xs
xsm
sm
md
lg

ห่วงการเมืองแทรก"สสส.-ไทยพีบีเอส"กมธ.ยกร่างฯยอมถอยให้ใช้ภาษีบาปต่อ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

กรณี ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี ด้านเศรษฐกิจ ได้ทำหนังสือถึงนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ ให้มีการปรับปรุงแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวกับการคลังและงบประมาณ ซึ่งจะส่งผลใช้การใช้งบประมาณของบรรดาองค์กรอิสระและองค์การมหาชนต่างๆ เช่น กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ไทยพีบีเอส) และกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ ที่เดิมได้รับการจัดสรรตรงจากภาษีเหล้า-บุหรี่ หรือ "ภาษีบาป" ต้องกระทำโดยผ่านวิธีการงบประมาณ หรือผ่าน พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี

นายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษกกรรมาธิยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงการเขียนบทเฉพาะกาลในรัฐธรรมนูญ ให้ ไทยพีบีเอส สสส. และกองทุนกีฬาสามารถใช้ภาษีบาปได้โดยตรงอีกแค่ 4 ปี ว่า ได้มีโอกาสสนทนาอย่างไม่เป็นทางการกับกรรมาธิการบางคน โดยเห็นร่วมกันว่าจะเสนอทบทวนบทบัญญัติที่เกี่ยวกับกรณีสสส., Thai PBS และกองทุนกีฬาโดยน่าจะทบทวนเป็น 2 ระดับ ระดับแรกที่ต้องทบทวนแน่ ๆ คือทบทวนบทเฉพาะกาล จากเดิมที่มีระยะหน่วง 4 ปี เป็นการยกเว้นถาวรให้ 3 องค์กรที่เกิดขึ้นก่อนรัฐธรรมนูญบังคับใช้ และการใช้งบประมาณก็ไม่ต้องผ่านพ.ร.บ.งบประมาณร่ายจ่ายประจำปี เช่นเดิม

“แนวทางนี้อาจจะมากกว่า 3 องค์กร หากก่อนรัฐธรรมนูญบังคับใช้ มีกฎหมายใหม่ออกมาอีก ซึ่งทราบจากสมาชิกสนช.ว่ามีร่างกฎหมายทำนองนี้อยู่อีกสองสามฉบับ”นายคำนูณกล่าว

นายคำนูณกล่าวต่อว่า ระดับต่อมาคือ อาจทบทวนบทบัญญัติปกติในหมวดการคลังการงบประมาณด้วย โดยอาจปรับข้อความให้คลายตัวลง ไม่ห้าม เด็ดขาด แต่ให้คำนึงถึงวินัยการเงินการคลัง ในระดับหลังที่อาจมีการทบทวน เพราะกรรมาธิการเคยเข้าใจว่า หน่วยงานเก็บภาษีต้นทางมาเป็นทุนดำเนินงาน หรือ Earmarked Tax เป็นการหักภาษีที่เก็บได้ไปใช้ก่อนส่งเข้าคลัง แต่แท้จริงแล้ว เป็นการให้อำนาจหน่วยงานนั้นเก็บเพิ่มเป็นเปอร์เซ็นต์จากยอดภาษีที่ส่งเข้าคลังคือไม่ใช่เก็บมาได้100 % หักออก 2 %เข้าคลัง 98%แต่เป็นเสียภาษีเข้าคลัง 100 %เสียเพิ่มให้องค์กรอีก 2% การห้าม จึงไม่มีผลกระทบต่อ ยอดภาษีที่ส่งเข้าคลัง คลังไม่ได้มีรายได้เพิ่มขึ้น ได้เท่าเดิม แต่บริษัทเหล้าบุหรี่ประหยัดค่าภาษีที่ต้องเสียเพิ่มให้องค์กรนั้น ๆไป

ถ้าบทบัญญัติที่เพิ่มขึ้นใหม่ทำให้รัฐได้ประโยชน์เพิ่มขึ้นจริง เราก็จะยืนหยัดคงไว้ แต่ถ้านอกจากรัฐไม่ได้ประโยชน์เพิ่มขึ้นแล้วบริษัทเหล้าบุหรี่ยังได้ประโยชน์โดยเสียเงินน้อยลงขณะที่องค์กรที่มีเป้าหมายทำสาธารณะประโยชน์ต้องได้รับผลกระทบ เราก็จำเป็นต้องทบทวน” นายคำนูณ กล่าว

นายคำนูณ กล่าวต่อว่า สำหรับ ตัวอย่าง earmarked tax ของ 2 องค์กร โดยกฎหมายของ สสส. ปี 2544 มาตรา 11 ให้กองทุนมีอำนาจจัดเก็บเงินบำรุงกองทุนจากผู้มีหน้าที่เสียภาษีตามกฎหมายว่าด้วยสุราและกฎหมายว่าด้วยยาสูบ ในอัตราร้อยละสองของภาษีที่เก็บจากสุราและยาสูบตามกฎหมายว่าด้วยสุราและกฎหมายว่าด้วยยาสูบ ในการคำนวณเงินบำรุงกองทุนตามอัตราที่กำหนดในวรรคหนึ่ง หากมีเศษของหนึ่งสตางค์ให้ปัดทิ้ง ขณะที่กฎหมาย ไทยพีบีเอส ปี 2551 มาตรา 12 ให้องค์การมีอำนาจจัดเก็บเงินบำรุงองค์การจากผู้มีหน้าที่เสียภาษีตามกฎหมายว่าด้วยสุราและกฎหมายว่าด้วยยาสูบ ในอัตราร้อยละหนึ่งจุดห้าของภาษีที่เก็บจากสุราและยาสูบตามกฎหมายว่าด้วยสุราและกฎหมายว่าด้วยยาสูบ และจัดสรรให้เป็นรายได้ขององค์การ โดยให้มีรายได้สูงสุดปีงบประมาณละไม่เกินสองพันล้านบาท และให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมีอำนาจในการปรับเพิ่มรายได้สูงสุดตามมาตรานี้ทุกสามปี เพื่อให้องค์การมีรายได้เพียงพอต่อการดำเนินการตามวัตถุประสงค์ โดยให้พิจารณาถึงอัตราเงินเฟ้อของปีที่ผ่านมาประกอบกับขอบเขตการดำเนินงานขององค์กร “จะเห็นได้ว่าจากกฎหมายของทั้ง 2 องค์กร เงิน 2% และ 1.5% ที่เขาได้ไป ไม่ได้มาจากการหักออกจากภาษีที่บริษัทเหล้าบุหรี่เสียให้รัฐแต่เป็นการเก็บเพิ่ม ถ้าห้าม รัฐก็ได้เท่าเดิมแต่บริษัทเหล้าบุหรี่ประหยัดเงินลงเพราะไม่ต้องเสียอีก 2 %และ 1.5%” โฆษกกมธ.ยกร่างฯระบุ
กำลังโหลดความคิดเห็น