ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -วันก่อนที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติกำลังพลสำรอง พ.ศ. ....ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่กระทรวงกลาโหมเสนอ และให้ส่งคณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา ก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาต่อไป
ประเด็นสำคัญนั้นคือกระทรวงกลาโหมมีหน้าที่สำคัญในการป้องกันประเทศ ดูแลความมั่นคงภายในราชอาณาจักร จึงมีความจำเป็นต้องมีกำลังพลด้านกำลังรบที่เพียงพอในส่วนสนับสนุนการรบและการช่วยรบ ต้องมีประสิทธิภาพ แต่ด้วยงบประมาณที่จำกัดจึงไม่สามารถดำรงสภาพของกำลังรบไว้ได้ตลอดเวลา จึงต้องมีการจัดการกำลังสำรองอย่างมีประสิทธิภาพ
ร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้จะตอบสนองปัญหาเหล่านี้ เช่น มีการกำหนดประเภทบุคคลชัดเจนว่าประเภทใดบ้างต้องเป็นกำลังพลสำรอง มีการกำหนดรายละเอียดเกี่ยวกับการดำเนินการกิจการกำลังสำรองทั้งหมด หน้าที่ สิทธิ ของกำลังพลสำรองที่จะได้รับจากการเข้ารับราชการทหาร จะมีคณะกรรมการกำลังพลสำรองขึ้น โดยมีนายกรัฐมนตรีหรือรองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน กรมการสรรพกำลังของกระทรวงกลาโหมเป็นหน่วยงานฝ่ายเลขา ในรายละเอียดนั้นเป็นการกำหนดให้ชัดเจนว่ากำลังพลทุกคนที่เป็นกำลังพลสำรองนั้น จะต้องไปรายงานตัวเพื่อตรวจสอบความพร้อม ทั้งเรื่องระบบการติดต่อสื่อสารกับภาคราชการ การฝึกวิชาทหาร หากไม่มารายงานตัวก็จะมีโทษ และจะมีการดูแลสวัสดิการ ว่าในระหว่างเข้ามาตรวจสอบความพร้อมในรอบของแต่ละประเภทนั้นจะได้รับสิทธิ ค่าตอบแทนจากราชการด้วย
ทั้งนี้ นายจ้างที่ท่านทำงานอยู่ก็จะต้องอนุญาตให้เข้ามารายงานตัว หากไม่อนุญาต นายจ้างมีความผิด และในระหว่างการรายงานตัว นายจ้างก็ต้องจ่ายเงินค่าแรงตามพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานด้วย ซึ่งกฎหมายฉบับนี้ไม่ใช่กฎหมายฉบับใหม่ แต่อยู่ในกฎหมายการรับราชการทหารเพียงแต่วันนี้แยกเรื่องนี้ออกมาเป็นกฎหมาย เฉพาะเพื่อพัฒนาระบบกำลังสำรองอย่างมีประสิทธิภาพและจำเป็นเหมือนทุกประเทศ ที่มีความพร้อมในเรื่องการหมุนเวียนกำลังพลสำรอง
ทีนี้มาดูสาระสาระสำคัญเต็ม ๆ 6 ข้อของร่างพระราชบัญญัติ
1. กำหนดให้มีคณะกรรมการกำลังพลสำรอง เรียกโดยย่อว่า “คกส.” ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีหรือรองนายกรัฐมนตรีซึ่งนายกรัฐมนตรีมอบหมายเป็นประธานกรรมการ โดย คกส. มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการเสนอแนะนโยบายเกี่ยวกับกิจการกำลังพลสำรองและการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวกับกำลังพลสำรอง กำหนดแนวทางการปฏิบัติและแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับกิจการกำลังพลสำรอง เสนอแนะแผนพัฒนากิจการกำลังพลสำรองและกำลังสำรองอื่น ๆ และเสนอแนะการกำหนดสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ให้แก่กำลังพลสำรองและนายจ้างที่ให้ความร่วมมือสนับสนุนให้ลูกจ้างซึ่งเป็นกำลังพลสำรองเข้ารับราชการทหารตามพระราชบัญญัตินี้
