xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ชำแหละดรามา “เรือดำน้ำ” กับ “ไอ้โม่ง” หลังฉาก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เรือดำน้ำชั้นหยวนที่กองทัพเรือตกลงจะซื้อจากจีน
ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ในขณะที่ภาพข่าวสภาพความเดือดร้อนของชาวบ้าน และเกษตรกร จากวิกฤตการณ์ภัยแล้ง ถูกเผยแพร่ไปอย่างกว้างขวาง มีการนำเสนอแม่น้ำลำคลอง หรือเขื่อนต่างๆแห้งขอด รวมทั้งแง่มุมผลกระทบจากภัยธรรมชาติที่สร้างความเสียหายให้กับชาวไร่ชาวนา และพี่น้องประชาชนในภูมิภาคต่างๆทั่วประเทศ

ช่วงเดียวกันนี้เองกลับมีข่าว “คนละเรื่องเดียวกัน” อย่างโครงการจัดซื้อ “เรือดำน้ำ” ของกองทัพเรือ เข้ามาแทรกย้อนแยงขัดแย้งกันแบบคอนทราสสุดๆ

โดยเมื่อวันที่ 2 ก.ค.ที่ผ่านมา พล.ร.อ.ไกรสร จันทร์สุวานิชย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) เปิดเผยว่า กองทัพเรือ โดยคณะกรรมการคณะกรรมการพิจารณาจัดซื้อเรือดำน้ำของกองทัพเรือลงมติ 14-3 เลือกซื้อเรือดำน้ำ AUN Class S-26Tจากประเทศจีน จำนวน 3 ลำพร้อมอาวุธ คาดว่าจะใช้งบประมาณราว 3.6 หมื่นล้านบาท ซึ่งการจัดซื้อในครั้งนี้เป็นแบบแพ็คเกจ ทั้งเรื่องของเรือ อาวุธ การฝึกอบรม และการดูแลอะไหล่เรือดำน้ำ เป็นเวลา 8 ปี

แบบนี้ต้องเรียกว่า “จังหวะไม่ได้” เพราะทั้งสถานการณ์ภัยแล้ง ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ ไม่มีทีท่าว่าจะโงหัวขึ้น จึงมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงเหตุผลและความจำเป็นที่มีการหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมา เพราะหลายฝ่ายมองว่าประเทศไทยยังไม่พร้อมที่จะลงทุนเงินก้อนโตเพื่อเสริมเขี้ยวเล็บให้กับกองทัพ

อีกทั้งยังมีการตั้งข้อสังเกตว่า กองทัพหวังอาศัยช่วงที่ “รัฐบาลทหาร” ปกครองประเทศ เดินหน้าเรื่องนี้ให้สำเร็จลุล่วงเสียที หลังจากพยายามมาหลายครั้งหลายหน แต่ก็ถูก “รัฐบาลพลเรือน” มองข้าม และนำแฟ้มเรื่องนี้โยนใส่ลิ้นชักปิดประตูตายมาหลายรัฐบาล

อย่างเมื่อไม่กี่ปีก่อนก็มีข่าวว่า กองทัพเรือพยายามจะซื้อขอเรือดำน้ำเก่า จากประเทศเยอรมัน 6 ลำ ด้วยงบประมาณราว 7 พันล้านบาท แต่รัฐบาลพลเรือนตอนนั้นก็ไม่อนุมัติ จากนั้นก็ยังเจรจาขอซื้อเรือดำน้ำจากเกาหลีใต้ 2 ลำ ก็ถูกปฏิเสธโดยรัฐบาลอีก

จึงไม่แปลกที่ว่า เมื่อทหารเป็นใหญ่ จึงได้นำเรื่อง “เรือดำน้ำ” ขึ้นมาปัดฝุ่นอีกครั้ง

แต่ไม่ทันไรก็มีคำถามกระหึ่มขึ้นมาทันทีว่า ประเทศไทยจำเป็นต้องมีเรือดำน้ำจริงหรือ???

เสริมศักยภาพกองทัพ?

