ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -ทันทีที่ พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2558 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 4 ส.ค. ที่ผ่านมา ประชาคมออนไลน์พุ่งเป้าให้ความสนใจอย่างมาก เพราะเป็นเรื่องใกล้ตัวเสียเหลือเกิน ยิ่งข่าวลือกรณีแชร์ภาพดอกไม้อรุณสวัสดิ์ในไลน์เข้าข่ายละเมิดลิขสิทธิ์ อาจถูกปรับสูงสุด 4 แสนและจำคุกกระพือไป งานนี้ใครใคร่จะแชร์อะไรก็ประหวั่นพรั่นพรึงไปตามๆ กัน สุดท้ายได้รับการยืนยันแล้วว่าเป็นเพียงข่าวลือ
ท่ามกลางกระแสปริวิตก ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ สัมภาษณ์พิเศษ ธาม เชื้อสถาปนศิริ นักวิชาการผู้คร่ำหวอดเรื่องโซเชียลมีเดีย สถาบันวิชาการสื่อสาธารณะ (สวส.) จาก พ.ร.บ.การกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 ถึง พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2558 กฎหมายรับลูกนโยบายดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมของรัฐบาลทหาร ประชาชนควรปฏิบัติอย่างไรเพื่อหลีกเลี่ยงการตกเป็นจำเลยในคดีละเมิดลิขสิทธิ์ แล้วทางด้านหน่วยงานที่มีอำนาจบังคับใช้กฎหมายมีความพร้อมเพียงใด
อย่างไรก็ตาม สาระสำคัญอย่างหนึ่ง คืออัตราโทษทัณฑ์ที่นักก๊อบปี้รวมทั้งผู้ชื่นชอบการแชร์โดยไม่ให้เครดิตเจ้าของผลงาน ปรับตั้งแต่ 10,000 - 100,000 บาท หากกระทำเพื่อการค้า มีโทษจำคุกตั้งแต่ 3 เดือน - 2 ปี ปรับตั้งแต่ 50,000บาท - 400,000 บาท (สูงสุดปรับเพิ่ม 2 เท่า เป็นเงิน800,000 บาท)
ในส่วนของประชาชนผู้ใช้งานทั่วไป ควรเตรียมการอย่างไรเพื่อหลีกเลี่ยงการกระทำผิดตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ (ฉบับที่ 2) ปี 2558 โดยเฉพาะในเรื่องการแชร์ข้อความ รูปภาพ และคลิปต่างๆ
อย่าเพิ่งตกใจว่าต่อไปนี้แชร์อะไรไม่ได้ เพราะว่ากฎหมายอนุญาตเปิดช่องไว้ว่าถ้าคุณแชร์ในลักษณะส่วนตัวไม่ใช่เรื่องการค้า แชร์มาโดยตรงแบบมีลิงก์มาหรือว่าไม่ได้มีลิงก์มา ไม่ผิดกฎหมายลิขสิทธิ์ (ยกตัวอย่าง การแชร์ภาพดอกไม้อรุณสวัสดิ์ในแอพพลิเคชั่นไลน์เป็นการใช้งานแบบส่วนตัวถือว่าไม่เป็นการละเมิด หรือส่งคลิปเพลงในเว็บไซต์ยูทิวบ์ระบุลิงก์โดยตรงให้เพื่อนฟังเป็นการส่วนตัวถือว่าไม่เป็นการละเมิดเช่นกัน)
