xs
xsm
sm
md
lg

บทความ

x

โรฮีนจา เกาหลีเหนือ และ อุยกูร์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: วริษฐ์ ลิ้มทองกุล

กลุ่มผู้ประท้วงกรณีอุยกูร์ในตุรกี (ภาพเอพี)
สัปดาห์ก่อนมีนักการทูตจีนโทรศัพท์คุยกับผมว่า ในช่วงเดือนสิงหาคมนี้กำลังจะเชิญสื่อมวลชนเดินทางไปที่มณฑลซินเจียง ถัดมาอีกไม่กี่วันก็เกิดเหตุสถานกงสุลใหญ่กิตติมศักดิ์ที่นครอิสตันบูล ประเทศตุรกี ถูกกลุ่มผู้ประท้วงบุกรุกเข้าไปทำลายทรัพย์สิน โดยอ้างว่าไม่พอใจกรณีที่ทางการไทยส่งตัวผู้ลี้ภัยชาวอุยกูร์ (Uyghurs) จำนวน 109 คนให้กับทางรัฐบาลของสาธารณรัฐประชาชนจีน

มีคนถามว่า ทำไมประเทศไทยจึงมีผู้หลบหนีลี้ภัยชาวต่างชาติเข้ามามากเหลือเกิน? เพราะหากพิจารณากัน จริงๆ ก็ไม่เฉพาะชาวอุยกูร์ที่เกิดขึ้นล่าสุด แต่ยังมีชาวโรฮีนจา (โรฮิงยา) ที่เคยเป็นข่าวก่อนหน้านี้ รวมไปถึงชาวเกาหลีที่หลบลี้หนีภัยมาจากเกาหลีเหนือ เพื่อที่จะไปยังเกาหลีใต้
ปาร์ค ยอนมี (ภาพทวิตเตอร์ @YeonmiParkNK)
ใช่ครับ! ชาวเกาหลีเหนือหากต้องการหนีไปเกาหลีใต้ คิดจะเดินทางข้ามพรมแดนใกล้ๆ ติดๆ กัน ก็ไม่ได้ แต่ต้องเดินทางนับเป็นพันๆ กิโลเมตรผ่านพรมแดนจีน หลบเข้ามายังดินแดนไทย ก่อนจะกลับไปยังคาบสมุทรเกาหลี เหมือนกับ “ปาร์ค ยอนมี (Park Yeon-mi)” สาวนักสิทธิมนุษยชนชาวเกาหลีเหนือ ที่หนีออกจากเกาหลีเหนือพร้อมครอบครัว ตั้งแต่ปี 2550 (ค.ศ.2007) หลังพ่อต้องคดีทำการค้าผิดกฎหมายในเกาหลีเหนือ ก็อาศัยความช่วยเหลือของนายหน้าค้ามนุษย์ เดินทางออกจากเกาหลีเหนือข้ามไปยังจีนทางมณฑลจี๋หลิน ทางตะวันออกเฉียงเหนือของจีน ก่อนเข้ามายังประเทศไทยเพื่อหาทางหนีไปยังประเทศเกาหลีใต้

