ผ่าประเด็นร้อน
แม้จะยังไม่ใช่บทสรุปแบบร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่สำหรับรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญที่นำโดย บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ก็ได้เดินทางมาถึงช่วงท้ายๆ เกือบถึงที่สุดแล้ว โดยล่าสุดได้มีการปรับแก้ไขตามข้อเสนอของฝ่ายต่างๆ เรียบร้อยแล้ว โดยเฉพาะจากกลุ่มแม่น้ำสายที่มีเพาเวอร์สูง ทั้งจากฝ่ายคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และฝ่ายรัฐบาล รวมไปถึงข้อท้วงติงจากฝ่ายสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ ความเห็นของประชาชน เป็นต้น
ยังเหลือการประชุมเพื่อสรุปรวบยอดของคณะกรรมาธิการครั้งสุดท้ายอีกครั้งในวันที่ 21 กรกฎาคม ซึ่งในวันนั้นจะมีการประชุมเพื่อมีมติว่าจะขยายเวลาการทำงานอีก 30 วันหรือไม่
สำหรับเนื้อหาสำคัญของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่หากเน้นในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับนักการเมืองและการเข้าสู่อำนาจทางการเมืองก็ต้องบอกว่า “เข้มข้น” ถึงใจสำหรับชาวบ้านที่รังเกียจนักการเมืองขี้ฉ้อ หรือพวก “นักธุรกิจการเมือง” ที่เห็นกันอยู่เกลื่อนกลาดมานาน คนพวกนี้หากรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ผ่านความเห็นชอบออกมาบังคับใช้รับรองว่าต้องร้องจ๊ากแน่
พิจารณาจากข้อความที่โพสต์ลงในเฟซบุ๊กของ คำนูณ สิทธิสมาน หนึ่งโฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างฯ ที่ระบุถึงการเพิ่ม “คุณสมบัติต้องห้าม” หรือบุคคลต้องห้ามทางการเมืองของนักการเมือง โดยการเพิ่มบทบัญญัติลักษณะบุคคลต้องห้ามสมัคร ส.ส. อันจะพ่วงเป็นบุคคลต้องห้ามสำหรับการเป็น ส.ว. รัฐมนตรี และนายกรัฐมนตรีด้วย ขึ้นมาอีก 2 อนุมาตรา โดยมีคำว่า “เคย” นำหน้า อันจะหมายความรวมถึงบุคคลที่มีลักษณะเช่นนั้นอยู่ก่อนรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้ด้วย คือ
“เคยต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายว่ากระทำการทุจริตหรือประพฤติมิชอบ หรือกระทำการอันทำให้การเลือกตั้งไม่สุจริตหรือไม่เที่ยงธรรม...”
“เคยถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งเพราะเหตุที่มีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ ส่อไปในทางทุจริตต่อหน้าที่ ส่อว่ากระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือส่อว่ากระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม...”
ไม่ขัดต่อหลักนิติธรรม เพราะเป็นเพียงการคัดกรองคนที่ไม่เหมาะสมให้เข้ามามีตำแหน่งทางการเมืองเท่านั้น ไม่ได้ไปลงโทษทางอาญาย้อนหลังใคร จึงไม่ถือว่าเป็นการบังคับใช้รัฐธรรมนูญหรือกฎหมายย้อนหลังเป็นโทษทางอาญา
การบัญญัติลักษณะต้องห้ามบางประการให้มีผลย้อนไปในอดีตด้วยเช่นนี้ ไม่ใช่เรื่องที่ไม่เคยทำหรือไม่มีบทบัญญัติเช่นนี้มาก่อน เพราะเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญฉบับไหนก็ไม่ต่างกันตรงที่ต้องการคัดกรองคนที่เหมาะสมให้เข้าสู่ตำแหน่งทางการเมือง
บทบัญญัติเนื้อหาทำนองเดียวกันเช่นนี้ของรัฐธรรมนูญ 2550 และ 2540 ที่ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็ยังคงไว้ เช่น “เคยเป็นบุคคลล้มละลายทุจริต...”, “เคยต้องคำพิพากษาให้จำคุกโดยพ้นโทษมายังไม่ถึงห้าปีในวันเลือกตั้ง...”, “เคยถูกไล่ออก ปลดออก หรือให้ออกจากราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ เพราะทุจริตต่อหน้าที่...”, “เคยต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน...”