สิ่งที่อยากจะเน้นสำหรับประชาชนทั่วๆ ไป ท่องจำขึ้นใจ ประชาชนที่เสพข้อมูลข่าวสารออนไลน์ ผมอยากจะเน้นว่าการใช้แชร์โดยปกติไม่ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์อยู่แล้ว อันแรก ถ้าให้เครดิตเจ้าของภาพเจ้าของโพสต์เจ้าของคลิปคือใคร อันที่สอง การเอามาใช้เอามาใช้แบบไม่ดัดแปลง และสุดท้ายการบอกแหล่งที่มา เพราะฉะนั้นลักษณะการใช้งานจะไม่มีลักษณะการผิดลิขสิทธิ์ แต่ว่ากฎหมายฉบับนี้จะเน้นใช้กับธุรกรรมธุรกิจที่มีผลประโยชน์เชิงพาณิชย์
ผู้ใช้งานโซเชียลมีเดียต้องระมัดระวังในการโพสต์หรือแชร์ข้อมูลต่างๆ อย่างไร
สิ่งที่ชาวเน็ตต้องระมัดระวังคือการไปก๊อบปี้รูปภาพ เว็บข่าวต่างๆ เอามาใช้แล้วเอามาแชร์ โดยไม่บอกที่มา อันนี้ต่อให้คุณใช้งานส่วนตัว คุณก็ผิดลิขสิทธิ์เพราะคุณไม่อ้างอิงแหล่งที่มา ต้องแสดงแหล่งที่มาเสมอ เพื่อเป็นการแสดงว่าคุณจะไม่ทึกทักว่างานนั้นเป็นผลงานของคุณ ถามว่า..ถ้าไม่อ้างอิงแหล่งที่มาผิดไหม? ผิดครับ แต่เป็นความผิดที่ยอมความได้ เพราะไม่ได้เกิดความเสียหายทางธุรกิจ แต่ถ้าตั้งใจเอามาใช้แล้วลบแหล่งที่มาอันนี้ผิดกฎหมายลิขสิทธิ์ อีกประเด็นหนึ่ง ในกรณีใช้เพื่อการค้าใช้คำว่า “ขอบคุณ” ขอบคุณภาพจาก ขอบคุณข้อมูลจาก ได้ไหม? ตรงนี้ถือว่าผิดครับ เพราะกฎหมายลิขสิทธิ์ในที่นี้ ระบุว่าจะต้องขออนุญาตอย่างเป็นทางการกับเจ้าของลิขสิทธิ์
ปัจจุบันมีกฎหมายเกี่ยวข้องกับการใช้โซเชียลมีเดียมากขึ้น ล่าสุด พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ ทั้งนี้ ก็เพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมออนไลน์
โลกของเราเข้าสู่การเป็นประชาคมออนไลน์กันมานานแล้ว เหตุผลของการเพิ่มกฎหมาย พ.ร.บ ลิขสิทธิ์ 2558 ออกมาใหม่ 2 ฉบับ คือถ้าพูดให้ครบมันมีทั้งหมด 4 ฉบับ ฉบับแรกเราใช้กันมานานค่อนข้างมาก พบข้อบกพร่องและจุดอ่อนหลายอย่าง ยังไม่ได้คำนึงถึงเทคโนโลยีสื่อใหม่ ไม่ได้คำนึงถึงวิธีการใช้งานหลักการใช้งาน หลักการใช้งานที่ไม่ใช่เพื่อการค้าเชิงพาณิชย์ ตัวฉบับเก่ามันมีข้อกำหนดบทลงโทษที่ไม่ได้ชัดเจน ตัวของเก่าไม่ครอบคลุมลักษณะการใช้งานใหม่ๆ เช่น การใช้งานเพื่อการศึกษา เปิดโอกาสให้คนพิการ หรือการปกป้องคุ้มครองของดารา ฉบับเก่าลืมนึกถึงข้อมูลพื้นฐานของลิขสิทธิ์ เช่น ข้อมูลการบริหารสิทธิ ใครเป็นเจ้าของอะไรพวกนี้
