xs
xsm
sm
md
lg

เสือนอนกินสสส.-TPBS

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: สุรวิชช์ วีรวรรณ

ผมอยากจะพูดถึงเสือนอนกิน สสส. และ TPBS (ไทยพีบีเอส) จากภาษีบาป ผ่าน Earmarked Tax แม้มีข่าวว่ากมธ.ร่างรัฐธรรมนูญจะสยบยอมสององค์กรนี้ไปแล้วก็ตาม

สสส.คือสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ส่วน TPBS คือองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย

Earmarked Tax หรือภาษีเพื่อวัตถุประสงค์เฉพาะ หมายถึง ภาษีหรือค่าธรรมเนียมประเภทหนึ่ง โดยรายได้ที่จัดเก็บได้จาก Earmarked Tax จะต้องนำไปใช้จ่ายตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้เท่านั้น รัฐบาลไม่สามารถนำไปใช้จ่ายตามวัตถุประสงค์อื่นๆ ได้

กฎหมาย สสส. 2544 มาตรา 11 ให้กองทุนมีอำนาจจัดเก็บเงินบำรุงกองทุนจากผู้มีหน้าที่เสียภาษีตามกฎหมายว่าด้วยสุราและกฎหมายว่าด้วยยาสูบ ในอัตราร้อยละสองของภาษีที่เก็บจากสุราและยาสูบตามกฎหมายว่าด้วยสุราและกฎหมายว่าด้วยยาสูบ ในการคำนวณเงินบำรุงกองทุนตามอัตราที่กำหนดในวรรคหนึ่ง หากมีเศษของหนึ่งสตางค์ให้ปัดทิ้ง

กฎหมายไทยพีบีเอส 2551 มาตรา 12 ให้องค์การมีอำนาจจัดเก็บเงินบำรุงองค์การจากผู้มีหน้าที่เสียภาษีตามกฎหมายว่าด้วยสุราและกฎหมายว่าด้วยยาสูบ ในอัตราร้อยละหนึ่งจุดห้าของภาษีที่เก็บจากสุราและยาสูบตามกฎหมายว่าด้วยสุราและกฎหมายว่าด้วยยาสูบ และจัดสรรให้เป็นรายได้ขององค์การ โดยให้มีรายได้สูงสุดปีงบประมาณละไม่เกินสองพันล้านบาท และให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมีอำนาจในการปรับเพิ่มรายได้สูงสุดตามมาตรานี้ทุกสามปี เพื่อให้องค์การมีรายได้เพียงพอต่อการดำเนินการตามวัตถุประสงค์ โดยให้พิจารณาถึงอัตราเงินเฟ้อของปีที่ผ่านมา ประกอบกับขอบเขตการดำเนินงานขององค์กร

มีความพยายามอธิบายว่า Earmarked Tax ของ สสส. และ TPBS นั้น ไม่ได้กระทบงบประมาณแผ่นดินโดยอ้างว่า กรณีที่บริษัทเหล้าและบุหรี่ต้องเสียภาษีเข้ารัฐ และนำไปให้ 2 หน่วยงานนั้น (จริงๆ 3 รวมถึงกองทุนกีฬาที่เพิ่งผ่านการพิจารณาของ สนช.ด้วย) ไม่ใช่รัฐเก็บภาษีมาได้ 100 หักออก 2 และ 1.5 เข้าคลัง 98 “อย่างที่คนส่วนใหญ่เข้าใจกัน” แต่หมายความว่า บริษัทเหล้าบุหรี่ต้องเสียเพิ่มขึ้นจาก 100+2+1.5 เลยบอกว่า ถ้ายกเลิก Earmarked Tax บริษัทเหล้าบุหรี่จะได้ประโยชน์ กระทั่งมีการดราม่ากันว่า คนที่คัดค้านให้ 2 หน่วยงานรับภาษีบาปไปแบบเสือนอนกินเป็นพวกรับงานบริษัทเหล้าบุหรี่มา

