เลขาฯ วิป สปช.เผยกำหนดการหลังประกาศใช้ รธน.แก้ไข ส่งมอบพิมพ์เขียวปฏิรูปให้รัฐบาล 11 ส.ค. ลงมติโหวตรัฐธรรมนูญ ต้น ก.ย. ระบุ กมธ.ยกร่างฯ ชงมาแล้วส่งร่างถึงมือ “เทียนฉาย” อังคารนี้ ส่วนคำถามที่ใส่ในประชามติจะประชุมเฉพาะหลังส่งงานรัฐ นัดประชุมเพิ่มจันทร์-พุธ คาดเสร็จ 4 ส.ค. เล็งตั้งชมรมหลังหมดวาระ สั่งสมาชิกแถลงในนาม สปช.ต้องผ่านวิปฯ สอนสื่อใครเสนอความเห็นส่วนตัวให้ใช้ชื่อพาดหัวแทนองค์กร
วันนี้ (16 ก.ค.) ที่รัฐสภา นายอลงกรณ์ พลบุตร เลขานุการกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภาปฏิรูปแห่งชาติ (วิป สปช.) แถลงข่าวว่า หลังจากรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2557 ฉบับแก้ไข พ.ศ. 2558 ประกาศใช้ ส่งผลให้ สปช.ต้องเร่งปฏิบัติภารกิจใน 3 ประเด็น คือ 1. จัดทำพิมพ์เขียวปฏิรูป ซึ่งนายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธาน สปช. กำหนดให้วันที่ 11 ส.ค.นี้ สปช.จะส่งมอบพิมพ์เขียวปฏิรูปให้กับรัฐบาลและประชาชนอย่างเป็นทางการ โดยจัดขึ้น ณ โรงแรมเซ็นทารา เซ็นทรัลเวิลด์ ซึ่งจะมีประชาชนจากในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดร่วมกิจกรรมราว 700-1,000 คน
2. การลงมติให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ คาดว่าจะสามารถกำหนดวันลงมติได้ไม่เกินสัปดาห์แรกของเดือน ก.ย. ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการขยายเวลาการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญของคณะ กมธ.ยกร่างฯ จากเดิมที่ใช้เวลาพิจารณา 60 วัน สามารถขยายเวลาได้ไม่เกิน 30 วัน อย่างไรก็ตาม คณะ กมธ.ยกร่างฯ จะแจ้งวันส่งร่างรัฐธรรมนูญมายังประธาน สปช. ในวันอังคารที่ 21 ก.ค. นี้ และ 3. การเสนอคำถามในการประชามติที่จะต้องส่งคำถามภายในวันเดียวกันกับการลงมติให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งหลังจากการส่งมอบพิพม์เขียวปฏิรูปแล้วเสร็จ สปช.จะมีการนัดประชุมเป็นการเฉพาะ
ทั้งนี้ การประชุม สปช.ตั้งแต่สัปดาห์หน้าเป็นต้นไปจะมีการนัดประชุมทุกวันจันทร์ วันอังคาร และวันพุธ เพราะ สปช.ยังเหลือวาระการพิจารณาอีก 48 วาระ ซึ่งมีร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ไม่น้อยกว่า 22 ฉบับที่จะต้องพิจารณาประกอบวาระต่างๆ โดยการพิจารณารายงานการปฏิรูปและร่าง พ.ร.บ. คาดว่าจะเสร็จสิ้นภายในวันที่ 4 ส.ค.นี้ ส่วนรายงานการปฏิรูปที่มีความสำคัญ เช่น การปรองดอง ฯลฯ กำลังจะเข้าสู่การพิจารณาในวันอังคารที่ 21 ก.ค.นี้
“ท้ายที่สุดเมื่อ สปช.ปฏิบัติภารกิจเสร็จสิ้นจะมีการจัดตั้งชมรม สปช. ซึ่งนายเทียนฉายเห็นด้วยและสนับสนุนให้มีการจัดตั้งชมรมดังกล่าว โดยมีภารกิจสำคัญในการเผยแพร่พิมพ์เขียวปฏิรูปต่อไป” นายอลงกรณ์กล่าว
นายอลงกรณ์กล่าวว่า นับจากนี้การแถลงข่าวของ สปช.จะต้องผ่านความเห็นชอบของคณะ กมธ.วิสามัญประชาสัมพันธ์เพื่อการปฏิรูป เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความสับสนระหว่างข้อเสนอของ สปช. และข้อคิดเห็นส่วนตัวของสมาชิก สปช. นอกจากนี้ยังขอความร่วมมือจากสื่อมวลชนให้นำเสนอข่าวด้วยความชัดเจน โดยเฉพาะกรณีที่เป็นข้อคิดเห็นส่วนตัว ควรใช้ชื่อของสมาชิก สปช.ในพาดหัวข่าวแทนการใช้คำว่า “สปช.” เพราะจะก่อให้เกิดความเข้าใจผิดและกระทบต่อภาพลักษณ์ของ สปช.อีกด้วย