ฉบับเก่าถามว่าใช่ไหม ใช้ได้ครับ แต่ว่ายังไม่ครอบคลุม เพราะฉะนั้น การออกฉบับใหม่มา 2 ฉบับ เพื่ออุดช่องโหว่นั้น ที่ผ่านมา พ.ร.บ. มีข้อยกเว้นค่อนข้างมาก การเอาไปใช้จริงไม่เป็นผล ที่ผ่านมา พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ ก็ไม่ค่อยมีหน่วยงานรัฐอธิบายให้ประชาชนเข้าใจ ฉบับที่ 2 และฉบับที่ 3 ดูเหมือนมาเกี่ยวข้องกับโซเชียลมีเดีย สื่อออนไลน์มากขึ้น แต่มันจะเป็นแค่บางส่วนมีส่วนมันทีส่วนเนื้อหาสาระอื่นๆ อีก ที่เกี่ยวข้อง
พิจารณาดูในโซเชียลมีเดีย มีปัญหาเรื่องการละเมิดลิขสิทธิ์มาแต่ไหนแต่ไรแล้ว พ.ร.บ. ฉบับนี้จึงคลอดออกมาใช่ไหม
ในสื่อออนไลน์เนี่ยมันมีปัญหาค่อนข้างมากเลย มันมีการกระทำซ้ำและการทำสำเนามา ทั้งโดยตัวสื่อ มวลชนอาชีพเอง หรือทั้งตัวผู้ใช้งานโดยประชาชนทั่วๆ ไป คือทุกวันนี้สื่อมันเข้าสู่การหลอมรวม อินเทอร์เน็ต โทรทัศน์ หลอมรวมเป็นสื่อออนไลน์ทั้งหมด อีกเหตุผลก็คือเรื่องของ กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ ที่ออกมาแถลงข่าวเรื่องนี้ ประเด็นหลักมันมีความหมายว่าต่อไปลิขสิทธิ์เนี่ยมันมีมูลค่า มันเป็นทรัพย์สินทางปัญหาที่มีลักษณะมูลค่าทางเศรษฐกิจ เพราะฉะนั้น มันก็จะสะท้อนกับแนวทางของรัฐบาล คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ประกาศกฎหมายว่าด้วยดิจิตอลเพราะว่าเรากำลังจะตั้งกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจดิจิตอล จึงมองนโยบาลเศรษฐกิจดิจิตอลเป็นเรื่องสำคัญ
ที่ผ่านมา ประเทศอเมริกา หรือสากลโลกก็มองว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีระดับปัญหาเรื่องของการละเมิดลิขสิทธิ์ค่อนข้างเยอะมาก โดยเฉพาะพวกหนังพวกเพลง พวกภาพยนตร์ วีดิทัศน์ เกม เป็นต้น ประเทศไทยติดแบล็กลิสต์สินค้าเหล่านี้มานาน โดยเฉพาะประเทศอเมริกา ที่ส่งผลกระทบให้เราโดนมาตรการกีดกันทางการค้าอื่นๆ PWL Priority Watch List (PWL) เพราะฉะนั้น พอรัฐบาลเข้ามา มีการออก พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ตัวนี้ เอฟเฟ็กต์จะเกิดขึ้นต่อการปราบปราม การละเมิดลิขสิทธิ์เก่าๆ
ในประเทศอังกฤษ รวมทั้งประเทศอเมริกา กังวลมากเรื่องการละเมิดฯ แต่ในประเทศไทยมีเกลื่อนกลาด ยกตัวอย่าง ในเว็บไซต์ดูหนังดูซี่รี่ย์ออนไลน์ ที่นำซี่รี่ย์ต่างประเทศมาใส่ซับไทย หรือพวกดูละครย้อนหลังของช่องต่างๆ ในประเทศเราเอง ที่ถูกนำมาอัพโหลดในเว็บไซต์เหล่านี้ ผิดลิขสิทธิ์ทั้งสิ้น เพราะฉะนั้น พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ตัวนี้ส่งผลกระทบอย่างมหาศาลเลยนะ โดยเฉพาะสินค้าเศรษฐกิจดิจิตอล ส่วนผลกระทบต่อประชาชนผู้ใช้งานโซเชียลมีเดียทั่วไป ก็เช่นชาวเน็ตต้องรู้ตัวต้องระวังการแชร์การก๊อบปี้ข้อมูลข่าวสารมาแชร์ แม้กระทั่ง ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับเว็บปรสิต ตระกูลก๊อบปี้สำเนาข่าว หรือ ลิขสิทธิ์ภาพ ข้อมูล หรือคลิปวีดีโอ ที่อยู่ในของคนปกติธรรมดา ที่เชื่อมโยงกับ ISP ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต
เป็นไปได้ไหมว่า คนไทยจำนวนมากกำลังละเมิดลิขสิทธิ์โดยไม่รู้ตัว
เป็นไปได้และเป็นไปได้อย่างมาก เราคิดว่าอะไรที่อยู่ในอินเทอร์เน็ตนั้นมันฟรี เรามักคิดว่าการก๊อบปี้ทำสำเนาซ้ำเป็นเรื่องปกติ เพราะว่าถ้าไม่อยากให้ใครเห็นใครใช้ก็คงไม่อัพโหลดขึ้นบนอินเทอร์เน็ตมั้ง ความคิด ตรงนี้มันทำให้เราคนไทยส่วนมากมีความคิดพฤติกรรมละเมิดลิขสิทธิ์ ภาพรวมของกฎหมายฉบับนี้ผมมองว่าเป็นการจัดระเบียบสินค้าดิจิตอลไปในตัว รองรับการตั้งกระทรวงเศรษฐกิจดิจิตอลของรัฐบาล และเพื่อแก้ปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์ในเมืองไทย ซึ่งมันมีผลกระทบต่อชื่อเสียง กระทบต่อนักพัฒนาวงการนี้
คนไทยมีปัญหาเรื่องการใช้ภาพอย่างมาก เช่น เรารู้หรือไม่การแชร์รูปในไลน์ ในเฟซบุ๊ก แชร์คลิปฝังแบบEmbed ไม่บอกแหล่งที่มาว่าเจ้าของผลงานคือใคร เอามาเว็บไซต์ไหน เมื่อไหร่แชร์กันต่อไปเรื่อยๆ จนเราไม่สามารถรู้ต้นทางได้ หรือการแชร์ข่าวในเว็บข่าว แชร์ภาพคำคม ที่ตลกก็คือมีการแชร์ภาพดอกไม้ในโปรแกรมไลน์ เราแชร์กันแบบไม่รู้ต้นทาง หรือภาพดาราในไอจี เราคิดว่ามันเป็นของสาธารณะใช่ไหม? กฎหมายลิขสิทธิ์ระบุว่าเราสามารถที่จะเข้าไปดูได้ แต่ว่าเราไม่สามารถที่จะคลิกขวาเข้ามาที่หน่วยความจำของเราได้ นี่คือการละเมิดสิทธิ์ ซึ่งประชาชนก็ไม่รู้
พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ฯ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 4 ส.ค. 58 ที่ผ่านมา จะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงในสังคมไทยอย่างไรบ้าง
ผมตั้งข้อสังเกตในอุตสาหกรรมข่าวจะต้องศึกษาทำความเข้าใจเรื่องนี้อยากชัดเจน เพราะว่าหนึ่งทำเพื่อปกป้องธุรกิจของตนเอง สองเพื่อที่ธุรกิจตัวเองจะไม่ไปละเมิดธุรกิจอื่น เพราะฉะนั้นเรื่องนี้ถ้าจะเปลี่ยนต้องมีการอบรมในกองบรรณาธิการข่าวว่าทำแบบไหนผิดหรือไม่ผิด ยกตัวอย่าง ภาพดาราในอินสตาแกรม นั่นก็เป็นสิทธิของพวกเขานะ ถ้าเอาภาพเขามาเขียนข่าวต้องขออนุญาตดาราคนนั้นๆ เสียก่อน ไม่เช่นนั้น ก็เข้าข่ายผิดกฎหมายลิขสิทธิ์