หลายปีก่อน เมื่อกรกฎาคม 2555 ผมเคยเดินทางไปยังพรมแดนจีน และเกาหลีเหนือ ณ เมืองถูเหมิน เขตปกครองตัวเองชนชาติเกาหลีเหยียนเปียน มณฑลจี๋หลิน มีโอกาสได้นั่งรถเลียบแม่น้ำถูเหมินซึ่งกั้นกลางระหว่างดินแดนจีนกับเกาหลีเหนือ รวมถึงนั่งในร้านอาหารริมแม่น้ำทานเนื้อแพะย่าง ชมทิวทัศน์ของเกาหลีเหนือจากฝั่งของเมืองจีนมาแล้ว
ดินแดนจีนกับเกาหลีเหนือ ห่างกันเพียงแม่น้ำกั้นแคบๆ โดยส่วนใหญ่หากชาวเกาหลีเหนือจะหลบหนีข้ามฝั่งมายังจีนจะใช้โอกาสในช่วงฤดูหนาวที่น้ำในแม่น้ำจับตัวเป็นน้ำแข็ง (ภาพถ่ายโดยผู้เขียนเมื่อเดือนกรกฎาคมปี 2555)
14 กรกฎาคม 2555
ณ หมู่บ้านรื่อกวง (日光村; หมู่บ้านแสงตะวัน) ตำบลเยี่ยว์ฉิง (月晴镇; ตำบลจันทร์กระจ่าง) ริมแม่น้ำชายฝั่งแม่น้ำถูเหมิน (图们江) จุดเล็กๆ จุดหนึ่งบริเวณพรมแดนจีน-เกาหลีเหนือซึ่งทอดยาวกว่า 1,416 กิโลเมตร ชาวบ้านกำลังขะมักเขม้นกับการล้างและแปรรูปปลาหมิงไท่ (明太鱼) หรือ ปลาอลาสกาพอลแลค ที่นำเข้ามาจากเกาหลีเหนือ
“ปลาพวกนี้นำเข้ามาจากเกาหลีเหนือทั้งนั้นแหละครับ คนเกาหลีเหนือจับได้ในทะเลญี่ปุ่น แล้วขายให้กับรัฐบาล พ่อค้าจีนที่มีใบอนุญาตก็ข้ามแดนไปเหมาซื้อมาขายปลีกให้กับชาวบ้านจีนอีกที ขายเป็นตัว ตัวเล็กราคาประมาณ 10 หยวน ตัวใหญ่ขาย 15 หยวน วิธีรับประทานปลาหมิงไท่ส่วนใหญ่ของคนแถวนี้ก็คือ ย่างสด หรือไม่ก็กินแบบตากแห้ง โดยก็ควักไส้ เอาเครื่องในออก ก่อนนำไปตากแห้งแล้วรับประทาน” ชาวบ้านคนหนึ่งให้ข้อมูล
“ปีนี้ (2555) ได้ข่าวว่าชาวบ้านฝั่งโน้น (เกาหลีเหนือ) อดอยากมาก ปลาที่จับได้ก็ต้องขายให้กับทางการหมด ไม่มีโอกาสได้กินอย่างคนจีนฝั่งนี้หรอก ขณะที่ถ้าจะหนีข้ามแม่น้ำมาก็ลำบาก เพราะบริเวณริมแม่น้ำฝั่งโน้นทุก 100 เมตรจะมีป้อมเวรยามของทหารเกาหลีเหนือตั้งอยู่ ส่วนระหว่างกลางระหว่างป้อมตรงจุด 50 เมตรก็จะเป็นบังเกอร์แบบพราง” ชาวบ้านคนเดิมบอก [1]


คำบอกเล่าดังกล่าว พิสูจน์ได้ว่าการหลบหนีออกจากประเทศใดประเทศหนึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายๆ โดยเฉพาะจากประเทศที่เป็นเผด็จการและมีการควบคุมอย่างเข้มงวด (ยกเว้นประเทศไทยที่แม้จะปกครองด้วยรัฐบาลทหาร แต่อดีตนายตำรวจใหญ่ กลับพกปืนออกไปประเทศญี่ปุ่นได้แบบไร้ร่องรอย)

หากเปรียบเทียบด้วย “ระยะทาง” ของการหลบหนีระหว่างชาวเกาหลีเหนือ กับ ชาวอุยกูร์ ความยากลำบากของการหลบหนีออกนอกประเทศก็คงถือว่าไม่แตกต่างกันมากนัก เพราะอยู่คนละฟากสุดของแผ่นดินจีน เกาหลีเหนืออยู่ตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนซินเกียง อุยกูร์อยู่ตะวันตกเฉียงเหนือ

สำหรับปมปัญหาล่าสุดเกี่ยวกับเหตุการณ์กลุ่มผู้ประท้วงในตุรกีบุกเข้าไปทำลายทรัพย์สินของสถานกงสุลไทย ณ กรุงอิสตันบูล โดยอ้างเหตุว่าเพราะไม่พอใจที่ทางการไทยส่งตัวชาวอุยกูร์ที่หลบหนีออกมากลับไปให้กับทางการจีน และต่อมาก็มีองค์กรโลกบาล หน่วยงานนานาชาติ และหลายประเทศออกมาประณาม รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กับการส่งตัวดังกล่าว

