xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

หืดจับ หั่นเป้าส่งออก -3% กระตุ้นเศรษฐกิจ1.5แสนล้าน แค่เหล้าเก่าในขวดเก่า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์
ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -การส่งออกยังตกอยู่ในอาการโคม่าไม่มีสัญญาณฟื้นฉุดให้สภาพเศรษฐกิจตกต่ำชนิดลากยาวไม่เห็นฝั่ง ไม่ใช่แค่ปัจจัยภายนอกเพราะภาวะเศรษฐกิจโลกซบเซา และมาตรการกดดันจากมหาอำนาจตะวันตกเท่านั้น แต่ปัจจัยภายในคือฝีมือของทีมเศรษฐกิจรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งด้วย

วันนี้ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ยืดอกออกมาสารภาพแล้วว่า ส่งออกปีนี้จากเดิมที่ตั้งเป้าให้ให้เติบโตสัก 1.2% คงยากเสียแล้ว และอาจจะปรับลดลงเหลือ 0% หรือไม่เติบโตเลย และสุดท้ายต้องยอมรับปรับเป้าส่งออกติดลบถึง 3% ขนาดว่า จะปรับเป้าเหลือเป็น 0% หรือ ติดลบ 3% ยังต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่ว่าต้องทำงานหนักกว่าเดิมหลายเท่า ไม่งั้นมีสิทธิ์ติดลบไหลรูดมากกว่านี้

เป็นที่รับรู้กันดีว่า การส่งออกของไทย หดตัวลงอย่างต่อเนื่องมาหลายเดือนแล้ว และเป็นแรงกดดันทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ มาอย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกัน แต่ทว่า การยึดอำนาจคราวนี้เหมือนโชคไม่ช่วยรัฐบาลทหารเอาเสียเลย เพราะเศรษฐกิจทั้งโลกก็อยู่ในช่วงขาลง ซวนเซ ระเนระนาด

การเปิดตลาดส่งออกใหม่ๆ ก็ยังไม่สามารถ ขณะที่ตลาดส่งออกสำคัญ อย่างสหรัฐฯ อียู ที่ค้าขายด้วยแต่ดั้งเดิมก็มีปัญหา ออกมาตรการต่างๆ มากดดัน และปิดล้อมเศรษฐกิจไทยรอบด้าน ซึ่งสาเหตุหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ก็คือ สถานะของรัฐบาลทหารที่มาจากการทำรัฐประหารยึดอำนาจ ไม่เป็นที่ยอมรับของประเทศมหาอำนาจมือถือสากปากถือศีลมิตรเก่าแก่ของไทยนั่นเอง

ไม่นับว่าราคาสินค้าโภคภัณฑ์สำคัญของไทย ทั้งยางพารา ข้าว ฯลฯ ราคาตกต่ำลงเป็นประวัติการณ์

คำสารภาพของพล.อ.ฉัตรชัย ก่อนการประชุมผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงพาณิชย์ เมื่อวันที่ 5 สิงหาคมที่ผ่านมา จึงชัดเจนอย่างยิ่งว่า จะมีการพิจารณาการทบทวนเป้าหมายการส่งออกของไทยในปี 2558 ใหม่ หลังจากที่ได้สั่งการให้กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ไปหารือร่วมกับผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ หรือทูตพาณิชย์ ที่ประจำอยู่ในประเทศต่างๆ ทั่วโลก และให้ประเมินร่วมกับผู้ส่งออกในกลุ่มสินค้าต่างๆ แล้ว ซึ่งเบื้องต้นประเมินว่าการส่งออกในปีนี้น่าจะไม่ขยายตัวหรือเติบโตในระดับ 0% จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัว 1.2%

ก่อนหน้านี้ กระทรวงพาณิชย์ เผยตัวเลขการส่งออกไทยในเดือน มิ.ย.ลดลง 7.87% จากช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งเป็นการลดลงเป็นเดือนที่ 6 ติดต่อกัน และเป็นการหดตัวมากที่สุดในรอบ 3 ปี 6 เดือน และหดตัวมากกว่าที่นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ไว้ว่าจะลดลง 5.0%

ตัวเลขติดลบขนาดนี้ ครึ่งปีหลังหวังจะตีตื้นทำให้เสมอตัวก็คงยากเพราะยังไม่มีสัญญาณใดๆ ที่บ่งชี้ว่าเศรษฐกิจโลกจะเฟื่องฟูดึงส่งออกไทยให้ดีขึ้น ดังนั้น การประชุมเมื่อวันที่ 5 สิงหาคมที่ผ่านมา จึงยังไม่สามารถหาข้อสรุปได้ เพราะตัวเลขที่แพลมๆ กันมานั้นไม่ใช่ขยายตัว 0% หรือไม่ขยายตัวเลย แต่ตัวเลขส่งออกที่รายงานกันในที่ประชุมคือติดลบ

นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ให้สัมภาษณ์หลังประชุมว่า เบื้องต้นตัวเลขส่งออกปีนี้จะติดลบแน่นอนจากการคำนวณปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ทั้งสถานการณ์เศรษฐกิจโลก อัตราแลกเปลี่ยน ราคาน้ำมัน ราคาสินค้าเกษตรโลก ภัยธรรมชาติ ฯลฯ แต่ตัวเลขส่งออกใหม่ของกระทรวงฯ อาจไม่ติดลบมากเหมือนที่เอกชนหรือหลายหน่วยงานคาดไว้ถึง - 4%

แต่อย่างไรก็ตาม อาจเป็นเพราะพล.อ.ฉัตรชัย ไม่อยากเห็นตัวเลขส่งออกติดลบมากมายขนาดนั้นหรือไม่ จึงต้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกลับไปคิดคำนวณทบทวนกันใหม่ และแถลงอีกครั้งเมื่อวันที่ 6 สิงหาคมที่ผ่านมา

แต่ในที่สุดก็ไม่อาจปฏิเสธความจริงไปได้

ในวันรุ่งขึ้น นายสมเกียรติ ตรีรัตน์พันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ ออกมาเปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์ปรับเป้าหมายการส่งออกของไทยปีนี้เป็นติดลบ 3% หรือคิดเป็นมูลค่าส่งออก 220,698 ดอลลาร์ จากเป้าหมายเดิมที่คาดการณ์ว่าจะขยายตัวได้ 1.2% ภายใต้สมมติฐานค่าเงินบาท 35 บาทต่อดอลลาร์ ราคาน้ำมันอยู่ที่ 60 ดอลลาร์ต่อบาเรล ขณะที่ราคาสินค้าเกษตรยังทรงตัวในระดับต่ำ

สำหรับสาเหตุที่ปรับลดเป้าหมายการส่งออกเนื่องจากเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวช้า แม้จะเห็นสัญญาณการฟื้นตัวจากสหรัฐฯ ยุโรป และญี่ปุ่น แต่การนำเข้าในประเทศต่างๆ ยังคงติดลบ เช่น จีน -21% และสหรัฐฯ -4%

อีกสาเหตุสำคัญคือ ไทยยังได้รับผลกระทบจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์และราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ เช่น ราคาข้าวตกไป 7% ยางพารา 19% และน้ำตาล 9% ดังนั้น ถึงแม้การส่งออกจะมีปริมาณเท่าเดิมแต่มูลค่ามีการปรับตัวลดลง

ขณะเดียวกัน ยังได้รับผลกระทบจากการส่งออกยานยนต์และส่วนประกอบที่ผู้ประกอบการมีการเปลี่ยนโมเดล ส่งผลให้การส่งออกลดลง ซึ่งคาดว่าจะต้องใช้ระยะเวลา 2-3 เดือนจะสามารถกลับมาขยายตัวได้

แต่นั่นหมายถึงว่า ในช่วงที่เหลือของปีนี้ หากจะผลักดันให้การส่งออกอยู่ที่เป้าหมายติดลบ 3% จะต้องส่งออกเฉลี่ยได้เดือนละ 19,000 ดอลลาร์ ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่ง่ายนัก

อย่างไรก็ตาม แม้การส่งออกโดยภาพรวมติดลบ แต่ไทยยังสามารถรักษาส่วนแบ่งทางการตลาดไว้ได้ สะท้อนจากการส่งออกไปยังสิงคโปร์เพิ่มขึ้นจาก 2.4% เป็น 2.6% ญี่ปุ่น 2.7% เป็น 3.1% จีน 1.9% เป็น 2.2% ออสเตรเลีย 4.3% เป็น 5% และสหรัฐ 1.2% เป็น 1.3%

การปรับเป้าหมายส่งออกของกระทรวงพาณิชย์ใหม่รอบนี้ ใกล้เคียงกับตัวเลขของภาคเอกชน ที่ฟันโช๊ะออกมาชัดแจ้งว่า ไถลลงลึกกว่าที่คาดเอาไว้มาก

ตัวเลขของสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือสภาผู้ส่งออกฯ ได้ปรับลดคาดการณ์การส่งออกไทยปี 2558 ว่าจะติดลบถึง 4.2% จากเดิมคาดไว้ว่าติดลบ 2% เหตุผลเพราะเศรษฐกิจโลกยังซบเซา กำลังซื้อในตลาดหดหาย ค่าเงินของประเทศคู่แข่งอ่อนค่ามากกว่า และราคาน้ำมันที่ยังลดลง รวมทั้งการย้ายฐานการผลิตจากไทยออกไปยังประเทศเพื่อนบ้าน

ทั้งนี้ ตั้งแต่ต้นปี 2558 สภาผู้ส่งออกฯ ได้ปรับลดคาดการณ์การส่งออกไทยปีนี้มาแล้ว 2 ครั้ง จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัว 1.5% เป็น 0% และคาดการณ์ว่าจะติดลบ 2% เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม หลังจากประเมินการส่งออกในช่วงที่เหลือของปีนี้ซึ่งยังต้องเผชิญหลายปัจจัยเสี่ยงทั้งในและต่างประเทศจึงปรับลดลงโดยคาดการณ์ไว้ถึง - 4.2%