2. กำหนดให้กรมการสรรพกำลังกลาโหม สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม ทำหน้าที่สำนักงานเลขานุการของ คกส. มีอำนาจหน้าที่วางแผนและประสานงานการดำเนินการของ คกส. รวบรวมเอกสารและข้อมูลตลอดจนส่งเสริมการประชาสัมพันธ์ในกิจการกำลังพลสำรองเป็นศูนย์กลางการติดต่อประสานงานในการดำเนินงานทั้งปวงเกี่ยวกับกิจการกำลังพลสำรองหรือปฏิบัติการอื่นใดตามที่ คกส. มอบหมาย
3. กำลังพลสำรองมีหน้าที่ดังต่อไปนี้
3.1 เข้ารับราชการทหารในการเรียกกำลังพลสำรองเพื่อตรวจสอบ เพื่อฝึกวิชาทหาร เพื่อปฏิบัติราชการ หรือเพื่อทดลองความพรั่งพร้อม หากหลีกเลี่ยงขัดขืนไม่เข้ารับราชการทหารต้องระวางโทษอาญา
3.2 กรณีที่มีการเปลี่ยนชื่อตัวหรือนามสกุล หรือแก้ไขเลขประจำตัวประชาชน ให้แจ้งการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวไปยังหน่วยทหารที่ตนมีรายชื่อบรรจุอยู่ หากไม่ปฏิบัติตามต้องระวางโทษอาญา
4. การเรียกกำลังพลสำรองและการระดมพล กำหนดให้อยู่ภายใต้ขอบเขตและวัตถุประสงค์ตามที่กำหนดไว้ โดยได้นำหลักการการเรียกกำลังพลสำรองเพื่อตรวจสอบ เพื่อฝึกวิชาทหาร เพื่อทดลองความพรั่งพร้อม และการระดมพลมาจากข้อบังคับ กห. ว่าด้วยการเตรียมพล พ.ศ. 2515
5. กำลังพลสำรองมีสิทธิได้รับค่าตอบแทน ค่าเบี้ยเลี้ยง ค่าอาหาร ค่าพาหนะ ค่าเช่าที่พัก การรักษาพยาบาล และสิทธิประโยชน์อื่น ตามระเบียบที่รัฐมนตรีกำหนดโดยความเห็นชอบของกระทรวงการคลัง
6. นายจ้างซึ่งไม่จ่ายค่าจ้างให้ลูกจ้างซึ่งเป็นกำลังพลสำรองในวันลาเพื่อรับราชการทหารตามพระราชบัญญัตินี้โดยมีอัตราโทษทางอาญาเช่นเดียวกับบทบัญญัติมาตรา 146 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541
กฎหมายนี้ ไม่เกี่ยกวับ “ทหารกองเกินที่จะเข้ารับราชการทหารกองประจำการ ประจำปี” ที่จะต้องเข้ารับการตรวจเลือก และผู้ที่ยังไม่เคยเข้ารับการตรวจเลือก ที่แต่ละปีทั้งประเทศเข้าคัดเลือก จับใบดำใบแดงประมาณ “3-4 แสนคน” แต่กองทัพ ก็ต้องการเข้าไปเป็น “ทหารกองประจำการ” แต่ละปี “9 หมื่นถึง 1 แสนคน”
ประเด็น “ร่าง พ.ร.บ.กำลังสำรอง พ.ศ. ....” นี้เมื่อปี 2556 ในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มีการตั้งข้อสังเกตว่า ร่าง พ.ร.บ.กำลังสำรอง พ.ศ. ....กระทรวงกลาโหม ได้เสนอตั้งกฎหมายกำลังสำรองขึ้นตรงนักการเมือง อยู่ภายใต้การกำกับของนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม โดยอ้างการเตรียมการรับภัยคุกคามทางการทหาร และการจลาจล พร้อมคาดตั้งกองกำลังพิเศษคุ้มกันนายกรัฐมนตรีโดยตรง
อย่างไรก็ตาม กระทรวงกลาโหม ขณะนั้นชี้แจงว่า หลักการเหตุผล และสาระสำคัญของร่างกฎหมายฉบับดังกล่าว คือ การปรับปรุงร่างกฎหมายเก่าให้ชัดเจนและสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น จากที่เคยเสนอคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการไป เมื่อวันที่ 28 ก.พ.49 ซึ่งได้ผ่านการตรวจพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา และนำเสนอให้คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบเมื่อ 19 พ.ค.52 แต่ร่างกฎหมายตกไปเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลในขณะนั้น