ส่วนพวกนักสิทธิมนุษยชนตัวจริง (และจอมปลอม) คนไทยหลายคนก็ออกมาบอกว่า การกระทำดังกล่าวของรัฐบาลไทยเป็นการกระทำผิดหลักการ Non-refoulement ที่ระบุไว้ในกฎหมายระหว่างประเทศ ว่าห้ามส่งกลับผู้ลี้ภัยไปยังรัฐที่ไม่ปลอดภัยสำหรับพวกเขา หรือที่ซึ่งชีวิตหรือเสรีภาพของพวกเขาอาจถูกคุกคาม
ความเสียหายของสถานกงสุลไทยที่อิสตันบูล (ภาพเอพี)
ผมคิดว่าเรื่องนี้ต้องค้นหาข้อเท็จจริง แบ่งแยกประเด็น-เหตุการณ์ต่างๆ ให้ชัดเจน และหาคำตอบว่าทำไมจึงเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้น

ประการแรก ต้องแยกประเด็นออกมาก่อนเลยว่าการที่ทางการตุรกีปล่อยให้กลุ่มผู้ประท้วงบุกเข้าไปคุกคามเจ้าหน้าที่และทำลายทรัพย์สินในสถานกงสุลไทยที่อิสตันบูลนั้นเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง เป็นเรื่องร้ายแรง ซึ่งทางการไทยต้องประณามและทำการตอบโต้ด้วยวิธีการทางการทูตขั้นสูงสุด ซึ่งถ้าจะให้เปรียบก็ต้องทำในระดับเดียวกับ เหตุการณ์เผาสถานทูตและสำนักงานธุรกิจไทยที่กัมพูชาในปี 2546 ซึ่งตอนนั้นรัฐบาลไทยของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ตอบโต้ด้วยการส่งเครื่องบินทหารไปอพยพชาวไทย รวมไปถึงนักการทูตทั้งหมดออกจากกัมพูชา และขับนักการทูตกัมพูชาออกนอกประเทศเพื่อเป็นการตอบโต้ พร้อมกับสั่งปิดพรมแดนของประเทศที่ติดกับกัมพูชา

ดังนั้นในกรณีนี้เช่นกัน ผมเห็นว่ารัฐบาลไทยจำเป็นต้องใช้มาตรการตอบโต้ตุรกีในระดับเดียวกันหรือใกล้เคียงกับที่ทำกับกัมพูชา เพราะต่อให้ความขัดแย้งหรือปัญหารุนแรงแค่ไหน ก็ไม่มีเหตุผลใดๆ ที่ทางการตุรกีจะปล่อยให้เกิดการละเมิดสิทธิ การคุกคามต่อชีวิตและทรัพย์สินของไทยได้เลย

ประการที่สอง ข้อเท็จจริงจากถ้อยแถลงของกระทรวงต่างประเทศเกี่ยวกับกรณีดังกล่าว ที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2558 และมีการแก้ไขเพิ่มเติมในวันที่ 10 กรกฎาคม 2558 ระบุไว้ดังนี้ว่า

กรณีการส่งกลับผู้ลักลอบเข้าเมืองชาวมุสลิมที่อ้างว่าเป็นชาวตุรกี (ชาวอุยกูร์)

