xs
xsm
sm
md
lg

ลักหลับ ลับลวงพราง ลักไก่ กับการรับใช้ทุนสามานย์

เผยแพร่:   โดย: ไสว บุญมา

ย้อนไปหลายปี คำ หรือหมู่คำตามชื่อของบทความนี้ถูกนำมาใช้ในวงการเมืองบ่อยขึ้น โดยเฉพาะจากตอนที่รัฐสภาลงมติแก้ไขรัฐธรรมนูญและผ่านร่างกฎหมายอภัยโทษในตอนก่อนย่ำรุ่งอันเป็นช่วงที่คนไทยโดยทั่วไปกำลังหลับใหลกันอยู่ เหตุการณ์เหล่านั้นเป็นอาการของความป่วยทางคุณธรรมซึ่งนำไปสู่การล้มรัฐบาลที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี ในช่วงนี้มีเหตุการณ์ต่างๆ ที่ยังบ่งชี้ว่า ความป่วยนั้นมิได้หายไปจากสังคมไทยและยังแสดงอาการออกมาในรูปของการลักหลับ ลับลวงพราง และการลักไก่เพียงเพื่อรับใช้ทุนสามานย์

ก่อนเขียนต่อไป ขออธิบายเรื่องความหมายและการใช้คำว่า “ทุนสามานย์” เล็กน้อย ในปัจจุบันมักมีการใช้คำกันอย่างไม่รัดกุม คำว่า “ทุน” มีความหมายหลายอย่างรวมทั้งมันสมองของมนุษย์ด้วย ในเศรษฐกิจระบบตลาดเสรีซึ่งอยู่คู่กับสังคมมนุษย์มานานต้องการทุน อย่างไรก็ดี ในปัจจุบันนี้เมื่ออ้างถึงทุน ความเข้าใจมักพุ่งตรงไปที่ทรัพย์สินในรูปของเงินที่ให้กู้ยืม นำไปใช้ในการซื้อหุ้นและพันธบัตรในตลาดหลักทรัพย์ นำไปใช้ในการเก็งกำไร และนำไปใช้ในการประกอบกิจการไม่ว่าจะเป็นการสร้างโรงงาน ตั้งร้านค้า หรือให้บริการด้านต่างๆ ในระบบตลาดเสรี ทุนมีความสำคัญยิ่ง ฉะนั้น จึงมักเรียกระบบตลาดเสรีว่าระบบทุนนิยม ทุนและการใช้ทุนไม่มีความเลวร้ายหากใช้อยู่ในกรอบของคุณธรรม “ทุนสามานย์” เกิดจากการใช้แบบไร้คุณธรรม

เนื่องจากการรับใช้ทุนสามานย์มีมากมายและหลายรูปแบบ ขอนำเหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในจังหวัดนครนายกมาเป็นตัวอย่าง โดยใช้ภาพที่แนบมาข้างล่างเป็นจุดเริ่มต้น

ข้อความจากภาพดูเผินๆ ไม่มีอะไรน่าสนใจ หรือน่าสังเกตเป็นพิเศษ แผ่นป้ายที่ถ่ายภาพออกมาเป็นการประชาสัมพันธ์การลงนามบันทึกข้อตกลงของสามฝ่ายได้แก่ จังหวัดนครนายก กระทรวงอุตสาหกรรม และผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรม เรื่องโครงการโรงงานอุตสาหกรรมสีเขียวต้นแบบ เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2556 อย่างไรก็ตาม หากศึกษาต่อไปจะพบว่า การลงนามนี้มีผู้ว่าราชการจังหวัดนครนายกเป็นตัวแทนจังหวัด รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นตัวแทนกระทรวงและตัวแทนของผู้ประกอบการ 6 บริษัทตามที่ตราปรากฏ เท่าที่พออนุมานได้ ชาวนครนายกโดยทั่วไปไม่ทราบเรื่องนี้ ถ้าทราบ บางคนอาจตั้งคำถามหลายข้อ เช่น

