ASTVผู้จัดการรายวัน - ปตท. ร่วมพีทีทีจีอี ยื่นฟ้อง "นิพิฐ อิศรางกูร ณ อยุธยา" รอง ผจก.ปตท.สผ. ฐานเป็นพนักงานในหน่วยงานรัฐปฏิบัติหน้าที่มิชอบ ซื้อที่ดินอินโดนีเซียปลูกปาล์ม พบทับซ้อนป่าสงวน ไม่สามารถออกเอกสารสิทธิเกษตรกรรมได้ แถมเจอค่านายหน้าแพงผิดปกติถึง 40% เผยทั้ง 5 โครงการเสียหายรวม 20,307 ล้านบาท ล่าสุดนิพิฐถูกสั่งตั้งกรรมการสอบ คาดโทษถึงขั้นไล่ออก
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้ (29 ก.ค.) สำนักข่าวอิศรา ได้นำเสนอข่าว "ฟ้องบิ๊ก ปตท.สผ.เรียก 2 หมื่นล้าน กล่าวหาทุจริตคดีปลูกปาล์ม อินโดฯ" โดยระบุว่า บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) และบริษัท พีทีที. กรีน เอ็นเนอร์ยี่ พีทีอี ลิมิเต็ด หรือ PTTGE ได้เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องต่อนายนิพิฐ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สังกัดประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. ซึ่งก่อนหน้านี้ ได้ถูกดึงตัวมาช่วยงานที่ ปตท. และดูแลโครงการพัฒนาธุรกิจน้ำมันปาล์มในอินโดนีเซียของกลุ่ม ปตท.
โดยนายนิพิฐ ถูกกล่าวหาว่า เป็นพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และบริษัท พีทีที กรีน เอ็นเนอร์ยี่ฯ หรือเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต เนื่องจากมีการซื้อที่ดินเป็นที่ดินทับซ้อนพื้นที่ป่าสงวนเป็นส่วนมาก ทำให้ไม่สามารถขอให้หน่วยงานในประเทศอินโดนีเซียออกเอกสารแสดงสิทธิในการทำเกษตรกรรมได้ ส่วนที่ดินที่เหลือไม่ทับซ้อนป่าสงวนก็เหลืออยู่ไม่คุ้มค่ากับการลงทุน และยังมีค่านายหน้าในการจัดซื้อที่ดินที่สูงกว่าผิดปกติถึงร้อยละ 40 เป็นต้น
นอกจากนี้ สำนวนคำฟ้องดังกล่าว ตอนหนึ่งยังระบุว่า การจัดหาที่ดินเพื่อปลูกปาล์มในโครงการและการดำเนินโครงการนี้ มีความเสี่ยงที่จะเกิดการเสียหาย และสูญเสียเงินในการลงทุน
โดยโครงการที่บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ลงทุนในนามบริษัท พีทีที กรีน เอ็นเนอร์ยี่ฯ มี 5 โครงการ คือ 1.โครงการ พีที อัซ ซารา แพลนเตชั่น (PT.Az Zhara) เข้าลงทุนกับ PT.Az Zhara และบริษัท พีที มิตรา อาเนคา เรเซกิ (PT.MAR) ลงทุนปลูกปาล์มในพื้นที่ใหม่บริเวณตอนกลางของเกาะกาลิมันตัน รวม 1.7 แสนเฮกตาร์ แบ่งเป็นสองส่วน ส่วนแรก 1.1 แสนเฮกตาร์ ราคาเฮกตาร์ละ 550 เหรียญสหรัฐ ปตท.เข้าลงทุนในสัดส่วนร้อยละ 55 ส่วนที่สองมีพื้นที่ 6 หมื่นเฮกตาร์ ราคาเฮกตาร์ละ 485 เหรียญสหรัฐ ปตท. ลงทุนในสัดส่วนร้อยละ 95 โดยพบความเสียหาย 1,642,563,599 บาท
2.โครงการ พีที มาร์ (พอนเทียนัค) หรือ PT.MAR (Pontianak) ลงทุนกับ PT.Az Zhara และ PT.MAR ซึ่งอยู่ทางตะวันตกของเกาะกาลิมันตัน ในบริเวณที่เรียกว่า พอนเทียนัค ประกอบธุรกิจน้ำมันปาล์มในพื้นที่ทั้งหมด 14,000 เฮกตาร์ คิดราคาซื้อหุ้นในพื้นที่ร้อยละ 100 เป็นเงิน 15,500,000 เหรียญสหรัฐ