ตามที่ได้มีการส่งชาวอุยกูร์ไปประเทศจีนเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2558 นั้น กระทรวงการต่างประเทศขอแจ้งข้อมูลดังต่อไปนี้
1. ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2557 ชาวอุยกูร์ประมาณ 300 กว่าคน ได้หลบหนีเข้าประเทศไทย และรัฐบาลจีนได้เรียกร้องให้รัฐบาลไทยส่งบุคคลเหล่านี้กลับไปยังประเทศจีน เนื่องจากบุคคลเหล่านี้อาจมีความเกี่ยวข้องกับการกระทำผิดกฎหมายในประเทศจีน รัฐบาลไทยได้ขอให้ฝ่ายจีนดำเนินการส่งหลักฐานการกระทำผิดและการพิสูจน์สัญชาติให้แก่ฝ่ายไทยพิจารณา ก่อนที่จะดำเนินการส่งตัวให้ฝ่ายจีนต่อไป
2. รัฐบาลไทยได้ดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างรอบคอบโดยคำนึงถึงหลักมนุษยธรรมควบคู่ไปกับหลักสิทธิมนุษยชนและพันธกรณีระหว่างประเทศของไทย
3. รัฐบาลไทยได้พิจารณาอย่างรอบคอบจากหลักฐานของทุกฝ่าย สรุปว่าสามารถแยกชาวอุยกูร์ ดังกล่าวได้เป็น 3 กลุ่ม กลุ่มแรกจำนวน 172 คน ไม่มีความเกี่ยวข้องใดๆ กับการกระทำผิดกฎหมาย และบุคคลดังกล่าวได้แสดงความประสงค์ที่จะเดินทางไปตุรกีและรัฐบาลตุรกีพร้อมที่จะรับ ในขณะเดียวกัน รัฐบาลไทยได้รับหลักฐานการกระทำผิดและการพิสูจน์สัญชาติจากรัฐบาลจีนสำหรับชาวอุยกูร์ จำนวน 109 คน และยังมีอีกประมาณ 60 คนที่ยังอยู่ในความดูแลของไทย
4. จากข้อเท็จจริงข้างต้น รัฐบาลไทยจึงได้ดำเนินการดังนี้
4.1 เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2558 รัฐบาลไทยได้ตัดสินใจส่งชาวอุยกูร์จำนวน 172 คน ให้กับรัฐบาลตุรกี ซึ่งได้รับบุคคลเหล่านี้ไปตั้งถิ่นฐานในตุรกีเรียบร้อยแล้ว
4.2 เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2558 รัฐบาลไทยได้ตัดสินใจส่งชาวอุยกูร์ จำนวน 109 คน ซึ่งรัฐบาลจีนได้ส่งหลักฐานการกระทำผิดและการพิสูจน์สัญชาติให้กับฝ่ายไทยแล้ว
4.3 ขณะนี้ยังมีชาวอุยกูร์ประมาณ 60 คน อยู่ในความดูแลของรัฐบาลไทยซึ่งยังไม่มีหลักฐานเกี่ยวข้องกับการกระทำผิดกฎหมาย รัฐบาลไทยจะพิจารณาดำเนินการตามความเหมาะสมต่อไป
5. ตามที่หลายฝ่ายมีความห่วงกังวลว่าชาวอุยกูร์ที่ถูกส่งกลับไปยังประเทศจีนอาจถูกลงโทษอย่างรุนแรงจนถึงแก่ชีวิตนั้น รัฐบาลจีนได้ยืนยันกับรัฐบาลไทยว่า จะปฏิบัติต่อบุคคลเหล่านี้ด้วยความเป็นธรรมและรับรองความปลอดภัย นอกจากนั้น ผู้ที่ไม่มีความผิดจะได้รับการดูแลให้กลับคืนสู่สังคมและรัฐบาลจีนจะจัดหาที่ทำกินให้ตามความเหมาะสมต่อไป
6. รัฐบาลจีนยินดีเชิญให้รัฐบาลไทยส่งผู้แทนไปติดตามผลการปฏิบัติ ซึ่งสภาความมั่นคงแห่งชาติจะจัดผู้เกี่ยวข้องจากหน่วยราชการต่างๆ รวมทั้งจะพิจารณาเชิญองค์กรระหว่างประเทศ อาทิ ICRC เข้าร่วมกับฝ่ายไทย เดินทางไปตามคำเชิญของรัฐบาลจีนต่อไป [2]


