xs
xsm
sm
md
lg

“ไพบูลย์” เตือนพระระดับเจ้าคณะใหญ่ถึงเจ้าอาวาสถือเป็นพนักงานรัฐ ห้ามรับทรัพย์เกิน 3 พัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“ไพบูลย์” ปฏิเสธ กก.ปฏิรูปพระพุทธศาสนาฯ เสนอนายกฯ เก็บภาษีพระ ให้เจ้าอาวาสมีวาระ 5 ปี แถมไม่เห็นด้วยกับสิ่งเหล่านี้ ขณะเดียวกัน เตือนพระระดับปกครองตั้งแต่เจ้าคณะใหญ่จนถึงเจ้าอาวาส ถือเป็นเจ้าพนักงานรัฐ ห้ามรับทรัพย์สินเกิน 3 พัน ฝ่าฝืนผิดกฎหมาย ป.ป.ช.



นายไพบูลย์ นิติตะวัน สมาชิกาสภาปฎิรูปแห่งชาติ (สปช.) ในฐานะประธานคณะกรรมการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธศาสนา สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) แถลงข่าวปฏิเสธกรณีมีพระสงฆ์ไปเผยแพร่ว่าคณะกรรมการฯชุดนี้เสนอนายกรัฐมนตรี จำนวน 3 ข้อ คือ 1. ให้มีการเรียกเก็บภาษีพระที่มีรายได้เกิน 20,000 บาทต่อเดือน 2. รัฐควรมีมาตรการลงโทษพระสงฆ์ที่กระทำความผิดอย่างรุนแรง 3. ควรให้มีการกำหนดหลักเกณฑ์ว่าเจ้าอาวาสควรมีวาระในการดำรงตำแหน่ง 5 ปี ยืนยันว่าทั้ง 3 ข้อไม่ใช่ข้อเสนอของคณะกรรมการฯ แต่เป็นของ สปช.คนหนึ่งที่แสดงความเห็นส่วนตัวในการอภิปรายตอนที่คณะกรรมการฯ ชุดนี้ได้เสนอรายงานผลการพิจารณาศึกษาการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธศาสนา ต่อที่ประชุม สปช. ซึ่งได้มีการรวบรวมความเห็นทั้งหมดทั้งในส่วนของคณะกรรมการฯ สมาชิก สปช.ที่อภิปราย ก่อนสรุปเป็นรายงานนำเสนอต่อนายกรัฐมนตรี พระสังฆาธิการ

นายไพบูลย์กล่าวว่า ในส่วนของคณะกรรมการฯ ไม่เห็นด้วยต่อการเก็บภาษีพระ เพราะจะเป็นการส่งเสริมให้พระไปทำธุรกิจและแสวงหากำไร เพื่อนำเงินไปเสียภาษี ตรงนี้จะขัดต่อพระธรรมวินัยที่ไม่ให้พระมุ่งแสวงหากำไร ส่วนเรื่องกำหนดวาระการดำรงตำแหน่งของเจ้าอาวาสควรอยู่ที่ 5 ปีนั้น คณะกรรมการฯ ก็ไม่เห็นด้วย เพราะเห็นว่าพระควรต้องอยู่กับชุมชน และร่วมพัฒนาพื้นที่กับชาวบ้าน ส่วนในเรื่องบทลงโทษให้รุนแรงขึ้นก็เห็นว่าไม่มีความจำเป็น เพราะมีเรื่องอาบัติและการปาราชิกควบคุมอยู่

นายไพบูลย์กล่าวว่า ขอฝากเตือนไปถึงพระสังฆาธิการ หรือพระสงฆ์ผู้มีตำแหน่งในการปกครองคณะสงฆ์ไทย ที่ประกอบด้วย 1. เจ้าคณะใหญ่ 2. เจ้าคณะภาค รองเจ้าคณะภาค 3. เจ้าคณะจังหวัด รองเจ้าคณะจังหวัด 4. เจ้าคณะอำเภอ รองเจ้าคณะอำเภอ 5. เจ้าคณะตำบล รองเจ้าคณะตำบล 6. เจ้าอาวาส รองเจ้าอาวาส ผู้ช่วยเจ้าอาวาส ที่ในประมวลกฎหมายอาญาได้บัญญัติให้เป็น “เจ้าพนักงาน” โดยอาศัยการตีความจากศาลฎีกา ในคำพิพากษาฎีกาที่ 2003-1005/2500 และคำพิพากษาฎีกาที่ 2003-2005/2500 ดังนั้น จึงห้ามพระสังฆาธิการรับทรัพย์สินเกิน 3,000 บาท หากเกินวงเงินดังกล่าวต้องนำทรัพย์สินมอบให้วัด และหากฝ่าฝืนก็จะผิด พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 103 พร้อมทั้งเสนอให้พระสังฆาธิการเปิดเผยทรัพย์สิน เนื่องจากเงินตราเปรียบเป็นเหมือนอสรพิษของพระสงฆ์


กำลังโหลดความคิดเห็น