3.โครงการ พีที มาร์ (บันยัวซิน) หรือ PT.MAR (Banyuasin) ลงทุนในธุรกิจปลูกปาล์มและผลิตน้ำมันปาล์มดิบ โดยการซื้อหุ้นบริษัท PT.Surya hutama suwit (“PT.SHS”) ซึ่งประกอบธุรกิจปลูกปาล์มน้ำมันบริเวณที่เรียกว่า บันยัวซิน จำนวนเงินไม่เกิน 21.5 ล้านเหรียญสหรัฐ มีพื้นที่ปลูกที่เมืองปาเลมบัง ทางตอนใต้ของเกาะสุมาตรา ประมาณ 22,000 เฮกตาร์ พบความเสียหาย รวม 5,248,699,946 บาท
4.โครงการ พีที เฟิร์ส บอร์เนียว แพลนเตชั่น หรือ PT.First Borneo Plantations (PT.FBP) ลงทุนกับ PT.FBP ซึ่งมีพื้นที่เพาะปลูกอยู่ในเขตกะลิมันตันตะวันตก รวม 108,000 เฮกตาร์ ซึ่งพื้นที่ทั้งหมดได้รับอนุญาตประกอบกิจการปาล์มน้ำมัน พบความเสียหาย 5,290,456,378 บาท
5.โครงการ คัลปาตาลู อินเวสต์ตามา หรือ Kalpataru Investama (KPI) ลงทุนกับ PT.KPI เพื่อศึกษาการเข้าลงทุนในโครงการแห่งใหม่ มีพื้นที่ประมาณ 80,000 เฮกตาร์ ตั้งอยู่บริเวณเกาะกาลิมันตะวันออก พบความเสียหาย 7,297,508919.64 บาท
ทั้งนี้ รวมค่าความเสียหายทั้ง 5 โครงการ รวมทั้งค่าบริหารจัดการรวมทั้งสิ้น 624,850,887 เหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นเงินไทย 20,307,653,844 บาท
สำหรับบริษัท พีทีที กรีน เอ็นเนอร์ยี่ หรือ PTTGE ตั้งขึ้นเพื่อลงทุนพัฒนาสวนปาล์มและโรงงานสกัดปาล์มดิบที่ประเทศอินโดนีเซีย จดทะเบียนจัดตั้งบริษัทที่ประเทศสิงคโปร์ เมื่อ ก.ย.2550 ปัจจุบันมีทุนจดทะเบียน 10,860 ล้านบาท รับนโยบายจากปตท. ปลูกปาล์มในอินโดนีเซีย 3.1 ล้านไร่ หรือ 5 แสนเฮกตาร์ เพื่อส่งออกน้ำมันปาล์มไปขายในตลาดโลก ขณะที่การลงทุนธุรกิจดังกล่าว เป็นอีกหนึ่งโครงการที่ฝ่ายบริหาร ปตท. หยิบยกขึ้นมาตรวจสอบข้อเท็จจริง เนื่องจากการดำเนินการพบความผิดปกติ โดยเฉพาะการเข้าไปซื้อที่ดินจำนวนมากเพื่อปลูกปาล์ม และการสร้างโรงงานสกัดน้ำมัน จนกระทั่งมีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบบุคคลที่เกี่ยวข้องในโครงการนี้ และได้ส่งเรื่องดังกล่าวไปยังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) ตรวจสอบข้อเท็จจริง
โดยล่าสุด พล.ต.อ.สถาพร หลาวทอง กรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการไต่สวนคดีทุจริตเกี่ยวกับการซื้อขายที่ดินเพื่อปลูกปาล์มน้ำมันที่อินโดนีเซียของ บริษัท ปตท. กรีน เอ็นเนอร์ยี่ ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 17 เม.ย. ระบุว่า คณะอนุกรรมการฯ ได้รวบรวมพยานหลักฐานจากผู้ที่เกี่ยวข้อง และเอกสารจำนวนมาก จึงมีความคืบหน้าพอสมควร แต่ ปตท.ส่งข้อมูลให้ ป.ป.ช.สอบเฉพาะ 5 โครงการที่มีการดำเนินการไปแล้ว
