xs
xsm
sm
md
lg

กก.ปฏิรูปทรัพยากร ชง 3 ข้อแก้ปม ให้ออก กม.โฉนดชุมชน ให้สิทธิชาวบ้านร่วมบริหารที่ดิน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


คณะกรรมการปฏิรูประบบการจัดการทรัพยากรโดยชุมชน สปช. เผย 3 ข้อเสนอแก้ไขปม แนะรัฐยอมรับสิทธิชุมชนในการบริหารที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติ, ปรับปรุงกลไกและรูปแบบ และออกกฎหมายว่าด้วยสิทธิชุมชนในรูปแบบโฉนดชุมชนแทนระเบียบสำนักนายกฯ หวังคลายปัญหาพิพาทรัฐกับชาวบ้านกว่า 5 พันหมู่บ้าน ทำให้ราชการและประชาชนร่วมมือกัน เพิ่มความมั่นคงในพื้นที่ และใช้ที่ดินให้สอดคล้องกับระบบนิเวศ


วันนี้ (26 พ.ค.) ที่รัฐสภา นพ.อำพล จินดาวัฒนะ ประธานกรรมาธิการปฏิรูปด้านสังคม ชุมชน เด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ และผู้ด้อยโอกาส ร่วมกับคณะกรรมการปฏิรูประบบการจัดการทรัพยากรโดยชุมชน แถลงข่าวถึงปัญหาข้อพิพาทเรื่องที่ดินระหว่างรัฐและประชาชน โดยปัญหาดังกล่าวได้เสนอให้ ประธาน สปช.แต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูประบบการจัดการทรัพยากรโดยชุมชน ที่มีองค์ประกอบจากคณะกรรมาธิการปฏิรูปเศรษฐกิจ การเงินและการคลัง คณะกรรมาธิการปฏิรูปทรัพยากรรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และคณะกรรมาธิการปฏิรูปด้านสังคมฯ รวมทั้งผู้ทรงคุณวุฒิ มีนายวิรัตน์ ศัลยกำธร เป็นประธานคณะกรรมการจัดทำรายงานการปฏิรูปเรื่องสิทธิชุมชนในการจัดการที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติ ในรูปแบบโฉนดชุมชน ซึ่งจะนำเสนอต่อที่ประชุม สปช.ในวันที่ 27 พ.ค.นี้ เพื่อให้ สปช.ให้ความเห็นชอบรายงาน ข้อเสนอ และร่างกฎหมายดังกล่าว

นพ.อำพลกล่าวต่อว่า จากการศึกษาข้อมูลพบว่าเรื่องนี้มีการเคลื่อนไหวของภาคประชาชนเพื่อให้ชุมชนได้มีบทบาทในการจัดการที่ดินและมีที่ทำกินเป็นของตนเองต่อเนื่อง ซึ่งต่อมาได้รวมตัวกันเป็นเครือข่ายภาคประชาชนที่มีปัญหาที่ดินทั่วประเทศ

ด้านนายวิวัฒน์กล่าวว่า ข้อเสนอเพื่อการปฏิรูปเรื่องนี้เพื่อแก้ไขปัญหาที่สะสมมานานมี 3 ข้อ คือ 1. ให้รัฐยอมรับสิทธิของชุมชนในการบริหารการจัดการที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติ 2. ให้รัฐปรับปรุงกลไกและรูปแบบการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากร และ 3. ให้รัฐออกกฎหมายว่าด้วยสิทธิชุมชนในการจัดการที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติในรูปแบบโฉนดชุมชน ใช้แทนระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดให้มีโฉนดชุมชน พ.ศ. 2555

“ข้อเสนอดังกล่าวจะส่งผลเชิงบวกต่อประชาชนอย่างน้อย 4 ประการ คือ 1. เกิดการแก้ไขปัญหาข้อพิพาทเรื่องที่ดินระหว่างรัฐและประชาชนได้ไม่น้อยกว่า 5,000 ชุมชน 2. เกิดความร่วมมือระหว่างหน่วยงานของรัฐและชุมชนในการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติ 3. มีความมั่งคงในที่ดินทำกินให้แก่ประชาชนในพื้นที่ และ 4.มีการปรับปรุงระบบการผลิตและการใช้ที่ดินให้สอดคล้องกับสภาพพื้นที่และระบบนิเวศ” นายวิวัฒน์กล่าว

กำลังโหลดความคิดเห็น