xs
xsm
sm
md
lg

ศอตช.ร่วมถก 22 หน่วยงานหาแนวทางแก้ปัญหารุกที่รัฐ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


“บิ๊กต๊อก” นั่งหัวโต๊ะคู่ “บิ๊กหนุ่ย” เรียก 22 หน่วยงานแจงปัญหาการทำงาน เพื่อหาแนวทางแก้ไขการบุกรุกที่รัฐ ระบุหากพื้นที่ใดมีผู้มีอิทธิพลครอบครองให้รายงานรัฐ พร้อมดึงผู้ใหญ่-กำนันช่วยสอดส่องดูแลพื้นที่เฝ้าระวังกว่า 500 จุด



วันนี้ (1 พ.ค.) เมื่อเวลา 09.00 น. ที่กระทรวงยุติธรรม พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม (ยธ.) พร้อมด้วย พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ร่วมประชุมหารือถึงแนวทางในการแก้ไขปัญหาการบุกรุกพื้นที่ ทำลายป่าไม้ และทรัพยากรธรรมชาติแบบบูรณาการ โดยมีตัวแทนของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 22 หน่วยงานเข้าร่วมประชุม เช่น ตัวแทนจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.), นายประยงค์ ปรียาจิตต์ เลขาธิการสำนักงานป้องกันและปรามปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.), พ.ต.อ.สีหนาท ประยูรรัตน์ เลขาธิการสำนักงานป้องและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.), นางสุวณา สุวรรณจูฑะ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ), สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.), กระทรวงมหาดไทย (มท.), กระทรวงกลาโหม, กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.), กระทรวงการคลัง ใช้เวลาในการประชุมประมาณ 3 ชั่วโมง

พล.อ.ไพบูลย์กล่าวภายหลังการประชุมว่า การประชุมวันนี้เป็นการเชิญหน่วยงานที่รับผิดชอบเกี่ยวกับปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐมาชี้แจงปัญหา และแนวทางการทำงาน ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้เรียกประชุม โดยแบ่งเป็น 4 กลุ่ม คือ 1. หน่วยงานที่ดูแลที่ดิน เช่น ทส., กระทรวงเกษตรและสหกรณ์, พม., มท. และกระทรวงการคลัง ซึ่งเป็น 5 หน่วยงานหลักที่รับผิดชอบที่ดินของรัฐ 2. หน่วยงานที่เป็นผู้ขอใช้ที่ดิน เช่น กองทัพบก, กระทรวงกลาโหม 3. หน่วยงานที่ปฏิบัติงานด้านการปราบปราม คือ หน่วยงานที่อยู่ในศูนย์อำนวยการป้องกันและปรามการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) และ 4. หน่วยงานที่ดูแลด้านกฎหมาย ทั้งนี้ในที่ประชุมได้ให้หน่วยงาน 2 กลุ่มแรก สรุปผลการทำงานของแต่ละหน่วยงานที่ผ่านมา รวมถึงปัญหาที่เกิดขึ้นว่าติดขัดอย่างไร และให้เสนอกลับมายังตนภายใน 15 พ.ค.นี้ ว่าจะมีแนวทางการจัดการกับปัญหาและข้อขัดข้องอย่างไร

อย่างไรก็ตาม จากที่พูดคุยเบื้องต้นพบ 2 ปัญหาใหญ่ คือ การบุกรุกที่ดินโดยมีเอกสารสิทธิ และการบุกรุกที่ดินโดยไม่มีเอกสารสิทธิ ซึ่งที่ดินที่เชื่อว่ามีการบุกรุกแต่มีเอกสารสิทธินั้น เจ้าหน้าที่รัฐต้องเข้าไปดูเจตนาของผู้ครอบครองที่ดินว่ามีเจตนาอย่างไร และต้องตรวจสอบเอกสารสิทธิว่าถูกต้องหรือไม่ อย่างไรก็ตาม หากใครที่มีเอกสารสิทธิและมั่นใจว่าถูกต้องก็ขอให้เข้ามาชี้แจงกับเจ้าหน้าที่ได้เลย ไม่ต้องรอให้เจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบ

รมว.ยุติธรรมกล่าวอีกว่า สำหรับเอกสารสิทธิที่ได้มาจากหน่วยงานของรัฐ บางครั้งอาจมีเจ้าหน้าที่เข้าไปเกี่ยวข้องในการออกเอกสารสิทธิ ซึ่งต้องให้ความเป็นธรรมกับเจ้าของที่ดิน เช่น กรณีที่ซื้อที่ดินมาจากกรมบังคับคดี แต่ขณะนี้ยังไม่สามารถตอบได้ว่าจะให้ความเป็นธรรมได้ในรูปแบบใด และเป็นเรื่องของหน่วยงานที่ต้องพูดคุยร่วมกัน เพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างเป็นระบบ โดยต้องแยกให้ชัดเจนระหว่างที่ดินที่มีเอกสารสิทธิกับไม่มีเอกสารสิทธิ ถ้าไม่มีเอกสารสิทธิก็ชัดเจนว่าไม่ถูกต้องและมีความผิด ในส่วนที่มีเอกสารสิทธิก็ต้องดูว่าออกเอกสารสิทธิชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังพบว่าแต่ละหน่วยงานยังมีปัญหาขาดแคลนบุคลากรเฝ้าระวังการบุกรุกพื้นที่ป่าทั่วประเทศ โดยในส่วนของ ทส.มีจุดเฝ้าระวังการบุกรุกพื้นที่ป่า จำนวน 521 จุด รวมถึง ส.ป.ก.ด้วย ซึ่งเราอาจประสานให้ มท.นำผู้ใหญ่บ้านและกำนันในพื้นที่เข้าไปร่วมดูแลเรื่องดังกล่าวด้วย อย่างไรก็ตาม ในวันนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังคงทำหน้าที่เหมือนเดิม ยังไม่จำเป็นต้องตั้งชุดเฉพาะกิจเข้ามาดูแลโดยเฉพาะ

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า ปัญหาการบุกรุกเกิดขึ้นจากการออกเอกสารสิทธิซึ่งแต่ละหน่วยงานใช้ข้อมูลแผนที่ไม่เหมือนกันจะแก้ปัญหาอย่างไร พล.อ.ไพบูลย์กล่าวว่า เรื่องนี้ได้มีการหารือในที่ประชุมด้วย โดยหลังจากนี้จะเรียกหน่วยงานที่มีข้อมูลนี้มาประชุมเพื่อกำหนดแนวเขตพื้นที่ป่าให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน และใช้แผนที่เดียวกันในการตรวจสอบ เพื่อจะได้ไม่เกิดปัญหาข้อโต้แย้งว่าแนวเขตของแต่ละที่ไม่ตรงกัน อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ประชาชนรับรู้ทางเราก็รับรู้เช่นกัน แต่ปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นมากว่า 20 ปี จึงจะต้องค่อยๆ แก้ไขและจัดระบบให้ดีขึ้น

เมื่อถามอีกว่า ถ้าเจ้าของที่ดินซื้อที่ดินกับหน่วยงานของรัฐ เช่น กรณีของกรมบังคับคดี จะต้องจ่ายเงินเยียวยาให้กับเจ้าของที่ดินหรือไม่ พล.อ.ไพบูลย์กล่าวว่า ยังไม่สามารถให้คำตอบได้ว่าจะจ่ายเงินเยียวยาหรือเยียวยาในรูปแบบใด แต่ยืนยันว่าจะต้องให้ความเป็นธรรม ทั้งนี้จะสามารถตอบได้หลังได้รับข้อมูลทั้งหมดในวันที่ 15 พ.ค.นี้

สำหรับกรณีพื้นที่ที่กลุ่มผู้มีอิทธิพลครอบครองอยู่นั้นจะต้องดำเนินการอย่างไร พล.อ.ไพบูลย์กล่าวว่า หากเจ้าหน้าที่ตรวจสอบที่ดินของผู้มีอิทธิพลครอบครองก็ต้องมารายงานและรัฐบาลจะช่วยลงไปดูแล เพราะบางกรณีไม่ใช่เจ้าหน้าที่ไม่อยากทำแต่เกรงกลัวถูกกลุ่มผู้มีอิทธิพลข่มขู่ ซึ่งเราไม่ได้ตำหนิเจ้าหน้าที่ว่าปล่อยปละละเลย และเราทราบว่ามีปัญหาเกี่ยวกับกลุ่มผู้มีอิทธิพลในพื้นที่



กำลังโหลดความคิดเห็น