อย่างไรก็ดี ป.ป.ช. ยังเสาะหาพยานหลักฐานก่อนที่จะเริ่มโครงการด้วยว่าเป็นมาอย่างไร เบื้องต้นพบความผิดปกติหลายอย่าง เช่น การดำเนินการตามโครงการไม่เป็นไปตามที่บอร์ด ปตท. อนุมัติ และก่อนริเริ่มโครงการนี้ มีข้อผิดปกติหลายส่วนทั้งเรื่องที่ดิน ข้อตกลง หุ้นส่วน แต่ตอนนี้ยังไม่ได้ประเมินว่าสร้างความเสียหายให้รัฐเท่าไร เพราะต้องดูผลประกอบการเทียบกับการลงทุน อีกทั้งยังมีการขายโครงการเพื่อลดภาวะขาดทุนไปหลายโครงการด้วย จึงต้องดูผลลัพธ์จากการขายกับเงินลงทุนที่เสียไปแตกต่างกันอย่างไร
ส่วนการไต่สวนอาจต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง เพราะมีเอกสารจำนวนมาก แต่ในขณะนี้พบว่ามี 2 โครงการที่สามารถชี้มูลความผิดได้ ซึ่งจะสรุปออกมาก่อน ส่วนโครงการที่เหลืออยู่ระหว่างการตรวจสอบ ซึ่งผู้ที่ต้องรับผิดชอบก็เป็นไปตามที่ ปตท. กล่าวหามา อีกทั้งยังต้องดูเรื่องบอร์ดและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องด้วย ซึ่งไม่คิดว่าบอร์ดกำลังตัดตอนความรับผิดชอบด้วยการยื่นให้สอบการดำเนินธุรกิจปาล์มของบริษัท ปตท. กรีน เอ็นเนอร์ยี่ เพราะ ป.ป.ช. ดูทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นเรื่องบอร์ด ปตท.กรีน เอ็นเนอร์ยี่ ที่เป็นผู้รับผิดโครงการที่ 5 หรือบอร์ดใหญ่ของ ปตท. ว่ามีการดำเนินการอย่างไร
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 11 มี.ค.2554 นายนิพิฐ อิศรางกูร ณ อยุธยา รักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. กรีน เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด (PTTGE) เคยกล่าวตอบโต้กรณีฝ่ายค้านตั้งกระทู้สดในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร โดยมีการพาดพิงถึงการลงทุนของ ปตท. ในธุรกิจปาล์มน้ำมันในประเทศอินโดนีเซียว่าไม่โปร่งใส โดยระบุว่า ทำทุกขั้นตอนตามแผนกระทรวงพลังงาน
ทางด้านแหล่งข่าวจากบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บอร์ด ปตท.ได้มีมติให้ดำเนินการฟ้อง เนื่องจากนายนิพิฐ มีความผิดวินัยและส่งผลเสียหายต่อองค์กร ปตท. หากไม่ดำเนินการฟ้องร้อง ก็จะถูกกล่าวหาว่าละเลยต่อหน้าที่ได้ ส่วนความเสียหายที่เกิดขึ้นจากคดีดังกล่าว จะมีมูลค่าชัดเจนหลังจาก ปตท. ดำเนินการขายการลงทุนที่ดินปลูกปาล์มน้ำมันในอินโดนีเซียที่มีอยู่ทั้ง 5 แห่ง โดยได้ดำเนินการทยอยขายไปก่อนหน้านี้แล้ว คงเหลืออยู่เพียง 1-2 แห่งเท่านั้น
สำหรับนายนิพิฐ เป็นพนักงาน ปตท.สผ. ที่ถูกดึงตัวมาช่วยงานในพีทีที กรีนเอนเนอยี่ ทาง ปตท. จึงได้ส่งคืนสู่ต้นสังกัด และได้ทำเรื่องให้ ปตท.สผ. ดำเนินการสอบวินัยและลงโทษในขั้นสูงสุด คือ ไล่ออก ซึ่งขณะนี้ ปตท.สผ. อยู่ระหว่างดำเนินการใกล้ได้ข้อยุติแล้ว
ด้านปตท.สผ. แจ้งว่า บริษัทได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงนายนิพิฐแล้ว หลังจากนั้นได้ตั้งคณะกรรมการสอบวินัย ขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการ ยังไม่ได้ข้อสรุป