3 ใน 4 กรณีที่ยกตัวอย่างมานี้ ถือเป็นบุคคลต้องห้ามตลอดไป และหมายความรวมไปถึงบุคคลที่มีลักษณะเช่นนั้นอยู่ก่อนรัฐธรรมนูญฉบับนั้นๆ มีผลบังคับใช้ด้วยอยู่แล้ว เท่าที่ทราบ ก็ไม่เคยมีการคัดค้านกัน
หากพิจารณากันแบบรวมๆ ก็อาจมองภาพไม่ชัดและไม่น่าสนใจพอ แต่ถัาพิจารณาโฟกัสไปที่ตัวบุคคลบางคนที่สังคมเพ่งมองมาตลอด อย่าง ทักษิณ ชินวัตร และ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี บอกได้คำเดียวว่าหากรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มีผลบังคับใช้เมื่อไหร่บอกได้คำเดียวว่าจ๊ากแน่ เพราะจะถูกปิดทางห้ามเข้า “ชั่วนิรันดร์” เพราะทักษิณ “เคยต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน” พูดง่ายๆก็คือเขาเคยถูก “ศาลสั่งยึดทรัพย์” มาแล้วจำนวน 4.6 หมื่นล้านบาทนั่นไง และยังมีอีกหลายคดีทุจริตที่กำลังรอการพิจารณาคดีในศาลหากได้ตัวกลับมา
แต่สำหรับ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร “อ่วมยิ่งกว่า” เพราะสำหรับเธอเข้าข่ายมีคุณสมบัติต้องห้ามหลายชั้น และแทบทุกข้อห้ามมาถึงเธอทั้งหมด เริ่มจากในปัจจุบันที่เห็นผลก่อนคือคุณสมบัติ “เคยถูกถอดถอน” จากการทุจริตต่อหน้าที่ แค่นี้ก็จบเห่แล้ว นี่ยังไม่นับกรณีที่กำลังถูกฟ้องอาญาในคดีโครงการรับจำนำข้าว และกำลังจะตามมาด้วยการฟ้องเรียกค่าเสียหายทางแพ่งในกรณีเดียวกัน แม้ว่ายังไม่อาจฟันธงได้ว่าจะสรุปอย่างไร แต่สำหรับคนอย่างเธอหาก “เข้าใจ” เรื่องราวบ้างก็ย่อมขนหัวลุกแน่นอน
อย่างไรก็ดี ยังมีคนตีความว่าคุณสมบัติข้อห้ามดังกล่าวข้างต้นไม่ได้คลุมไปถึงบรรดาพวกบ้านเลขที่ 111 และบ้านเลขที่ 109 ที่ถูกตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปี เพราะเห็นว่ามีการเจาะจงไปที่คนกระทำผิดแท้จริง ขณะที่คนพวกนี้ถูกเหมารวมไปด้วย ก็แล้วแต่จะตีความกันไป แต่หากพิจารณาอีกมุมหนึ่งคนพวกนี้ล้วนถูกตัดสิทธิ์ตามคำพิพากษาของศาล ซึ่งไม่ว่าจะโดยตรงหรือโดยอ้อมแต่ก็ถือว่าเคยถูกตัดสิทธิทางการเมืองอันเกี่ยวเนื่องมาจากการทุจริตเลือกตั้ง
ดังนั้น สิ่งที่ต้องพิจารณากันโดยรวมๆ ก็คือ คุณสมบัติต้องห้ามในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ล้วนมีเจตนาขัดขวางไม่ให้ “คนโกง” รวมไปถึง “คนเคยโกง” หมดโอกาสที่จะเข้ามาในสนามการเมืองตลอดไป ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีและน่าสนับสนุนอย่างเต็มที่ แต่ขณะเดียวกันก็ปฏิเสธความจริงไม่ได้เช่นเดียวกันว่าข้อบัญญัติแบบนี้ล้วนเป็นไปตามโรดแมปของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 มาตรา 35 (4) ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ และบังเอิญเหลือเกินว่าด้วยคุณสมบัติประเภท “เคย” ที่ว่านั้นล้วนเป็นพวกสมาชิกพรรคเพื่อไทย พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคชาติพัฒนา ทั้งสิ้น แต่ขณะเดียวกัน กลับไม่มีคนของพรรคประชาธิปัตย์กระทบเลย ซึ่งก็ต้องถือว่าเป็นความบังเอิญอย่างร้ายกาจมาก!