- การลงนามนั้นมีอะไรรองรับ เนื่องจากกฎกระทรวงว่าด้วยผังเมืองปี 2555 นครนายกทั้งจังหวัดยังถูกจัดให้เป็นพื้นที่สีเขียว ฉะนั้น ผู้ประกอบการจะตั้งโรงงานอุตสาหกรรมในเขตจังหวัดไม่ได้

- โครงการจะเริ่มดำเนินงานเมื่อไร

- โรงงานอุตสาหกรรมสีเขียวหมายถึงอะไร

เวลาผ่านไปกว่า 2 ปี เรื่องนี้จึงเป็นข่าวใหญ่เมื่อชาวนครนายกกลุ่มหนึ่งทราบว่าได้มีการเสนอให้ปรับเปลี่ยนผังเมืองโดยจะยินยอมให้ตั้งโรงงานอุตสาหกรรมในเขตจังหวัดได้ พวกเขาออกมาคัดค้านเพราะต้องการให้นครนายกคงไว้ซึ่งความเป็นพื้นที่สีเขียวต่อไปด้วยปัจจัยหลายอย่าง โดยเฉพาะทางด้านสิ่งแวดล้อมและด้านคุณลักษณะของจังหวัดที่เน้นการอยู่กับธรรมชาติ เกษตรกรรมขนาดเล็ก และกิจการท่องเที่ยว

การคัดค้านนำไปสู่การรวมตัวกันที่ศาลากลางเพื่อขอความกระจ่างจากทางราชการ ตามรายงาน ผู้ว่าราชการจังหวัดอธิบายว่า ผู้ประกอบการเป็นฝ่ายเสนอให้ปรับเปลี่ยนผังเมือง จึงเกิดคำถามต่อไปซึ่งไม่มีคำตอบว่า เพราะอะไรทางราชการจึงไม่บอกให้ชาวนครนายกทราบ และไม่ปรึกษาหารือกับพวกเขาก่อนที่จะเสนอให้เปลี่ยนแปลง การกระทำของทางราชการเป็นการรับใช้นายทุนในภาวะที่ประชาชนทั่วไปไม่มีส่วนรู้เห็นอันเป็นเสมือนรูปแบบหนึ่งของความพยายามที่จะกระทำการ “ลักหลับ”

ในระหว่างการคัดค้าน เหตุการณ์ได้เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ฝ่ายผู้คัดค้านรวมตัวกันได้เป็นกลุ่มใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ เมื่อข่าวแพร่ออกไปอย่างกว้างขวาง ทางราชการตกลงกับกลุ่มผู้คัดค้านที่จะให้มีการประชุมร่วมกันว่าจะทำอย่างไรต่อไป โดยยอมให้กลุ่มผู้คัดค้านส่งตัวแทนเข้าร่วมประชุม 10 คน แต่เมื่อถึงเวลา ผู้จัดประชุมบอกว่าให้กลุ่มผู้คัดค้านเข้าประชุมได้เพียง 5 คนเพราะต้องการสงวน 5 ที่นั่งไว้ให้แก่ตัวแทนของผู้ประกอบการ การกลับคำเช่นนั้นสร้างความสงสัยและความไม่มั่นใจให้แก่ประชาชนทันที ยิ่งกว่านั้น กลุ่มผู้คัดค้านยังเรียนรู้อีกว่า ในเวลาไล่เลี่ยกันได้มีการประชุมที่อำเภอองครักษ์โดยปราศจากตัวแทนของกลุ่ม การกระทำทั้งหลายของทางฝ่ายราชการดังกล่าวนี้จึงมีลักษณะของกระบวนการ “ลับลวงพราง”

