xs
xsm
sm
md
lg

ผ่าปม “ขุมทรัพย์สวนปาล์มกระบี่” หลังหมดสัมปทาน (ตอนที่ 1) / ประเสริฐ เฟื่องฟู

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

แฟ้มภาพ
 
คอลัมน์  :  แกะสะเก็ด
โดย...  ประเสริฐ  เฟื่องฟู
 
การบุกรุกยึดครองพื้นที่สัมปทานสวนปาล์มหมดอายุนับหมื่นไร่ เขตป่าสงวนแห่งชาติในท้องที่ 4 อำเภอของ จ.กระบี่ ได้แก่ เขาพนม เหนือคลอง ปลายพระยา และอ่าวลึก ซึ่งเป็นเขตรอยต่อกับ จ.สุราษฎร์ธานี ของราษฎรที่อ้างว่ายากจน ไร้ที่ทำกิน เรื่องนี้คาราคาซังมากว่า 10 ปี ขณะที่กรมป่าไม้เจ้าของพื้นที่ไม่สามารถจัดการให้ยุติลงได้
 
แรกเริ่มเดิมที สมัยที่ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ หรือ “ป๋าเปรม” ของคนใต้เป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อปี 2528-2530 รัฐบาลสมัยนั้นมีนโยบายให้เอกชนเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมของป่าสงวนแห่งชาติ เพื่อปลูกพืชเศรษฐกิจ “ปาล์มน้ำมัน” ทางภาคใต้
 
อันเป็นที่มาของการบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติ ทั้งตัดไม้ แผ้วถางป่า เพื่อยึดครองพื้นที่กันอย่างมโหฬารในเวลาต่อมา
 
เป็นแนวคิดของนักการเมือง หรือของใครไม่ได้สาวไปถึง แต่มาปัจจุบันมีนักวิชาการ จุมพล ชื่นจิตต์ศิริ คณะรัฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) ออกมาวิจารณ์ว่า เป็นการดำเนินนโยบายที่ผิดพลาดของกรมป่าไม้ แต่ป่วยการเอามาโยง ขอผ่านทั้ง 2 ประเด็น เรื่องผ่านไปแล้วถึง 30 ปี
 
ขณะนั้น “ปาล์มน้ำมัน” เป็นพืชเศรษฐกิจที่ฮือฮาที่สุด ขึ้นมาแทนที่ยางพารา นักลงทุนในมาเลเซียหันมาปลูกปาล์มน้ำมันเป็นพืชเศรษฐกิจ นำร่องรวยไปก่อนแล้ว
 
เฉพาะในพื้นที่ภาคใต้ตอนบนหลายจังหวัด อย่างที่สุราษฎร์ธานี กระบี่ นครศรีธรรมราช เกษตรกรที่เคยปลูกยางพารา รวมถึงกลุ่มทุนต่างๆ ล้วนหูตากว้างไกล น่าจะรู้ล่วงหน้า ต่างปูทางเดินไว้รอ
 
เมื่อรัฐบาลสั่งกรมป่าไม้เปิด “ไฟเขียว” ต่างก็ยื่นขออนุญาตทันทีทันควัน
 
ที่กระบี่ มีผู้ยื่นขอสัมปทาน 14 แปลง เนื้อที่กว่า 70,000 ไร่ ปลูกปาล์มน้ำมันเป็นส่วนใหญ่ มีแหกคอกปลูกยางพารา และมะม่วงหิมพานต์แค่ 3 แปลง
 
พบว่ากลุ่มเกษตรกรผู้ลงทุนยื่นขอสัมปทานเหล่านั้น มีทุนต่างชาติจากมาเลเซียเข้ามาเอี่ยวด้วยหลายราย ล้วนทำสวนปาล์มน้ำมัน โดยการชักชวนของคนไทยลักษณะของหุ้นส่วน
 
จะเป็น “นอมินี” หรือไม่ ไม่มีใครยืนยัน และก็คงไม่มีใครสนใจในยุคนั้น โดยมาเป็นกรรมการผู้จัดการ หรือกรรมการ หุ้นส่วน หรือที่ปรึกษาบริษัท
 
