ประชุม สนช.พิจารณาร่าง พ.ร.บ.กำลังสำรอง ผบ.ทบ.แจงเพื่อความมีประสิทธิภาพ เสนอตั้ง คกส. เรียกได้เฉพาะเหตุจำเป็น เชื่อยกระดับเป็นระดับชาติ ไม่มีข้อยกเว้นเพศที่ 3 ร่วม ยันไม่เสียสิทธิประโยชน์ มีโอกาส 2.5% ที่ถูกเรียก ฝึก 2 เดือน ก่อนมีมติรับหลักการ ถกต่อร่าง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ “วิษณุ” แจงคดีค้างศาลฎีกาเพียบ ต้องปฏิรูปกระบวoการยุติธรรม ก่อนจะรับหลักการ รวมถึงร่างเกี่ยวเนื่องอีก 8 ฉบับ
วันนี้ (17 ก.ค.) ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้มีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.กำลังพลสำรอง พ.ศ. ... ตามที่คณะรัฐมนตรีเสนอ ซึ่งมี พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รมช.กลาโหม และผู้บัญชาการทหารบก เป็นผู้ชี้แจงหลักการและเหตุผลที่กำหนดให้มีระบบกำลังพลสำรองพร้อมปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งที่ผ่านมาต้องใช้การหมุนเวียนกำลังพลเนื่องจากขาดงบประมาณ จึงได้เสนอกฎหมายเพื่อกำหนดประเภทบุคคลที่จะเป็นกำลังพลสำรอง รวมถึงกำหนดหน้าที่สิทธิในการเข้ารับราชการทหารให้เกิดความชัดเจนและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ยังเสนอให้มีการตั้งคณะกรรมการกำลังพลสำรอง หรือ คกส. โดยประธานคณะกรรมการให้มาจากการมอบหมายของนายกรัฐมนตรีหรือรองนายกรัฐมนตรี และกรรมการ 20 คน พร้อมกำหนดวิธีรับบุคคลเข้าเป็นกำลังพลสำรองโดยวิธีรับสมัคร หรือคัดเลือกจากนายทหารสัญญาบัตรกองหนุน นายทหารสัญญาบัตรนอกราชการ นายทหารสัญญาบัตรนอกกอง ทหารกองหนุนประเภทที่ 1 หรือที่ประเภท 2
“การเรียกกำลังพลสำรองและการระดมพล สามารถเรียกได้เฉพาะกรณีจำเป็นที่ต้องใช้ความรู้ความเชี่ยวชาญหรือการแก้ไขปัญหาจากภัยพิบัติ ตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เพื่อมิให้สร้างภาระแก่บุคคลเพิ่มขึ้น เชื่อมั่นว่าร่างกฎหมายดังกล่าวจะยกระดับกิจการพลสำรองเป็นงานระดับชาติที่ทุกภาคส่วนได้เข้ามามีส่วนร่วม และทำให้กระทรวงกลาโหมมีความพร้อมด้านบุคลากรมากยิ่งขึ้นต่อการสนับสนุนป้องกันเพื่อประโยชน์ประชาชน โดยมีกฎหมายใช้กับกำลังพลสำรองได้อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์ต่อประเทศโดยรวม”
อย่างไรก็ตาม สมาชิกส่วนใหญ่ต่างสนับสนุนให้มีการผลักดันกำลังพลสำรองชายและหญิงเข้ามารับใช้ประเทศ อาทิ พล.อ.สิงห์ศึก สิงห์ไพร สนช.ระบุว่า ปัจจุบันมีบัญชีกำลังพลสำรองจำนวนกว่า 10 ล้านคนที่ต้องการทำหน้าที่เพื่อประเทศ แต่ก็ได้มีการตั้งข้อสังเกตถึงการรับสมัครบุคคลจากสองลักษณะจะมีวิธีการคัดเลือกอย่างไร และเมื่อเป็นกำลังพลสำรองจะได้รับการยกเว้นการเกณฑ์ทหารหรือไม่ ขณะที่พล.ร.อ. วัลลภ เกิดผล สนช.ได้เสนอให้เพิ่มสิทธิแก่นายจ้างเช่นเดียวกับกำลังพลสำรอง และได้แสดงความเป็นห่วงในกรณีหากมีการเรียกกำลังพลสำรองเป็นเวลานาน จะมีการดูแลสิทธิประโยชน์นายจ้างที่ต้องจ่ายค่าจ้างให้กับลูกจ้างที่เป็นกำลังพลสำรองอย่างไร