ในการแสวงหาคำตอบเกี่ยวกับอุตสาหกรรมสีเขียว ชาวนครนายกส่วนหนึ่งจึงเริ่มเข้าใจว่า ความหมายของ “สีเขียว” ในแผ่นป้ายประชาสัมพันธ์นั้นต่างกับความหมายในแนวคิดเรื่องพื้นที่สีเขียวที่พวกเขาเข้าใจโดยสิ้นเชิง ตัวอย่างได้แก่โรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าจากขยะและจากชีวมวลจำพวกฟางข้าว โดยตัวของมัน โรงงานจำพวกนี้มี “กาก” มากมายเริ่มตั้งแต่ก่อนใช้ไปจนถึงหลังการเผาไหม้แล้ว หากขาดมาตรการและกลไกที่รัดกุมและการบังคับใช้กฎหมายและข้อบังคับต่างๆ อย่างเคร่งครัด กากเหล่านั้นจะก่อให้เกิดสารพัดมลพิษ เป็นที่ทราบกันดีว่า เรื่องการบังคับใช้กฎหมายและข้อบังคับ เมืองไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่หย่อนยานที่สุด ฉะนั้น หากมีการสร้างโรงงานจำพวกนั้นขึ้น ประชาชนมีโอกาสและความเสี่ยงสูงมากที่จะได้รับผลกระทบร้ายแรง ยิ่งกว่านั้น เนื่องจากนครนายกเป็นจังหวัดเล็ก วัตถุดิบย่อมไม่พอต่อการป้อนโรงงาน ส่งผลให้ต้องนำเข้ามาจากจังหวัดอื่น นั่นเท่ากับเป็นการเพิ่มความเสี่ยงขึ้นอีก การใช้คำว่า “สีเขียว” ในที่นี้จึงมีลักษณะของการทำให้หลงเชื่อว่าอุตสาหกรรมที่นำเข้ามาจะเป็นของดีอันเป็นความพยายามที่จะ “ลักไก่”

ในความพยายามที่จะทำการ “ลักไก่” นี้มีการประชาสัมพันธ์เรื่องผลดีต่างๆ ของโรงงานอุตสาหกรรมที่นายทุนจะตั้งขึ้น เช่น การเพิ่มการจ้างแรงงานและการเพิ่มรายได้ แต่ไม่มีการพูดถึงผลกระทบทางลบ เช่น การจ้างงานในกิจการท่องเที่ยวที่จะลดลงเมื่อนครนายกหมดสภาพของความเป็นพื้นที่สีเขียวตามธรรมชาติที่นักท่องเที่ยวต้องการสัมผัส และมลพิษต่างๆ จากโรงงานอุตสาหกรรมซึ่งจะกระทบต่อสภาพของแหล่งน้ำและอากาศ เมื่อคำนวณออกมาตามหลักวิชาการจริงๆ ผลสุทธิจะเป็นอย่างไรยังไม่มีตอบ

ยิ่งกว่านั้น บริษัทประกอบการที่เข้ามาตั้งโรงงานจะยึดมาตรฐานทางจรรยาบรรณอย่างเคร่งครัดหรือไม่ยากที่จะคาดเดา ในบรรดาบริษัทที่ปรากฏบนแผ่นป้ายประชาสัมพันธ์การลงนามนั้น บางบริษัทมีประวัติเรื่องการทำให้ประชาชนหมดความเชื่อถือ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับการตัดไม้ทำลายป่า ทำลายทะเลโดยการส่งเสริมการจับลูกปลาเพื่อนำมาทำปลาป่น หรือการทำเกษตรกรรมพันธสัญญาซึ่งเกิดขึ้นมาแล้วในจังหวัดนครนายก ประชาชนที่อยู่ใกล้เล้าหมูและเล้าไก่ย่อมจำเรื่องกลิ่นและน้ำเสียได้เป็นอย่างดี หากไม่ทราบว่ากลิ่นเล้าหมูเป็นอย่างไร อาจไปเยี่ยมโรงเรียนบ้านชะวากยาวในตำบลบ้านพริก อำเภอบ้านนาซึ่งมีเล้าหมูตั้งอยู่ติดกับโรงเรียน เล้าหมูแห่งนั้นมีผลกระทบต่อเด็กและบุคลากรของโรงเรียน แต่พวกเขาต้องทนเพราะยากที่จะสู้กับอิทธิพลท้องถิ่น ตัวอย่างเหล่านี้ชี้ว่า ผู้ที่จะเข้ามาลงทุนสร้างโรงงานอุตสาหกรรมอาจเป็นจำพวกนายทุนสามานย์เพราะขาดจรรยาบรรณของการทำธุรกิจ

