xs
xsm
sm
md
lg

มาร์คแนะปรับแผนจัดงบ"สสส.-TPBS"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึง กรณีที่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ แก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 และ มาตรา 204 วรรคสอง เกี่ยวกับการใช้งบประมาณให้เป็นตามวินัยการเงินการคลัง เพื่อไม่ให้นำเงินจากการเก็บภาษีสุรา และภาษียาสูบ หรือที่เรียกว่าภาษีบาป มาอุดหนุนแก่กองทุนสนับสนุนสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และ องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย หรือ สถานีโทรทัศน์ ไทยพีบีเอส(TPBS)ว่า ปกติจะมีการใช้ภาษีบาป ที่กันเอาไว้เป็นข้อยกเว้นสำหรับบางองค์กรเท่านั้น เพื่อที่จะเป็นหลักประกันในความเป็นอิสระ มิฉะนั้นจะมีปัญหา เช่น ทำงานไปไม่ถูกใจรัฐบาล รัฐบาลก็ไม่จัดงบประมาณให้ เขาก็ทำงานไม่ได้ แต่ขณะเดียวกันเมื่อเราใช้ระบบนี้ไปแล้ว ก็ จะมีประเด็นที่ต้องมาพิจารณา เช่น บางองค์กรได้เงินเยอะเกินไป หรือเกินความจำเป็น หรือมีเงินสะสมเยอะเกินไป ก็มาพิจารณาในกรอบนั้นมากกว่า การจะไปยกเลิกแนวคิดที่บอกว่า กันภาษีไว้ให้สำหรับบางองค์กร เพื่อความเป็นอิสระนั้น ตนมองว่าไม่ควรไปยกเลิก แต่ควรอาจจะไปปรับแก้กติกายางอย่างสามารถทำได้
นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ที่ใช้กับ 2 หน่วยงานนี้ ยังมีอีกบางหน่วยงาน ที่ตามมา แนวคิดหลักคือไม่ต้องการให้การเมืองเข้าไปแทรกแซง แต่หากการมีรายได้ของเขา ต้องมาขอนักการเมือง หรือ ขอจากรัฐบาล หรือ ขอจากสภานั้น เราเกรงว่ามันจะกระทบ เราจึงให้หลักประกันเขาว่า ควรเอาเงินจากภาษีบาปมาใช้ แต่หากเห็นว่าเงินมันเยอะเกินไป ก็อาจจะมีการปรับแก้กติกาได้ เช่น กำหนดเพดาน หรือกำหนดว่า ถ้ามีเงินสะสมเท่าไรแล้ว ปีนั้นก็ไม่ให้ แต่อย่าให้เป็นการตัดสินใจของฝ่ายการเมือง สมมุติว่า TPBSทำงานเสนอรายงาน เสนอรายการไม่ถูกใจรัฐบาล แล้วรัฐบาลตัดงบที่จะให้เขา อย่าางนี้เขาก็ทำงานไม่ได้ มันก็เท่ากับเอาอำนาจของรัฐเขาไปกดดัน ทำให้เขาทำงานไม่เป็นอิสระ