ต่อมา จังหวัดกระบี่ก็มีพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันมากที่สุดในประเทศไทย
 
กระทั่งเมื่อปี 2543 สัมปทานสวนปาล์มในพื้นที่ป่าเขาแก้ว และป่าควนยิงวัว ต.นาเหนือ อ.อ่าวลึก ต.เขาเขน เขาต่อ อ.ปลายพระยา เนื้อที่ 13,950 ไร่ ของ บริษัท จิตรธวัชสวนปาล์ม จำกัด หมดอายุลง
 
การบุกรุกเข้ายึดครองพื้นที่ของราษฎรเริ่มเห็นชัดเจนขึ้น
 
ธวัช กาญจนเมธากุล” กรรมการผู้จัดการ หรือเจ้าของบริษัทจิตรธวัชสวนปาล์ม เป็นนักธุรกิจอาวุโส อดีตนายเหมืองที่ชาวภูเก็ต หาดใหญ่ สงขลา รุ่นเก่ารู้จักกันในชื่อเล่นว่า “โกถาว” ไม่ค่อยปรากฏตัวหวือหวาในวงสังคมมากนัก ได้เห็นความยุ่งยาก และพบพื้นที่สวนปาล์มของบริษัทที่ตัวเองเป็นผู้จัดการอยู่ถูกบุกรุกตั้งแต่สัมปทานยังไม่หมดอายุ
 
ตั้งแต่ปี 2543, 2545, 2546 มีสัมปทานสวนปาล์มรวม 10 แปลงหมดอายุ ประกอบด้วย บริษัท จิตรธวัชสวนปาล์ม จำกัด พื้นที่ 13,950 ไร่ นายประเสริฐ กิตติธรกุล 2,200 ไร่ ห้างหุ้นสวนจำกัดกระบี่รวมภัณฑ์ 1,000 ไร่ บริษัท ฟูจูการเกษตร จำกัด 9,500 ไร่ นานสุบิน ฉายะบุระกุล 1,844 ไร่ บริษัท กรานี่การเกษตร จำกัด 9,750 ไร่ นายพัฒน์ ซ้ายเส้ง 1,000 ไร่ นายสุนทร เจียวก๊ก 500 ไร่ ห้างหุ้นส่วนจำกัดศรีปรานี 580 ไร่ และห้างหุ้นส่วนจำกัดศรีวิไลปาล์ม 3,000 ไร่ รวม 44,824 ไร่
 
ล่าสุด เป็นแปลงที่ 11 บริษัท เจียรวานิชน้ำมันปาล์ม จำกัด 20,000 ไร่เศษ ได้หมดสัมปทานลงอีกราย เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2556 ที่ผ่านมา และอีก 2 แปลงปลูกปาล์มน้ำมัน รวมเนื้อที่ 8,206 ไร่ ของบริษัท ยวนสาวการเกษตร จำกัด กำลังจะหมดอายุในวันที่ 18 กันยายน 2558 ที่จะถึงนี้
 
ยังคงเหลืออีก 1 แปลง ของนายวิศิษฐ์ วุฒิชาติวานิช ปลูกปาล์มน้ำมัน ป่าท้องที่ อ.เขาพนม เนื้อที่ 1,500 ไร่ หมดอายุปี 2560
 
ในปี 2546 ที่มีสวนปาล์มหมดอายุลงหลายแปลงนี่เอง ทำให้สถานการณ์ทวีความรุนแรงขึ้นอีก เมื่อราษฎรในเขตรอยต่อจังหวัดใกล้เคียง รวมทั้งจังหวัดอื่นๆ นับพันคน ออกมาชุมนุมเรียกร้องที่ดินทำกินในพื้นที่สัมปทานป่าทุกพื้นที่ทั้ง 14 แปลง
 
ไม่เว้นแม้พื้นที่ที่ยังไม่หมดอายุสัมปทานก็ถูกบุกรุก มีแจ้งความไว้ที่ สภ.ท้องที่หลายคดี รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกรมป่าไม้ และทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมทั้ง จ.กระบี่ แต่ทุกหน่วยงานล้วนไม่มีน้ำยาจะแก้ไข
 