ประเด็นก็คือมีข้อเสนอว่า ควรให้ทั้งสองหน่วยงานนั้น ได้รับเงินงบประมาณผ่านระบบรัฐสภาเหมือนกับหน่วยงานรัฐอื่น ซึ่งผมเห็นด้วย เพราะเราสามารถตรวจสอบได้ว่า ทั้งสองหน่วยงานนี้นำเงินไปใช้อะไรบ้าง บอกตรงๆ กรณีของ สสส.บางครั้งผมเห็นนำเงินไปสนับสนุนบางเรื่องที่พิลึกพิลั่นมาก ไม่เห็นจะเกี่ยวกับวัตถุประสงค์ของหน่วยงานที่ถูกจัดตั้งขึ้นเลย และมีการตั้งคำถามเรื่องการใช้เงินของ สสส.เสมอมา

จากการตรวจสอบเงินที่ สสส.ได้รับจากภาษีบาปตลอด 13 ปีที่ผ่านมา (2544-2557) รวมเป็นเงินกว่า 35,848 ล้านบาท สสส.อ้างว่า สามารถทำให้คนสูบบุหรี่น้อยลงดื่มเหล้าน้อยลง แต่ 13 ปีที่ผ่านมา สสส.กลับได้เงินภาษีบาปที่จัดเก็บร้อยละ 2 เพิ่มขึ้นเกือบทุกปี ซึ่งสวนทางกับสิ่งที่ สสส.อ้างผลงานของตัวเอง อาจมีข้ออ้างว่า สสส.ได้เงินเพิ่มขึ้นเพราะรัฐเพิ่มภาษีเหล้าและบุหรี่ ตัวนี้จริงหรือไม่จริงเทียบดูได้ว่า รัฐเพิ่มภาษีเหล้าบุหรี่กี่เปอร์เซ็นต์และรายได้ของ สสส.เพิ่มปีละกี่เปอร์เซ็นต์

โดยในปี 2557 สสส.แจ้งว่ามีรายได้จากเงินบำรุงกองทุนที่มาจากภาษีบาป 4,064 ล้านบาท เพิ่มขึ้นแรกก่อตั้ง ในปี 2544 ที่ได้เงินจากภาษีบาป 1,526 ล้านบาท คิดเป็น 266% หรือกว่า 2 เท่าครึ่ง แต่การขึ้นอัตราภาษีสรรพสามิตของสุราและยาสูบก็ไม่ได้ขึ้นทุกปี อาทิ อัตราภาษีสรรพสามิตยาสูบระหว่างปี 2547-2557 หรือ 11 ปีที่ผ่านมา มีการขึ้นเพียง 3 ครั้งเท่านั้น คือในปี 2550 ที่ขึ้นจาก 79% เป็น 80%, ในปี 2552 ที่ขึ้นจาก 80% เป็น 85% และในปี 2555 ที่ขึ้นจาก 85% เป็น 87% (http://thaipublica.org/)

คำถามว่าจะทำอย่างไรกับข้ออ้างที่ว่า บริษัทเหล้าบุหรี่จะได้ประโยชน์ถ้ายกเลิก Earmarked Tax สำหรับหน่วยงานทั้งสอง ก็ง่ายนิดเดียวครับก็เพิ่มภาษีในส่วนที่เคยเก็บระบบ Earmarked Tax ที่สนับสนุนทั้งสองหน่วยงานนี้เข้าไปในภาษีเหล้าและบุหรี่แค่นี้เรื่องก็จบ (เพราะอย่างไรก็เป็นเงินที่บริษัทเหล้าและบุหรี่ต้องจ่ายอยู่แล้ว) หลังจากนั้น สสส. และ TPBS จะเสนองบประมาณอะไรก็ทำผ่านระบบรัฐสภามาจะได้ตรวจสอบได้ง่ายขึ้น