หากพิจารณาในแง่ของ “ความมั่นคง” ก็คงเป็นไปตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) บอกเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า เป็นแผนพัฒนากองทัพล่วงหน้า 10-20 ปี ไม่ได้ตั้งใจจะเอาไปรบกับใคร มีไว้ให้เกรงใจ

ขณะที่ พล.ร.อ.ไกรสรก็ได้ให้เหตุผลว่า ขณะนี้ประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ เวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย และสิงคโปร์ มีเรือดำน้ำเข้าประจำการมาหลายปีแล้ว ดังนั้นไทยต้องสร้างดุลอำนาจให้กองทัพเรือ สำหรับขั้นตอนการพิจารณาของกองทัพเรือได้ทำการศึกษามาอย่างดี เรือดำน้ำเป็นยุทธศาสตร์ใน การป้องปรามและศักยภาพดีที่สุด จึงไม่อยากให้สังคมวิพากษ์วิจารณ์ไปไกล เพราะทุกคนมีหน้าที่ของตัวเอง ทหารเป็นรั้วของชาติ

“อย่าพึ่งไปคิดว่าอะไรดีไม่ดี ต้องเชื่อใจกัน ถ้าให้กองทัพเรือรับผิดชอบในทะเลทั้งหมด ควรเชื่อใจทหารเรือ พวกท่านมาบอกว่าซื้อแล้วจะใช้เงินมากมาย ก็เป็นเงินของผมเหมือนกัน ภาษีของทุกคนเหมือนกัน ผมก็เสียดายเงิน ถ้าไม่ดี ผมก็ไม่อยากซื้อ ต้องเข้าใจคนอื่นบ้าง อย่าคิดคนเดียว” พล.ร.อ.ไกรสร กล่าวไว้

ผบ.ทร.กล่าวถึงเรื่องงบประมาณจัดซื้อเรือดำน้ำที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักในเรื่องงบประมาณด้วยว่า เรือดำน้ำเป็นสิ่งจำเป็นของกองทัพที่รัฐบาลสมควรอนุมัติ เพราะเป็นเรื่องงบประมาณต่อเนื่อง อีกทั้งอาจจะมีการตกลงปลีกย่อยได้อีก เนื่องจากเป็นการซื้อขายแบบจีทูจี โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นเรื่องของกองทัพ ซึ่งจะเพิ่มความแน่นแฟ้นระหว่างไทยและจีนมากยิ่งขึ้นด้วยซ้ำไป ดังนั้นการที่กองทัพเรือจะซื้อเรือดำน้ำจากจีนจึงเป็นความคุ้มค่า

“...แต่เลือกเวลาซื้อผิดไปหน่อยเท่านั้นเอง” นี่คือสิ่งที่ พล.ร.อ.ไกรสร ยอมรับ

ทั้งนี้ หากพิจารณาในแง่ความจำเป็น ด้วยภูมิประเทศของไทยที่มีทะเลสำคัญขนาบข้างทั้งอ่าวไทย และอันดามัน ก็ต้องบอกว่า ความมั่นคงเขตแดนทางทะเล มีไม่น้อยไปกว่าบริเวณชายแดนแผ่นดินที่ติดกับประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นที่รู้ว่ากันว่า ทรัพยากรทางธรรมชาติในอ่าวไทยมีมหาศาลเพียงใด

และเมื่อดูจากรายงานของ GlobalFirepower.com ซึ่งสำรวจเกี่ยวกับศักยภาพกองทัพของประเทศต่างๆทั่วโลกประจำปี 2015 ผลปรากฏว่า “ไทยแลนด์” อยู่อันดับที่ 20 ของจากการสำรวจทั้งหมด 126 ประเทศ และเป็นอันดับ 9 ของทวีปเอเชีย และเป็นอันดับ 2 ของภูมิภาคอาเซียน เป็นรองเพียงประเทศอินโดนีเซีย ที่มีภาพรวมศักยภาพทางกองทัพที่เหนือกว่า

GlobalFirepower.com ระบุด้วยว่า มีเพียง 4 ประเทศเท่านั้นในภูมิภาคอาเซียนที่มี “เรือดำน้ำ” ในครอบครองและประจำการอยู่ ประกอบด้วย อินโดนีเซีย 2 ลำ เวียดนาม 4 ลำ สิงคโปร์ 6 ลำ และมาเลเซีย 2 ลำ

น่าสนใจว่า ทุกประเทศที่มี “เรือดำน้ำ” ล้วนแต่มีภูมิประเทศอยู่รอบบริเวณอ่าวไทย หากมีเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้นไทยย่อมเสียเปรียบเพื่อนบ้านที่มี “เรือดำน้ำ” อยู่อย่างแน่นอน