ดังที่อ้างถึงเหตุการณ์เปลี่ยนไปเร็วมากหลังจากการคัดค้านเกิดขึ้น ในขณะที่เขียนบทความนี้มีประกาศจากทางราชการว่าที่ประชุมได้บรรลุข้อตกลงให้ยุติข้อเสนอที่จะเปลี่ยนผังเมืองแล้ว อย่างไรก็ดี ผู้คัดค้านโดยทั่วไปยังไม่ยอมรับการประกาศนั้นจนกว่าทางราชการจะพิมพ์รายละเอียดของมติออกมาเป็นลายลักษณ์อักษร ทั้งนี้เพราะพวกเขาหมดความเชื่อมั่นในฝ่ายราชการอันเนื่องมาจากเรื่องความพยายามที่จะลักหลับ ลับลวงพรางและลักไก่ดังที่ได้อธิบายข้างต้น นอกจากนั้น กลุ่มผู้คัดค้านเข้าใจว่าฝ่ายราชการจะยังคงให้ตั้งโรงงานผลิตไฟฟ้าจากขยะและชีวมวลได้ในเขตอำเภอองครักษ์ และอำเภอบ้านนาผ่านการเลี่ยงบาลีด้วยวิธีสามานย์ กระบวนการคัดค้านจึงจะดำเนินต่อไปจนกว่าพวกเขาจะแน่ใจว่าไม่มีการกระทำที่ชาวนครนายกส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย

แม้ในขณะที่เขียนบทความนี้จะมีความเป็นไปได้ว่าฝ่ายราชการจะยอมทำตามความต้องการของชาวนครนายก แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีความพยายามจากฝ่ายนายทุนที่จะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงตามที่พวกเขาต้องการ โดยเฉพาะจากการวิ่งเต้นกับหน่วยงานที่เหนือกว่าระดับจังหวัดและในบริบทของปีที่จะมีการพิจารณาการปรับเปลี่ยนผังเมืองครั้งใหญ่ใน พ.ศ. 2560 ฉะนั้น ชาวนครนายกจึงต้องเฝ้าระวังอย่างไม่ลดละ หากหวังจะคงความเป็นสีเขียวของจังหวัดไว้

เหตุการณ์ในแนวที่เล่ามานี้มิได้เกิดที่จังหวัดนครนายกเท่านั้น หากเกิดขึ้นทั่วไปไม่ว่าจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับการตัดไม้ทำลายป่า การจับลูกปลาจนใกล้จะหมดทะเล หรือการตั้งโรงงานที่ปล่อยสารพิษลงน้ำและออกไปในอากาศ ในภาวะที่ประชาชนไม่รู้เท่าทัน หรือรวมตัวกันออกมาคัดค้านไม่ได้ ฝ่ายราชการก็พร้อมที่จะรับใช้นายทุนสามานย์ต่อไป

สำหรับชาวนครนายก การเฝ้าระวังอย่างเดียวคงไม่พอ จึงใคร่ขอเสนอให้ช่วยกันพิจารณาต่อยอดการพัฒนาจังหวัดเพิ่มขึ้น หนึ่งในบรรดาสิ่งที่น่าจะนำมาต่อยอดได้แก่การทำพื้นที่เกษตรกรรมนอกเขตชลประทานให้มีลักษะเป็นถาดขนมครกดังที่คอลัมน์นี้เสนอไว้ในบทความประจำวันที่ 19 กรกฎาคม ที่ผ่านมา เนื้อหาส่วนหนึ่งของบทความเป็นดังนี้

................................