อีกอย่างต่อไปนี้ลิขสิทธิ์นักแสดง เช่น ไปเล่นหนังเล่นละคร เขาก็จะมีลิขสิทธิ์ในผลงานนั้นด้วย ใครจะไปกระทำเผยแพร่ซ้ำดัดแปลง ตัดต่อบางฉากบางตอนให้ดูเสียหาย ทำไม่ได้ แม้กระทั่งภาพในกองถ่าย ที่ไม่ได้ ออกอากาศก็มีกฎหมายคุ้มครอง จำได้ไหม ตอนภาพยนตร์เรื่องไอ้ฟัก มีฉากหลุดหัวนม คุณตั๊ก (บงกช คงมาลัย) มาเลย ซึ่งฉากนี้ไม่ได้อยู่ในหนัง เพราะผู้กำกับไม่ได้ใส่ฉากนี้ให้เห็น แล้วมีคนไปละเมิดเอาภาพมาลงในสื่อออนไลน์ในเว็บบอร์ดพันทิป ถ้าเป็นแต่ก่อนแค่ผิด พ.ร.บ.คอมพ์ (พ.ร.บ. การกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550) เผยแพร่ภาพอนาจารต่อสาธารณะ แต่ต่อไปผิดกฎหมายลิขสิทธิ์ด้วย เพราะเรือนร่างกายของนักแสดงต่อให้อยู่ในฉากเบื้องหลังก็มีลิขสิทธิ์
อีกส่วนการเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นกับ พลเมืองเน็ต ขอแบ่งเป็น 2 ประเภท ส่วนแรกผู้ที่ทำตัวเองเป็นผู้พัฒนาคอนเทนต์ เช่น ไปเอารายการซี่รี่ย์เกาหลี ซี่รี่ย์ฝรั่ง ละครย้อนหลัง มาทำซับไทยแปลเอง ทำสำเนาซับ พวกนี้ผิดลิขสิทธิ์ทั้งหมดแน่นอน หรืออย่างเฟซบุ๊กเพจยูไลค์ อยู่ในเพจเฟซบุ๊กดูเหมือนว่าจะไม่ได้หาผลประโยชน์กำไรทางการค้าเพราะเป็นหน้าเพจ แต่การที่มีคนฟอลโล่เป็นหมื่นเป็นแสนทางเฟซบุ๊กบอกเป็นการใช้งานเชิงพาณิชย์ เพราะมีการวางแบนเนอร์ทำโฆษณา ทำมาเก็ตติ้ง หรือบางคนทำธุรกิจออนไลน์ขายของ ในส่วนของคอนเทนต์ต้องมีการพิจารณาอย่างจริงจังว่าผิดกฎหมายลิขสิทธิ์หรือเปล่า ต้องระวังมากขึ้น เวลาคุณไปก๊อบปี้ภาพดอกไม้ของคนอื่นที่มีการจัดแสง มีคอมโพสต์ คุณกำลังละเมิดลิขสิทธิ์ ง่ายๆ ลองถึงเพจคำคมสิครับ แชร์รูปสุนัข แชร์รูปเด็กน่ารัก รูปภาพตรงนั้นผิดลิขสิทธิ์ทั้งหมด แต่เป็นความผิดลิขสิทธิ์ที่ยอมความได้คือไม่ถึงขั้นฟ้องร้อง
สิ่งที่จะเกิดขึ้นทันทีหลังจาก พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ฯ ฉบับนี้มีผลบังคับใช้
หลังการบังคับใช้กฎหมายลิขสิทธิ์ สิ่งที่จะเกิดขึ้นทันที เว็บไซต์ต่างๆ เหล่านี้ควรจะปิดชั่วคราวเพื่อป้องกันการถูกฟ้องร้อง เพราะว่าต่อไปนี้เจ้าของลิขสิทธิ์อย่างแท้จริง อย่างเช่น ประเทศเกาหลีใต้ ต้นทางซี่รีส์ จะโดนฟ้องจากต้นทางได้ หรือถ้าเป็นในประเทศเราก็เป็นลิขสิทธิ์ที่เราซื้อมาเพื่อเผยแพร่ ช่อง 3 ช่องโมโน ก็ซื้อลิขสิทธิ์เผยแพร่ในประเทศไทยหรือมีออป ชันเพิ่ม เช่น เผยแพร่ผ่านสื่อออนไลน์ในเว็บไซต์ของตน ถ้าคนธรรมดาไปเอามาไปทำซ้ำหาผลประโยชน์ทางการค้าคือเรื่องใหญ่นะ เพราะโทษใหญ่นะครับ ปรับสูงสุด 400,000 แสนบาท และมีโทษจำคุกด้วย ตามหลักการที่มองเห็นจะสร้างผลกระทบอย่างมากกับคนที่ทำเว็บปรสิต ทำเว็บดูรายการทีวีย้อนหลัง หรือชาวโซเชียลมีเดียทั้งหลายที่มีการก๊อบปี้ข้อความแชร์ต่อ