ขณะเดียวกัน นายบุญทักษ์ หวังเจริญ ประธานสมาคมธนาคารไทยในฐานะประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ซึ่งประกอบด้วย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย เคยคาดการณ์ส่งออกปีนี้จะติดลบ 2% และจะพิจารณาประมาณการเศรษฐกิจไทยและการส่งออกปี 2558 อีกครั้งในการประชุมเดือนกันยายน แต่ยอมรับว่ายังคงกังวลการส่งออกโดยเฉพาะผลกระทบจากเศรษฐกิจโลก

ส่วนที่ชัดเจนแล้วคือมติของที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เมื่อวันที่ 5 สิงหาคมที่ผ่านมา ซึ่งมีสาระสำคัญนอกจากการคงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 1.5% แล้ว นายเมธี สุภาพงษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และเลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ยังเปิดเผยว่า ที่ประชุม กนง. ครั้งนี้ได้ปรับลดอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจ (จีดีพี) ลงต่ำกว่าร้อยละ 3 และการส่งออกหดตัวมากกว่าร้อยละ 1.5 โดยจะประกาศอย่างเป็นทางการวันที่ 25 กันยายน 2558 โดยเศรษฐกิจไทยยังมีความเสี่ยงจากปัญหาภัยแล้ง และการส่งออกที่ชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า โดยเฉพาะจีนและเอเชีย

เมื่อขาส่งออกมีปัญหาเสียแล้ว มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ เข็นออกมาปั๊มเศรษฐกิจให้เดินต่อไปได้มีอะไรบ้าง พิจารณาดูแล้วต้องบอกว่าเหล้าเก่าในขวดเก่าโดยแท้

มาตรการที่วางแผนว่าจะทำแต่ยังทำไปได้ไม่ถึงไหน ซึ่งถูกแช่ไว้ในมือพล.อ.ประยุทธ์ และ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ยังไม่ได้รายงานต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) นั้น ฟังจากคำแถลงของพล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่บอกว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 4 สิงหาคมที่ผ่านมา ยังไม่ได้มีการพิจารณามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ 6 ด้าน ก็ได้แต่วังเวง

ทั้งนี้ นายสมหมาย ภาษี รมว.คลัง ในฐานะประธานการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนของประเทศ ได้รายงานมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ 6 ด้าน ให้ พล.อ.ประยุทธ์ และ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร รับทราบแล้ว โดยมีโครงการลงทุนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับ 3-4 กระทรวง หรือประมาณ 20 หน่วยงาน เป็นวงเงิน 150,000 ล้านบาท กระจายอยู่ในโครงการท้องถิ่นทั่วประเทศ เพื่อให้กระทรวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งเบิกจ่ายเพื่อให้เงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ ถือเป็นการดำเนินโยบายของนายกรัฐมนตรี ที่ต้องการให้เกิดการจ้างงานและช่วยเหลือเกษตรในท้องถิ่นให้ได้ 10 ล้านคน

มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ 6 ด้าน เป็นมาตรการที่มีอยู่แล้ว แต่ได้จัดหมวดหมู่ให้เห็นภาพชัดเจนว่ามีเงินแค่ไหน และมีการดำเนินการไปถึงไหนแล้ว ซึ่งก่อนหน้านี้ นายสมหมาย ระบุว่าจะนำเสนอ 6 มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเข้าสู่การพิจารณาของ ครม. ประกอบด้วย

1. มาตรการกระตุ้นที่เกี่ยวกับการลงทุนในโครงการโครงสร้างพื้นฐานทั้งระบบราง ถนน น้ำ สนามบิน
2. มาตรการกระตุ้นเพื่อการส่งเสริมการลงทุนผ่านคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) รวมถึงโครงการในเขตเศรษฐกิจพิเศษ และโครงการที่ผ่านการลงทุนเศรษฐกิจเฉพาะทาง
3. มาตรการกระตุ้นโดยใช้นโยบายการเงินการคลัง
4. มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยผ่านโครงการที่มีอยู่ในงบประมาณประจำ
5. มาตรการกระตุ้นโดยกองทุนหมุนเวียน

และ 6. มาตรการการปรับปรุงจัดการสหกรณ์ที่มีอยู่

เหล้าเก่า ขวดเก่า ยังไม่มีอะไรใหม่ เช่นนี้แล้ว อนาคตของรัฐบาลบิ๊กตู่ ช่างดูมืดมนยิ่งนัก ถึงแม้จะเป็นแค่รัฐบาลขัดตาทัพ เพื่อปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง หรือเลือกตั้งก่อนปฏิรูป ก็คงจบไม่สวยอย่างที่คาดหวัง


กำลังโหลดความคิดเห็น