xs
xsm
sm
md
lg

กก.ปรองดองสรุปแนวทางส่ง สปช. เผยนิรโทษทำได้เลยไม่ต้องรอรธน.ใหม่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTV ผู้จัดการรายวัน-“เอนก” เผยกรรมการปรองดองฯ ทำรายงานเสร็จแล้ว เตรียมส่ง สปช. ลงมติ ก่อนส่งรัฐบาล คสช. และผู้ทีเกี่ยวข้อง “บัณฑูร” ระบุมี 6 ภารกิจ เผยนิรโทษกรรมทำได้ทันที ไม่ต้องรอรัฐธรรมนูญใหม่ แย้มนิรโทษความผิดช่วงปี 48-57 ระบุมวลชนและเจ้าหน้าที่นิรโทษได้เลย แต่ระดับแกนนำ ผู้สั่งการ ต้องทำทีหลัง ยัน “แม้ว” อยู่ระดับแกนนำต้องสำนึกผิดก่อน

นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ กรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ ในฐานะประธานคณะกรรมการศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดอง สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เปิดเผยว่า คณะกรรมการฯ ได้มีมติเห็นชอบรายงานข้อเสนอแนะที่มีทั้งหมด 6 บท 37 หน้า เพื่อเสนอต่อนายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธาน สปช. ในวันที่ 6 ก.ค.นี้ เพื่อให้มีการบรรจุวาระการประชุม สปช. เพื่อให้สมาชิกพิจารณารายงานดังกล่าวในวันที่ 11 ส.ค.2558 ก่อนออกเป็นมติ สปช. เพื่อให้มีการดำเนินการส่งรายงานไปยังผู้เกี่ยวข้อง อาทิ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) รัฐบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมต่อไป

ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ เห็นว่า ในวันนี้สังคมไทยต้องการความปรองดอง ไม่ใช่เพียงแค่การปฏิรูป หรือการกลับคืนสู่ประชาธิปไตย จึงได้เร่งทำงานเพื่อทำรายงานเสนอต่อผู้มีอำนาจพิจารณา

นายบัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ กมธ.ยกร่างฯ กล่าวเสริมว่า ทางคณะกรรมการฯ ได้วางภารกิจ 6 ข้อ ที่จะส่งต่อให้กับทางรัฐบาลดำเนินการทันที โดยที่ไม่ต้องรอรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ได้แก่ การสร้างความเข้าใจร่วมของสังคมต่อเหตุความขัดแย้ง, การแสวงหาและเปิดเผยข้อเท็จจริงต่อเหตุความรุนแรง, การอำนวยความยุติธรรม การสำนึกรับผิดชอบ และการให้อภัย, การเยียวยาและฟื้นฟูผู้ได้รับผลกระทบ, การสร้างสภาวะที่เอื้อต่อการอยู่ร่วมกัน และวางมาตรการเพื่อป้องกันการใช้ความรุนแรงเพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้ง

นายภูมิ มูลศิลป์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ในฐานะคณะทำงานของคณะกรรมการฯ กล่าวว่า การนิรโทษกรรมถือเป็น 1 ใน 6 แนวทางการสร้างความปรองดองที่มีการเสนอมา โดยการนิรโทษกรรมจะอยู่ในช่วงระยะเวลาปี 2548-2557 จะแบ่งเป็น 2 ระดับ คือ ระดับผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติ ซึ่งต้องมีการแบ่งแยกผู้กระทำผิดเป็น 3 ประเภท คือ 1.ผู้กระทำผิดจากมูลเหตุจูงใจทางการเมือง อาจทำโดยให้อัยการพิจารณาไม่สั่งฟ้อง 2.ผู้กระทำผิดในคดีอาญาโดยเนื้อแท้ เช่น ฆ่าคนตาย การมีอาวุธในครอบครอง 3.ผู้กระทำผิดจากมูลเหตุจูงใจทางการเมือง และคดีอาญาโดยเนื้อแท้ ซึ่งในกลุ่มที่ 2 และ 3 จะต้องไปต่อสู้คดีอาญาตามกระบวนการยุติธรรมตามปกติ จนกระทั่งเมื่อรับโทษไประยะหนึ่ง ก็สามารถขอรับการอภัยโทษ

ส่วนการนิรโทษกรรมระดับแกนนำ และเจ้าหน้าที่รัฐระดับสั่งการ ควรกระทำหลังจากที่นิรโทษกรรมในระดับประชาชน และเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติ ไปแล้ว 1 ปี และจะทำได้ก็ต่อเมื่อแกนนำต้องแสดงความสำนึกผิด และมีข้อเท็จจริงปรากฏต่อสังคมแล้ว รวมถึงเหยื่อต้องให้อภัย จึงจะพิจารณาว่าจะมีการนิรโทษกรรมให้หรือไม่ แต่หลักเกณฑ์การนิรโทษกรรมจะไม่ครอบคลุมถึงคดีทุจริต คดีอาญาโดยเนื้อแท้ คดีมาตรา 112 และคดีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง

นายภูมิกล่าวต่อว่า หลังจากที่มีการนิรโทษกรรมแล้ว จะไปสู่ขั้นตอนการเยียวยาที่เท่าเทียมกัน ไม่ให้เกิดความรู้สึกเหลื่อมล้ำ มาตรการเยียวยาจะมีทั้งที่เป็นตัวเงิน และไม่ใช่ตัวเงิน เช่น การสร้างอาชีพ การให้การศึกษา ตลอดจนจะต้องมีการเปิดเผยข้อมูลข้อเท็จจริง และรายชื่อบุคคลที่อยู่เบื้องหลังเหตุความขัดแย้งทั้งหมดให้สังคมทราบ ภายหลังจากที่มีการนิรโทษกรรมไปแล้ว 20 ปี ซึ่งเป็นไปตาม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสาร

ทั้งนี้ การนิรโทษกรรมให้ผู้ชุมนุม ตลอดจนแกนนำผู้สั่งการ จะทำได้โดยใช้ช่องทางกฎหมายที่มีอยู่แล้ว เช่น การที่อัยการสั่งไม่ฟ้อง การอภัยโทษ รวมถึงการออกกฎหมายพิเศษ เช่น สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ออกเป็นกฎหมาย คณะรัฐมนตรี (ครม.) ออกเป็นพระราชกฤษฎีกา หรือ คสช. ใช้อำนาจพิเศษตามมาตรา 44

ผู้สื่อข่าวถามว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จะได้รับสิทธิการนิรโทษกรรมหรือไม่ นายภูมิ กล่าวว่า พ.ต.ท.ทักษิณ อยู่ในระดับแกนนำและผู้สั่งการ ถ้าจะนิรโทษกรรมได้ต้องเข้าสู่กระบวนการสำนึกผิดก่อน ส่วนคดีอาญาก็ต้องว่ากันไปตามกระบวนการยุติธรรม เพราะ พ.ต.ท.ทักษิณ มีคดีติดตัวหลายเรื่อง
กำลังโหลดความคิดเห็น