อ้างอิงจากข้อมูลของกระทรวงต่างประเทศ ประกอบกับการรายงานข่าวของสำนักข่าวเอเอฟพีก็ยืนยันว่า ไม่เพียงแต่รัฐบาลไทยเท่านั้นที่ส่งตัวชาวอุยกูร์ ที่มีหลักฐานว่าอาจเกี่ยวพันกับการกระทำความผิดกลับไปยังจีน เพราะประเทศอื่นๆ อย่าง กัมพูชา ปากีสถาน รวมถึงมาเลเซีย ก็ล้วนแล้วแต่ส่งตัวชาวอุยกูร์ ซินเกียงกลับไปให้กับทางการจีนเช่นกัน

ประการที่สาม หากติดตามข่าวอย่างต่อเนื่องจะพบว่า มีกลุ่มชาวมุสลิมอุยกูร์หลบหนีเข้าเมืองไทยจริงๆ ราว 300 คนตั้งแต่เดือนมีนาคม 2557 ซึ่งจากรายงานข่าวของนักข่าวชาวไทย นักข่าวต่างชาติทั้งรอยเตอร์ เอพี เอเอฟพี ต่างก็ยืนยันว่า กลุ่มคนเหล่านี้น่าจะเป็นชาวจีนอุยกูร์ จากมณฑลซินเจียง
กลุ่มคนต่างด้าวชาวอุยกูร์จากมณฑลซินเจียงของจีน ขณะถูกกักตัวอยู่ที่บริเวณลานจอดรถของกองบังคับการตำรวจตรวจคนเข้าเมือง 6 อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ในวันศุกร์ที่ 14 มี.ค. 2557 (ภาพเอเจนซี)
14 มีนาคม 2557
คนต่างด้าวราว 200 คน ที่ตำรวจไทยช่วยเหลือนำตัวออกมาจากค่ายพักของแก๊งค้ามนุษย์ในสวนยางพารากลางป่าบริเวณภูเขาของจังหวัดสงขลา ทางภาคใต้ของไทย เมื่อสองสามวันก่อน น่าจะเป็นชาวมุสลิมอุยกูร์ จากเขตซินเจียง (ซินเกียง) ทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของจีน แหล่งข่าวที่เป็นตำรวจไทยหลายรายเปิดเผยกับสำนักข่าวรอยเตอร์ในวันนี้ (14 มี.ค.)
“การพบตัวคนต่างด้าวเหล่านี้ เป็นหลักฐานยืนยันแน่นหนายิ่งขึ้นอีกว่า พวกแก๊งค้ามนุษย์ที่ปฏิบัติการอยู่ในบริเวณภาคใต้ของไทย ซึ่งขึ้นชื่อเลื่องลือในฐานะเป็นศูนย์กลางสำคัญแห่งหนึ่ง ในเส้นทางการลักลอบนำชาวโรฮิงญาจากพม่า ลงเรือไปหาที่อพยพลี้ภัยในต่างแดนอยู่แล้ว กำลังใช้ประโยชน์จากเครือข่ายของพวกเขา เพื่อการลับลอบลำเลียงขนคนต่างด้าวสัญชาติอื่นๆ เป็นจำนวนมากๆ อีกด้วย ถึงแม้ถูกตำรวจไทยติดตามปราบปรามเรื่อยมา
“สำหรับคนต่างด้าวอื่นๆ นั้นเป็นชาวโรฮิงญา ชาวมุสลิมที่เกือบทั้งหมดอยู่ในฐานะคนไร้รัฐจากภาคตะวันตกของพม่า ซึ่งได้เกิดเหตุปะทะถึงชีวิตหลายระลอกกับชาวพุทธเชื้อชาติยะไข่ในปี 2012 จนมีผู้เสียชีวิตไปอย่างน้อย 192 คน และมีผู้ที่หลบหนีกลายเป็นคนไร้ที่อยู่อีกราวๆ 140,000 คน ตั้งแต่นั้นมา ก็มีชาวโรฮิงญาจำนวนหมื่นๆ คนหลบหนีออกจากพม่าทางเรือ โดยที่จำนวนมากเดินทางมาขึ้นบกบริเวณชายฝั่งตะวันตกของภาคใต้ของไทย ด้วยความหวังที่จะหาวิธีเดินทางต่อไปยังจุดหมายปลายทางที่พึงประสงค์”
[3]