เรื่องราวเหล่านั้นมีคำว่า “สระน้ำ” (Ponds) รวมอยู่ด้วย เนื่องจากชาวต่างประเทศที่กล่าวถึงใช้วิธีขุดสระเพื่อเก็บน้ำฝนไว้ใช้ในชีวิตประจำวันและเพื่อการเกษตร วิธีขุดสระเพื่อเก็บน้ำฝนทำได้ง่าย แต่ถ้าจะให้ได้ประสิทธิผลสูงสุดจะต้องขุดจำนวนมากไว้ให้ห่างกันเป็นระยะๆ ในพื้นที่ซึ่งเชื่อมต่อกันเป็นผืนขนาดใหญ่ ทั้งนี้เพื่อให้น้ำซึมลงไปใต้ดินจนทำให้พื้นดินชุ่มชื้นเป็นวงกว้าง สระเหล่านั้นมักเรียกกันว่า “สระพวง” ชาวอินเดียมักไม่นำน้ำจากสระขึ้นมาใช้โดยตรง หากขุดบ่อลงไปในพื้นที่ของตนแล้วจึงดึงน้ำขึ้นมา น้ำที่ได้จะถูกพื้นดินกรองให้ครั้งหนึ่งแล้ว

วิธีขุดสระพวงน่าจะเหมาะกับพื้นที่เกษตรของเมืองไทยที่ไม่มีการชลประทาน โดยเฉพาะในกรณีที่เราต้องการจะเปลี่ยนจากการมุ่งสร้างความร่ำรวยด้วยการปลูกพืชเชิงเดี่ยวมาเป็นเกษตรกรรมแบบผสมผสานตามหลักการของทฤษฎีใหม่ หลักการนี้มีสระน้ำเป็นหัวใจของพื้นที่ซึ่งบางทีเรียกกันว่า “โคก หนอง นา โมเดล”


ทั้งที่การสร้างระบบสระพวงใช้ได้ผลดีในต่างประเทศมานาน แต่เมืองไทยยังไม่ทำเพราะเกษตรกรยังมองไม่เห็นความสำคัญของการร่วมมือกันขุดสระจำนวนมากไว้ หรือไม่ก็กลัวเสียพื้นที่สำหรับใช้ในการเพาะปลูก ด้วยเหตุนี้รัฐบาลจึงควรเป็นผู้นำในการทำโครงการนำร่องให้เกษตรกรเห็นเป็นตัวอย่าง หากไม่แน่ใจว่าจะทำอย่างไร ควรส่งข้าราชการไปดูระบบของชาวอินเดีย การไปดูงานในอินเดียคงไม่ต้องใช้งบประมาณมากมายเช่นเดียวกับการส่งข้าราชการครั้งละหลายสิบคนไปดูงานในญี่ปุ่น ยุโรป และอเมริกา ทั้งนี้เพราะไม่น่าจะมีใครอยากไปดูงานในท้องถิ่นกันดารของอินเดีย

แน่ละ การเกี่ยวน้ำฝนมาเก็บไว้ในสระย่อมจะไม่เพียงพอต่อความต้องการ หากการใช้ไม่ถูกปรับเปลี่ยนไปให้เหมาะสมด้วย ระบบสระพวงจะไม่สามารถเก็บน้ำฝนไว้ได้มากพอหากชาวนาพากันสูบน้ำออกมาทำนาในฤดูแล้งอย่างกว้างขวางดังเช่นในปัจจุบัน แต่แทนที่จะทำนา ถ้าพวกเขาหันมาปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อยกว่าข้าว โอกาสที่พวกเขาจะมีน้ำพอใช้เป็นไปได้สูงมาก ตามแนวทฤษฎีใหม่ พืชส่วนหนึ่งปลูกไว้เพื่อใช้ในครอบครัว เกษตรกรจะผลิตมากกว่านั้นหากมีแรงจูงใจจากกำไรของการขายผลผลิต ด้วยเหตุนี้ ในช่วงเวลากว่าสิบปีที่ผ่านมา ผมจึงเสนอให้คนไทยช่วยชาวนาด้วยการลดกินข้าว

