xs
xsm
sm
md
lg

พ.ร.บ.กำลังสำรองใหม่ เพื่อใคร ? รับมือสงครามภายนอก หรือ ภายใน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ช่วงหนึ่งเคยมีกระแสเรียกร้องให้ยกเลิกการเกณ์ทหาร ด้วยประชาชนส่วนหนึ่งเห็นว่าไม่มีความจำเป็นกับภาวะบ้านเมืองในปัจจุบันที่ไม่อยู่ในภาวะสงครามแต่อย่างใด แต่กับ พ.ร.บ.กำลังสำรองใหม่ที่กำลังจะออกมา ตามที่ พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงข่าวภายหลังการประชุมครม. เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม ที่ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล โดยมีใจความสำคัญว่า ครม.มีมติเห็นชอบ ร่างพ.ร.บ.กำลังพลสำรอง ของกระทรวงกลาโหม เนื่องด้วยกระทรวงกลาโหมมีหน้าที่สำคัญในการป้องกันประเทศ และดูแลความมั่นคงภายในราชอาณาจักร กำลังพลด้านกำลังรบที่เพียงพอในส่วนสนับสนุนการรบและการช่วยรบจึงเป็นสิ่งสำคัญ ทั้งต้องมีประสิทธิภาพ แต่ด้วยงบประมาณที่จำกัดจึงไม่สามารถดำรงสภาพของกำลังรบไว้ได้ตลอดเวลา จึงต้องมีการจัดการกำลังสำรองอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีประเด็นสำคัญ คือ หากนายจ้างไม่ให้มารายงานตัว จะถือมีความผิด และต้องจ่ายค่าจ้างตามปกติ

ปัจจุบันเป็นที่ทราบกันดีว่า ชายไทยทุกคนเมื่อถึงอายุครบเกณฑ์จะต้องไปรายงานตัวเพื่อรับหมายเรียกที่อำเภอท้องที่ซึ่งเป็นภูมิลำเนาทหารของตน สำหรับระบบการณ์ทหารในปัจจุบัน ถือเป็นหน้าที่ของบุคคลตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ตามพระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ. 2497 ที่กำหนดหน้าที่นี้ให้เฉพาะชายที่มีสัญชาติเป็นไทยตามกฎหมายมีหน้าที่ต้องเข้ารับราชการทหารด้วยตนเองทุกคน

โดยเมื่อชายไทยทุกคนมีอายุครบ 18 ปีบริบูรณ์ จะต้องไปรายงานตัวลงบัญชีเป็นทหารกองเกินไว้ และเมื่อมีอายุครบ 21 ปีบริบูรณ์ จะต้องถูกเรียกไปรับการตรวจเลือกเพื่อเข้ากองประจำการ ทั้งนี้ ชายไทยจำนวนมากไม่ต้องรับราชการทหารกองประจำการหากผ่านการเรียนรักษาดินแดนครบสามปี ชายไทยจำนวนมากจึงเลือกเรียน รด. ไปด้วยในระหว่างที่เรียนชั้นมัธยมปลาย สำหรับผู้ที่ไม่ได้เรียนรักษาดินแดน หรือ ผู้ที่เรียนรักษาดินแดนไม่จบชั้นปีที่ 3 จะต้องเข้าสู่กระบวนการตรวจเลือกเข้ากองประจำการเต็มขั้น โดยถูกจำแนกออกเป็นสี่จำพวกตามความสมบูรณ์ของร่างกาย หากมีผู้ประสงค์สมัครใจเข้ากองประจำการเต็มจำนวนที่รับแล้ว ก็จะไม่มีการจับสลาก ส่วนในกรณีที่มีผู้สมัครไม่พอและมีคนให้เลือกมากกว่าจำนวนที่ต้องการก็จะใช้วิธีจับสลากใบดำใบแดง ผู้จับได้ใบแดงจะต้องเข้ารับราชการทหารกองประจำการ

แม้จะมีบทลงโทษที่ร้ายแรง ก็ยังมีช่องโหว่ และการหาวิธีที่จะหลบเลี่ยงการรับราชการทหารกองประจำการด้วยวิธีต่างๆ อยู่ตลอด โดยหลายครั้งผู้ที่เป็นข่าวก็คือคนมีชื่อเสียงในสังคม

โดยเมื่อมองลึกลงไปถึงปัญหาของระบบเกณฑ์ทหารในปัจจุบัน จากการสอบถามจากผู้ที่เกี่ยวข้องกับระบบการเกณฑ์ทหารในปัจจุบัน พบว่ายังมีความเหลื่อมล้ำอยู่มาก เนื่องจากยังมีความคิดที่ฝังอยู่ในหัวว่า เป็นทหารเกณฑ์นั้นต้องลำบาก ฝึกหนัก อาจถูกทารุณลงโทษจากรุ่นพี่หรือครูฝึก รวมถึงความกลัวที่ต้องถูกส่งลงไปประจำการในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เหล่านี้ล้วนเป็นสาเหตุที่ทำให้ชายไทยไม่อยากเป็นทหารหรือหลีกเลี่ยงการเป็นทหารด้วยวิธีต่างๆ