15 มีนาคม 2557
“เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา (13) ตำรวจไทยเปิดเผยว่า พบผู้แสวงหาที่พักพิงหลายสิบครอบครัว ในระหว่างการบุกทลายค่ายขบวนการค้ามนุษย์ในจังหวัดสงขลา โดยผู้อพยพกลุ่มนี้ที่ดูเหมือนต้องการใช้ไทยเป็นทางผ่านเพื่อเดินทางไปยังประเทศที่ 3 อ้างว่าพวกเขาเป็นชาวตุรกี ไม่ใช่ชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิม “อุยกูร์” ที่พูดภาษาเตอร์กิซ จากเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ ทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของจีน
“มารี ฮาร์ฟ โฆษกหญิงของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ กล่าวกับสื่อมวลชนว่า “เราขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทยปกป้องเหยื่อ (ขบวนการค้ามนุษย์) เหล่านี้อย่างเต็มที่ (เพื่อ) ให้พวกเขาได้รับความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมอย่างเพียงพอ”
[4]

ข้อมูลข้างต้นบ่งชี้ชัดว่า การหลบหนีของชาวอุยกูร์จากมณฑลซินเจียงเกี่ยวพันกับขบวนการค้ามนุษย์ ซึ่งเชื่อมโยงกับขบวนการค้ามนุษย์ชาวโรฮีนจา และเป็นหนึ่งในประเด็นที่รัฐบาลชาติตะวันตกทั้งสหรัฐฯ และยุโรป พยายามเข้าแทรกแซง

อย่างไรก็ตาม กรณี “ชาวอุยกูร์ ซินเจียง” กับ “ชาวโรฮีนจา” นั้นมีความแตกต่างกันระดับหนึ่งคือ ขณะที่ชาวอุยกูร์ ซินเจียง ซึ่งถือเป็นประชากรชาวจีนหลบหนีออกนอกประเทศ ทางการจีนกลับต้องการรับตัวคนเหล่านี้กลับ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม แต่ชาวโรฮีนจานั้นกลับเป็นกลุ่มคนที่ถูกปฏิเสธจากทั้งทางการบังคลาเทศ และพม่า

ประการที่สี่ อีกประเด็นหนึ่งที่มีเป็นกุญแจสำคัญคือ ต้องยอมรับว่าในมณฑลซินเจียงของจีนมีขบวนการก่อการร้าย-แบ่งแยกดินแดนจริงๆ ในนามของ สาธารณรัฐเตอร์กีสถานตะวันออก (Eastern Turkestan Republic) ซึ่งขบวนการดังกล่าวมีประวัติศาสตร์อย่างน้อยก็ 70 ปีแล้ว โดยการเคลื่อนไหวนั้นก็ครอบคลุมพื้นที่ทั้งในและนอกมณฑล คือ ตั้งแต่ระเบิดรถบัส ระเบิดสถานีรถไฟ การก่อการจลาจลในเมืองต่างๆ ของซินเจียง จนถึงปฏิบัติการ ณ จุดที่เป็นหัวใจของอาณาจักรจีน ณ จัตุรัสเทียนอันเหมิน กรุงปักกิ่ง ไม่ว่าจะเป็นการเผารูปวาดประธานเหมาที่ประตูเทียนอันเหมิน หรือ คาร์บอมบ์ [5]
สภาพเพลิงไหม้ที่เกิดจากแรงระเบิดลุกท่วมคันรถที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน กรุงปักกิ่งจนทำให้คนขับและผู้โดยสารรวม 3 รายเสียชีวิตทันที ภาพจากข่าวเมื่อ 28 ต.ค. 2556
จากข้อเท็จจริง ทางการจีนมิอาจปฏิเสธได้ว่ารัฐบาลจีน (ซึ่งเป็นตัวแทนของคนส่วนใหญ่ซึ่งเป็นชาวฮั่น) ก็มีการกดขี่ชนกลุ่มน้อยอย่างชาวอุยกูร์จริง ไม่ว่าจะเป็นการใช้ไม้แข็งคือใช้กำลังเข้าปราบปราม หรือ ใช้ไม้นวมด้วย การเปลี่ยนให้เป็นฮั่น (ฮั่นฮว่า; 汉化) ผ่านนโยบายต่างๆ อย่างค่อยเป็นค่อยไป

