xs
xsm
sm
md
lg

วิป สปช.นัดเคลียร์วาระปฏิรูปก่อนลงมติรัฐธรรมนูญ - ดันร่างปรองดองเสนอ ครม.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


คณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภาปฏิรูปแห่งชาติ นัดประชุมเพิ่ม 25 - 26 ก.ค. กำหนดปฏิทินประชุม สปช. ก่อนมีโปรดเกล้าฯ ขยายเวลาทำงานอีก 30 วัน พร้อมบรรจุวาระพิจารณารายงานข้อเสนอแนะการสร้างความปรองดอง ก่อนส่งต่อไปยังคณะรัฐมนตรี ด้านสมาคมเกษตรกรก้าวหน้า ยื่นผ่าน สปช. เร่งรัฐบาลเบิกจ่ายงบประมาณจัดสรรที่ดินทำกินให้กับชุมชน



วันนี้ (15 ก.ค.) ที่รัฐสภา นายอลงกรณ์ พลบุตร เลขานุการคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภาปฏิรูปแห่งชาติ หรือ วิป สปช. แถลงผลการประชุม ว่า ที่ประชุมได้วางแนวทางการทำงานของสภาปฏิรูปแห่งชาติไปจนถึงวันที่ 6 สิงหาคม ระหว่างที่ยังไม่มีการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมรัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ. 2557 ฉบับแก้ไขลงมาก่อนวันที่ 23 กรกฎาคม โดยเตรียมพิจารณาวาระปฏิรูป 43 วาระ 5 วาระพัฒนา และจะมีการพิจารณารายงานพิเศษ 2 เรื่อง รวมถึงร่างพระราชบัญญัติที่จำเป็นต่อการปฏิรูปประเทศกว่า 22 ฉบับ พร้อมกับกำหนดวันประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติในทุกวันจันทร์ถึงวันพุธ และนัดประชุมเพิ่มเติมในวันที่ 25 - 26 กรกฎาคม ขณะที่วันที่ 5 สิงหาคม จะเป็นการแสดงรายงานพิมพ์เขียวปฏิรูปประเทศต่อสาธารณะ ก่อนจะมีการส่งมอบผ่านตัวแทนคณะรัฐมนตรี พร้อมทั้งจะมีการเชิญตัวแทนทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องมาร่วมรับทราบรายงานข้อเสนอการปฏิรูปประเทศด้วยกว่า 1,000 คน ส่วนในวันที่ 6 สิงหาคม จึงจะเป็นการลงมติเห็นชอบ หรือไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ

ด้าน พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาศ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ และกรรมการศึกษาแนวทางสร้างความปรองดอง ยังกล่าวถึงข้อสรุปของวิป สปช. ที่เห็นควรให้บรรจุระเบียบวาระการประชุม เรื่องรายงานและข้อเสนอแนะเบื้องต้นของคณะกรรมการศึกษาแนวทางสร้างความปรองดอง ที่มี นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ เป็นประธาน ในวันที่ 21 กรกฎาคม เพื่อให้ที่ประชุมพิจารณาก่อนเสนอต่อไปยังรัฐบาลดำเนินการต่อไป โดยการศึกษารายงานข้อเสนอแนะ ได้มีการรวบรวมข้อมูลจากทั้งศาล กรมสอบสวนคดีพิเศษ อัยการสูงสุด และคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ รวมถึงการพูดคุยกับผู้ต้องหาในเรือนจำ ส่วนแนวทางการนิรโทษกรรม ได้มีข้อเสนอให้นิรโทษกรรมผู้ที่มีโทษต่ำสุด อาทิ กรณีฝ่าฝืนพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินโดยไม่เกี่ยวข้องกับการกระทำผิดทางอาญามาตรา 112 และต้องไม่เป็นแกนนำผู้ชุมนุม พร้อมกับเสนอการพิจารณาคดีให้แบ่งตามประเภทกลุ่มคดี มากกว่าพิจารณาเป็นรายบุคคล ส่วนจะพิจารณาอภัยโทษ หรือนิรโทษกรรม เป็นการตัดสินใจของรัฐบาลโดยคาดว่าคงมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณาตรวจสอบในเรื่องนี้

อีกด้านหนึ่ง คณะกรรมการสมาคมเกษตรกรก้าวหน้า นำโดย จ่าสิบตรี พันศักดิ์ คงแสง นายกสมาคมเกษตรกรก้าวหน้า เดินทางมายื่นหนังสือต่อประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ ผ่าน นายอลงกรณ์ พลบุตร เลขานุการคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภาปฏิรูปแห่งชาติ ซึ่งเรียกร้องผ่านไปยังรัฐบาลให้มีการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณจัดสรรที่ดินทำกินให้กับชุมชน และงบประมารใช้จ่ายการพัฒนาการเมืองภาคประชาชนให้เกิดความปรองดองแห่งชาติ ตามที่คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ หรือ คทช. เห็นชอบพื้นที่ดำเนินการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชน ทั้งระยะที่ 1 พ.ศ. 2558 จำนวน 6 พื้นที่ ใน 4 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดเชียงใหม่ นครพนม มุกดาหาร ชุมพร รวม 55,761ไร่ และระยะที่ 2 ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ 8 พื้นที่ 8 จังหวัด คือ กาญจนบุรี ราชบุรี ลำปาง อุตรดิตถ์ เชียงราย พะเยา ยโสธร อุบลราชธานี รวม 51,929 ไร่ และพื้นที่ ส.ป.ก. อีก 3 จังหวัดในชุมพร อุทัยธานี และกาฬสินธุ์ ซึ่งทำให้ขณะนี้เกษตรกรยังไม่สามารถเข้าไปทำเกษตรบนพื้นที่ดังกล่าวได้







กำลังโหลดความคิดเห็น