xs
xsm
sm
md
lg

การตรวจสอบการทุจริตประพฤติมิชอบของ สปสช. และข้อเสนอในการแก้ปัญหา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา

พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา
ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ กรรมาธิการสาธารณสุข สภานิติบัญญัติแห่งชาติ


วันที่ 25 มิถุนายน 2558 มีประกาศของหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 19/2558 เด้งข้าราชการทั้งหมด 71 ราย [1] โดยเลขาธิการสปสช.มีรายชื่ออยู่ในกลุ่มที่ 1 ระงับการปฏิบัติราชการในตำแหน่งเดิมเป็นการชั่วคราวและไปปฏิบัติราชการใน ตำแหน่งประจำสำนักงานปลัดกระทรวงที่สังกัดโดยไม่ขาดจากอัตราเงินเดือนทาง สังกัดเดิมและให้ปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐมนตรีเจ้าสังกัดมอบหมาย ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีจะมีคำสั่งให้ผู้นั้นไปปฏิบัติหน้าที่ในส่วนราชการหรือหน่วยงาน อื่นของรัฐเป็นการชั่วคราวได้

หลังจากที่มีข่าวนี้แล้ว ปรากฏว่ามีผู้ออกมาแสดงความเห็นคัดค้านหรือไม่เห็นด้วยกับคำสั่งคสช.ฉบับนี้มากมายจากผู้ที่ทำงานร่วมกับ นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสปสช. เริ่มจากเจ้าหน้าที่ในสปสช. [2] และเลขาธิการสปสช.เองได้ยืนยันว่าตนเองทำงานเพื่อประชาชนมาตลอด

ต่อมาก็ปรากฏข่าวว่า นพ.วิชัย โชควิวัฒน์ กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ดสปสช.) รองประธานกรรมการคนที่ 2 สสส. ได้ออกมา “รับรอง”ว่านพ.วินัย สวัสดิวรไม่ได้ทำผิด และยังใส่ร้ายว่า “เกลือเป็นหนอน”หมายความว่า นพ.วิชัย โชควิวัฒน์เชื่อว่าคนรอบตัวหัวหน้าคสช.ต้องการ “เอาคืน” กรณีที่ปลัดกระทรวงสาธารณสุขถูกย้ายออกจากตำแหน่ง โดยเขาเชื่อว่าปลัดกระทรวงฯ ทำผิดจริง ในขณะที่เขาก็รับรองว่าเลขาธิการสปสช.ไม่ได้ทำผิดอะไร และต้องการเสนอให้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาทบทวนคำสั่งย้ายเลขาธิการสปสช. [3]

ในวันที่ 26 มิถุนายน 2558 ภายหลังคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 19/2558 เพียง 1 วัน นพ.มงคล ณ สงขลา [4] อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขในยุค คมช. (รัฐบาลนายกรัฐมนตรีพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์) ได้ออกมาเขียนแสดงความคิดเห็นในเฟซบุ๊กส่วนตัวว่าเขาเป็นห่วงคนที่ไม่รวยจริง คนที่เป็นมะเร็ง คนไตวาย คนติดเชื้อเอดส์ ผู้ป่วยเรื้อรังต่างๆที่อาศัยระบบ 30 บาทอยู่ว่าจะเดือดร้อน เพราะ นพ.มงคล ณ สงขลา “มโน”หรือคิดไปเองว่า การย้ายเลขาธิการ สปสช.เป็นสัญญาณที่จะ “ล้ม” โครงการที่จะช่วยเหลือคนจน และปกป้อง นพ.วินัย สวัสดิวรว่าทำทุกอย่างภายใต้การกำกับของบอร์ด ซึ่งความเห็นของ นพ.มงคล ณ สงขลา เห็นว่าการที่หัวหน้า คสช. สั่งย้าย นพ.วินัย สวัสดิวรในครั้งนี้เป็นการ “หลงอำนาจ”ของหัวหน้าคสช.ที่นับวันจะรุนแรงมากขึ้น