ในช่วงหกสิบกว่าปีที่ผ่านมา ประชากรชาวฮั่นในมณฑลซินเจียงเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ คือจากร้อยละ 6.7 หรือราว 220,000 คน ในปี 2492 (ค.ศ.1949) เป็น เกือบร้อยละ 40 หรือ กว่า 8.4 ล้านคน ในปี 2551 (ค.ศ.2008) [6] ขณะที่ขัอมูลจากทางการจีนเมื่อปี 2550 (ค.ศ.2007) ก็ยืนยันเช่นกันว่า ประชากรชาวฮั่น ได้เพิ่มขึ้นมาเกือบเท่าประชากรชาวอุยกูร์ในซินเจียงแล้ว คือ อยู่ที่ ชาวอุยกูร์มี 9.65 ล้านคน (ร้อยละ 46.06) ขณะที่ชาวฮั่นมี 8.24 ล้านคน (ร้อยละ 39.33) ส่วนชนกลุ่มน้อยอื่นๆ อีกหลายสิบชนเผ่านั้นคิดรวมแล้วเป็นแค่ ร้อยละ 10 กว่าๆ ของจำนวนประชากรทั้งหมดของมณฑลซินเจียงเท่านั้น
สัดส่วนประชากรเชื้อชาติต่างๆ ในมณฑลซินเจียง ตัวเลขปี 2550 (ค.ศ.2007)  โดยสามอันดับแรกคือ ชาวอุยกูร์มี 9.65 ล้านคน (ร้อยละ 46.06) , ชาวฮั่นมี 8.24 ล้านคน (ร้อยละ 39.33) และชาวคาซัค 1.48 ล้านคน (ร้อยละ 7.08)
นโยบายการเปลี่ยนให้เป็นฮั่น ก่อให้เกิดการปะทะกันในหลายมิติทั้งการเมือง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม จนกลายเป็นความขัดแย้งที่ฝังรากลึก และมีความเกี่ยวพันจนกลายเป็นความขัดแย้งทางศาสนาส่วนหนึ่ง เช่น การออกนโยบายจำกัดการเข้าร่วมกิจกรรมทางศาสนา โดยล่าสุดคือ ห้ามเจ้าหน้าที่รัฐ ครูอาจารย์ และนักเรียนนักศึกษา ในบางพื้นที่ของเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ เข้าร่วมพิธีกรรมถือศีลอดระหว่างช่วงเดือนรอมฎอน เพื่อควบคุมความเคลื่อนไหวของกลุ่มศาสนาสุดโต่ง [7]

อย่างไรก็ตาม ด้วยเหตุที่จีนประกาศยึดถือแนวทางไม่แทรกแซงกิจการภายในของประเทศอื่น ตามหลักการปัญจศีลแห่งการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข (The Five Principles of Peaceful Coexistence) มาตั้งแต่ปี 2498 (ค.ศ.1955) ตั้งแต่สมัยนายกรัฐมนตรีโจว เอินไหล ดังนั้นจีนจึงถือว่าเรื่องอุยกูร์ซินเจียงนั้นเป็นเรื่องภายในที่ชาติอื่นห้ามแทรกแซงเช่นกัน (เหมือนกับกรณีทิเบต)

จุดนี้เองเป็นจุดสำคัญที่ทำให้กรณีอุยกูร์ แตกต่างจากกรณีโรฮีนจา และอาจจะรวมถึงกรณีเกาหลีเหนือด้วย เพราะจีนซึ่งปัจจุบันถือเป็นหนึ่งในประเทศมหาอำนาจอันดับหนึ่งของเอเชีย และถือเป็นมหาอำนาจอันดับต้นของโลก ยืนยันว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องภายในของจีน ซึ่งเกี่ยวพันกับความไม่สงบและก่อการร้ายภายในประเทศ

