เอเอฟพี - อิสราเอลใช้การกักขังโดยไม่ไต่สวนซึ่งเป็นข้อถกเถียงกันมาหลายทศวรรษกับชาวยิวหัวรุนแรงรายหนึ่งเป็นครั้งแรกเมื่อวานนี้ (4 ส.ค.) หลังจากที่เกิดกระแสความไม่พอใจต่อกรณีการเสียชีวิตของเด็กชาวปาเลสไตน์รายหนึ่งในเหตุโจมตีลอบวางเพลิง
การใช้ “การกักขังด้วยอำนาจบริหาร” ครั้งนี้ ก่อนหน้านี้ถูกใช้กับชาวปาเลสไตน์มีขึ้นในขณะที่ทางการได้จับกุมผู้ต้องสงสัยเป็นชาวยิวหัวรุนแรงอีกคนหนึ่งและขยายเวลาการคุมขังผู้นำของกลุ่มศาสนาสุดโต่งรายหนึ่ง
พวกเขาทั้งสามคนไม่ได้ถูกตั้งข้อหาว่ามีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับการวางเพลิงบ้านชาวปาเลสไตน์หลังหนึ่งเมื่อสัปดาห์ที่แล้วในเวสต์แบงก์ ซึ่งมีเด็กชายวัย 18 เดือนรายหนึ่งเสียชีวิต อันจุดชนวนให้เกิดเสียงทักท้วงจากนานาชาติต่อความล้มเหลวของอิสราเอลในการจัดการกับปัญหาความรุนแรงโดยผู้ตั้งถิ่นฐานชาวยิวหัวรุนแรง
แต่ความเคลื่อนไหวดังกล่าวดูเหมือนว่าเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามโดยทางการอิสราเอลที่จะแสดงให้เห็นความตั้งใจจริงของพวกเขาในการต่อสู้กับกลุ่มชาวยิวหัวรุนแรง
เมื่อวันอังคาร (4) โมเช ยาลอน รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมได้ลงนามคำสั่งใช้การกักขังด้วยอำนาจบริหารกับ มอร์เดไช เมเยอร์ ผู้ตั้งถิ่นฐานชาวอิสราเอลที่ถูกจับฐาน “มีส่วนร่วมในการกิจกรรมความรุนแรงและการก่อการร้ายเมื่อเร็วๆ นี้” กระทรวงกลาโหมระบุในถ้อยแถลง
รายงานของสื่อบ่งชี้ว่า อัยการสูงสุดได้ให้อำนาจกับทางการในการใช้มาตรการเช่นนี้กับผู้ต้องสงสัยเป็นพวกสุดโต่ง 3 ราย
ปกติแล้วอิสราเอลจะใช้การกักขังด้วยอำนาจบริหาร ซึ่งมีมาตั้งสมัยปาเลสไตน์ถูกปกครองโดยอังกฤษ กับชาวปาเลสไตน์ ทำให้พวกเขาถูกกักขังโดยไม่มีการไต่สวนเป็นเวลา 6 เดือนและอาจถูกต่อเวลากักขังนี้ไปเรื่อยๆ ได้
ตามข้อมูลของทางการ ในปัจจุบันจากจำนวนนักโทษชาวปาเลสไตน์ 5,686 คนที่ถูกขังในเรือนจำอิสราเอล 379 คนอยู่ในการกักขังด้วยอำนาจบริหาร และนักโทษชาวปาเลสไตน์หลายคนได้ทำการประท้วงอดอาหารเพื่อต่อต้านนโยบายดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม ในตอนนี้การกักขังรูปแบบดังกล่าวสามารถถูกใช้ได้กับนักโทษชาวยิวในกรณีที่ไม่มีหลักฐานเพียงพอที่จะไปสู่การพิจารณาคดีหรือผู้ต้องสงสัยไม่ยอมที่จะให้ปากคำ