คนที่เลือกเข้าสู่กระบวนการจับใบดำใบแดงตามปกติ ส่วนมากจึงยังคงมาจากครอบครัวของผู้ที่มีฐานะยากจน หรือชนชั้นล่างในสังคม ส่วนลูกหลานของชนชั้นกลางหรือคนที่มีฐานะทางการเงินส่วนใหญ่ จะเลือกใช้วิธีเรียนรด. เพื่อไม่ต้องเข้ารับการเกณฑ์ นอกจากนี้หากจะพูดกันตรงๆ ก็พูดได้ว่าสามารถใช้เงินซื้อเพื่อหลีกเลี่ยงการเป็นทหารได้ โดยอาจไม่ผ่านตอนตรวจร่างกาย

สำหรับเรื่อง พ.ร.บ. กำลังสำรองใหม่นี้ อาจมองได้หลายแง่มุม ว่ามีความจำเป็นเพียงใดกับประเทศไทยยามนี้ที่ไม่ได้อยู่ในภาวะศึกสงคราม การเรียกเกณฑ์ทหารตาม พ.ร.บ.นี้ จึงมีความจำเป็นเพียงพอหรือไม่? เกี่ยวกับประเด็นนี้ อาจารย์ทวี สุรฤทธิกุล คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (มสธ.) ได้ให้ความคิดเห็นไว้ว่า

“ผมมองว่า พ.ร.บ. กำลังสำรองใหม่ ที่กำลังจะออกมานี้ จุดประสงค์หลักไม่ได้เกี่ยวข้องกับภาวะสงครามว่ากำลังจะเกิดขึ้นในเร็ววันนี้ หรือเตรียมกำลังไว้ที่จะไปสู้รบกับใคร หากเป็นส่วนหนึ่งของวิธีการสร้างความเข้มแข็งภายในชาติมากกว่า เนื่องจากเป็นที่ทราบกันดีว่าประเทศไทยตอนนี้ประกอบไปด้วยมวลชนกลุ่มต่างๆ พ.ร.บ.นี้จึงน่าจะเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความสงบในประเทศมากกว่า ทั้งนี้ผมมองว่า พ.ร.บ. เกณฑ์ทหารเดิมก็ยังมีจุดอ่อน ยังไม่เข้มแข็งพอในบางแง่มุม เหมือนมีไว้ขึ้นบัญชีไว้เฉยๆ มากกว่า”

อาจารย์ทวี กล่าวเสริมต่ออีกว่า “ผมเข้าใจว่า พ.ร.บ. นี้ ในอีกประเด็นหนึ่งนั้น รัฐบาลคงต้องการใช้ประโยชน์จากกำลังสำรอง กรณีป้องกันวิกฤตต่างๆ ด้วยเช่นกัน ยกตัวอย่างที่เห็นชัดในปัจจุบันก็อย่างเช่น วิกฤตน้ำ รวมถึงวิกฤตต่างๆ ในอนาคต ที่อาจมีการระดมกำลังสำรองมาช่วยกันแก้วิกฤต ผมมองในแง่นี้มากกว่า เรื่องที่เกณฑ์มาเพื่อจะไปสู้รบกับใครนั้นเป็นประเด็นรองลงไปมากกว่า”

“ส่วนระบบเกณฑ์เดิม ผมมองว่ายังไม่มีความพร้อมในการระดมพล หรืออาจยังไม่มีประสิทธิภาพมากพอ เป็นเรื่องของการเตรียมพร้อมตรวจดูกำลังพลมากกว่า” อาจารย์ทวีกล่าวทิ้งท้าย

ทั้งนี้ เมื่อลองมองไปที่ประเทศมหาอำนาจด้านการทหาร อย่างสหรัฐอเมริกา ล่าสุดจากรายงานของสำนักข่าวบีบีซี กลับสวนทางกับประเทศไทย เพราะมีรายงานว่ากองทัพสหรัฐอเมริกากำลังจะเตรียมปรับลดกำลังพลทหาร 40,000 นาย ออกจากกองทัพในเวลา 2 ปี พร้อมประมาณตัดงบประมาณกองทัพ และเตรียมเลิกจ้างพนักงานพลเรือนในกองทัพอีก 17,000 ตำแหน่งด้วยเช่นกัน

แผนดังกล่าวจะถูกประกาศอย่างเป็นทางการในช่วงปลายสัปดาห์นี้ ซึ่งภายในปี 2560 กองทัพสหรัฐฯ จะเหลือทหารทั้งหมด 450,000 นาย แผนการปรับลดกำลังพลครั้งนี้ จะทำให้สหรัฐอเมริกามีกำลังพลในกองทัพน้อยที่สุด นับตั้งแต่ปี 2483 เป็นต้นมา (1ปีก่อนที่อเมริกาจะเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 2) โดยในขณะนั้นมีทหารประจำการทั้งหมด 270,000 นาย

การที่ประเทศที่มีศัตรูรอบด้านอย่างอเมริกาปรับลดกำลังทหาร สวนทางกับนโยบายที่ประเทศไทยกำลังทำ จึงน่าคิดว่า พ.ร.บ.กำลังสำรองใหม่ที่ออกมานี้ มีความจำเป็นเพียงใดในภาวะปัจจุบัน?




รายละเอียดเพิ่มเติม (คลิก)>>> ตัวอย่างงานในเซ็กชั่น "ASTVผู้จัดการ Live"




มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram

"ASTVผู้จัดการ Live" และ "@astv_live" กันได้ที่นี่!!


และสามารถส่งข่าวสารและเรื่องราวร้องทุกข์ในสังคมมาได้: astvmanager.live.lite@gmail.com
หรือ โทร.0-2629-4488 ต่อ 1477, Fax 0-2629-4754



กำลังโหลดความคิดเห็น