xs
xsm
sm
md
lg

ทีมปรองดอง สปช.โยนรัฐบาลหน้าดู “นช.แม้ว” เข้าข่ายนิรโทษกรรมได้หรือไม่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ผู้ต้องขังหลบหนีคำพิพากษาศาลฎีกา (แฟ้มภาพ)
กรรมการศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดอง สปช. ชี้พวกหนีคดีไปอยู่ต่างประเทศ หากไม่อยู่ในความผิดคดีโกง-หมิ่นสถาบัน และละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรงก็เข้าข่ายนิรโทษกรรมได้ โยนรัฐบาลหน้าพิจารณา “ทักษิณ” หากไม่เข้าข่ายก็ปล่อยผีได้ จ่อเชิญญาติหรือผู้ได้รับผลกระทบเหตุชุมนุมการเมืองมาคุยมาตรการเยียวยา และสำนักผิด ให้อภัย กำลังดูอยู่ปีไหนบ้าง

วันนี้ (22 ก.ค.) ที่รัฐสภา นายบัณฑูรย์ เศรษฐศิโรตม์ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ในฐานะกรรมการศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดอง สปช.เปิดเผยว่า หลังจากที่ที่ประชุม สปช.ได้ให้ความเห็นชอบรายงานการศึกษาและข้อเสนอแนะการสร้างความปรองดองแล้ว เมื่อวันที่ 21 ก.ค.ที่ผ่านมา คณะกรรมการฯ ยังมีเวลาทำงานเพื่อพิจารณาและดำเนินการปรับปรุงเนื้อหาของรายงานตามที่ สปช.อภิปรายนำเสนอ อีกประมาณ 7 วันตามข้อบังคับการประชุม สปช.ที่กำหนดไว้ และเมื่อครบเวลาจะส่งให้นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธาน สปช.เพื่อพิจารณาส่งไปยังรัฐบาลให้พิจารณาต่อไป

สำหรับเนื้อหาการอภิปรายของ สปช.ในประเด็นต่างๆ นั้น นายบัณฑูรย์กล่าวว่า เบื้องต้นเป็นข้อเสนอที่ระบุไว้ในรายงานอยู่แล้ว ส่วนกรณีที่มีข้อเสนอให้นิรโทษกรรมกับตัวบุคคล อาทิ ผู้ที่หลบหนีไปต่างประเทศนั้น คงไม่นำมาพิจารณาแก้ไขปรับปรุง เพราะแนวทางหลักของการสร้างความปรองดองหากจะเป็นการนิรโทษกรรมบุคคลต้องเป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับคดีมูลเหตุจูงใจทางการเมืองเท่านั้น หากผู้ที่หลบหนีไปต่างประเทศซึ่งไม่อยู่ในฐานความผิดคดีทุจริตคอร์รัปชัน, คดีหมิ่นสถาบัน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง ก็สามารถพิจารณาเรื่องการนิรโทษกรรมได้ โดยสาระสำคัญของรายงานไม่ได้เน้นที่ตัวบุคคล แต่เป็นเรื่องทางคดีหาก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ที่หลบหนีคดีอยู่ต่างประเทศ ไม่ได้มีคดีที่เข้าข่ายฐานความผิดที่ได้ระบุไปแล้วก็สามารถที่จะพิจารณานิรโทษกรรมได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของรัฐบาลที่จะพิจารณา

นายบัณฑูรย์กล่าวด้วยว่า สำหรับการทำงานของคณะกรรมการฯ ยังมีเวลาอีกประมาณ 1 เดือน เบื้องต้นได้หารือร่วมกันว่าจะทำกิจกรรม ที่เกี่ยวกับการเชิญญาติที่สูญเสีย หรือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมืองมาร่วมแลกเปลี่ยนความเห็นเพื่อที่หามาตรการว่าด้วยการเยียวยา และแนวทางของการสำนึกผิดและให้อภัย ทั้งนี้ยังอยู่ระหว่างหารือว่าจะกำหนดหลักเกณฑ์ เช่น ผู้ที่ถูกผลกระทบทางการเมืองช่วงการชุมนุมในปีใด
กำลังโหลดความคิดเห็น