xs
xsm
sm
md
lg

ขุมทรัพย์สวนปาล์ม ความฝันของผู้ไร้ที่ทำกิน (ตอนที่ 2) / ประเสริฐ เฟื่องฟู

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

แฟ้มภาพ
 
คอลัมน์ : แกะสะเก็ด
โดย...ประเสริฐ  เฟื่องฟู
 
การที่ ครม.มีมติตามที่ทางจังหวัดกระบี่ชงเรื่องขอผ่านทางกระทรวงทรัพยากรธรรมชาตินั้น น่าจะเป็นเรื่องที่ไม่คาดคิด และที่สำคัญเป็นการมอบอำนาจให้ผู้ว่าฯ เกือบเต็มร้อย เพื่อจัดการเรื่องทั้งหมดแบบเบ็ดเสร็จม้วนเดียวจบ และต่างก็คิดว่าน่าจะไม่เหลือบ่ากว่าแรง
 
แต่ผลที่ออกมากลับตรงกันข้าม มติของ ครม.ดังกล่าวเหมือนกับราดน้ำมันเข้ากองเพลิง ทำให้เหตุการณ์ทวีความรุนแรงขึ้นเป็นทวีคูณ
 
จากที่มีการบุกรุกพื้นที่เข้าเก็บเกี่ยวผลผลิตปาล์มน้ำมัน และยึดครองที่ดินปลูกเพิงพักอาศัยแบบเงียบๆ จะโดยการซื้อขายจากใคร? หรือได้มาอย่างไร? ไม่เป็นที่เปิดเผยมานานนับปี บางรายเข้ายึดครองมาก่อนที่สัมปทานจะหมดอายุเสียด้วยซ้ำ
 
บอกอย่างหน้าตาเฉยว่า ซื้อมา หรือแบบซื้อสิทธิปากเปล่าจากนายหัว... หัวอะไร ไม่มีใครบอก
 
และผู้บุกรุกเพิ่มจำนวนมากขึ้น หลั่งไหลมาทุกทิศทาง รวมตัวกันเป็นกลุ่มก้อน เกิดม็อบเรียกร้องที่ดินทำกินหลากหลายรูปแบบ อย่างน้อยที่สุดประเมินกันแบบคร่าวๆ 3 กลุ่มขึ้น
 
รุนแรงถึงขั้นปะทะกัน ยึดทรัพย์ทรัพย์สิน จับตัวเจ้าหน้าที่เป็นตัวประกัน เหมือนบ้านป่าเมืองเถื่อน มีอาวุธสารพัดชนิดทั้งปืน มีด และพร้า
 
มติ ครม.ที่ให้ผู้ว่าฯ แต่ละจังหวัดเป็นผู้แต่งตั้งคณะทำงาน และเป็นประธานบริหารจัดการจัดสรรที่ดินให้ประชาชนทำกิน โดยมีทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นพี่เลี้ยง ดูช่างบรรเจิดเหมือนฟ้าประทาน
 
แต่...หาเป็นเช่นนั้นไม่ เมื่อม็อบผู้เรียกร้องขอที่ทำกินมากันอย่างมืดฟ้ามัวดินเป็นพันๆ คน แตกเป็นกลุ่มๆ ทุกพื้นที่ทุกแปลง
 
อาคม ยุทธนา ผอ.สนง.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดกระบี่ กล่าวช่วงที่เกิดม็อบว่า ข้อเรียกร้องของชาวบ้านนั้นมีแนวทางชัดเจนในการปฏิบัติอยู่แล้ว ตามมติ ครม.เมื่อปี 2546 ให้จังหวัดที่มีสัมปทานสวนปาล์มสำรวจพื้นที่ และหากพื้นที่ใดหมดสัมปทานให้แบ่งพื้นที่ออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกให้เอกชนรายเดิมเช่าต่อ อีกส่วนนำมาจัดสรรให้ราษฎร
 
แต่ถ้าพื้นที่ใดที่ยังไม่มีการอนุญาต หากมีการบุกรุกเข้าไปครอบครอง ทั้งเจ้าของสัมปทานเดิมและราษฎรผู้บุกรุกไม่ชอบด้วยกฎหมายทั้งสองฝ่าย ให้กันพื้นที่ดังกล่าวไปจัดสรรทั้งแปลง โดยให้เสียค่าธรรมเนียมไร่ละ 100 บาทต่อปีสำหรับเนื้อที่ไม่เกิน 20 ไร่ หากเกิน 20 ไร่ เสียไร่ละ 300 บาทต่อปี
 
เฉพาะที่กระบี่ ผู้ว่าฯ ประสิทธิ์ โอสถานนท์ ได้แต่งตั้งคณะทำงานลงพื้นที่ไปตรวจสอบสัมปทานที่หมดอายุขณะนั้น 10 ราย มี 8 รายที่ยื่นความจำนงขอต่ออนุญาตสัมปทานเนื้อที่ 24,074 ไร่ แต่มีการครอบครองจริง 8,251 ไร่ ถูกราษฎรครอบครอง 561 ราย เนื้อที่ 15,823 ไร่ ส่วนอีก 2 แปลง เนื้อที่รวม 19,250 ไร่ เจ้าของสัมปทานไม่ขอต่ออายุ และมีราษฎรเข้าครอบครอง 608 ราย เนื้อที่ 16,575 ไร่
 