ถ้างบประมาณของสองหน่วยงานนี้ผ่านรัฐสภาก็จะต้องตั้งกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมาแปรญัตติ ผู้บริหารต้องเข้ามาชี้แจง โดยแสดงถึงภารกิจ เป้าหมาย กลยุทธ์ แผนงาน ผลผลิต กิจกรรมอย่างละเอียดทุกกิจกรรม รวมถึงแสดงถึงผลงาน ปัญหาอุปสรรค แนวทางแก้ไขครบถ้วน ซึ่งตรวจสอบได้รัดกุมกว่าแค่การทำรายงานประจำปีเสนอต่อคณะรัฐมนตรี สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภาตามที่กฎหมายบัญญัติ

ทำอย่างนี้ไม่เห็นจะบั่นทอนภารกิจของ สสส. และ TPBS ตรงไหน เพราะทั้งสองหน่วยงานก็ยังคงให้มีภารกิจเหมือนเดิม ไม่ได้ถูกสั่งให้เปลี่ยนแปลงภารกิจ เพียงแต่ผู้บริหารองค์กรซึ่งจ้างด้วยเงินเดือนที่สูงต้องทำงานหนักขึ้น ตลกนะครับถ้าจะบอกว่าคนที่ค้าน สสส. และ TPBS ได้เงินมาง่ายๆ จาก Earmarked Tax เป็นพวกไม่อยากให้สังคมมีคนร่างกายแข็งแรง จิตใจดี มีสัมมาอาชีวะ และมีเสรีภาพในการรับสื่อข้อมูลที่เที่ยงธรรม

แล้วพวกไม่อยากให้ตรวจสอบงบประมาณ 2 หน่วยงานนี้ล่ะครับเป็นคนชนิดใด

บางคนห่วงว่าหากทำแบบนี้จะถูกการเมืองเข้าแทรก ผมถามว่าการเมืองจะแทรก สสส.อย่างไรครับช่วยอธิบายเป็นรูปธรรมหน่อย นักการเมืองจะเข้ามาขัดขวางการรณรงค์ให้ลดบริโภคเหล้าหรือบุหรี่เหรอครับ ส่วน TPBS ที่เป็นสื่อนั้นการเมืองจะแทรกได้หรือไม่มันอยู่ที่จิตวิญญาณของผู้บริหารองค์กรครับว่าจะทำตามคำสั่งของนักการเมืองหรือไม่ หรือกลัวกันว่า TPBS จะมีสถานะเหมือนช่อง 11 จะเหมือนกันได้ยังไงครับ TPBS เป็นองค์กรอิสระที่ไม่ได้ขึ้นต่อนักการเมืองส่วนช่อง 11 เป็นหน่วยงานราชการ

หรือว่า กรณีของ TPBS ถ้าจะใช้ระบบของ Earmarked Tax ก็ควรจะทำแบบหลายประเทศในยุโรป ที่การรับชมหรือบันทึกการแพร่ภาพโทรทัศน์จะต้องซื้อใบอนุญาตรับชมโทรทัศน์ (Television License) โดยค่าใบอนุญาตนี้ถือเป็นภาษี และผู้ที่ฝ่าฝืนไม่ชำระจะถูกลงโทษเช่นเดียวกับการเลี่ยงภาษี ซึ่งรายได้จากใบอนุญาตจะนำไปใช้เป็นเงินทุนในการออกอากาศ โดยอาจมีเงื่อนไขว่า ถ้าไม่พอเพียงรัฐต้องสนับสนุนงบประมาณให้พอเพียงกับค่าใช้จ่าย

วิธีการนี้ต่างหากที่จะวัดประสิทธิภาพการทำงานของ TPBS ได้ ว่าสามารถสร้างความพึงพอใจให้กับผู้ชมหรือไม่ ไม่ใช่ถึงสิ้นปีก็มีเงินใช้ 2,000ล้านลอยมา แต่วันนี้ TPBS มีสถานะอย่างไรก็ดูได้จากการจัดอันดับเรตติ้ง

ส่วน Earmarked Tax เพื่อกองทุนกีฬานั้นผมเห็นด้วยครับ ซึ่งแปลว่าไม่ใช่ Earmarked Tax ไม่ดีหรือไม่ควรมี แต่ควรเป็นภารกิจที่ควรจะต้องสนับสนุนจริงๆ ครับ
กำลังโหลดความคิดเห็น