แต่การวิพากษ์วิจารณ์คำสั่งหัวหน้า คสช.ของ นพ.มงคล ณ สงขลานี้ ก็นับว่ามีประโยชน์ ในการชี้ประเด็นว่ารัฐบาลควรจะต้องตรวจสอบการทำงานของคณะกรรมการหลักประกันสุชภาพแห่งชาติ ที่ทำหน้าที่ “กำกับ” การทำงานของเลขาธิการ สปสช.อีกต่อหนึ่ง กล่าวคือลูกน้องทำผิด เจ้านาย(หรือผู้กำกับการทำงาน)ก็ต้องร่วมรับผิดชอบในความผิดนั้นๆ ด้วย

ต่อมาในวันที่ 3 กรกฎาคม 2558 มีข่าวในไทยรัฐฉบับพิมพ์ว่า นพ.ประเวศ วะสี [5] ได้ออกมาให้ความเห็นว่าการปฏิรูปสุขภาพใช้สมอง ไม่ก่อบาป” โดย นพ.ประเวศ วะสีได้กล่าวถึง “ที่มา” หรือ “การกำเนิดองค์กรอิสระในทางสาธารณสุข” ที่เขารวมเรียกว่า “องค์กรตระกูล ส.” เริ่มจากสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ในปี พ.ศ.2535 (ผู้เขียน) ต่อด้วยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ในปีพ.ศ.2544 (ผู้เขียน) และต่อมาคือสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ในปีพ.ศ. 2545(ผู้เขียน) และสำนักงานสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ในปีพ.ศ. 2550 (ผู้เขียน)

โดย นพ.ประเวศ วะสี ได้กล่าวว่าการตั้งองค์กรตระกูลส. ขึ้นมาตาม พ.ร.บ.เฉพาะนั้น เป็นเพราะแนวความคิดที่ว่าระบบราชการเป็นระบบที่รวมศูนย์อำนาจไว้ที่ส่วนกลาง ไม่ใช่ระบบที่เอาประชาชนเป็นตัวตั้ง ประชาชนจะได้อะไรหรือไม่ได้อะไรสุดแต่ทางราชการจะจัดให้หรือไม่ให้ ระบบราชการเป็นระบบที่รวมศูนย์อำนาจไว้ที่ส่วนกลาง ไม่ว่ากระทรวงใดๆก็มีประสิทธิภาพต่ำที่จะสนองประโยชน์ประชาชน เพราะเป็นระบบอำนาจไม่ใช่ระบบแนวทางประชาชน

นพ.ประเวศ วะสียังได้กล่าวอีกว่า พื้นฐานความคิดเรื่องหลักประกันสุขภาพก็คือ การปฏิรูปให้ประชาชนมีศักดิ์ศรี เดิมทั้งผู้ให้บริการและผู้ดูแลรายจ่ายงบประมาณรวมอยู่ในที่เดียวกันคือกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งใช้อำนาจรวมศูนย์จึงขาดประสิทธิภาพ และเขายังกล่าวอีกว่า การใช้อำนาจรวมศูนย์ทำให้ประชาชนมีเกียรติน้อย มีอำนาจต่อรองน้อย

เขาจึงเป็นผู้รู้เรื่องราวเบื้องหลังของการจัดตั้งองค์กรตระกูลส. คือ สวรส.ตามการ “ตกผลึกของผู้ร่วมก่อตั้ง” เห็นว่าควรเป็นองค์กรของรัฐที่เป็นอิสระ

ผู้เขียนเห็นว่า นพ.ประเวศ วะสี ได้ออกมาเปิดเผยข้อมูลการก่อตั้งองค์กรภาครัฐที่เป็นอิสระจากหน่วยงานราชการ แต่อาศัยอยู่ภายใต้ชายคาของหน่วยงานนั่นเอง พอ “แข็งแรง”ขึ้นแล้วก็ขยายองค์กรให้ใหญ่โตขึ้นตามลำดับ และแยกย้ายกันไปสร้าง “อาณาจักร”ในที่ใหม่ให้ใหญ่โตกว่าเดิม มีเครือข่ายเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และสมาชิกตามอุดมการณ์เดียวกันก็เพิ่มมากขึ้นไปเรื่อยๆ

