xs
xsm
sm
md
lg

ตีกรอบนิรโทษฯ"ทักษิณ" คดี"คอร์รัปชัน-ม.112-ละเมิดสิทธิฯ"หมดสิทธิ์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ (22ก.ค.) นายบัณฑูรย์ เศรษฐศิโรตม์ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ในฐานะกรรมการศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดอง สปช. เปิดเผยว่า หลังจากที่ประชุมสปช. ได้ให้ความเห็นชอบรายงานการศึกษา และข้อเสนอแนะการสร้างความปรองดองไปแล้ว เมื่อวันที่ 21 ก.ค. ที่ผ่านมา คณะกรรมการฯ ยังมีเวลาทำงานเพื่อพิจารณาและดำเนินการปรับปรุงเนื้อหาของรายงานตามที่ สปช. อภิปรายนำเสนอ อีกประมาณ 7 วัน ตามข้อบังคับการประชุม สปช. ที่กำหนดไว้ และเมื่อครบกำหนดเวลา จะส่งให้นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธาน สปช. เพื่อส่งไปให้รัฐบาลพิจารณาต่อไป
สำหรับเนื้อหาการอภิปรายของสปช. ในประเด็นต่างๆนั้น เบื้องต้นเป็นข้อเสนอที่ระบุไว้ในรายงานอยู่แล้ว ส่วนกรณีที่มีข้อเสนอ ให้นิรโทษกรรมกับตัวบุคคล อาทิ ผู้ที่หลบหนีไปต่างประเทศนั้น คงไม่นำมาพิจารณาแก้ไขปรับปรุง เพราะแนวทางหลักของการสร้างความปรองดอง หากจะเป็นการนิรโทษกรรมบุคคล ต้องเป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับคดีมูลเหตุจูงใจทางการเมืองเท่านั้น หากผู้ที่หลบหนีไปต่างประเทศ ซึ่งไม่อยู่ในฐานความผิดคดีทุจริตคอร์รัปชัน , คดีหมิ่นสถาบันฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง ก็สามารถพิจารณาเรื่องการนิรโทษกรรมได้ โดยสาระสำคัญของรายงาน ไม่ได้เน้นที่ตัวบุคคล แต่เป็นเรื่องทางคดี
ทั้งนี้ หากพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ที่หลบหนีคดีอยู่ต่างประเทศ ไม่ได้มีคดีที่เข้าข่ายฐานความผิดตามที่ได้ระบุไปแล้ว ก็สามารถที่จะพิจารณานิรโทษกรรมได้ โดยขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของรัฐบาลที่จะพิจารณา
นายบัณฑูรย์ กล่าวด้วยว่า การทำงานของคณะกรรมการฯ ยังมีเวลาอีกประมาณ 1 เดือน เบื้องต้นได้หารือร่วมกันว่า จะทำกิจกรรม ที่เกี่ยวกับการเชิญญาติที่สูญเสีย หรือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมืองมาร่วมแลกเปลี่ยนความเห็น เพื่อที่หามาตรการว่าด้วยการเยียวยา และแนวทางของการสำนึกผิด และให้อภัย ทั้งนี้ ยังอยู่ระหว่างหารือว่าจะกำหนดหลักเกณฑ์ เช่น ผู้ที่ถูกผลกระทบทางการเมืองช่วงการชุมนุมในปีใด

** กมธ.สรุปหมวดปฏิรูป 5 มาตรา

นพ.ชูชัย ศุภวงศ์ รองประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ผู้รับผิดชอบหมวดปฏิรูป ในภาคที่ 4 เปิดเผยว่า ในวันนี้ ( 23 ก.ค.) ช่วงบ่าย จะมีการนำข้อสรุปหมวดปฏิรูป ที่จะสร้างความเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำ จากที่ได้หารือกับคณะผู้แทนของคณะกรรมาธิการปฏิรูปของสปช. ทั้ง 18 คณะมา 3 ครั้งแล้ว จะบรรจุหัวข้อ ทิศทาง และเป้าหมายของการปฏิรูป 4 ด้านใหญ่ ๆ คือ ด้านการบริหารราชการแผ่นดิน ด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคม และด้านสิ่งแวดล้อม โดยมีหัวข้อย่อย 17 หัวข้อ มาเสนอต่อที่ประชุมกมธ.ยกร่างฯ เพื่อพิจารณาบรรจุเป็น 5 มาตรา ในร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งน่าจะได้ข้อสรุปเป็นที่ชัดเจน ซึ่งในส่วนของโครงสร้างที่มา และอำนาจหน้าที่ ของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนการปฏิรูป และการปรองดองนั้น เป็นกลไกสำคัญที่ ต้องนำมาพิจารณาใน กมธ.ยกร่างฯด้วย แต่เนื่องจากที่ประชุม กมธ.คุยกันไว้ว่า เป็นเรื่องที่จะให้อยู่ชั่วคราวในระยะสั้น อาจจะเป็นเวลา 5 ปี ถ้าประชาชนยังเห็นว่ามีความจำเป็นต้องอยู่ต่อ ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง จึงต้องไปพิจารณารายละเอียดอีกที เมื่อไปถึงการพิจารณาส่วนของบทเฉพาะกาล ในตอนท้าย
ส่วนเรื่องโครงสร้าง จำนวน องค์ประกอบ ที่มาของคณะกรรมการชุดนี้ ยังไม่ได้ข้อสรุป เพราะต้องคำนึกถึงสถานการณ์ที่เป็นจริงด้วย ว่า สามารถทำงานได้หรือไม่ ท่างกลางสถานการณ์ที่เป็นอยู่ จึงเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยากในการออกแบบ ถ้าในสถานการณ์ที่ปกติอาจจะเขียนอย่างหนึ่ง แต่ในสถานการณ์ที่ไม่ปกติ ก็อาจจะต้องออกแบบโครงสร้างอีกอย่าง ส่วนคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูป และการปรองดอง จะเป็นคนละส่วนกับสภาขับเคลื่อนการปฏิรูป 200 คน ที่รัฐบาลจะตั้งมาภายหลัง สปช. สิ้นสุดลงไป ขณะเดียวกันจะต้องทำร่าง พ.ร.บ. ว่าด้วยการปฏิรูป คู่ขนานไปด้วย ซึ่งจะมีรายละเอียดมากกว่าที่บัญญัติในรัฐธรรมนูญ รวมทั้งมีการบรรจุแนวทางการปฏิรูป 36 วาระ 7 การพัฒนาที่สภาปฏิรูปแห่งชาติศึกษารวบรวมมาด้วย แต่มีความเชื่อมโยงสอดคล้องกัน โดยในบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญเป็นฐาน ซึ่งคาดว่าปลายเดือนนี้น่าจะยกร่างแล้วเสร็จ
กำลังโหลดความคิดเห็น