ขณะเดียวกันก็มีกระแสข่าวว่า เวียดนามและอินโดนีเซียกำลังสั่งเรือดำน้ำ จากรัสเซียเพิ่มเติม ส่วนสิงคโปร์ก็เดินหน้าเสริมทัพเรือดำน้ำชุดใหม่ โดย เลือกของเยอรมัน ด้านฟิลิปปินส์ที่มีสภาพภูมิประเทศเป็นเกาะจำนวนมาก ก็กำลังพิจารณาสั่งซี้อเรือดำน้ำเพื่อมาใช้ในทางยุทธศาสตร์ เนื่องจากมีปัญหาข้อ พิพาทในทะเลจีนใต้กับหลายประเทศ

ส่วนไทยเองในอดีตก็เคยมีเรือดำน้ำประจำการอยู่หลายลำ แต่ก็ปลด ระวาง ไป 60 กว่าปีมาแล้ว ทางกองทัพก็ย่อมอยากถามกลับมาถึงประชาชนคนไทยด้วยว่า สมควรที่ไทยต้องมีเรือดำน้ำอีกครั้งหรือยัง ???

เมื่อเราไม่รู้อนาคต และไม่ได้เตรียมพร้อมไว้ก่อน ภัยคุกคามอาจมาโดยไม่รู้ตัวก็เป็นได้

ภูมิประเทศไม่เอื้ออำนวย

หากพูดถึงข้อพิพาทของไทยที่อาจเกิดขึ้นกับเพื่อนบ้าน ในส่วนของพื้นที่ทางทะเลนั้น ทุกคนคงไม่ปฏิเสธว่า ฝั่งอ่าวไทยมีความสำคัญและสุ่มเสี่ยงที่จะเกิดปัญหากับเพื่อนบ้านมากกว่าฝั่งอันดามัน เพราะมีพื้นที่ที่ติดกับหลายประเทศ ยังไม่มีการแบ่งสรรปันส่วนผลประโยชน์ทางทะเลกันอย่างเป็นกิจจะลักษณะ ย้อนไปไม่นานก็เพิ่งมีข้อพิพาทกับทางกัมพูชา ก่อนจะรุกลามมาถึงเรื่องแหล่งพลังงานในอ่าวไทย

เมื่อเป็นเช่นนี้หากกองทัพเรือไทยมีเรือดำน้ำมาประจำการ ภาคกิจหลักก็น่าจะอยู่ที่ด้านอ่าวไทยมากกว่าฝั่งอันดามัน

ช่วงเดียวกันในสังคมออนไลน์ได้มีการอัญเชิญ พระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงพระราชทานแก่ คณะรัฐมนตรี และ ผู้บัญชาการเหล่าทัพ ในวันเฉลิมพระชนมพรรษา 4 ธันวาคม 2550 ความว่า “...เราสร้างเรือให้พอเพียง เรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งนั่นนะ มันไม่พอเพียง มันเล็กเกินไป ยังเล็กเกินไป ก็อาจจะควรจะใหญ่กว่าหน่อย แต่ถ้าใหญ่เกินไปไม่พอเพียง ถ้าเล็กเกินไปก็ไม่พอเพียง เรือที่เขาจะทำเรือดำน้ำ เรือดำน้ำดำลงไป ไปปักเลนเลย ไอ้นี่เขาโกรธ เดี๋ยวเขาโกรธเอาว่า เรือแล่นๆไป ดำน้ำไม่พอ ใครมาเครื่องบินเห็นแจ๋วเลยต้องไปจมเลน ถึงจะไม่เห็น แล่นๆไปปักเลน ถ้าอยากไปที่ที่ลึก ก็ไปอยู่นอกเส้น ก็รู้สึกว้าเหว่ไกลกัน ไอ้เรือดูแลใกล้ฝั่งนี่ดีกว่า แต่ลำที่เราทำเราสร้างก็ใช้ได้ดีแล้ว แต่ควรจะสร้างต่อไปให้ใหญ่กว่านี้ ใหญ่กว่านี้หน่อย...”