เขียนมาถึงตรงนี้แล้ว ท่านผู้อ่านคงไม่แปลกใจที่การทำงานของกระทรวงสาธารณสุขและ สปสช.จึงสอดคล้องกันมากใน ครม. ชุดนี้ เนื่องจาก ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์รองนายกรัฐมนตรีเข้าข้างกลุ่มองค์กรอิสระตามแนวคิดของ นพ.ประเวศ วะสี และเขา รองนายกรัฐมนตรีถึงกับกล่าวว่า คตร.พบความบกพร่องในการปฏิบัติงานของ สปสช. แต่เขาได้ตั้งคณะทำงานเพื่อมาสอบสวนต่ออีก โดยอ้างว่าเพื่อให้เกิดความชัดเจน [6] อันแสดงให้เห็นว่า ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ ไม่ยอมรับการทำงานของ คตร. ทั้งๆ ที่ คตร.พบ”พิรุธ” ในการทำงานของสปสช.แล้ว และเขาบอกว่าจะรายงานเรื่องนี้ให้ ครม.รับทราบในกลางเดือนมิถุนายน ซึ่งผู้เขียนไม่ทราบว่าท่านได้รายงาน ครม.หรือไม่/อย่างไร

แต่ในกรณีของปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์นั้น ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ เลือกที่จะขอให้นายกรัฐมนตรีสั่งย้ายปลัดออกไปก่อนสอบสวน [7] ซึ่งจะเห็นได้ว่าดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์มีอคติต่อปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวคือไม่รับฟังว่าที่ขัดแย้งกับรัฐมนตรีนั้นมีเหตุผลอันสมควรหรือไม่/อย่างไร

ส่วน นพ.วิจารณ์ พานิช [8] นั้นก็มีการขัดกันแห่งผลประโยชน์ (Conflict of interest) มากมาย โดยดำรงตำแหน่ง เป็นกรรมการ สสส.ในฐานะผู้ทรงคุณวุฒิ เป็นกรรมการนโยบายสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข เป็นกรรมการบริหารมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติและองค์กรอื่นๆ อีกมากที่ส่วนมากเกี่ยวข้องกับองค์กรตระกูลส.และเป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัยมหิดล ในตำแหน่งนายกสภามหาวิทยาลัย ส่วน นพ.ประเวศ วะสีก็คือผู้นำในการก่อตั้งและบริหารงานในสวรส.และองค์กรตระกูลส.อื่น รวมทั้งเป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัยมหิดลด้วย และ นพ.รัชตะ รัชตนาวินก็คืออดีตอธิการบดีที่ร่วมงานกับ นพ.วิจารณ์ พานิช นพ.ประเวศ วะสี ซึ่งต่างก็เป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัยมหิดล

เราจึงเห็นข่าวว่ารองนายกฯ ยงยุทธ ยุทธวงศ์ออกมาให้ความเห็นในทางสนับสนุนการทำงานของรัฐมนตรีสาธารณสุขและ สปสช.มาตลอด ตัวอย่างการขัดกันแห่งผลประโยชน์ ที่รมว. และ รมช.สาธารณสุขได้ทำไปแล้วคือการแต่งตั้ง นพ.วิจารณ์ พานิช เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ขณะนี้ ป.ป.ช. ได้ดำเนินการตั้งไต่สวน นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน และ นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ กรณีเร่งรัดการแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาและคัดเลือกกรรมการ ที่มีผลประโยชน์ทับซ้อน และเร่งรัดดำเนินการสรรหาโดยไม่กลั่นกรองคุณสมบัติเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน [9] (ซึ่งก็คือ นพ.วิจารณ์ พานิช นั่นเอง)

นพ.ประเวศ วะสี [10] ยังกล่าวอีกว่า องค์กรส. เป็นเครื่องมือของกระทรวงสาธารณสุข แต่กระทรวงสาธารณสุขเป็นองค์กรที่อยู่สูงกว่า องค์กรส. ไม่ควรจะมาเป็นคู่ขัดแย้งกัน กล่าวคือกระทรวงสาธารณสุขเป็นองค์กรนโยบายที่กำหนดนโยบายให้ องค์กรส. ซึ่งเป็นองค์กรปฏิบัติรับไปปฏิบัติ เช่น จะให้ สวรส. วิจัยเรื่องอะไร จะให้ สปสช.จะสนับสนุนระบบบริการสุขภาพอย่างไร ประชาชนจะได้ประโยชน์สูงสุด สสส.ต้องทำอะไรบ้างคนไทยจึงจะมีสุขภาพดีได้เต็มประเทศ

