือทบทวนบทเฉพาะกาล จากเดิมที่มีระยะหน่วง 4 ปี เป็นการยกเว้นถาวรให้ 3 องค์กรที่เกิดขึ้นก่อนรัฐธรรมนูญบังคับใช้ และการใช้งบประมาณก็ไม่ต้องผ่าน พ.ร.บ.งบประมาณร่ายจ่ายประจำปีเช่นเดิม แนวทางนี้อาจจะมากกว่า 3 องค์กร หากก่อนรัฐธรรมนูญบังคับใช้ มีกฎหมายใหม่ออกมาอีก ทราบจาก สนช.ว่ามีร่างกฎหมายทำนองนี้อยู่อีก 2-3 ฉบับ

ระดับต่อมาคือ อาจทบทวนบทบัญญัติปกติในหมวดการคลังการงบประมาณด้วย โดยอาจปรับข้อความให้คลายตัวลง ไม่ห้ามออกกฎหมายตั้งหน่วยงานเก็บภาษีต้นทางมาเป็นทุนดำเนินงาน หรือเอียร์มาร์กแทกซ์ (Earmarked Tax) เด็ดขาด แต่ให้คำนึงถึงวินัยการเงินการคลัง

ในระดับหลังที่อาจมีการทบทวน เพราะกรรมาธิการเคยเข้าใจว่า เอียร์มาร์กแทกซ์ เป็นการหักภาษีที่เก็บได้ไปใช้ก่อนส่งเข้าคลัง แต่แท้จริงแล้ว เป็นการให้อำนาจหน่วยงานนั้นเก็บเพิ่มเป็นเปอร์เซ็นต์จากยอดภาษีที่ส่งเข้าคลัง คือ ไม่ใช่เก็บมาได้ 100% หักออก 2% เข้าคลัง 98% แต่เป็นเสียภาษีเข้าคลัง 100% เสียเพิ่มให้องค์กรอีก 2% การห้ามจึงไม่มีผลกระทบต่อยอดภาษีที่ส่งเข้าคลัง คลังไม่ได้มีรายได้เพิ่มขึ้น ได้เท่าเดิม แต่บริษัทเหล้าบุหรี่ประหยัดค่าภาษีที่ต้องเสียเพิ่มให้องค์กรนั้นๆ ไป

โฆษก กมธ.ยกร่างฯ กล่าวว่า ตัวอย่างเอียร์มาร์กแทกซ์ ของ สสส. และไทยพีบีเอสนั้น เงิน 2% ที่ สสส.ได้ไป 1.5% ที่ไทยพีบีเอสได้ไป ไม่ได้มาจากการหักออกจากภาษีที่บริษัทเหล้าบุหรี่เสียให้รัฐ แต่เป็นการเก็บเพิ่ม ถ้าห้ามไม่ให้เอาเงินไปอุดหนุนทั้ง 2 องค์กร รัฐก็ได้ภาษีเท่าเดิม แต่บริษัทเหล้าบุหรี่ประหยัดเงินลงเพราะไม่ต้องเสียอีก 2% และ 1.5%

ขณะที่ ม.ร.ว.ปรีดิยาธรได้ชี้แจงในเวลาต่อมาว่า ไม่ได้มีแนวคิดที่จะล้ม ไทยพีบีเอส หรือ สสส.แต่อย่างใด เพราะข้อเสนอของตนไปยังกรรมาธิการยกร่างฯ นั้น การกำหนดให้เงินรายได้ไม่ต้องนำส่งเป็นรายได้แผ่นดิน ยังอนุญาตให้ทำได้แต่ต้องออกเป็นกฎหมาย และมีข้อกำหนดที่ชัดเจนให้หน่วยงานที่ได้รับเงินรายได้นั้น ทำรายงานการรับและการใช้จ่ายเงินต่อคณะรัฐมนตรีทุกสิ้นปีงบประมาณ

ก็เท่ากับว่า ณ เวลานี้ สสส. และไทยพีบีเอสจะยังได้รับเงินอุดหนุนจากภาษีบาปต่อไปตามเดิม รวมทั้งองค์กรสนับสนุนการกีฬาฯ ที่ สนช.เพิ่งผ่านกฎหมายออกมารองรับ

ขณะที่องค์กรอื่นๆ ยังต้องลุ้นต่อไปว่า จะสามารถนำเงินจากภาษีบาปมาใช้ดำเนินงานได้หรือไม่ โดยเฉพาะองค์กรประเภทกึ่งอิสระ ที่ไม่มีช่องทางในการหารายได้ด้วยตัวเอง แต่จำเป็นต้องมีอยู่เพราะเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปประเทศเช่น องค์กรด้านการคุ้มครองผู้บริโภค องค์กรด้านคุ้มครองเสรีภาพสื่อ เป็นต้น


กำลังโหลดความคิดเห็น