พระราชดำรัสในวันนั้นเน้นถึง แนวทางเศรษฐกิจพอเพียง พิจารณาอุปกรณ์เครื่องใช้ว่าเหมาะสมพอแล้วหรือไม่อย่างไร ที่สำคัญอ่าวไทยเป็นทะเลน้ำตื้น อาจจะไม่เหมาะกับกับใช้เรือดำน้ำ

สอดคล้องจากข้อมูลที่ระบุตรงกันว่า ทะเลฝั่งอ่าวไทยมีความลึกเฉลี่ยอยู่ที่ 45 เมตร และมีความลึกสูงสุดไม่เกิน 100 เมตร ว่ากันตามเนื้อผ้าคงต้องบอกว่า ไม่เอื้ออำนวยกับการขับเคลื่อนของเรือดำน้ำมากเท่าไรมัก ยิ่งหากเป็นเรือดำน้ำขนาดใหญ่ว่ากันว่า แล่นผ่านเข้ามาไม่ได้

“บรรยง พงษ์พานิช” หนึ่งในผู้ทรงคุณวุฒิคณะกรรมการนโยบายและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ หรือซูเปอร์บอร์ดรัฐวิสาหกิจ ที่ คสช.ดึงมาช่วยงาน ก็ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า “เมื่อประมาณ 5 ปีก่อน... ผมเจอคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ขณะที่เป็นนายกฯ ท่านบ่นให้ฟังว่า."ผมมีปัญหา... กรมอุตุฯอยากให้แถลงต่อประชาชนว่าอ่าวไทยนั้นตื้นเกินกว่าที่จะมีสึนามิขนาดใหญ่ แต่กองทัพเรืออยากให้ประกาศว่ามันลึกพอที่จะต้องมีเรือดำน้ำหนึ่งกองเรือ"

ตลกร้ายบนหน้าวอลล์ของคุณบรรยง ถือเป็นข้อมูลระดับเอ็กซ์คลูซีฟที่ชี้ให้เห็นว่า ทางกองทัพเรือก็รู้ดีถึงข้อจำกัดความตื้นความลึกของอ่าวไทยต่อการมีเรือดำน้ำ

สองมุมมองอดีตนายพล ทร.

ขณะที่ พล.ร.ท.ประทีป ชื่นอารมณ์ อดีตผู้บัญชาการหน่วยปฏิบัติการลำน้ำโขง (นปข.) และอดีตนายทหารปราบเรือดำน้ำประจำเรือหลวงตาปี แสดง ความคิดเห็นออกไปในเชิง “ยังไม่เห็นด้วย” กับการโยนหินถามทางออกมา ทั้งที่รายละเอียดของโครงการยังไม่เรียบร้อย โดยระบุว่า ในฐานะอดีตทหารเรือ อยากให้น้องๆในกองทัพมองเรื่องความคุ้มค่าและความเหมาะสมก่อน เพราะภารกิจที่สำคัญของเรือดำน้ำคือ ดักซุ่มโจมตีเรือผิวน้ำทุกประเภท และ ลักลอบ ส่งกำลังขนาดเล็กขึ้นฝั่งเพื่อทำจารกรรมและก่อวินาศกรรม ก็ต้องตอบคำถามชาวบ้านที่ว่า จะเอาไปรบกับใครในย่านนี้ ขณะที่ปีหน้าก็จะเปิดประชาคมเศรษฐกิจร่วมกันแล้ว ในแง่งบประมาณก็ต้องลองเปรียบเทียบโครงการจัดหาเรือบรรทุก ฮ.จักรีนฤเบศรที่ต้องใช้งบประมาณมหาศาลเช่นกัน

“ฐานะทางเศรษฐกิจของประเทศในยามนี้มีนเอื้ออำนวยแล้วหรือ หาคำตอบเหล่านี้ให้ชัดเจน ก่อนจะไปให้สัมภาษณ์ ถ้ายังไม่ชัดเจน เรื่องต่างๆเหล่านี้ กรุณาอย่าไปสัมภาษณ์เลยมันไม่ get smart เลย!! คนเขาจะว่าได้ว่า กองทัพเรือก็ชอบฉกฉวยโอกาสในช่วงปฏิวัติรัฐประหารกับเขาเหมือนกัน” พล.ร.ท.ประทีป กล่าว