มีรายงานแจ้งว่า เป้าหมายของการบุกรุกนอกจากที่ดินทำกินแล้ว ยังมีผลอาสินที่ประเมินค่ามิได้อีกจำนวนมหาศาลที่สามารถเก็บเกี่ยวได้อีก 5-10 ปีขึ้นไป
 
ตามความเป็นจริงเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องต่างรู้ และมีกฎหมายบัญญัติ พื้นที่ป่าสัมปทานเมื่อหมดอายุ ทั้งที่ดิน พืชผลอาสินทั้งหมดต้องตกเป็นของแผ่นดิน ของป่าสงวนแห่งชาติ หรือของกรมป่าไม้ ถ้าใครจะเข้าไปเก็บของป่าที่ไม่ใช่ของหวงห้าม ก็สามารถขออนุญาตจากกรมป่าไม้ได้ โดยต้องเสียค่าธรรมเนียม และค่าภาคหลวงให้รัฐ
 
แต่หน่วยงานเจ้าของเรื่อง เจ้าของพื้นที่กลับทำอะไรให้เป็นรูปธรรมไม่ได้ เลี่ยงไปก็เลี่ยงมา
 
ในที่สุด ประสิทธิ์ โอสถานนท์ ผู้ว่าราชการจังหวัดในขณะนั้น เรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ป่าไม้ และทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ มีมติชงเรื่องไปให้ทางกระทรวงธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี 4 ประเด็น ดังนี้
 
1.พื้นที่หมดอายุสัมปทาน ให้ยุติการต่ออนุญาตไว้ก่อน
 
2.พื้นที่ที่ยังไม่หมดอายุ หากผิดเงื่อนไขก็ให้ยกเลิกสัมปทาน โดยไม่มีการจ่ายค่าชดเชย
 
3.พื้นที่ที่ยังไม่หมดสัมปทาน และปฏิบัติตามเงื่อนไข ให้หน่วยงานที่รับผิดชอบพิจารณาทบทวนการดำเนินการ เวลาของสัมปทาน อัตราค่าตอบแทนที่เหมาะสม และเป็นธรรม
 
4.ให้นำพื้นที่ในข้อ 1 และ 2 มาจัดระเบียบการอนุญาตให้เข้าไปใช้ประโยชน์ โดยให้พิจารณาจัดให้ราษฎรผู้ยากไร้ ไม่มีที่ทำกินเป็นของตนเองในพื้นที่เป็นหลัก
 
พร้อมกับให้รัฐบาลมอบอำนาจการแก้ปัญหานี้ให้ทางจังหวัดดำเนินการได้ทันที ตามกฎหมายป่าสงวนแห่งชาติ โดยอยู่ในความรับผิดชอบของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช และให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานคณะทำงาน
 
ในที่สุด ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2546 ยุคของ “ทักษิณ ชิณวัตร” ก็มีมติอนุมัติตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เสนอทุกประการ
 
ทันทีที่ข่าวมติ ครม.แพร่ออกไป ราษฎรที่บุกรุกเข้าไปจับจองพื้นที่ต่างแสดงความดีใจ นอกจากผลอาสินแล้ว ความหวังที่จะได้ที่ดินทำกินเป็นของตัวเองใกล้แค่เอื้อม และเหมือนราดน้ำมันเข้าไปในกองเพลิง จำนวนผู้บุกรุกเพิ่มจำนวนมากขึ้นเป็นทวีคูณ จากไม่กี่ร้อยราย เพิ่มขึ้นเป็นพันราย
 
จนแล้วจนรอดจังหวัดก็เข้าตาจน เกินกำลังจะรับมือ ทุกคนทุกกลุ่มที่ออกมาเรียกร้องขอที่ทำกิน ล้วนยากจน ต่างมีสิทธิที่จะได้ที่ทำกินตามมติ ครม.ดังกล่าวทั้งสิ้น
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น