สิ่งที่ นพ.ประเวศ วะสีกล่าวในข่าวนี้ เป็นสิ่งที่เขา “ต้องการให้เกิดขึ้น” จริงหรือไม่? แต่ในทางปฏิบัติแล้ว องค์กรส. ทั้งหลายกลับใช้อำนาจเหนือกฎหมายทำหน้าที่เป็นองค์กรที่ “ออกคำสั่ง”ให้กระทรวงสาธารณสุขทำตาม คือทำหน้าที่กลับกันกับที่ นพ.ประเวศ วะสีกล่าว ตัวอย่าง เช่น สปสช.ทำการออกระเบียบและกฎเกณฑ์/ข้อบังคับให้กระทรวงสาธารณสุขและโรงพยาบาลหรือสถานพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขต้องทำตามข้อบังคับหรือระเบียบปฏิบัติตามประกาศของสปสช. ถ้าไม่ทำตามระเบียบหรือประกาศของ สปสช. แล้ว โรงพยาบาลหรือสถานพยาบาลทั้งหลายก็จะไม่สามารถเบิกเงินในการทำงานรักษาพยาบาลผู้ป่วยได้เลย จนทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ป่วยตามการวิจัยของ TDRI [11] และเขายังกล่าวอีกว่า การเป็นองค์กรนโยบายได้จะต้องมีปัญญาสูงสุดหรือสมองก้อนโตที่รู้ทั้งหมด สามารถสังเคราะห์นโยบายและบริหารนโยบายได้ ต้องเชื่อมโยงทั้งในและนอกกระทรวงเพื่อให้การพัฒนาทั้งหมดเป็นประโยชน์สุขแก่คนไทยทั้งมวล ซึ่งหลักการและกฎหมายควรจะต้องเป็นเช่นนั้น ก็จะทำให้ไม่มีความขัดแย้งเกิดขึ้น ระหว่างกระทรวงสาธารณสุขและสปสช.และประชาชนจะได้ประโยชน์สูงสุด

แต่ความจริงที่เกิดขึ้นก็คือสปสช.ไม่ให้ความร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุข โดยปลัดกระทรวงที่เป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดของข้าราชการประจำ ได้รับฟังปัญหาอุปสรรคของการปฏิบัติงานของข้าราชการในโรงพยาบาลและสถานพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุขทั่วประเทศว่า โรงพยาบาลและสถานพยาบาลส่วนมากได้รับงบประมาณในการดูแลรักษาผู้ป่วยในระบบ 30 บาทไม่เพียงพอ เกิดปัญหาขาดดุลงบประมาณจนขาดสภาพคล่อง มีความเสี่ยงต่อการล้มละลาย(เจ๊ง) และต้องการให้สปสช.แก้ไขการบริหารจัดการใหม่ เพื่อให้โรงพยาบาลและสถานพยาบาลได้รับงบประมาณที่เพียงพอ เพื่อที่จะสามารถทำงานดูแลรักษาประชาชนได้อย่างมีคุณภาพมาตรฐาน แต่สปสช.และคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด)สปสช. ไม่รับฟังและแก้ไข ในขณะที่ นพ.รัชตะ รัชตนาวินในตำแหน่งประธานบอร์ด สปสช.ไปสั่ง นพ.รัชตะ รัชตะนาวินในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขให้รายงานไปที่ ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ รองนายกรัฐมนตรี เพื่อไปรายงานให้นายกรัฐมนตรีเซ็นคำสั่งย้ายปลัดกระทรวงออกจากการทำงาน ในข้อหาไม่สนองนโยบายรัฐมนตรี จนเกิดการร้องเรียนให้มีการตรวจสอบการทุจริตประพฤติมิชอบของสปสช.และน่าจะเป็นที่มาของคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 19/2558 ดังที่ปรากฏเป็นข่าวดังกล่าวแล้ว