ส่วนนายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ สนช.ตั้งข้อสังเกตว่าบุคคลเพศที่ 3 จะได้รับการยกเว้นจากการเป็นกำลังพลสำรองหรือไม่ พล.อ.อุดมเดชชี้แจงว่า ตามบทบัญญัติว่าด้วยระเบียบข้าราชการทหาร ไม่ได้กำหนดข้อยกเว้นบุคคลเพศที่ 3 ไม่ต้องถูกเรียกเป็นกำลังพลสำรอง แต่หากอยู่ในความเหมาะสมและสถานการณ์ความจำเป็นก็สามารถถูกเรียกเป็นกำลังพลสำรองได้เช่นกัน ส่วนกรณีกำหนดสิทธิประโยชน์แก่นายจ้างนั้น ยืนยันว่าได้วางมาตรการทุกอย่างเพื่อไม่ให้นายจ้างและกำลังพลสำรองเสียสิทธิประโยชน์ จึงไม่น่าจะเป็นปัญหา ขณะที่การเรียกกำลังพลไม่ได้ใช้ระยะเวลานาน ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ โดยมีโอกาสถูกเรียกจำนวน 2.5 เปอร์เซ็นต์จากจำนวนกำลังพลสำรองทั้งหมดโดยจะไปประจำตามกองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ ส่วนการฝึกกำลังพลก็จะใช้ระยะเวลาเพียง 2 เดือนเท่านั้นเพื่อให้ครอบคลุมการฝึก
ทั้งนี้ ที่ประชุมมีมติเห็นควรรับหลักการร่างพระราชบัญญัติกำลังพลสำรอง พ.ศ. ... ด้วยคะแนน 189 งดออกเสียง 4 พร้อมกับให้มีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาจำนวน 19 คน
สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ยังพิจารณาร่าง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ พ.ศ. .... โดยมีนายวิษณุ เครืองาม ชี้แจงหลักการและเหตุผลว่า ขณะนี้มีหลายคดีที่เป็นคดีชำนัญพิเศษ ทั้งคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ คดีภาษีอากร คดีแรงงาน คดีล้มละลาย และคดีเยาวชนและครอบครัว ที่จะต้องอาศัยความชำนาญของผู้พิพากษาและการพิจารณาเป็นพิเศษ รวมทั้งต้องมีผู้พิพากษาสมทบและคดีเหล่านี้เมื่อฟ้องไปยังศาลชั้นต้นและไปจบลงที่ศาลฎีกา ทำให้คดีกระจุกตัวคั่งค้างที่ศาลฎีกาจำนวนมาก ขณะที่ผู้พิพากษาก็ไม่ได้ตามคดีอย่างต่อเนื่องไปถึงชั้นศาลฎีกา ดังนั้นจึงเห็นว่าควรมีศาลอุทธรณ์เพื่อพิจารณาคดีชำนัญพิเศษเหล่านี้ ซึ่งถือเป็นการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม และคู่กรณีจะได้ประโยชน์จากการพิจารณาของศาลที่รวดเร็วขึ้นและได้รับความเป็นธรรม โดยแบ่งให้มีการพิจารณาคดีชั้นอุทธรณ์เป็น 5 แผนกตามคดีประเภทคดีชำนัญพิเศษ
ทั้งนี้ สมาชิกได้แสดงความกังวลถึงความพร้อมของชั้นศาลอุทธรณ์เมื่อมีการประกาศบังคับใช้กฎหมาย โดยนายวิษณุกล่าว่า ไม่ต้องกังวลว่าเมื่อกฎหมายมีผลบังคับใช้แล้วจะต้องนำคดีเข้าสู่ศาลอุทธรณ์ทันที เนื่องจากการเปิดทำการศาลอุทธรณ์ได้จะต้องเป็นไปตามพระราชกฤษฎีกากำหนดไว้ก่อน ที่ประชุมได้มีมติรับหลักการในวาระแรกด้วยเสียงเห็นชอบ 188 งดออกเสียง 3 พร้อมกับตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาจำนวน 23 คนต่อไป
จากนั้นที่ประชุมยังมีมติรับหลักการร่าง พ.ร.บ.ที่เกี่ยวเนื่องอีก 8 ฉบับ โดยแก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์การอุทธรณ์และฎีกา ประกอบด้วย ร่าง พ.ร.บ.ศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน (ฉบับที่...) พ.ศ. .... ร่าง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ร่าง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย (ฉบับที่...) พ.ศ. .... ร่าง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ร่าง พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ร่าง พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ... .ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมพระธรรมนูญศาลยุติธรรม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... และร่าง พ.ร.บ.ให้ใช้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่...) พ.ศ. .... ตามที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