ใช่แล้ว! ผมไม่ได้สติฟั่นเฟือนไปที่เสนอให้คนไทยลดกินข้าวเพื่อช่วยชาวนา เรื่องนี้ผมทำเป็นประจำมานาน นั่นคือ กินอาหารแป้งอื่นแทนข้าว เช่น ข้าวโพด มันเทศ มันสำปะหลัง มันฝรั่ง เผือก กล้วย สาคู และฟักทอง พืชเหล่านี้นอกจากจะมีแป้งที่ทำให้รู้สึกอิ่มเป็นเวลานานเช่นเดียวกับการกินข้าวแล้ว ยังมีสารอาหารอื่นที่ข้าวไม่มีอีกด้วย ฉะนั้น โอกาสที่ร่างกายจะได้วิตามินและเกลือแร่ต่างๆ อย่างครบถ้วนย่อมสูงขึ้น หากคนไทยหลายสิบล้านคนพร้อมใจกันปรับเปลี่ยนอาหารตามแนวที่เสนอมา ผมเชื่อว่าชาวนาจะลดการทำนาลงและปลูกพืชอาหารอื่นเพิ่มขึ้นมาแทน นอกจากจะลดการใช้น้ำแล้ว การปลูกพืชหลากหลายอย่างดังกล่าวจะส่งผลให้ชาวนามีรายได้เพิ่มขึ้นเช่นเดียวกับในประเทศอื่นพร้อมกับสร้างความสมดุลมากขึ้นให้ระบบนิเวศอีกด้วย

หากทั้งภาครัฐและประชาชนเปลี่ยนมุมมองและพฤติกรรมเสียใหม่ พื้นที่เกษตรกรรมของเมืองไทยส่วนใหญ่จะกลายเป็นเสมือนถาดขนมครก คนไทยและเกษตรกรไทยจะไม่ขาดแคลนน้ำพร้อมกับจะมีความมั่นคงยิ่งขึ้น จริงอยู่เกษตรกรไทยส่วนใหญ่จะไม่มีเงินและทรัพย์สินมากมายจนทำให้เป็นเศรษฐี แต่พวกเขาจะมีความสุขมากกว่า ทั้งนี้เพราะ “เงินทองเป็นของมายา ข้าวปลาเป็นของจริง”


………………………

บทความนั้นเสนอให้รัฐบาลเป็นผู้นำในการทำเมืองไทยให้เป็นถาดขนมครก แต่ชาวนครนายกไม่ควรรอรัฐบาลซึ่งเท่าที่ผ่านๆ มาไม่เคยแสดงให้เป็นที่ประจักษ์ว่าสามารถคิดออกนอกกรอบเดิมๆ ได้ งานนี้อาจเริ่มที่หมู่บ้านใดหมู่บ้านหนึ่งซึ่งไม่มีการชลประทานและเกษตรกรพร้อมใจกันที่จะทำ เกษตรกรรวมตัวกันได้และมีความพร้อมเมื่อใด ผมเป็นหนึ่งในกลุ่มบุคคลที่จะเข้ามาสนับสนุนในด้านต่างๆ รวมทั้งการแสวงหาแหล่งทุนสำหรับขุดสระและทางด้านวิชาการ โดยเฉพาะเรื่องการพัฒนาเกษตรอินทรีย์เพื่อยุติการใช้สารเคมีเลวร้ายที่ทำลายทั้งสุขภาพของประชาชนและระบบนิเวศ

เหตุการณ์ในช่วงสั้นๆ ที่ผ่านมาแสดงอย่างแจ้งชัดว่า ชาวนครนายกรู้เท่าทันข้าราชการผู้พร้อมจะรับใช้นายทุนสามานย์และต้องการที่จะคงไว้ซึ่งความเป็นพื้นที่สีเขียวของจังหวัด เรื่องนี้ผู้ที่มองเห็นการณ์ไกลย่อมจะดีใจด้วย เนื่องจากการพัฒนาจะหยุดนิ่งมิได้ ก้าวต่อไปของชาวนครนายกจึงควรเป็นการหาทางต่อยอดความเป็นพื้นที่สีเขียวของจังหวัดให้เข้มข้นจนสามารถเป็นต้นแบบของความเป็นสีเขียวที่แท้จริงได้
กำลังโหลดความคิดเห็น