สิ่งที่ นพ.ประเวศ วะสีพูดทั้งหมด [12] เป็นการรับรองอย่างเปิดเผยต่อสาธารณชนว่า เขาเป็นผู้ที่ร่วมก่อตั้งองค์กรตระกูลส. และร่วมงานกันอย่างใกล้ชิดกับ สกว. สวทช. และรองนายกรัฐมนตรี ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน และเขายังสนิทสนมคุ้นเคยกันดีกับ นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ (ผู้ดำรงตำแหน่งรมช.สาธารณสุขคนปัจจุบัน) จากการร่วมก่อตั้งมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ [13] โดยนพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์นี้คือผู้ปฏิเสธการรัฐประหารและเอาเลือกตั้งโดยการประกาศตัวเข้าร่วมกับขบวนการ “2เอาและ2 ไม่เอา” [14] แต่พอคสช.ทำการรัฐประหารสำเร็จ นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ที่ประกาศ “ไม่เอารัฐประหาร” กลับมา “เอา”ตำแหน่งรัฐมนตรีในรัฐบาลที่มาจากรัฐประหาร แบบสุภาษิตไทยว่า “เกลียดตัวกินไข่ เกลียดปลาไหลกินน้ำแกง”

นพ.ประเวศ วะสี ยังพูดอีกว่า “เราต้องร่วมกันสร้างประเทศไทยให้เป็นประเทศน่าอยู่ที่สุด เราทำไม่ได้ในภพภูมิเก่า ซึ่งเป็นภพภูมิแห่งการคิดเชิงอำนาจและโครงสร้างอำนาจทางดิ่ง ซึ่งเป็นภพภูมิที่ทำให้มีความบีบคั้น พฤติกรรมเบี่ยงเบน ทำร้ายกันสูงเราต้องการศีลธรรมใหม่ และการปฏิวัติสัมพันธภาพด้วยกัลยาณมิตรธรรม”

“ศีลธรรมใหม่” คือการเคารพศักดิ์ศรีและคุณค่าของความเป็นคนของคน โดยเฉพาะคนเล็กคนน้อยคนยากคนจน การปฏิรูประบบสุขภาพในประเทศไทยเป็นเรื่องใหญ่ ต้องใช้ความจริง ความเป็นเหตุเป็นผล คำนึงถึงประโยชน์ของประชาชนเป็นตัวตั้ง”

ผู้เขียนขอสรุปจากการที่ว่าพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคสช.และนายกรัฐมนตรีได้ออกคำสั่งที่ 19/2558 นั้นท่านได้ยึดหลักการว่า “ผลประโยชน์ของประชาชนเป็นตัวตั้ง” อย่างแน่นอน เพราะนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรคนั้นเป็นนโยบายประชานิยมที่ดีมากในการที่จะช่วยเหลือประชาชนที่ยากจน ให้มีโอกาสได้รับการดูแลรักษาตัวเมื่อเจ็บป่วยอย่างเสมอภาคและเป็นธรรมเหมือนประชาชนที่ไม่ยากจน แต่การบริหารจัดการในระบบ 30 บาทนั้นมีปัญหาการทุจริตประพฤติมิชอบ และเกิดผลเสียหายแก่ผู้ป่วยมากมายดังตัวอย่างที่กล่าวแล้ว จึงสมควรที่จะต้องได้รับการตรวจสอบอย่างรอบคอบ เพื่อแก้ไขปัญหาความเสียหายแก่ประชาชนและงบประมาณแผ่นดินอย่างเร่งด่วนที่สุด

เปรียบเหมือนนโยบายประชานิยมอีกอย่างหนึ่ง คือโครงการรับจำนำข้าวในรัฐบาลนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ตั้งเป้าหมายว่าจะช่วยเหลือชาวนาที่ยากจน แต่เกิดความเสียหายจากการทุจริตคอรัปชั่น จึงต้องรีบยุติโครงการนั้น และตรวจสอบแก้ไขและยุติโครงการนั้นทันที

แต่สำหรับระบบ 30 บาทนั้น ผู้เขียนขอเสนอแนวทางแก้ไขเร่งด่วนดังนี้คือ
การเริ่มต้นแก้ปัญหาต้องเริ่มจากการบริหารกองทุนตามหลักธรรมาภิบาล
กล่าวคือ

1.ยึดหลักกฎหมาย (นิติธรรม)
2.ยึดหลักคุณธรรม (เห็นความสำคัญของชีวิตผู้ป่วย
3.ยึดหลัก ความถูกต้อง (ยึดหลักมาตรฐานวิชาชีพ)
4.ยึดหลักความมีส่วนร่วม (รับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน เพื่อนำไปแก้ไข)
5.ยึดหลักความโปร่งใส (สุจริต ตรวจสอบได้ ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน)
6 ยึดหลักความรับผิดชอบ (เมื่อทำผิดก็ควรแสดงความรับผิดชอบ เช่นออกมาขอโทษประชาชน และลาออกจากตำแหน่ง เพื่อให้ผู้ที่มีความสามารถมาแก้ไขระบบทันที)