กฎหมายลิขสิทธิ์เอื้อประโยชน์ให้เจ้าของผลงานดำเนินคดีทางแพ่งและอาญาอย่างเต็มที่
กฎหมายลิขสิทธิ์ เจ้าของลิขสิทธิ์มีสิทธิอย่างเต็มที่ในผลงานของตัวเอง เพราะฉะนั้น กฎหมายจึงเอื้อมากให้เจ้าของฟ้องร้องเอาผิดทางลิขสิทธิ์ได้ กฎหมายนี้จะต้องไปพิสูจน์ความจริง ถ้าต้องการฟ้องร้องทำได้ แต่ต้องเข้าใจพื้นฐานของกฎหมายลิขสิทธิ์ว่าการเอาไปใช้งานเรื่องการศึกษาวิจัยการเรียนการสอนได้ แต่ถ้าเป็นเชิงพาณิชย์มันผิดหมด ที่ผ่านมาไม่มีการฟ้องร้องนั้นคือความผิดปกตินะ ผมเห็นว่าถ้ามันเป็นการปกป้องผลงานทางวิชาชีพมันไม่ควรจะยอมความ แต่ถ้าในฐานะการใช้งานของประชาชนทั่วไป การใช้งานเพื่อเผยแพร่รับรู้ข้อมูลข่าวสารให้มากขึ้นตรงนี้ก็ยอมความได้
ผมขอเพิ่มเติมส่วนที่เกี่ยวข้องหน่วยงานทางสถาบันการศึกษานะครับ ร้านถ่ายเอกสารเกี่ยวข้องกับ พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ด้วยนะ เช่น มหาวิทยาลัยรามคำแหงมีร้านถ่ายเอกสารหน้ามหาลัยฯ แล้วมีคนมาจับกุมผลิตทำซ้ำ จัดจำหน่าย ตรงนี้กฎหมายลิขสิทธิ์ยกเว้นนะ เจ้าของร้านกระทำเพื่ออำนวยความสะดวกเท่านั้น คือผม กลัวว่าต่อไปจะมีคนไปจับกุมร้านถ่ายเอกสารได้ มันเป็นปัญหาเพราะเจ้าหน้าที่รัฐแอบแฝงไปจับกุม คือกฎหมายลิขสิทธิ์บอกว่าถ้าจะมีการจับกุมอะไรก็ตาม จะต้องเป็นเจ้าของผลงานเท่านั้นที่แจ้งความ ไม่สามารถมีเจ้าหน้าที่ตัวแทนลิขสิทธิ์ได้
ตาม พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ มีโทษค่อนข้างรุนแรง ปรับสูงสุด 400,000 และจำคุก การบังคับใช้กฎหมายจะมีศักยภาพแค่ไหน
ประเด็นแรก คือหน่วยงานรัฐขาดการประชาสัมพันธ์อย่างดีนะ เพราะว่าประชาชนยังมีความสับสนว่ากฎหมายพูดเรื่องการละเมิดหรือไม่ละเมิด แต่ว่ายังไม่ได้อธิบายเรื่องการใช้งานเรื่องการศึกษา การใช้งานส่วนตัว เพราะฉะนั้น ช่วงแรกผมอยากให้หน่วยงานรัฐออกมาให้ความรู้มากกว่านี้ ทำความเข้าใจกับประชาชน
