xs
xsm
sm
md
lg

ทส.ทวงคืนผืนป่า6แสนไร่ คืบแล้ว5หมื่นไร่ส่วนใหญ่นายทุน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

"ดาว์พงษ์" เดินหน้าทวงคืนผืนป่าจากผู้บุกรุกแล้วกว่า 5 หมื่นไร่ ตั้งเป้าปีนี้ 6 แสนไร่ ชี้กลุ่มนายทุนบุกรุกมากสุด รองลงมาเป็นเกษตรกร และรีสอร์ต เผยพื้นที่ป่าลดลงเฉลี่ยปีละ 1 ล้านไร่

พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ดำเนินการทวงคืนพื้นที่ป่า จากผู้บุกรุกเพื่อปลูกสวนยางพาราทั่วประเทศแล้ว 89,359 ไร่ เป็นสวนยางพารา 52,111 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่ดำเนินคดีสิ้นสุดแล้ว และอยู่ระหว่างรื้อถอน 42,971 ไร่ เป็นพื้นที่สวนยางพารา 18,828 ไร่ และพื้นที่สงสัยว่ามีการบุกรุก 2,349 คดี รวม 46,568 ไร่ เป็นสวนยางพารา 33,283 ไร่

ทั้งนี้ จากการตรวจสอบมีการบุกรุกป่าไม้ 46,568 ไร่ แบ่งเป็น นายทุนบุกรุก 26,797 ไร่, เกษตกรบุกรุก 14,924.7 ไร่ และรีสอร์ตบุกรุก 4,846.30 ไร่ โดยกลุ่มนายทุนบุกรุกป่าสูงสุด ทำให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ต้องเร่งดำเนินคดีทวงคืนผืนป่าจากกลุ่มนายทุนเป็นอันดับแรก โดยเฉพาะกลุ่มนายทุนที่ใช้อิทธิพลครอบครองพื้นที่ป่าโดยไม่ชอบ เพื่อให้เป็นไปตามแผนทวงคืนป่าที่ถูกบุกรุกปลูกสวนยางพารา ในปีนี้ให้ได้ 600,000 ไร่

ด้านพล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รมว.ยุติธรรม ในฐานะประธานศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตในภาครัฐ (ศอตช.) ได้รับมอบหมายจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้จัดประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อแก้ไขปัญหาการบุกรุกทำลายป่า และทรัพยากรธรรมชาติ โดยมีหัวหน้าส่วนราชการเข้าร่วม ประกอบด้วย พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงคมนาคม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหม และหน่วยงานในสังกัด

พล.อ.ไพบูลย์ กล่าวว่า ได้มีการหารือเพื่อสรุปภาพรวมสถานการณ์ วิธีการทำงาน รวมถึงข้อขัดข้องกลไกที่ติดขัด และสั่งการให้ทุกหน่วยงานสำรวจแนวเขตพื้นที่ในความรับผิดชอบของตัวเอง เพื่อนำเสนอต่อที่ประชุมอีกครั้ง ในวันที่ 15 พ.ค.นี้ โดยกระทรวงทรัพย์ฯ จะเป็นหน่วยงานหลักในการจัดทำแนวเขตพื้นที่ป่าทั่วประเทศ เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนว่า หน่วยงานกำหนดแนวเขตล้ำพื้นที่ป่าหรืออุทยานอย่างไร

ทั้งนี้ เมื่อได้แนวเขตหลักของกระทรวงทรัพย์ฯ จะนำมาใช้เป็นมาตรฐานดำเนินคดีกับผู้บุกรุก ทั้งส่วนที่มีเอกสารสิทธิ์ และไม่มีเอกสารสิทธิ์ โดยผู้ที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ จะดำเนินการได้ง่าย ส่วนผู้ที่มีเอกสารสิทธิ์ ต้องเข้าไปดูว่าเจตนาบุกรุกหรือไม่ เพราะบางกรณีเป็นการซื้อที่ดินมาจากหน่วยงานของรัฐ ซึ่งยืนยันว่ารัฐจะมีมาตรการเยียวยา ระหว่างนี้ผู้ที่มีเอกสารสิทธิ์ถูกต้องสามารถเข้าชี้แจงแสดงความบริสุทธิ์ใจด้วยการนำหลักฐานเข้าชี้แจงกับเจ้าหน้าที่

