xs
xsm
sm
md
lg

จะซื้อเรือดำน้ำไปรบกับใคร

เผยแพร่:   โดย: สุรวิชช์ วีรวรรณ

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี บอกว่า เรื่องเรือดำน้ำ รอดูขั้นตอน ถ้ามันสามารถซื้อได้ ต้องดูความจำเป็นว่าจะต้องซื้อหรือไม่ หรือมีไว้เพื่อรบ หรือมีเพื่อไม่รบ หรือจะรบกับใครมาหรือไม่รบกับใคร ทรัพยากรที่จะต้องดูแลมีหรือไม่ เรามีทะเลอ่าวไทยอ่าวเดียวหรืออย่างไร อันไหนอันดามันมีหรือไม่ จำเป็นจะต้องปกป้องพิทักษ์ทรัพยากรทางทะเลหรือไม่ ไม่ได้มีเพื่อไปรบยิงกับใคร แต่มีเพื่อให้เกรงใจ วันหน้าจะรักษาการเดินเรืออย่างไร เดินการประมงอย่างไร ก็เห็นอยู่ว่าทะเลอื่นเขามีปัญหา วันหน้าคิดว่าจะไม่มีปัญหาหรืออย่างไร มันเป็นศักยภาพเท่านั้นเอง

ผมคุยกับอดีตนายทหารเรือซึ่งเคยฝึกปราบเรือดำน้ำในอ่าวไทย ผมถามเขาว่า สภาพทะเลอ่าวไทยเหมาะกับการปฏิบัติการของเรือดำน้ำหรือไม่ เขาตอบว่า ไม่เหมาะเพราะทั่วไปเป็นทะเลที่มีโคลนมากเกินไป ตามที่ในหลวงทรงตรัสว่าดำลงไปก็ปักเลน การฝึกได้ในพื้นที่ไม่กว้างนักแถวกลางๆ อ่าวไทยด้านตะวันออกของเกาะสมุยเท่านั้น ซึ่งมีน้ำลึกประมาณ 70-80 เมตร จึงกล่าวได้ว่า อ่าวไทยไม่เหมาะกับการปฏิบัติการของเรือดำน้ำ เพราะสามารถถูกตรวจจับได้ง่าย (ผิดหลักการการใช้เรือดำน้ำที่ต้องซ่อนพรางในการเดินทาง) ส่วนใหญ่เรือดำน้ำอเมริกันเดินทางเข้าอ่าวไทยทางผิวน้ำทั้งนั้น

ข้อมูลในวิกีพิเดียบอกว่า อ่าวไทยมีพื้นที่ 300,858.76 ตารางกิโลเมตร ชายฝั่งทะเลอ่าวไทยทอดยาว 1,840 กิโลเมตร มีความลึกเฉลี่ย 45 เมตร ซึ่งถือว่าตื้นมาก จุดที่ลึกที่สุดลึกเพียง 80 เมตร

ผมถามว่า เมื่อสภาพตามธรรมชาติอ่าวไทยไม่เหมาะกับการปฏิบัติการของเรือดำน้ำแล้วจะมีเรือดำน้ำไปทำไม อดีตนายทหารเรือกล่าวว่า ต้องกลับไปดูว่า ยุทธศาสตร์ชาติและยุทธศาสตร์ของกองทัพเรือว่าอย่างไร ถ้าชาติไทยต้องการเป็นพี่เบิ้มในย่านอาเซียน กองทัพเรือก็ต้องมี ยุทธศาสตร์ “Blue Water Navy” คือ เป็นกองทัพเรือที่ให้ความสำคัญการปฏิบัติการในทะเลลึก ถ้ายุทธศาสตร์ชาติ และยุทธศาสตร์ของกองทัพเรือเป็นอย่างนี้ แน่นอน “สมควรอย่างยิ่งที่ต้องมีเรือดำน้ำ”

