รมว.ทรัพยากรฯ ประชุมนำพื้นที่ ทภ.1 คืน บุกรุกปลูกยาง 5.5 ล้านไร่ ทำน้ำยางล้นตลาด วางเป้าเอาคืน 2 ปี 1.5 ล้านไร่ ทุกภาคส่วน-ทุกพื้นที่ต้องช่วยกัน รับ กำหนดจุดตรวจแล้วพร้อมสาวถึงนายทุน ปลื้มทหารหนุนผู้มีอิทธิพลไม่กล้าหือ ยันมีแนวทางช่วนคนจน ลั่นไม่เรียกประโยชน์ รับช่วยไม่ทันรัฐบาลนี้ ย้ำให้เอกสารสิทธิรายบุคคลไม่ได้-มทภ.1 รับปากพร้อมหนุน
วันนี้ (22 พ.ค.) ที่กองทัพภาคที่ 1 พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เป็นประธานการประชุมบูรณาการหน่วยงานส่วนราชการที่เกี่ยวข้องในการหาแนวทางสนับสนุน ทส.การบังคับใช้กฎหมายต่อพื้นที่ป่าที่ถูกบุกรุกปลูกยางพาราในพื้นที่กองทัพภาคที่ 1 โดยมี พล.ท.กัมปนาท รุดดิษฐ์ แม่ทัพภาคที่ 1 พล.ต.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ รองแม่ทัพภาคที่ 1 หน่วยขึ้นตรงของกองทัพภาคที่ 1 เจ้าหน้าที่กองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย กองทัพภาคที่1 (กกล.รส.ทภ.1) และกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค1 (กอ.รมน.ภาค 1) และเจ้าหน้าที่กรมป่าไม้เข้าร่วมประชุม
จากนั้นเวลา 12.30 น. พล.อ.ดาว์พงษ์แถลงภายหลังการประชุมว่า เป็นการขับเคลื่อนแผนในการนำพื้นที่ป่าที่ถูกบุกรุกคืนตามนโยบายของรัฐบาลและตามแผนของ ทส.ที่ตั้งเป้าไว้ โดยจะให้ความเร่งด่วนกับพื้นที่ที่ถูกบุกรุกทำยางพาราก่อน สำหรับพื้นที่ที่ถูกบุกรุกในส่วนที่กองทัพภาคที่ 1 ดูแลมีประมาณ 1 แสนไร่ ซึ่งเป็นพื้นที่อุทยานและพื้นที่ป่าไม้ที่มีเป้าหมายว่าต้องนำคืนมาให้ได้ก่อนสิ้นเดือนธันวาคมนี้ ทุกภาคส่วนต้องทำงานร่วมกันจึงจะสำเร็จ ทาง ทส.ทำคนเดียวไม่ได้ เพราะที่ผ่านมาจำนวนที่นำพื้นที่คืนมาได้ยังค่อนข้างน้อย จึงต้องขอความร่วมมือ โดยกระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย สำนักงานตำรวจแห่งชาติให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี
พล.อ.ดาว์พงษ์กล่าวต่อว่า ทั้งนี้การเข้าตรวจพื้นที่จะต้องมีการตรวจสอบก่อนว่าแต่ละพื้นที่มีเอกสารสิทธิหรือไม่ เรากำหนดจุดไว้แล้ว ถ้าไม่เจอตัวผู้บุกรุกก็เอาพื้นที่คืนมาก่อนและก็จะแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อสอบสวนว่าใครเป็นนายทุน ทุกอย่างเป็นไปตามกระบวนการยุติธรรม การที่มีทหารมาช่วยทำให้ลูกน้องของตนอุ่นใจ เพราะเชื่อว่าผู้มีอิทธิพลจะไม่กล้าออกมาแสดงตน อีกทั้ง ทส.และกองทัพบกมีข้อตกลงร่วมกันมานาน รวมถึงมีคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ให้กำลังทหารทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ ทส. เพราะเรื่องของป่าไม้ถือว่าเป็นเรื่องของความมั่นคงด้วย ส่วนคนจนที่ไม่มีที่ดินทำกิน รัฐบาลมีแนวทางช่วยเหลืออยู่แล้ว โดยมีการจัดสรรที่ดิน