ภาวะเช่นนี้ไม่แปลกที่รัฐบาลทหารไทยจะอยู่ในภาวะกระอักกระอ่วน เนื่องจากหลักการและข้อเท็จจริงข้างต้น ประกอบกับสภาวะการเมืองภายในของไทย และสถานการณ์การเมืองโลกในปัจจุบันทำให้ไทยต้องพึ่งพาจีนมาก แม้การส่งชาวอุยกูร์บางส่วนกลับไปให้กับทางการจีนจะเป็นเรื่องที่ดูโหดร้าย แต่ต้องยอมรับว่ารัฐบาลไทยไม่มีทางเลือกมากนัก

ประการที่ห้า ปมปัญหาดังกล่าวมิได้เป็นปมที่เกิดขึ้นจากประเด็นด้านมนุษยธรรม หรือ สิทธิมนุษยชนล้วนๆ แต่เคลือบแฝงไว้ด้วย การแย่งชิงอำนาจทางการเมืองภายในตุรกี ระหว่างอดีตรัฐบาลและพรรคฝ่ายค้าน อันเป็นประเด็นต่อเนื่องจากการเลือกตั้งทั่วไปของตุรกีเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2558 ซึ่งไม่มีพรรคใดได้รับเสียงมากพอที่จะจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้ จึงเกิดการหยิบยกประเด็นปัญหาต่างๆ ขึ้นมาต่อสู้และดิสเครดิตกัน โดยประเด็นเรื่องชาวอุยกูร์ ซินเจียง กับความสัมพันธ์ระหว่างตุรกี จีน และไทย ก็เป็นหนึ่งในนั้น

ส่วนในภาพกว้าง ปัญหาผู้อพยพชาวอุยกูร์นั้นก็เป็นหนึ่งใน “ยุทธศาสตร์ปิดล้อมจีน” ของสหรัฐอเมริกา และชาติตะวันตก เช่นเดียว กับกรณีเกาหลีเหนือ ทิเบต โรฮีนจา ซึ่งจริงๆ แล้วชนชาติและชนกลุ่มน้อยเหล่านี้ต่างก็ตกเป็น “เบี้ย” ของเกมการเมืองกระดานใหญ่ระดับโลก

เกมการเมืองกระดานใหญ่ของโลก ซึ่งหมายถึงการสัประยุทธ์ระหว่างโลกตะวันตกกับจีน และลามมาถึงการสัประยุทธ์กันของกลุ่มการเมืองต่างๆ ในไทยด้วย

อ้างอิงจาก :
[1] แกะรอยสื่อจีน : จาก “ปักกิ่ง” ถึง “ชายแดนเกาหลีเหนือ” โดย วริษฐ์ ลิ้มทองกุล 29 ก.ค. 2555
[2] ข่าวสารนิเทศ : กรณีการส่งกลับผู้ลักลอบเข้าเมืองชาวมุสลิมที่อ้างว่าเป็นชาวตุรกี (ชาวอุยกูร์)
[3] คาด “ต่างด้าว 200 คน” ที่ตำรวจนำออกจากค่ายแก๊งค้ามนุษย์ใน “สวนยางสงขลา” เป็น “ชาวอุยกูร์” จากซินเจียง ผู้จัดการออนไลน์ 14 มี.ค. 2557
[4] สหรัฐฯ “วิงวอน” ไทย ไม่ให้ผลักต่างด้าว “ชาวอุยกูร์” 200 คน จากค่ายแก๊งค้ามนุษย์ในสงขลากลับจีน ผู้จัดการออนไลน์ 15 มี.ค. 2557
[5] อลหม่าน! เหตุระเบิดกลางจัตุรัสเทียนอันเหมิน เสียชีวิต 3 ราย บาดเจ็บ 11 ราย ผู้จัดการออนไลน์ 28 ต.ค. 2556
[6 ]Anthony Howell and C. Cindy Fan, Migration and Inequality in Xinjiang: A Survey of Han and Uyghur Migrants in Urumqi

[7] จีนคุมเข้มเดือนรอมฎอน ห้ามถือศีลอดในซินเจียง ผู้จัดการออนไลน์ 19 มิ.ย. 2558
กำลังโหลดความคิดเห็น