เพราะเรือดำน้ำนับเป็นอาวุธทางรุกที่ทรงอานุภาพ (ยังไม่ต้องพูดถึงอาวุธประจำเรือ) เพราะซ่อนพรางตัวเองได้ดีกว่าเรือผิวน้ำและเครื่องบิน/กองเรือผิวน้ำย่อมยำเกรงภัยจากเรือดำน้ำมากกว่าภัยจากเครื่องบิน โดยภารกิจหลักของเรือดำน้ำคือ ดักซุ่มโจมตีเรือผิวน้ำทุกประเภท และลักลอบส่งหน่วยจารกรรมขึ้นฝั่ง

“Blue Water Navy” ก็คือ การตั้งเป้าในการมุ่งสู่ยุทธศาสตร์น่านน้ำทะเลลึกอย่างมีประสิทธิภาพ คือ ต้องมีเรือผิวน้ำขนาดใหญ่ตั้งแต่ชั้นฟริเกตขึ้นไปมากๆ มีเรือดำน้ำ มีกองบินนาวี มีนาวิกโยธินพร้อมเรือเคลื่อนย้าย นั่นคือเรากำลังจะเปลี่ยนเป็นยุทธศาสตร์เชิงรุกถามว่าไทยมีความจำเป็นหรือไม่ที่ต้องใช้ยุทธศาสตร์สำแดงกำลัง (Presentation of Force) และยุทธศาสตร์แบบป้องปราม (Deterrence) เพื่อแสดงให้รู้ว่าเรามีกำลังเพียงพอที่จะปกป้องและรักษาผลประโยชน์แห่งชาติ

เราจำเป็นต้องสะสมสมรรถภาพในการรบเพื่อให้กลายเป็นพี่เบิ้มในกลุ่มอาเซียนในวันที่อาเซียนกำลังผนึกรวมเป็นหนึ่งเดียวกันเช่นนั้นหรือ เราจะเกิดการแย่งชิงทรัพยากรทางทะเลจนเกิดข้อพิพาทต้องทำสงครามกับประเทศเพื่อนบ้านเช่นนั้นหรือ หรือเราจะเป็นพี่เบิ้มในภูมิภาคนี้แข่งกับจีนหรือสหรัฐฯ

อย่าลืมว่า การสะสมอาวุธก็คือ การแสดงแสนยานุภาพเชิงรุกเพื่อให้เพื่อนบ้านยำเกรงหรือเกิดความหวาดระแวง แล้วมันจะสอดคล้องกับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในอีกไม่กี่วันข้างหน้า ที่มีคำขวัญว่า “One Vision, One Identity, One Community” “หนึ่งวิสัยทัศน์ หนึ่งเอกลักษณ์ หนึ่งประชาคม” เช่นนั้นหรือ

นายทหารเรือท่านนั้น กล่าวว่า ในภูมิภาคนี้ใน 10 ปีข้างหน้าสำหรับประเทศไทยแล้วโอกาสจะเกิดการแย่งชิงทรัพยากรในทะเลมีความเป็นไปได้น้อยมาก เพราะไม่มีปัญหาเรื่องเขตแดนในทะเลทั้งในทะเลอ่าวไทยและทะเลอันดามัน ยกเว้นกับกัมพูชาที่มีปัญหาพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนในอ่าวไทย แต่ศักยภาพของกองทัพเรือไทยสูงกว่ากัมพูชามากเกินจะไปเปรียบเทียบกันได้ ดังนั้น ความจำเป็นในการจัดหาเรือดำน้ำใน พ.ศ.นี้ จึงยังไม่มี

“ไม่มีความจำเป็นเพราะอย่างไรเสีย อเมริกันและจีนคงแย่งชิงกันอยู่แล้ว” เขากล่าว

ส่วนที่พล.อ.ประยุทธ์พูดว่า เรายังมีทะเลอันดามันนั้น แน่นอนว่าในทะเลอันดามันเป็นทะเลเปิดและทะเลน้ำลึกที่เรือดำน้ำจะแสดงศักยภาพได้ดี แต่ถามว่าในฝั่งอันดามันเรามีกรณีพิพาทกับใครไหมไม่ว่าจะเป็นอินโดนีเซีย มาเลเซีย พม่า หรืออินเดีย แม้จะมีปัญหาเรื่องดินแดนเกาะคันหรือเกาะนกกับพม่าแต่ก็ไม่รุนแรงอยู่ในระดับเจรจากันได้ เพราะฉะนั้นภัยคุกคามฝั่งอันดามันไม่มีเลย