พล.ร.ท.ประทีป กล่าวต่อว่า การมีหรือไม่มีเรือดำน้ำนั้นขึ้นอยู่กับ ยุทธศาสตร์ชาติและยุทธศาสตร์ของกองทัพ ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับสภาพสิ่งแวดล้อมทั่วๆไปของพื้นที่ปฏิบัติการของเรือดำน้ำ ซึ่งสภาพสิ่งแวดล้อม ทั่วๆไปของอ่าวไทยมีลักษณะเป็นโคลนมาก ตามที่ในหลวงท่านตรัสว่าเรือดำน้ำดำลงไปหัวจะทิ่มโคลน และมีความลึกเฉลี่ย 49-50 เมตร ลึกสูงสุดทางตะวันออกของเกาะสมุยประมาณ 70-80 เมตร และมีพื้นที่ส่วนนี้ค่อนข้างจำกัด จากที่เคยมีประสบการณ์ร่วมฝึกปราบเรือดำน้ำกับกองทัพอเมริกันในพื้นที่อ่าว ไทย ปรากฏว่าการเดินทางของ เรือดำน้ำอเมริกันจะลอยลำบนผิวน้ำ และดำลงใต้น้ำเฉพาะในพื้นที่ดังกล่าวทางตะวันออกของเกาะสมุยประมาณ 70-80เมตรเท่านั้น

“พื้นที่ในอ่าวไทยเป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติการของเรือดำน้ำ” พล.ร.ท.ประทีป ระบุ

พล.ร.ท.ประทีป ได้ตั้งคำถามถึงยุทธศาสตร์ชาติและยุทธศาสตร์กองทัพเรือด้วยว่า หากมีการกำหนดยุทธศาสตร์ว่า จะพัฒนาเป็น "Blue Water Navy” หรือเป็นกำลังทางเรือเพื่อปฏิบัติการในทะเลลึก หมายถึงจะมีการปฏิบัติการทางเรือนอกอ่าวไทย หากเป็นเช่นนี้ก็สมควรที่จะมีเรือดำน้ำ เพื่อเป็นกำลังทางรุกไม่ใช่ทางรับ แต่อย่าลืมว่าเรากำลังจะเป็นประชาคมอาเซียน ซึ่งจะเปิดพรมแดนกันเร็วๆนี้ว่า การทำเช่นนั้นจะขัดแย้งกับแนวทางประชาคมเศรษฐกิจหรือไม่ หรือเรามองแค่ว่า บางประเทศในกลุ่มอาเซียนมีเรือดำน้ำ เราถึงต้องมีบ้าง

พล.ร.ท.ประทีป วิเคราะห์ถึงสถานการณ์ความขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้นว่า การรบจะเกิดเมื่อมีความขัดแย้ง แล้วโอกาสความขัดแย้งที่จะเกิดนั้นคือเรื่องอะไร แน่นอนขัดแย้งเรื่องผลประโยชน์ในทะเล ในทะเลความขัดแย้งทั้งในอ่าวไทยและทะเลอันดามัน ที่ไทยมีโอกาสมากที่สุดคือ กับกัมพูชาในอ่าวไทย ซึ่งมีพื้นที่อ้างสิทธิ์ทับซ้อนกันอยู่ แต่อีก 20 ปีกำลังทางเรือของกัมพูชาก็เทียบกับไทยไม่ได้ ส่วนเวียดนามกับมาเลเซียเรื่องเขตแดนทางทะเลจบกันไปแล้ว จึงไม่มีความจำเป็น ส่วนด้านอันดามัน ก็คงอาจจะมีปัญหากับพม่าเรื่องกรรมสิทธิ์เหนือเกาะต่างๆ ซึ่งอยู่ในระดับเจรจากันได้ แม้ถ้าเจรจากันไม่ได้ ใน20ปีนี้พม่าคงไม่คิดรบกับไทยเพราะกำลังทางเรือเปรียบเทียบกับไทยยังไม่ได้ ส่วนเรื่องเขตแดนทางทะเลเราก็ไม่มีปัญหากับมาเลเซีย อินโดนีเซีย หรืออินเดีย ในทะเลอันดามันจึงยังไม่จำเป็นต้องมีใน พ.ศ.นี้

“สรุปได้ว่าถ้าเป็นเรื่องภัยคุกคามแล้ว ใน พ.ศ.นี้และในอีก10-20ปีข้างหน้าเรายังไม่มีภัยคุกคามที่จะเป็นเงื่อนไขบีบบังคับให้ต้องจัดหาเรือดำน้ำ หรือหากจะมีก็เพราะเราปรับยุทธศาสตร์กองทัพเรือให้เป็น Blue Water Navy แต่มันจำเป็นต้องมียุทธศาสตร์นี้หรือไม่ คงต้องมาถกกันอีกประเด็นหนึ่ง” พล.ร.ท.ประทีป กล่าวทิ้งท้าย