แต่ถ้าคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ไม่แก้ไขและไม่แสดงความรับผิดชอบ หัวหน้าคสช.ควรพิจารณาใช้มาตรา 44 ออกคำสั่งให้คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติยุติการปฏิบัติหน้าที่โดยทันที

การแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วนที่สุดพร้อมๆกับการตรวจสอบทุจริตประพฤติมิชอบก็คือ การที่คสช.ควรตั้งคณะกรรมการปฏิรูปการประกันสุขภาพโดยด่วนที่สุด เพื่อดำเนินการให้ประชาชนได้รับสิทธิในการไปรับการดูแลรักษาในระบบ 30 บาทเหมือนเดิม

แต่ขอร้องว่า อย่านำเอาผู้ที่มีรายชื่อเป็นและเคยเป็นกรรมการหรือผู้บริหารและที่ปรึกษาขององค์กรตระกูลส.เข้ามาเป็นกรรมการ เนื่องจากเป็นผู้ร่วมก่อปัญหามาโดยตลอด เพราะเป็นกลุ่มเดียวกันที่อาจมีส่วนโยงใยกับผลประโยชน์จากการบริหารกองทุนตระกูลส.ทั้งหมด

หมายเหตุ :
[1] http://www.hfocus.org/content/2015/06/10254 บิ๊กตู่ ใช้ ม.44 เด้ง 71 ขรก. ‘เลขาธิการ สปสช.-นพ.สสจ.ศรีสะเกษ-ผอ.รพ.สงขลา’ โดนด้วย
[2] http://www.dailynews.co.th/article/330924 (คลิป) จนท.สปสช.ให้กำลังใจ “นพ.วินัย”
[3] http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9580000073147 “หมอวิชัย" โดดป้องบิ๊กสปสช.
[4] http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1435314212 หมอมงคล ณ สงขลา โพสต์กรณีเด้งเลขาสปสช. ชี้ "ยิ่งนานไปการหลงในอำนาจจะรุนแรงมากขึ้น"
[5] https://www.thairath.co.th/content/508914 ปฏิรูปสุขภาพ ใช้สมองไม่ก่อบาป
[6] http://www.manager.co.th/Politics/ViewNews.aspx?NewsID=9580000060286 “ยงยุทธ” พบพิรุธ สปสช.ใช้เงิน รอสอบให้ชัด
[7] http://www.hfocus.org/content/2015/03/9529 ‘ยงยุทธ’ ยัน สธ.ต้องทำงานเป็นทีม เผยปมสอบปลัด หาเหตุทำไมทำงานร่วมกันไม่ได้
[8] วิจารณ์ พานิช Wikipedia
[9] http://www.isranews.org/isranews-scoop/item/39551-nacc_1224_02.html ไขปม ป.ป.ช.สอบ'รัชตะ - สมศักดิ์' เร่งรัดตั้ง กก.สรรหาบอร์ด สวรส.
[10] https://www.thairath.co.th/content/508914 ปฏิรูปสุขภาพ ใช้สมองไม่ก่อบาป
[11] http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9580000072482 งานวิจัยของ TDRI ที่อาจจะทำให้คนไทยรอดตายเป็นจำนวนมากกับวัฒนธรรมแห่งการวิจารณ์และการวิจัย
[12] https://www.thairath.co.th/content/508914 ปฏิรูปสุขภาพ ใช้สมองไม่ก่อบาป
[13] http://www.thainhf.org/?module=page&page=detail&id=2 สาส์นจากประธานมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ
[14] http://www.tddf.or.th/political/detail.php?contentid=0001&postid=0007880¤tpage=6 ′เครือข่าย 2 เอา 2 ไม่เอา′ ออกแถลงการณ์ 4 ข้อ …′ค้านรัฐประหาร-หนุนเลือกตั้ง′ มั่นใจไม่นองเลือดหากทุกฝ่ายเคารพกติกา

กำลังโหลดความคิดเห็น