ที่ประชุม สปช.มีมติ 130 เสียง เห็นชอบรายงาน กมธ.ปฏิรูปสังคม และหลักการร่าง พ.ร.บ.โฉนดชุมชน 121 เสียง เตรียมร่างให้เสร็จใน 7 วันก่อนชง ครม. “หมออำพล” ชี้ปัญหาความยัดแย้งระหว่างประชาชนกับรัฐและเอกชน รัฐต้องยอมรับสิทธิชุมชน “รสนา” ยกหัวใจของการปฏิรูปเพื่อลดความยากจนอย่างแท้จริง เตือนถ้า สปช.ปฏิเสธเสียโอกาสแน่
วันนี้ (8 มิ.ย.) ที่รัฐสภา มีการประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) โดยมีนางทัศนา บุญทอง รองประธาน สปช.คนที่ 2 ทำหน้าที่ประธานในการประชุม เพื่อพิจารณารายงานของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ปฏิรูปสังคม ชุมชน เด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการและผู้ด้อยโอกาส รวมกับคณะกรรมาธิการปฏิรูประบบการจัดการทรัพยากรโดยชุมชน เกี่ยวกับข้อเสนอเรื่องสิทธิชุมชนในการจัดการที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติในรูปแบบโฉนดชุมชน และร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ในการจัดการที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติในรูปแบบโฉนดชุมชน พ.ศ. ...
โดย นพ.อำพล จินดาวัฒนะ ประธาน กมธ.ปฏิรูปฯ รายงานว่า ปัญหาการกำหนดเขตอนุรักษ์ที่ดินของรัฐ มีความซ้ำซ้อนกับที่ทำกินของราษฎร ซึ่งเป็นข้อขัดแย้งที่ยืดเยื้อมานาน ที่มีความไม่ชัดเจนเกี่ยวกับแนวเขตที่ดินที่สงวนห้ามและการไม่ได้กั้นเขตที่ดินทำกินที่อยู่อาศัยของชุมชนออกจากเขตป่า ส่งผลให้ที่ดินของชุมชนและประชาชนจำนวนมากที่อาศัยอยู่มาก่อนในเขตป่า เขา ตกเป็นของรัฐ รวมถึงการโยกย้ายประชาชนออกจากพื้นที่อนุรักษ์ ทำให้ความขัดแย้งระหว่างรัฐกับประชาชนขยายวงกว้างมากขึ้น จึงทำให้เกิดการเคลื่อนไหวทั้งภาคประชาชน ภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องมาตลอดจนนโยบายของรัฐบาลชุดต่างๆ ที่ต้องการแก้ปัญหาการใช้ประโยชน์ที่ดินในรูปแบบโฉนดชุมชนมาโดยตลอด
นพ.อำพลกล่าวต่อว่า จากปัญหาความขัดแย้งระหว่างประชาชนกับรัฐ และประชาชนกับเอกชน เรื่องที่ดินมาอย่างต่อเนื่องและมีแนวโน้มรุนแรงมากยิ่งขึ้น จึงเห็นว่ารัฐควรยอมรับสิทธิของชุมชนในการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติ รวมทั้งการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรและความหลากหลายทางชีวะภาพ อย่างสมดุลและยั่งยืน และปรับปรุงกลไกรูปแบบการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากร จากเดิมรวมศูนย์อำนาจในการบริหารจัดการไว้กับหน่วยงานรัฐเป็นหลักไปสู่การบริหารจัดการองค์กรในรูปแบบการจัดการทรัพยากรร่วม โดยมอบสิทธิให้ชุมชนในรูปแบบสิทธิรวม รวมทั้งยกระดับระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดให้มีโฉนดชุมชน พ.ศ. 2555 เป็น พ.ร.บ.สิทธิชุมชนในการจัดการที่ดินและทรัพยากรธรรมในรูปแบบโฉนดชุมชน พ.ศ. ... เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการ ใช้ประโยชน์ในที่ดินของชุมชนในเขตที่ดินของรัฐ
จากนั้นสมาชิก สปช.อภิปรายอย่างกว้างขวาง อาทิ นายหาญณรงค์ เยาวเลิศรัตน์ กมธ.ปฏิรูปทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า การโอนกรรมสิทธิ์การถือครองที่ดินที่เป็นโฉนดชุมชนกระทำได้ยากอยู่แล้ว ฉะนั้นการกำหนดโทษสำหรับผู้ที่โอนกรรมสิทธิ์ที่ขัดกับหลักการของการออกโฉนดชุมชนจะต้องคำนึงถึงความเหมาะสม แม้จะทำให้ชุมชนเกิดความตระหนักและระมัดระวัง แต่ไม่ควรมีบทลงโทษที่รุนแรงเกินไป เพราะถ้าเทียบกับผู้กระทำผิดในการซื้อที่ดินสาธารณ เช่น กรณีที่ดินในจังหวัดเชียงรายกว่า 6 พันไร่ ยังมีบทลงโทษต่ำว่านี้
ด้าน น.ส.รสนา โตสิตระกูล สปช.ด้านพลังงาน อภิปรายว่า ร่าง พ.ร.บ.สิทธิชุมชนในการจัดการที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติในรูปแบบโฉนดชุมชน พ.ศ. ... เพราะเป็นหัวใจของการปฏิรูปเพื่อลดความยากจนอย่างแท้จริง เนื่องจากที่ดินคือต้นทุนที่สำคัญในการผลิตเพื่อหลุดพ้นจากความยากจน ฉะนั้นการปฏิรูปที่ดินจึงไม่ใช่การกำหนดให้รัฐหรือชุมชนเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์แต่เพียงผู้เดียว แต่เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรด้วย ทั้งนี้ ได้ยินกระแสข่าวมาว่าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะไม่สนับสนุนการปฏิรูปเรื่องนี้ ทั้งที่เรื่องนี้ควรเป็นสิ่งที่ควรเร่งปฏิรูปที่สุด ถ้า สปช.ปฏิเสธก็จะเสียโอกาสในการปฏิรูปแน่ ถึงแม้กฎหมายจะยังไม่มีความสมบูรณ์ แต่ต้องเปิดโอกาสให้มีการปฏิรูปให้ได้ เช่นเดียวกับรัฐบาลถ้าปฏิเสธก็จะไม่ได้รับการยอมรับจากประชาชน
ต่อมาที่ประชุมมีมติเห็นชอบรายงานฉบับดังกล่าว ด้วยคะแนน 130 ต่อ 60 คะแนน งดออกเสียง 26 คะแนน จากนั้นที่ประชุมยังมีมติเห็นชอบกับหลักการของร่าง พ.ร.บ.สิทธิชุมชนในการจัดการที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติในรูปแบบโฉนดชุมชน พ.ศ. ... ด้วยคะแนน 121 ต่อ 69 คะแนน งดออกเสียง 26 คะแนน ฉะนั้นเท่ากับว่าที่ประชุม สปช. มีมติเห็นชอบให้ส่งรายงานและหลักการของร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวไปยังคณะ กมธ.ปฏิรูปสังคมฯ เพื่อร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวให้แล้วเสร็จภายใน 7 วัน ก่อนส่งให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาต่อไป