ด้าน พล.ร.อ.ชัย สุวรรณภาพ อดีตรองผู้บัญชาการทหารสูงสุด อดีตผู้บัญชาการกองเรือยุทธการ ผ่านการศึกษาการปราบเรือดำน้ำ จากประเทศ สหรัฐอเมริกา ถือว่าเป็นผู้หนึ่งที่มีความรู้ด้านเรือดำน้ำไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าใครน ประเทศก็แสดงความคิดเห็นว่า ประเทศไทยควรที่จะมีเรือดำน้ำมานานแล้ว เพียงแต่ที่ผ่านมาในสมัยรัฐบาลพลเรือนมักไม่เห็นความสำคัญ จึงเป็นโอกาสดีที่รัฐบาล คสช.หยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมา แต่ก็ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ ไม่เช่นนั้นอาจจะส่งผลเสียหายทั้งในแง่งบประมาณที่ต้องสูญเสียไป และความรู้สึกของประชาชน แต่ผู้เกี่ยวข้องควรชี้แจงให้เกิดความเข้าใจ เพราะพอมีเรื่องนี้ขึ้นมาก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก แต่กลับไม่สามารถชี้แจงกันได้ อย่างเรื่องงบประมาณก็ต้องบอกให้ชัดว่า ไม่ได้ใช้ทีเดียว 3.6 หมื่นล้านบาท ยังมีขั้นตอนอีกมาก

พล.ร.อ.ชัยชี้ว่า ประโยชน์ของเรือดำน้ำ นอกจากในภาวะสงครามมีการสู้ รบกันแล้ว ยังมีประโยชน์ในแง่ยุทธศาสตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภูมิประเทศของไทย ที่มีอาณาเขตและทรัพยากรธรรมชาติในอ่าวไทยค่อนข้างมาก การที่จะมีกองเรือดำน้ำเพื่อทำหน้าที่ป้องกันอ่าวไทยจึงมีความจำเป็น เพราะในอนาคตเราไม่รู้แน่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง อาจจะมีการกระทบกระทั่งกับเพื่อนบ้าน จนที่สุดนำไปสู่การ “ปิดอ่าวไทย” และหากประเทศเหล่านั้นนำเรือดำน้ำมาประจำการ ก็ยากที่ทัพเรือไทยที่มีเพียงเรือผิวน้ำจะต่อกรได้ ไทยก็ต้องตกอยู่ในสถานการณ์ลำบาก

สำหรับเรื่องภูมิประเทศที่เป็นข้อจำกัดนั้น พล.ร.อ.ชัยมองว่า แม้ทะเลอ่าวไทยจะมี่ความลึกไม่มาก แต่เรือดำน้ำที่กำลังจัดซื้อนั้น ก็ไม่ใช่เรือดำน้ำ ขนาด ใหญ่ เป็นเรือดำน้ำที่มีขนาดเหมาะสมกับภูมิประเทศของไทย ซึ่งก็ขึ้นอยู่ กับการใช้งานด้วย ส่วนเรื่องงบประมาณ 3.6 หมื่นล้านบาทก็เห็นว่า ไม่ได้สูงเกินไป หรือต่ำเกินไป เชื่อว่ากองทัพเรือมีการศึกษามาดีแล้ว เรื่องจำนวน 3 ลำก็มีความเหมาะสม เพราะในการปฏิบัติงานจริง อาจจะออกประจำการ 1 ลำ ลำอื่นๆอาจต้องเข้ารับการซ่อมบำรุง ถ้าซื้อแค่ลำเดียว เกิดมีปัญหาขึ้นมา ก็เท่ากับไร้ประโยชน์

ถือเป็น 2 มุมมองของนายทหารอาวุโสที่อาจจะแตกต่างกันบางมุม แต่ก็เห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า กองทัพเรือควรจะมีข้อมูลที่ชัดเจน ก่อนจะออกมาให้รายละเอียด

