ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ชักจะหมดความสุขลงไปทุกวันเสียแล้วสิ เมื่อไหร่เศรษฐกิจฟื้น เมื่อไหร่การส่งออกจะดีขึ้น คำตอบยังคงล่องลอยอยู่ในสายลม พอๆ กับการตอบคำถามที่ว่าจะปรับทีมเศรษฐกิจเอามืออาชีพเข้ามาแทนหรือไม่ คำตอบก็ยังคงล่องลอยอยู่ในสายลม
ที่จะมีก็แต่วาจาอันดุดันจากปากท่านผู้นำที่สวนหมัดกลับคืนว่าอย่ามากดดัน ไม่เอานักการเมือง ทหารไม่ได้โง่
ไม่สนความเห็นประชาชนที่สะท้อนผ่านผลสำรวจต่างๆ เริ่มส่งเสียงโห่ไล่แล้ว
แต่ไม่ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะออกมารับหน้าแทน พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่เป็นเพื่อนเลิฟ ว่าขยันทำงานอย่างแข็งขัน บินไปค้าขายยาวไกลถึงครึ่งค่อนโลก รู้กันบ้างเปล่า? ความจริงที่ปรากฏและหนีไม่ออกที่ผลงานในเวลานี้ก็คือ การส่งออก ยังทุบสถิติทำนิวโลว์ และรอบนี้ต่ำสุดในรอบ 3 ปี 6 เดือน เลยทีเดียว
การแถลงตัวเลขส่งออกในรอบเดือนมิถุนายน 2558 ของกระทรวงพาณิชย์ ว่าไว้อย่างนั้น แถมตลาดสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นตลาดส่งออกที่สำคัญ ก็กลับมาติดลบครั้งแรกในรอบ 9 เดือนอีกด้วย นับว่ามีแต่ข่าวร้ายโดยแท้
เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม ที่ผ่านมา นายสมเกียรติ ตรีรัตนพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า แถลงตัวเลขการส่งออกของไทยเดือน มิถุนายน2558 ว่า ยังคงขยายตัวอยู่ในแดนลบ โดยมีมูลค่า 18,161.6 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 7.87% การนำเข้ามีมูลค่า 18,011.5 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 0.21% โดยเกินดุลการค้ามูลค่า 150 ล้านเหรียญสหรัฐ
การส่งออกเดือนมิถุนายน ที่ลดลง 7.87% นั้น เป็นการขยายตัวติดลบเป็นเดือนที่ 6 ติดต่อกันนับจากเดือนมกราคม 2558 และขยายตัวติดลบมากสุดในรอบ 3 ปี 6 เดือน นับจากเดือนธันวาคม 2554 ที่ขยายตัวติดลบ 8.15%
ส่วนการส่งออกในช่วง 6 เดือนของปี 2558 (มกราคม - มิถุนายน ) มีมูลค่า 106,855.6 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 4.84% การนำเข้ามีมูลค่า 103,382.9 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 7.91% โดยเกินดุลการค้ามูลค่า 3,472.7 ล้านเหรียญสหรัฐ
สาเหตุที่ทำให้การส่งออกในเดือน มิถุนายน ลดลง เนื่องจากสินค้าอุตสาหกรรมส่งออกลดลง 7.7% ซึ่งมีผลจากการส่งออกรถยนต์และส่วนประกอบ ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกอันดับ 1 ของไทย ลดลงถึง 19.1% จากการลดลงของการส่งออกรถกระบะที่ติดลบ 48.3% เพราะการเปลี่ยนรุ่น แต่รถยนต์นั่งยังโต 0.4% ขณะที่น้ำมันสำเร็จรูป เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก ลดลง 13.1%, 24.3% และ 11% ซึ่งเป็นผลจากราคาน้ำมันตลาดโลกที่ลดลง รวมถึงทองคำที่กลับมาหดตัวถึง 49.7%
สำหรับสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตร ก็ลดลง 4.1% จากการลดลงของข้าว 21.1% อาหารทะเลแช่แข็ง ลด 10.5% กุ้งสดแช่แข็งและแปรรูป ลดลง 22.1% น้ำตาลทราย ลดลง 12.3% แต่ยางพารา ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกอันดับ 1 ในกลุ่มเกษตรกลับมาเป็นบวกครั้งแรกในรอบ 18 เดือน โดยเพิ่มขึ้น 4.4% เช่นเดียวกับมันสำปะหลัง ไก่สดแช่แข็งและแปรรูป ผลไม้กระป๋องและแปรรูป เพิ่ม 24.6%, 20.1% และ 6.3% ตามลำดับ
ทางด้านตลาดส่งออก พบว่า สหรัฐฯ ลดลง 0.1% กลับมาติดลบครั้งแรกในรอบ 9 เดือน จากการส่งออกรถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป เครื่องใช้ไฟฟ้า ลดลง ตลาดญี่ปุ่น ลดลง 4.2% สหภาพยุโรป (อียู) ลดลง 7.1% จีน ลดลง 0.8% จากการส่งออกลดลงของเคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์ยาง เม็ดพลาสติก แต่ตลาด CLMV (กัมพูชา ลาว พม่า เวียดนาม) ยังคงเติบโตสูงถึง 10.8%
นายสมเกียรติ กล่าวถึงแนวโน้มการส่งออกจากนี้ไปยังคงขึ้นอยู่กับภาวะเศรษฐกิจโลก เพราะขณะนี้เศรษฐกิจคู่ค้าสำคัญของไทยยังชะลอตัว ทั้งสหรัฐฯ อียู ญี่ปุ่น และจีน ส่งผลให้การนำเข้าลดลง ซึ่งรวมถึงคู่ค้าอื่นๆ ที่เศรษฐกิจชะลอตัว จึงมีการนำเข้าลดลง และส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยคู่ค้าที่นำเข้าลดลงจากตัวเลขที่มีในช่วง 5 เดือนที่ผ่านมา เช่น รัสเซีย ลด 39.2% ญี่ปุ่น ลด 21.2% จีน ลด 21% สหรัฐฯ ลด 3.9% เป็นต้น
ส่วนการส่งออกของไทยแม้จะลดลง แต่เมื่อเทียบกับประเทศผู้ส่งออกอื่นๆ พบว่า ส่งออกลดลงน้อยกว่า เช่น รัสเซีย ติดลบ 29.2% ออสเตรเลีย ลบ 21.9% นิวซีแลนด์ ลบ 17.9% หรือคู่แข่งอย่างสิงคโปร์ ลบ 13.3% และมาเลเซีย ลบ 13.1% โดยมีจีนเพียงประเทศเดียวที่ส่งออกเป็นบวก 0.5% นอกจากนี้ ผลจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ยังคงชะลอตัวจะส่งผลต่อการส่งออกสินค้าที่เกี่ยวข้องต่อน้ำมัน เช่น น้ำมันสำเร็จรูป เคมีภัณฑ์ และเม็ดพลาสติก ราคาสินค้าเกษตรตลาดโลกที่ปรับตัวลดลงจะทำให้มูลค่าส่งออกยางพารา และน้ำตาลทรายลดลง
สิ่งที่เป็นความหวังคือ การคาดการณ์ว่าค่าเงินบาทอ่อนค่าลงมาอยู่ที่ระดับ 34.1 บาทต่อเหรียญสหรัฐ จะช่วยส่งเสริมให้การส่งออกในช่วงครึ่งปีหลัง โดยเฉพาะสินค้าเกษตร และสินค้าที่ใช้วัตถุดิบในประเทศขายได้มากขึ้น และแข่งขันได้ดีขึ้น เมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่ง แต่ก็จะกระทบต่อการนำเข้าสินค้ากลุ่มเครื่องจักรและสินค้าทุนที่จะมีต้นทุนสูงขึ้น
ผลจากการส่งออกตกต่ำอย่างต่อเนื่องฉุดตัวเลขเศรษฐกิจในภาพรวมปรับตัวลดลง โดยนายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ได้ปรับประมาณการเศรษฐกิจปี 2558 ซึ่งจะมีการปรับลดการขยายตัวของจีดีพีจากเดิมที่คาดไว้ที่ 3.7% เหลือ 3% ต่อปี