ทั้งนี้ การที่ต้องยกร่างกฎหมายดังกล่าวขึ้นมาเพื่อให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราช อาณาจักรไทย ปี2550 (ขณะนั้น) มาตรา 73 ที่กำหนดให้บุคคลมีหน้าที่ รับราชการทหาร ช่วยเหลือ ป้องกันและบรรเทาภัยพิบัติสาธารณะ ช่วยเหลือราชการฯ และในมาตราที่ 77 กำหนดให้รัฐต้องพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ เอกราช อธิปไตย และบูรณภาพแห่งเขตอำนาจรัฐ โดยต้องจัดให้มีกำลังทหารยุทโธปกรณ์ที่ทันสมัย จำเป็นเพียงพอเพื่อรักษาเอกราชอธิปไตยและความมั่นคงของรัฐ
นอกจากนั้น การรองรับหน้าที่ของกระทรวงกลาโหมที่กำหนดขึ้นใหม่ ตามพระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหมปี 2551 ที่กำหนดให้กระทรวงกลาโหมมีหน้าที่ป้องกันประเทศ ป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติ และช่วยเหลือประชาชน ดังนั้น ร่างพระราชบัญญัติกำลังสำรอง จึงเป็นกฎหมายที่จัดทำขึ้นเพื่อให้สามารถเรียกกำลังสำรองเข้ารับราชการ ตั้งแต่ในยามปกติ เช่น หากเกิดภัยพิบัติสาธารณะขนาดใหญ่กำลังสำรอง จะถูกเรียกเข้ารับราชการ เพื่อช่วยเหลือและบรรเทาภัยพิบัติสาธารณะ หรือช่วยเหลือประชาชน นอกเหนือจากในยามสงคราม
เนื้อหาในร่างกฎหมาย ยังกำหนดให้มีคณะกรรมการกำลังสำรอง (คกส.) โดยมอบให้นายกรัฐมนตรีหรือ รองนายกรัฐมนตรี ที่นายกรัฐมนตรีมอบหมายเป็นประธาน
คณะกรรมการประกอบด้วย ปลัดกระทรวงที่เกี่ยวข้อง ผู้บัญชาการเหล่าทัพ ผู้ทรงคุณวุฒิที่คณะรัฐมนตรี รวมทั้งสิ้น 34 คน ซึ่งการบัญญัติให้มีคณะกรรมการระดับชาติขึ้นมาก็เพื่อให้การบริหารจัดการ บุคคลที่มาจากทุกภาคส่วนทั้งราชการ รัฐวิสาหกิจ เอกชน เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ที่สำคัญบุคคลที่เข้ามาบรรจุเป็นกำลังสำรองไม่ใช่กำลังของหน่วยใดหน่วยหนึ่ง จึงมิได้มุ่งหมายให้เป็นกองกำลังพิเศษของท่านใดท่านหนึ่ง หรือสร้างฐานอำนาจให้ใคร ยืนยันว่าไม่ใช่ประเด็นทางการเมือง แม้ใครมาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ก็ต้องดำเนินการตามร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้
“เป้าหมายคือ การช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนเมื่อประสบกับภัยพิบัติ สาธารณะที่เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อรองรับภัยพิบัติทางธรรมชาติที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต และจากสถานการณ์อุทกภัย ที่ผ่านมากองทัพได้จัดกำลังพลพร้อมยุทโธปกรณ์เข้าช่วยเหลืออย่างเต็มกำลัง แต่ไม่สามารถที่จะใช้กำลังสำรอง รวมถึงนักศึกษาวิชาทหารที่มีอยู่เข้ามาช่วยเหลือพี่น้องประชาชน ที่ประสบภัยได้ เนื่องจากไม่มีกฎหมายรองรับ และไม่มีอำนาจคุ้มครองความปลอดภัยในด้านต่าง ๆ จึงได้ดำเนินการนำร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวเสนอเข้าคณะรัฐมนตรีเพื่อดำเนินการตามกระบวนการต่อไป ยืนยันว่าเป็นประโยชน์ต่อความมั่นคงของประเทศชาติ และประชาชนทุกคน ปัจจุบันนานาประเทศก็ได้มีการใช้กำลังสำรองเพื่อปฏิบัติภารกิจดังกล่าวอยู่ทั่วโลก ในการสนับสนุนกำลังหลักอยู่แล้ว”
ดังนั้น “ชายไทยเตรียมตัวไว้” หากพ.ร.บ.ฉบันนี้ผ่าน อาจมีหมายเรียกท่าน ไปเป็น “กำลังสำรอง” ทหารเขาแค่เรียกฝึกกองหนุน แต่กรรมอาจจะต้องไปตกอยู่กับนายจ้าง สถานประกอบการ ถ้าไม่ให้มา หรือไม่จ่ายเงินเดือน ก็มีความผิด งานหลัก ๆอาจจะเป็น รองรับภัยพิบัติทางธรรมชาติที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต และจากสถานการณ์อุทกภัย มากกว่าไปจับปืนรบกับคนอื่น หรือไปปราบม๊อบ!!