รัฐถังแตก - ลือ “ไอ้โม่ง” รองาบค่าคอมฯ

ระยะหลังเป็นที่คุ้นหูกันดีกับวลีเด็ดของ พล.อ.ประยุทธ์ที่มักตอบเวลาถูกถามถึงโครงการเมกะโปรเจ็กต์ต่างๆว่า “จะไปเอาเงินที่ไหน เงินมันมีเยอะหรืองัย” ตรงนี้ยิ่งย้ำประเด็นข้อสงสัยถึงสภาพเศรษฐกิจไทยตอนนี้ว่าเหมาะสม ที่จะตั้งงบประมาณนำภาษีของประชาชนไปเสริมแสนยานุภาพของกองทัพหรือไม่ เพราะไม่ใกล้เคียงสภาวะสงครามที่ต้องไปรบราฆ่าฟันกับใคร

และต้องยอมรับว่า เศรษฐกิจไทยกำลังอยู่ในขาลง ยังไม่มีทีท่าว่าจะฟื้นตัวในเร็ววันนี้ด้วย ทั้งภาษีที่เก็บไม่ได้ตามเป้า การส่งออก-ท่องเที่ยวที่ตกต่ำตาม ตลาดโลก พืชผลทางการเกษตรก็ย่ำแย่ ภาวะภัยแล้งยังซ้ำเติมเข้ามาอีก งบประมาณภาครัฐก็มีสัญญาณว่าขาดมืออย่างหนัก ยังต้องแบกหน้าไปหยิบยืมเงินหน่วยงานรัฐด้วยกันเอง อย่าง กสทช. หรือ ธ.ก.ส. ขนาดโครงการสวัสดิการสังคมอย่างสุขภาพดีถ้วนหน้าหรือ “บัตรทอง” ก็ทำท่าจะล้มแหล่ไม่ล้มแหล่ จน พล.อ.ประยุทธ์ ต้องออกมาบ่นให้ฟังอยู่หลายครั้ง

กระแสสังคมยังมองว่า การใช้ข้ออ้างว่า 3.6 หมื่นล้านนั้นเป็นงบประมาณผูกพันผ่อนชำระ 8 ปี ก็คงฟังไม่ขึ้นนัก เพราะอย่างไรก็ต้องเสีย 3.6 หมื่นล้านอยู่ดี ซึ่งสามารถนำไปใช้ในโครงการอื่นที่มีประโยชน์ต่อส่วนรวมได้มากกว่าจะไปสร้างความมั่นคงทางทะเล

สังคมไทยยังไม่ลืมการผลาญภาษีเพื่อซื้อยุทโธปกรณ์ของกองทัพ ที่ถูกจับได้ในภายหลังว่าไม่คุ้มค่า ทั้ง “เรือเหาะตรวจการณ์” มูลค่ากว่า 450ล้านบาท ที่สุดท้ายไม่ได้ใช้ประโยชน์ใดๆ เลย ก่อนซุ่มเงียบแทงจำหน่ายเป็นของชำรุด หลังซื้อมาเพียงไม่กี่ปี หรือ “ไม้ล้างป่าช้า” เจ้าเครื่อง CT 2000 ที่มีต้นทุนไม่ถึงพันบาท แต่กลับซื้อก้นหลักล้าน ที่สุดความแตกว่าไม่ได้มีคุณสมบัติตรวจหาวัตถุระเบิดได้เลย

ดังนั้นรัฐบาลจึงควรคิดให้รอบคอบอย่างยิ่ง จะมองว่าเป็นช่วง “นาทีทอง” คืนกำไรให้กับ “ขุนทหาร” ก็คงได้ไม่คุ้มเสีย

เสียงลือเสียงเล่าอ้างยัง วิเคราะห์ไปถึงเบื้องลึกเบื้องดีลในครั้งนี้ ที่กองทัพเรือมีมติแทบจะเอกฉันท์เลือกเรือดำน้ำของจีน ว่าเป็นเพราะ “คอนเนกชั่น” ของบางคนในทีม “กุนซือ คสช.”

แน่นอน ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร คงต้องให้ พล.อ.ประวิตร วงศ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ไปตรวจสอบข้อมูลเรื่องนี้ให้กระจ่างเพื่อคลายข้อสงสัยของสังคม



พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
พล.ร.อ.ไกรสร จันทร์สุวานิชย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.)
พล.ร.ท.ประทีป ชื่นอารมณ์ อดีตผู้บัญชาการหน่วยปฏิบัติการลำน้ำโขง (นปข.) และอดีตนายทหารปราบเรือดำน้ำประจำเรือหลวงตาปี
กำลังโหลดความคิดเห็น