เอเอฟพี - ม็อคตาร์ เบลม็อคตาร์ นักรบญิฮาดเครือข่ายอัลกออิดะห์ ผู้สั่งการบุกยึดโรงแยกก๊าซแอลจีเรียเมื่อปี 2013 ถูกเครื่องบินสหรัฐฯ ทิ้งระเบิดปลิดชีพแล้วเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา รัฐบาลลิเบียฝ่ายที่นานาชาติให้การยอมรับแถลงวานนี้ (14 มิ.ย.)
ถ้อยแถลงซึ่งโพสต์ลงเฟซบุ๊ก ระบุว่า “เครื่องบินของอเมริกาได้ปฏิบัติภารกิจโจมตี จนสามารถสังหาร ม็อคตาร์ เบลม็อคตาร์ และสมาชิกกลุ่มก่อการร้ายทางภาคตะวันออกของลิเบียได้สำเร็จ”
เบลม็อคตาร์ เป็นผู้นำกลุ่มติดอาวุธ อัล-มูราบิทูน ซึ่งมีฐานที่มั่นอยู่ทางตอนเหนือของแอฟริกา และยังเป็นอดีตผู้บัญชาการเครือข่ายอัลกออิดะห์ในดินแดนอิสลามมัฆริบ (AQIM) ด้วย
นักรบญิฮาดผู้ตาบอดข้างหนึ่งรายนี้มีประวัติบงการเหตุโจมตีในหลายประเทศ และอยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ยึดโรงแยกก๊าซ อิน อามีนาส ในแอลจีเรียเมื่อปี 2013 ซึ่งปิดฉากลงด้วยการสูญเสียชีวิตตัวประกันถึง 38 คน ส่วนใหญ่เป็นชาวตะวันตก
ประกาศจากรัฐบาลลิเบียมีขึ้นไม่นาน หลังจากที่กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ แถลงว่า กองทัพอเมริกันได้ส่งเครื่องบินไปโจมตี “ผู้ก่อการร้ายเครือข่ายอัลกออิดะห์” ที่ซ่อนตัวอยู่ในลิเบีย
“เรายังอยู่ระหว่างประเมินผลปฏิบัติการครั้งนี้ และจะแจ้งรายละเอียดเพิ่มเติมให้ทราบต่อไปในเวลาที่เหมาะสม” พ.อ.สตีฟ วอร์เรน โฆษกเพนตากอน ระบุในคำแถลงวานนี้ (14) พร้อมยืนยันว่าภารกิจโจมตีเกิดขึ้นเมื่อคืนวันเสาร์ (13)
ทางการสหรัฐฯ ยังไม่ยืนยันผลของปฏิบัติการครั้งนี้ในทันที ซึ่งที่ผ่านมาโดรนของวอชิงตันก็ถูกส่งไปโจมตีเป้าหมายในภูมิภาคดังกล่าวอยู่เป็นระยะๆ
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลลิเบียกลับให้ข้อมูลเชิงลึกว่า การโจมตีครั้งนี้เกิดขึ้น “หลังจากที่สหรัฐฯ ได้ปรึกษาหารือกับรัฐบาลชั่วคราว” ในเมืองตอบรู๊ก (Tobruk)
แหล่งข่าวในรัฐบาลลิเบียระบุว่า เครื่องบินสหรัฐฯ ทิ้งระเบิดใส่เป้าหมายทางตอนใต้ของเมืองอัจดาบิยา ซึ่งห่างจากเมืองเบงกาซีไปทางตะวันตกราวๆ 160 กิโลเมตร
ก่อนหน้านี้ เคยมีข่าวลือว่า เบลม็อคตาร์ ถูกสังหารในมาลี แต่แหล่งข่าวด้านความมั่นคงให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวเอเอฟพีเมื่อปีที่แล้วว่า เบลม็อคตาร์ได้หลบหนีไปกบดานอยู่ในลิเบีย
อัล-มูราบิทูน ถือกำเนิดขึ้นจากการผนวกกลุ่มติดอาวุธ 2 กลุ่ม ได้แก่ “ซิกนาทอรีส์ อิน บลัด” ของเบลม็อคตาร์ และ “มูเจา” (MUJAO) ซึ่งเป็นนักรบญิฮาดกลุ่มหนึ่งที่สามารถยึดพื้นที่ตอนเหนือของมาลีได้ในช่วงปี 2012 - 2013
หลังจาก อัล- มูราบิทูน ได้ออกมาประกาศสวามิภักดิ์ต่อกลุ่มติดอาวุธรัฐอิสลาม (ไอเอส) เมื่อเดือนที่แล้ว เบลม็อคตาร์ ก็แถลงทันทีว่า “ไม่เอาด้วย” และจะขอสนับสนุนอัลกออิดะห์ต่อไป ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการช่วงชิงอำนาจภายในกลุ่มของเขาเอง
ที่ผ่านมา รายงานหลายฉบับที่เอ่ยถึง อัดนาน อบูวาฮิด ซาห์ราวี ในฐานะผู้นำสูงสุดคนใหม่ของ อัล-มูราบิทูน ซึ่งทำให้หลายฝ่ายเกิดคำถามเกี่ยวกับชะตากรรมของเบลม็อคตาร์
ลิเบียเริ่มตกอยู่ในภาวะไร้ขื่อแป นับตั้งแต่นาโตเข้าให้การสนับสนุนการปฏิวัติประชาชนโค่นล้มพันเอก มูอัมมาร์ กัดดาฟี เมื่อปี 2011 หลังจากนั้น ลิเบียก็แตกแยกเป็น 2 ฝ่าย โดยแต่ละฝ่ายก็มีการจัดตั้งรัฐบาลและรัฐสภาแข่งกัน ขณะที่กลุ่มติดอาวุธท้องถิ่นก็ฉวยโอกาสที่บ้านเมืองไม่สงบแผ่ขยายอิทธิพลและแสวงหาผลประโยชน์จากทรัพยากรน้ำมัน
การรุกรานจากนักรบญิฮาดยังทำให้คลื่นผู้อพยพจากแอฟริกายอมเสี่ยงตายข้ามทะเลเมดิเตอร์เรเนียนไปยังยุโรป จนกลายเป็นวิกฤตที่บีบให้สหภาพยุโรปต้องเร่งตอบสนองอยู่ในเวลานี้