** องค์กรภาคีสุขภาพค้านเลิกภาษีบาป

วานนี้ (5ส.ค.) เครือข่ายองค์กรภาคีด้านสุขภาพ 579 องค์กร อาทิ เครือข่ายแรงงาน เครือข่ายครอบครัว เครือข่ายบุหรี่ เครือข่ายเด็ก เครือข่ายผู้หญิง เครือข่ายองค์กรงดเหล้า พร้อมด้วยผู้แทนภาคีเครือข่าย ศ.นพ.วันชาติ ศุภจัตุรัส กรรมการสมาพันธ์เครือข่ายแห่งชาติเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ นายนพพร เทพสิทธา ประธานสภาผู้ส่งออก นายยุทธนา ศิลป์สรรค์วิชช์ รองเลขาธิการสภาอุตสาหกรรม และนายไฉน ก้อนทอง นายกอบต.ดงมูลเหล็ก ต.ดงมูลเหล็ก อ.เมืองฯ จ.เพชรบูรณ์ ผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตลอดจนตัวแทนภาคเอกชน นำโดย นายมณเฑียร บุญตัน สมาชิก สนช. ได้ยื่นหนังสือต่อนายมานิจ สุขสมจิตร รองประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เรื่อง ขอคัดค้านร่างรัฐธรรมนูญมาตรา190 และบทเฉพาะกาล ที่ห้าม และยกเลิกกฎหมายจัดเก็บและจัดสรรภาษีเพื่อวัตถุประสงค์เฉพาะ(earmarked tax)หรือ"ภาษีบาป" โดยขอให้นำออกจากร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้
นายมณเฑียร กล่าวว่าตามที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่กำลังพิจารณา ในคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ในช่วงสุดท้ายก่อนสรุปส่งให้สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) พิจารณารับรอง และเปิดให้มีการลงประชามติ ได้มีการเพิ่มเติมเนื้อหาที่ไม่เคยเปิดเผยกับสาธารณะมาก่อน ในมาตรา 190 เกี่ยวกับการห้ามตรากฎหมายเพื่อจัดเก็บและจัดสรรภาษีเพื่อวัตถุประสงค์เฉพาะ (earmarked tax)ซึ่งมีบทเฉพาะกาล ให้หน่วยงานที่มีกฎหมายอยู่แล้วให้บังคับใช้ต่อไปอีกไม่เกิน 4 ปี จึงมีการหารือกับหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้อง และเห็นพ้องที่จะคัดค้าน มาตรา 190 ในร่างรัฐธรรมนูญโดยมีเหตุผลในการคัดค้าน 5 ข้อ ดังนี้
1. การห้ามตรากฎหมายเพื่อจัดเก็บและจัดสรรภาษีเพื่อวัตถุประสงค์เฉพาะ เป็นประเด็นสาธารณะที่ไม่เคยถูกเปิดเผยต่อสาธารณะมาก่อน และไม่ได้อยู่ในร่างที่เคยประชาพิจารณ์ในเวทีต่างๆ มาก่อน
2. ภาษีเพื่อวัตถุประสงค์เฉพาะ เป็นวิธีการหรือเครื่องมือทางงบประมาณที่ประเทศต่างๆในโลกใช้ในการจัดสรรภาษีหรือรายได้ในสัดส่วนจำกัด การยกเลิกกฎหมายไม่จัดเก็บภาษีประเภทนี้จะทำให้ประเทศไทยเสียโอกาสในการนำเครื่องมือทางการเงินการคลังมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และติดอยู่กับวิธีทางงบประมาณแบบเก่าเท่านั้น และนับเป็นเรื่องล้าหลังเมื่อเทียบกับกระแสสากลของโลก
3.การจัดเก็บภาษีเพื่อวัตถุประสงค์เฉพาะ ของพ.ร.บ.กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.),พ.ร.บ.องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ไทยพีบีเอส) และ พ.ร.บ. การกีฬาแห่งประเทศไทย ที่มีวงเงินจากภาษีสรรพสามิตยาสูบและสุรา ที่เรียกเก็บเพิ่มจากภาษีที่เข้าคลังตามปกติ คิดรวมกันเพียงประมาณร้อยละ 0.3-0.4 ของงบประมาณแผ่นดินเท่านั้น การยกเลิกกฎหมายที่มีอยู่และห้ามไม่ให้มีอีกในอนาคต โดยให้เหตุผลเกี่ยวกับการไม่เพียงพอของงบประมาณปกตินับว่าไม่สมเหตุสมผลอย่างยิ่ง
4. แหล่งภาษีเพื่อวัตถุประสงค์เฉพาะของประเทศไทย เป็นการจัดเก็บเพิ่มจากภาษีสรรพสามิตสุราและยาสูบเป็นหลัก ไม่ได้แบ่งจากภาษีที่รัฐบาลยังคงเก็บเข้าคลังเต็มจำนวนอยู่แล้ว การยกเลิกกลไกภาษีเฉพาะนี้ จึงเป็นมาตรการที่อุตสาหกรรมทั้งสองได้ประโยชน์และเรียกร้องต่อภาคการเมืองมาตลอด ซึ่งเป็นแนวโน้มในทำนองเดียวกับที่หลายประเทศที่หน่วยงานที่จัดตั้งโดยภาษีเฉพาะ ถูกแทรกแซงจากอุตสาหกรรมที่เสียประโยชน์ต่อนโยบายทางการเมือง น่าเสียใจที่ความหวังของอุตสาหกรรมที่เสียประโยชน์ กำลังจะประสบความสำเร็จในรัฐบาลนี้ และในคณะกรรมาธิการยกร่าง รัฐธรรมนูญคณะนี้และ
5. ร่างรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ได้ประกาศตัวในการร่างและประชาพิจารณ์ว่ายึดถือหลักการ “พลเมืองเป็นใหญ่”เป็นหนึ่งในหลักสำคัญ แต่มาตรานี้กลับมีแนวโน้มทำลายกลไกทางสังคม ที่มีส่วนสำคัญในการสร้างความเข้มแข็งให้พลเมืองไทย ซึ่งการจำกัดระบบงบประมาณให้ใช้ผ่านระบบราชการเป็นหลักนั้น จะเป็นอุปสรรคสำหรับอนาคตของประเทศไทย ที่มุ่งหวังว่าจะเกิดการปฏิรูปเชิงระบบจากทุกภาคส่วน
ต่อมา นายมานิจ ได้กล่าวภายหลังจากการรับหนังสือว่า ในเรื่องดังกล่าว มีความเห็นไม่ตรงกันในหลายประเด็น เพราะ กมธ.หลายคนมีความห่วงใยในการใช้เงินของ 3 องค์กรดังกล่าวให้มีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ ซึ่งจะได้มีการคุยกันในที่ประชุม กมธ.ยกร่างฯ ในวันที่ 10 - 11ส.ค.นี้ โดยจะนำข้อเสนอของเครือข่ายฯ นำไปประกอบการพิจารณาต่อไป

--------
กำลังโหลดความคิดเห็น