จากเดิมก่อนหน้านี้ สศค. คาดว่าการส่งออกจะขยายตัว 0.2% แต่กลับมาติดลบ 1.7% นอกจากนี้ เศรษฐกิจไทยยังได้รับผลกระทบจากภัยแล้งทำให้ทิศทางการขยายตัวลดลงด้วย
ส่วนการบริโภคเอกชน และการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวได้ประมาณ 2-3% ที่เหลือมีเพียงการลงทุนภาครัฐที่ขยายตัวได้มากกว่า 15% จากการเร่งลงทุนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ มีงบลงทุนพิเศษจากการลงทุนโครงการน้ำ และซ่อมสร้างถนนทั่วประเทศอีก 8 หมื่นล้านบาท การอนุมัติก่อสร้างโครงการถนนมอเตอร์เวย์ 3 เส้นทาง รวมถึงงบประมาณปี 2559 มีการขาดดุลถึง 3.9 แสนล้านบาท เป็นงบลงทุนสูงถึง 5 แสนล้านบาท
“ทั้งหมดจะมีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจครึ่งปีหลังให้ขยายตัวได้มาก” นั่นเป็นความคาดหวังของ ผอ. สศค. ในอนาคต
แต่สำหรับประชาชนในปัจจุบันดูเหมือนจะไม่อยากรอนานถ้าหากรัฐมนตรีคนไหนไม่มีฝีมือก็ปรับออกไปเสียดีกว่า ดังผลโพลของศูนย์สำรวจความคิดเห็น สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือ นิด้าโพล ที่เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนจากทั่วประเทศ จำนวน 1,251 ตัวอย่าง ถึงกระแสข่าวการปรับคณะรัฐมนตรีในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ และความเหมาะสมของการปรับตำแหน่งคณะรัฐมนตรีในต่างๆ เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคมที่ผ่านมา
ผลสำรวจของนิด้าโพล พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 47.72 ระบุว่า ควรปรับคณะรัฐมนตรีในขณะนี้ โดยจำแนกออกได้ 3 กลุ่มคือ ร้อยละ 17.35 ระบุว่า ควรปรับเฉพาะรัฐมนตรีสายเศรษฐกิจ เพราะเศรษฐกิจตกต่ำ ประชาชนได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างมาก ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคมีการปรับตัวสูงขึ้น ค่าครองชีพแพง อีกทั้งราคาผลผลิตทางการเกษตร เช่น ข้าว ยางพารา มีราคาตกต่ำ ซึ่งต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วน
รองลงมา ร้อยละ 16.55 เห็นว่าควรปรับเฉพาะรัฐมนตรีที่ไม่มีผลงานอย่างเป็นรูปธรรม เพราะ ถ้าปรับหมดทั้งคณะจะส่งผลให้การดำเนินงานไม่ต่อเนื่อง ซึ่งบางกระทรวงก็ยังมีผลงานให้เห็นและสามารถทำงานและแก้ไขปัญหาได้เป็นอย่างดี
นอกจากนี้ ร้อยละ 13.83 ระบุว่า ควรปรับรัฐมนตรีทั้งคณะ เพราะการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ยังไม่มีอะไรดีขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงที่ดีกว่านี้
ขณะเดียวกัน ร้อยละ 41.81 ระบุว่า ยังไม่ควรปรับคณะรัฐมนตรีในขณะนี้ เพราะไม่ต้องการเห็นบ้านเมืองวุ่นวายมากไปกว่านี้ ทุกวันนี้รัฐบาลพยายามแก้ไขปัญหาต่าง ๆ อย่างเต็มที่ ควรให้โอกาสและเวลาเพื่อพิสูจน์ในการทำงาน และการแก้ไขปัญหาบ้านเมืองจะได้ไม่หยุดชะงัก ขณะที่ร้อยละ 10.47 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ
ถามว่า รัฐมนตรีคนไหนที่ควรปรับออกมากที่สุด คำตอบคือ ประชาชนร้อยละ 71.52 ระบุว่า พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ควรถูกปรับออกจากตำแหน่งมากที่สุดรองลงมา ร้อยละ 68.68 คือนางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ร้อยละ 61.31 ระบุ นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
นั่นเป็นเสียงของประชาชนที่เล็งเป้าไปยัง สองกระทรวงใหญ่ คือ พาณิชย์และเกษตรฯ ที่ผลงานยังไม่เข้าตา
ทว่า ทันทีที่ผลโพลอยากให้พล.อ.ฉัตรชัย ถูกปรับออก สุ้มเสียงของ พล.อ.ประยุทธ์ ก็สวนว่า “เขาทำอะไรผิด เพราะว่าเขาเป็นทหารต้องเอาออก หรือไม่มีผลงาน หรืออย่างไร .... ทุกคนไปมองว่าเศรษฐกิจมันแย่ แต่ไม่ฟังว่าแย่เพราะอะไร เมื่อถึงเวลานั้นเศรษฐกิจก็ต้องโดนทั้งหมด
“ถามว่าวันนี้ พล.อ.ฉัตรชัย ไปค้าขายอะไรหรือไม่ ขณะนี้ก็บินไปประเทศแอฟริกา นั่งไปกว่า 20 ชั่วโมง ยังไม่ได้กลับ รู้กันบ้างหรือไม่ว่าเขาทำงานกันอย่างไร มีใครอยากบินไปแอฟริกาเป็นเวลานานๆ หรือไม่ ที่ผ่านมาเขาทำงานไปขายของเพิ่มขึ้นตั้งเท่าไหร่ ทั้งผลไม้ ที่ขายให้กับญี่ปุ่น หรืออะไรต่างๆ ต้องดูตรงนั้น ดูที่งาน ไม่ใช่บอกว่าเขาไม่สนใจ มีแต่คนไทยที่ไม่ให้เกียรติคนของตนเอง แล้วมาตีกันเองให้ที่แย่อยู่แล้วแย่กว่าเดิม....”
“ไม่ฆ่าน้อง ไม่ฟ้องนาย ไม่ขายเพื่อน” แถมด้วยรักพวกพ้องก็ดีอยู่หรอกถ้าหากพล.อ.ประยุทธ์ เป็นผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) แต่วันนี้ พล.อ.ประยุทธ์ คือ นายกรัฐมนตรี ผู้บริหารสูงสุดของประเทศ ที่มีประชาชนคนไทย 65 ล้านคน อยู่ภายใต้การดูแล ดังนั้น กระแสเสียง ความต้องการ ความคาดหวังของประชาชน จึงเป็นเรื่องที่พล.อ.ประยุทธ์ จะมองข้ามไม่ได้เป็นอันขาด
ขณะที่เมื่อหันไปดูภาคเอกชนก็หน้ามืดตามัวไม่แพ้กัน แม้น้ำมันจะถูก แต่กิจการค้าทรุด หนักเหลือประมาณ หลังจากซัมซุงโคราชประกาศปิดกิจการไปแล้ว เที่ยวนี้ “ค่ายโตโยต้า” ก็ออกมาทำให้ขนหัวลุกอีกเป็นดอกที่สอง โดย นายเคียวอิจิ ทานาดะ เจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น ประเทศญี่ปุ่น และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ประเทศไทย จำกัด ออกมาเปิดเผยว่า ตลาดรถยนต์ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้อยู่ในสถานการณ์ยากลำบากที่สุดในรอบหลายปีที่ผ่านมาจากผลกระทบทางเศรษฐกิจที่ตกต่ำว่าที่คาดไว้ ภาระหนี้ครัวเรือนที่มากขึ้น สินค้าเกษตรราคาตกต่ำและล่าสุดยังประสบปัญหาภัยแล้งอีก
“นับตั้งแต่ผมมาดำรงตำแหน่งในไทยเมื่อ 6 ปีที่ผ่านมา ถือว่าปีนี้มีความยากลำบากที่สุด”
ด้วยเหตุนี้ จึงกล่าวได้อย่างเต็มปากเต็มคำ เวลานี้...เศรษฐกิจไทยวังเวงเป็นล้นพ้นเสียเหลือเกินพี่น้องมวลมหาประชาชนคนไทยทั้งประเทศ