"รัฐเข้าใจดีว่า มีการดำเนินธุรกิจหลังซื้อที่ดินจากกรมบังคับคดี จึงอยากทำความเข้าใจว่า ยังสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ แต่หากตรวจสอบแล้วพบว่า เอกสารสิทธิ์ออกมาโดยไม่ถูกต้อง ก็ต้องมีการแก้ไขโดยรัฐจะเข้าไปดูแลให้เกิดความเป็นธรรม และหากมั่นใจว่า เอกสารสิทธิ์ที่ตนเองถืออยู่ถูกต้อง สามารถเข้าชี้แจงกับเจ้าหน้าที่รัฐได้ โดยไม่ต้องรอให้เจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบ ยอมรับว่าเอกสารสิทธิ์บางแห่ง มีเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปเกี่ยวข้อง โดยการแก้ปัญหา ต้องใช้เวลาเพราะปัญหาหมักหมมมานาน 10-30 ปี เจ้าหน้าที่คนที่ออกเอกสารสิทธิ์หลายราย ก็พ้นจากหน้าที่ไปแล้ว"

อย่างไรก็ตาม ปัญหาการบุกรุกส่วนหนึ่งมาจากเจ้าหน้าที่รัฐของหลายหน่วยงาน มีไม่เพียงพอในการดูแลพื้นที่ของตัวเอง เช่น กระทรวงเกษตรฯ ดังนั้น จึงให้ประสานกับหน่วยงานภายในสังกัด อาทิ เกษตรอำเภอ เกษตรตำบล ให้เข้าไปช่วยเสริมการดูแลที่ดินในเขต ส.ป.ก. ขณะเดียวกันได้ขอให้กระทรวงมหาดไทย สั่งการไปยังผู้นำท้องถิ่น ให้ช่วยดูแลเป็นหูเป็นตาด้วยอีกทางหนึ่ง

พล.อ.ไพบูลย์ กล่าวด้วยว่า เข้าใจว่าพื้นที่บุกรุกหลายพื้นที่ มีผู้มีอิทธิพลเข้าไปครอบครอง ทำให้เจ้าหน้าที่ไม่กล้าดำเนินการ ซึ่งเรื่องนี้ได้กำชับไปยังทุกพื้นที่ให้รายงานว่า จุดใดมีปัญหาผู้มีอิทธิพล คณะกรรมการฯ ชุดนี้จะเข้าไปแก้ปัญหาให้ และจะไม่โทษเจ้าหน้าที่ปล่อยปละละเลยปัญหา แต่จะช่วยแก้ปัญหาในรูปของคณะกรรมการ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในที่ประชุม มีการรายงานสถานการณ์ป่าไม้ของประเทศ พบว่า ปัจจุบันปัญหาการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้ เป็นปัญหาสำคัญของชาติส่งผลให้พื้นที่ป่าไม้ลดลงจากการสำรวจล่าสุดพบว่า มีเหลือเพียง 102,120,417.98 ไร่ หรือ ร้อยละ 31.57 ของพื้นที่ประเทศไทยเท่านั้น โดยพื้นที่ป่าลดลงจากปี 2551 กว่า 6 ล้านไร่ เฉลี่ยป่าไม้ลดลงปีละกว่า 1 ล้านไร่ ถือว่าอยู่ในขั้นวิกฤติ ซึ่งการบุกรุกทำลายป่าอย่างต่อเนื่อง ทำให้สภาพป่าในแทบทุกพื้นที่เสื่อมโทรม และระบบนิเวศน์ป่าขาดสมดุล จึงเป็นปัญหาเร่งด่วนที่ต้องมีมาตรการที่มีประสิทธิภาพในการดูแลรักษาป่าไม้ของประเทศไม่ให้มีการบุกรุกทำลายเพิ่มขึ้น

สำหรับสาเหตุสำคัญที่ทำให้ป่าไม้ในไทยลดลง เกิดจาก 1. ปัญหาการทับซ้อนของพื้นที่ป่าไม้ มีหลายหน่วยงานรับผิดชอบ 2. แนวเขตป่าไม้ไม่ชัดเจน เช่น แนวเขตป่าสงวนแห่งชาติ 3. ปัญหาการออกเอกสารสิทธิ์ที่ดินโดยมิชอบด้วยกฎหมาย 4. การบังคับใช้กฎหมายที่ไม่มีประสิทธิภาพ เช่น ส.ป.ก. ปล่อยให้มีการเปลี่ยนชื่อเกษตรกร ซึ่งผิดเงื่อนไข หรือรังวัดพื้นที่ป่าและภูเขา เจ้าหน้าที่ป่าไม้ปล่อยปละละเลย ให้มีการบุกรุกยึดถือครอบครองพื้นที่ป่าไม้ 5. เจ้าหน้าที่ของรัฐทุกประเภทเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด 6. ปัญหาการลักลอบตัดไม้พะยูง 7. เจ้าหน้าที่ขาดจิตสำนึกในการปฏิบัติหน้าที่ กระทำผิดเอง 8. ปัญหาการทุจริตในการใช้งบประมาณและ 9. ปัญหาการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการของหน่วยงานที่รับผิดชอบ.
กำลังโหลดความคิดเห็น