ด้านหน่วยงานรัฐ กรมทรัพย์สินทางปัญหา แล้วก็กระทรวงพาณิชย์ เนื่องจากถูกมองเป็นเชิงพาณิชย์ค่อนข้างมาก เพราะฉะนั้นต้องทำกิจกรรมอธิบายทำความเข้าใจแยกเป็นกลุ่มที่เกี่ยวข้อง กลุ่มสื่อสารมวลชน และกลุ่มเจ้าของลิขสิทธิ์ และกลุ่มทำธุรกิจดิจิตอลโดยตรง ในช่วงแรก 2-3 เดือนแรก มันจะเกิดความสับสนอลหม่านพอสมควร ในเรื่องของการผิดไม่ผิด เกิดการจับกุมฟ้องร้องกันมากมาย ตรงนี้มันเป็นโอกาสที่กระทรวงพาณิชย์ต้องเร่งทำความเข้าใจ เรื่องของการทำการค้าธุรกิจ ทำอย่างไรไม่ให้ผิดกฎหมายลิขสิทธิ์
ผมเชื่อว่ากฎหมายออกมา จะมีการบังคับฟ้องกันกระจายเลย คดีลิขสิทธิ์จะมีเป็นร้อยเป็นพันเป็นหมื่นกระทรวงไอซีทีจะมีปัญหาอย่างหนักเลยว่า ถ้าเกิดมีการฟ้องร้องหลายๆ เว็บไซต์ต้องปิด ทุกวันนี้กระทรวงไอซีทีก็มีปัญหาปิดไม่ทันอยู่แล้ว เว็บดูหนังออนไลน์ ฟังเพลงออนไลน์ ดูซีรีส์ออนไลน์ เยอะ เว็บข่าวออนไลน์พวกปรสิต ไอซีทีมีมาตรการรับมือการร้องเรียนการปิดเว็บเหล่านี้แล้วหรือยัง? ยังไม่ต้องคิดถึงประชาชนทั่วไปแชร์ เพราะว่าประชาชนทั่วไปแชร์มันเป็นความผิดแต่ยอมความได้ แต่ในเว็บไซต์ที่มีการวางแบนเนอร์โฆษณาต่างๆ เรื่องใหญ่เลยนะ
เท่ากับว่า พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ฯ จะตอกย้ำผู้บังคับใช้กฎหมายอย่างกระทรวงไอซีทีว่าด้อยศักยภาพ ไม่มีความพร้อมด้วยประการทั้งปวง
ใช่ครับ คือกฎหมายฉบับนี้รักษาการโดยกระทรวงพาณิชย์ แต่ว่ากระทรวงไอซีทีมีบทบาทหนึ่งก็คือเรื่อง พ.ร.บ. การกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 การลักลอบกระทำซ้ำ ผลิตซ้ำเผยแพร่ สมมุติว่า ซีรีส์ย์ เรื่อง หนึ่งๆ มีการละเมิดบนเว็บไซต์ออนไลน์ สังคมออนไลน์ กระทรวงพาณิชย์ถือมาตรการ พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ กระทรวงไอซีทีถือมาตรการ พ.ร.บ.คอมพ์ มีอำนาจการจับกุม เพราะฉะนั้น ลองจินตนาการดูสิว่าถ้ามีการฟ้องร้องผิดกฎหมายลิขสิทธิ์จะเป็นอย่างไร?
ตอนนี้ (5 ส.ค.58) ผมไม่รู้ว่ากระทรวงไอซีทีรู้หรือเปล่าว่าภาระจะเพิ่มมากขึ้นด้วย เช่น ถ้ามีการฟ้องร้องว่าผิด กม.ลิขสิทธิ์ ด้วย ต่อไปนี้มันจะผิดกฎหมายทั้ง 2 ฉบับ คือ พ.ร.บ.คอมพ์ การกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ เรื่องของการกระทำซ้ำดัดแปลง คุณไปเอาข้อมูลของคนอื่นมามันก็ผิดมาตรา 12 การกระทำความเสียหายต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจ คุณอาจจะต้องผิดทั้ง พ.ร.บ.คอมพ์ และ พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ วันนี้กระทรวงไอซีที่กับกระทรวงพาณิชย์ได้มองภารกิจของตัวเอง ในการจับกุม ป้องกัน ปราบปราม ปิดกั้นเว็บไซต์หรือยัง?
ขอบคุณภาพประกอบจาก Facebook : Time Chuastapanasiri