พูดได้ว่า การพูดของพล.อ.ประยุทธ์เรื่องอันดามันนั้น เหมือนกับไม่รู้ศักยภาพของตัวเอง เพราะเป็นพื้นที่ที่พี่เบิ้มของโลกอย่างสหรัฐฯ และจีนยึดครองอยู่แล้ว และมีข้อมูลว่า จีนก็ได้เข้าไปมีบทบาทตลอดจนลงทุนพัฒนาท่าเรือในเขตมหาสมุทรอินเดียด้วยแล้ว เช่น ท่าเรือ Sittwe ในพม่า, Chittagong ในบังกลาเทศ, ท่าเรือ Hambantota ของศรีลังกา ตลอดจนท่าเรือ Gwadar ในปากีสถาน เป็นต้น ดังนั้น แค่คิดมีเรือดำน้ำในทะเลอันดามันก็ผิดแล้ว

ส่วนที่ประเทศในกลุ่มอาเซียนอย่างเวียดนาม ฟิลิปปินส์ และมาเลเซียต้องมีเรือดำน้ำเพราะเขามีกรณีพิพาทเรื่องหมู่เกาะสแปรตลีกับจีน เพราะต่างก็รู้ว่าใครครอบครองหมู่เกาะนี้ได้มากเท่าไรก็จะครอบครองทรัพยากรธรรมชาติในทะเลมากเท่านั้น

พล.ร.อ.ไกรสร จันทร์สุวานิชย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ บอกว่า ตอนนี้อย่าพึ่งไปคิดว่าอะไรดีไม่ดี แต่ทุกคนต้องทำหน้าที่ตัวเองให้ดีที่สุด ต้องเชื่อใจกัน ถ้าให้กองทัพเรือรับผิดชอบในทะเลทั้งหมด ควรเชื่อใจทหารเรือ แต่ถ้ามานั่งคิดว่า ตรงนั้น หรือตรงนี้ไม่ได้ ท่านก็มาเป็นทหารเรือก็แล้วกัน จะได้รู้ว่าเป็นอย่างไร การเป็นทหารเรือไม่ง่าย ถ้าคนที่อยู่ในเรือและต้องดำน้ำ 21วันโดยไม่โผล่มาเห็นเดือน เห็นตะวัน เขาเสียสละกันแค่ไหน พวกท่านมาบอกว่าซื้อแล้วจะใช้เงินมากมาย ก็เป็นเงินของผมเหมือนกัน ภาษีของทุกคนเหมือนกัน ผมก็เสียดายตังค์ ถ้าไม่ดี ผมก็ไม่อยากซื้อ ต้องเข้าใจคนอื่นบ้าง อย่าคิดคนเดียว

ขณะที่อดีตนายทหารเรือบอกผมว่า โครงการของทหารเรือที่ใช้งบประมาณสูงๆ เช่น การจัดหาเรือจักรีนฤเบศรคือ โครงการตัวอย่างที่มีคำตอบที่คนใน ทร.รับรู้กันอย่างประจักษ์แล้วใช่หรือไม่ว่าไม่คุ้มค่า เครื่องบินขึ้นลงทางดิ่งหมดสภาพและนักบินต้องหมดอายุการใช้งานไปโดยปริยาย เรือจักรีฯ มีไว้เพียงเพื่อโชว์เท่านั้น ถ้า ทร.ต้องการมีเรือดำน้ำเพราะตั้ง “กองเรือดำน้ำ” ไว้แล้ว ก็จงดูตัวอย่าง “กองเรือบรรทุก ฮ.” ที่มีเพียงเรือจักรีฯ จอดเทียบท่างามสง่าเป็นตัวอย่าง

แน่นอนเรามีคำกล่าวที่ว่า แม้หวังตั้งสงบ จงเตรียมรบให้พร้อมสรรพ การตั้งอยู่บนความไม่ประมาทเป็นสิ่งที่ดี แต่ต้องตั้งอยู่บนความ “พอเพียง” และ “ประมาณตน” ด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น