“เราดีใจที่มีทหารมาร่วมกับเรา การดำเนินงานมีขั้นตอนครอบคลุมทุกพื้นที่แล้ว มีรายชื่อป่า รายชื่ออุทยาน จำนวนพื้นที่กี่ไร่บ้าง และตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายนเป็นต้นไปจะเริ่มเข้าพื้นที่เพื่อดำเนินงานตามขั้นตอนที่วางไว้ ส่วนการลงพื้นที่จริงจะต้องมีการหารือกับผู้ว่าราชการจังหวัดอีกรอบเพื่อความมั่นใจ ส่วนท้องถิ่นและชาวบ้านต้องร่วมมือกับเรา เราจะไม่เดินเข้าพื้นที่ถ้าไม่มีผู้นำท้องถิ่น เพราะเขาจะรู้ดีว่าพื้นที่ใดของนายทุน และพื้นที่ใดของชาวบ้าน ย้ำว่าจะต้องไม่มีการเคาะกะลาเรียกรับผลประโยชน์จากนายทุน รวมถึงเจ้าหน้าที่ต้องระวังการแอบอ้าง ผมประกาศเลยว่าจะไม่มีการเรียกรับผลประโยชน์ ตั้งโต๊ะแอบอ้าง อย่าไปหลงเชื่อ และจะเสียเงินเปล่า ยืนยันว่าผมไม่ได้ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ คุณลุงป้าที่บุกรุกพื้นที่ป่า ที่มันเยอะจึงต้องค่อยๆ ดำเนินการ” พล.อ.ดาว์พงษ์กล่าว
เมื่อถามว่าการดำเนินการครั้งนี้จะทันต่อเวลาของรัฐบาลหรือไม่ พล.อ.ดาว์พงษ์กล่าวว่า จริงๆ แล้วไม่ทัน เพราะคนที่ไม่มีที่ดินทำกินที่ขึ้นทะเบียนไว้กับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีประมาณ 3.3 แสนราย ปีนี้รัฐบาลตั้งเป้าช่วยเหลือ 2 หมื่นราย ส่วนที่มีมติคณะรัฐมนตรีปี 41 รองรับอีกประมาณ 6 แสนราย ซึ่งตัวเลขก็ยังไม่นิ่ง ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช.ได้สั่งให้กระทรวงเกษตรฯ ไปสำรวจอีกครั้ง อย่างไรก็ตามต้องขอเวลา เพราะเป็นโครงการใหม่ ไม่กล้าตั้งเป้าหมายจำนวนมาก เพราะประชาชนยังติดนิสัยอยากได้ที่เป็นเอกสารสิทธิรายบุคคล แต่เราให้ไม่ได้ และเราถอยหลังไม่ได้ จึงต้องให้เอกสารสิทธิเป็นภาพรวม ทั้งนี้เชื่อว่าจะใช้เวลาอีกหลายรัฐบาลช่วยกันเดินหน้า เพื่อให้โครงการนี้จบ เพราะรัฐบาลนี้ทำอย่างไรก็ทำไม่ทัน แต่เราจะช่วยปูพื้นฐานไว้ให้ ส่วนพื้นที่ที่บุกรุกทำสวนยางพารามีประมาณ 5.5 ล้านไร่ ทำให้ปริมาณน้ำยางพาราล้นตลาด ดังนั้นปีนี้เราตั้งเป้าหมายนำพื้นที่คืน 6 แสนไร่ทั้งประเทศ ส่วนปี 59 ตั้งเป้าไว้ 9 แสนไร่ รวมกันประมาณ 1.5 ล้านไร่ที่เป็นพื้นที่ของนายทุน
ด้าน พล.ท.กัมปทนาท รุดดิษฐ์ แม่ทัพภาคที่ 1 ระบุว่า กองทัพภาคที่ 1 ตระหนักดีถึงเจตนาที่แน่วแน่ของทุกฝ่ายในการแก้ปัญหาบุกรุกป่าอย่างเป็นรูปธรรมซึ่งปัญหาการบุกรุกป่าในปัจจุบันเป็นต้นเหตุของหลายปัญหา ทั้งปัญหาอุทกภัย ภัยแล้ง และหมอกควัน ส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมและประชาชนในหลายพื้นที่ โดยพื้นที่ภาคกลางส่วนใหญ่เป็นพื้นที่เจริญและอยู่ในย่านเศรษฐกิจสำคัญ ดังนั้น รูปแบบการทำลายป่าที่พบจึงมักจะเป็นการบุกรุกป่าเพื่อปลูกพืชเศรษฐกิจจนทำให้สภาพแวดล้อมเปลี่ยนแปลง การประชุมร่วมกับส่วนราชการของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในวันนี้นับว่ามีความสำคัญ เพื่อให้เกิดความเข้าใจในการแก้ปัญหาแบบบูรณาการ โดยยืนยันว่ากองทัพภาคที่ 1 พร้อมสนับสนุนการแก้ปัญหาทุกด้าน