ขณะที่คณะทำงานทำการตรวจสอบนั้นอยู่ปลายปี 2546 มีพื้นที่สัมปทานที่ยังไม่หมดอายุ 4 แปลง เนื้อที่รวม 29,705 ไร่ คือ บริษัทเจียรวานิชน้ำมันปาล์ม 1 แปลง กำหนดหมดอายุ วันที่ 21 เมษายน 2556 บริษัทยวนสาวการเกษตร 2 แปลง หมดอายุกันยายน 2558 ส่วนของนายวิศิษฐ์ วุฒิชาติวานิช 1 แปลง หมดอายุ เมษายน 2560
 
แต่ปรากฏว่า สวนปาล์มสัมปทานของบริษัทเจียรวานิช รวมทั้งของบริษัทยวนสาวการเกษตร 2 แปลง ถูกชาวบ้านบุกรุกเข้ายึดครองพื้นที่ไปนานแล้วตั้งแต่ยังไม่หมดอายุ
 
หลังจากทางจังหวัดได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาตรวจสอบการครอบครองที่ดินพื้นที่สัมปทานทั้ง 14 แปลง และได้ข้อสรุปแล้ว ประสิทธิ์ โอสถานนท์ ผู้ว่าฯ ได้เรียกหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ทั้งนายอำเภอเจ้าของท้องที่ และเจ้าของสัมปทานสวนปาล์ม หาทางแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมให้ชัดเจน ที่ห้องประชุมศาลากลางจังหวัด เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2547
 
ที่ประชุมในวันดังกล่าวได้ข้อสรุปว่า ทางจังหวัดโดยผู้ว่าราชการจังหวัดจะขอยึดอำนาจมาจัดการเองทั้งหมด ทั้งการให้เอกชนรายเดิมเช่าพื้นที่ การแก้ปัญหาราษฎรบุกรุก ที่มีแนวคิดจะให้ผู้บุกรุกรวมตัวกันเป็นสหกรณ์ เพื่อสะดวกต่อการบริหารจัดการ และให้ระงับการเก็บผลอาสินที่ภาครัฐไม่ได้อะไร ทำให้เกิดการสูญเสียทางเศรษฐกิจของจังหวัด และของประเทศ
 
แล้วส่งผลการประชุมไปยังปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และปลัดกระทรวงมหาดไทย
 
แต่เหมือนกับเล่นปาหี่ ถ่วงเวลากันไปแบบขายผ้าเอาหน้ารอด ปัดสวะให้พ้นหน้าบ้าน แก้ไขอะไรไม่ได้ในยุคกาลีกินบ้านกินเมือง ปัญหาแต่ละพื้นที่ถูกกองไว้ จะคุ้ยมาดูมาแก้ก็เฉพาะที่เป็นประโยชน์กับตัวเองเท่านั้น
 
ในขณะที่ทางฝ่ายรัฐบาลเองก็ไม่มีใครคิดจะทำงาน ห่วงแต่เล่นการเมือง แบ่งฝักแบ่งฝ่าย จนทำให้บ้านเมืองวิกฤต
 
มาในปี 2550 ได้มีการเรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีกรอบ คราวนี้มีมติให้ทำความตกลงกับเจ้าของสัมปทานที่หมดอายุ แบ่งที่ดินออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรก ให้เจ้าของสัมปทานเดิมยื่นขอต่ออายุ ส่วนอีกครึ่งหนึ่งนำไปจัดสรรให้ราษฎรรายละไม่เกิน 10 ไร่
 
สุดท้ายก็ยังลงเอยกันไม่ได้ ราษฎรที่ไร้ที่ทำกินแต่ละกลุ่มมีนับพันราย ทั้งคนในพื้นที่ และนอกพื้นที่หลายจังหวัดต่างหลั่งไหลเข้ามา
 
จะอย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2555 ซึ่งมีผู้ชุมนุมเรียกร้องขอที่ดินทำกิน ประยุทธ เหล่าสุวรรณศิริ รองอธิบดีกรมป่าไม้ขณะนั้นได้ลงพื้นที่ และมอบให้เจ้าหน้าที่รับคำขอการเข้าใช้พื้นที่สัมปทานสวนปาล์มของ สุนทร เจียวก๊ก และ บริษัทกระบี่รวมภัณฑ์ ที่หมดอายุเมื่อปี 2545 ที่ป่าแหลมกรวด และป่าคลองบางผึ้ง คลองขนาน ท้องที่ อ.เหนือคลอง ซึ่งทางจังหวัดได้แย้งว่าจะทำให้ราษฎรจากจังหวัดอื่นเข้าสวมรอยยื่นคำขอด้วย แต่ทางรองอธิบดีกรมป่าไม้ยืนยันดำเนินการรับคำร้องขอจากผู้ชุมนุม
 
ปรากฏว่า มีผู้ยื่นคำขอทั้งในจังหวัดกระบี่ และจังหวัดอื่นๆ รวม 2,368 ราย ยื่นคำขอต่อองค์การบริหารส่วนตำบลคลองขนาน ผ่านกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน 800 ราย รวม 3,168 ราย  เป็นชาวกระบี่ 1,854 คน จังหวัดอื่นๆ 43 จังหวัด 514 คน
 
บัดนั้นจนบัดนี้ก็ยังไม่มีข้อยุติ ทั้งวิธีการของกรมป่าไม้ และวิธีการของจังหวัดว่าจะเฉลี่ยเกลี่ยกันยังไงจะได้กันทั่วถึง และมีการทำความเข้าใจกันลักษณะไหน จะต้องเสียค่าธรรมเนียม เสียค่าภาคหลวงกันยังไง เพราะที่ดินยังคงเป็นที่ป่าสงวนแห่งชาติ กรมป่าไม้ดูแล  ไม่มีสิทธิซื้อขายเปลี่ยนมือไม่ว่ากรณีใดๆ เช่นเดียวกับป่า ส.ป.ก.
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น