xs
xsm
sm
md
lg

อัลกออิดะห์ในแอฟริกาเหนือโว “เบลม็อคตาร์” ยังอยู่ดีมีสุข-ปัดถูกเครื่องบินมะกันสอยดับ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอเอฟพี – เครือข่ายอัลกออิดะห์ในแอฟริกาเหนือปฏิเสธการเสียชีวิตของ ม็อคตาร์ เบลม็อคตาร์ อดีตผู้นำกลุ่ม ซึ่งมีกระแสข่าวว่าถูกสังหารด้วยปฏิบัติการโจมตีทางอากาศของสหรัฐฯในลิเบียเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว โดยยืนยันว่าผู้นำอิสลามิสต์รายนี้ยังคงมีชีวิตอยู่

“อบู อัล-อับบาส ยังมีชีวิตอยู่ และสุขภาพแข็งแรงดี” เครือข่ายอัลกออิดะห์ในดินแดนอิสลามัฆริบ (AQIM) ได้แถลงผ่านเว็บไซต์ โดยเอ่ยถึง เบลม็อคตาร์ ด้วยชื่อที่รู้จักกันแพร่หลายในแวดวงนักรบญิฮาด พร้อมระบุว่า เป้าหมายที่แท้จริงของสหรัฐฯ คือพวกนักรบที่อยู่ทางตอนเหนือของลิเบีย

รัฐบาลลิเบียฝ่ายที่นานาชาติให้การยอมรับออกมาให้ข่าวเมื่อวันอาทิตย์(14)ว่า เบลม็อคตาร์ ถูกปลิดชีพแล้วจากการโจมตีของเครื่องบินรบอเมริกา ซึ่งที่ผ่านมาก็เคยมีข่าวลือในทำนองนี้ออกมาหลายครั้ง

กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ยอมรับว่า เบลม็อคตาร์ คือเป้าหมายของการโจมตี แต่ก็ไม่ยืนยันว่าปฏิบัติการของเครื่องบินขับไล่ F-15 สไตรก์ อีเกิล ที่ติดตั้งระเบิดน้ำหนัก 500 ปอนด์นั้น สามารถปิดตำนานผู้นำนักรบญิฮาดชาวแอลจีเรียได้จริงหรือไม่

เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา(15) กลุ่มนักรบ อันซอร์ อัล-ชารีอะห์ ซึ่งเป็นเครือข่ายอัลกออิดะห์เช่นกันก็ยืนยันว่า เบลม็อคตาร์ ไม่ได้ถูกระเบิดตายตามที่เป็นข่าว แต่มี “ผู้สละชีพ” 7 คนบริเวณฟาร์มแห่งหนึ่งใกล้ๆ เมืองอัจดาบิยา ห่างจากเมืองเบงกาซีไปทางตะวันตกราว 160 กิโลเมตร

เบลม็อคตาร์ ซึ่งมีฉายามากมาย เช่น “นักรบผู้ไม่มีใครตามจับได้” (The Uncatchable) “มิสเตอร์มาร์ลโบโร” และ “ไอ้ตาเดียว” เป็นผู้นำกลุ่มติดอาวุธ อัล-มูราบิทูน ซึ่งมีฐานที่มั่นอยู่ทางตอนเหนือของแอฟริกา และยังเป็นอดีตผู้บัญชาการเครือข่ายอัลกออิดะห์ AQIM ด้วย

นักรบญิฮาดผู้นี้มีประวัติบงการเหตุโจมตีในหลายประเทศ และอยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ยึดโรงแยกก๊าซ อิน อามีนาส ในแอลจีเรียเมื่อปี 2013 ซึ่งปิดฉากลงด้วยการสูญเสียชีวิตตัวประกันถึง 38 คน ส่วนใหญ่เป็นชาวตะวันตก

ก่อนหน้านี้ เคยมีข่าวลือว่า เบลม็อคตาร์ ถูกสังหารในมาลี แต่แหล่งข่าวด้านความมั่นคงให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวเอเอฟพีเมื่อปีที่แล้วว่า เบลม็อคตาร์ได้หลบหนีไปกบดานอยู่ในลิเบีย

ลิเบียเริ่มตกอยู่ในภาวะไร้ขื่อแป นับตั้งแต่นาโตเข้าให้การสนับสนุนการปฏิวัติประชาชนโค่นล้มพันเอก มูอัมมาร์ กัดดาฟี เมื่อปี 2011 หลังจากนั้น ลิเบียก็แตกแยกเป็น 2 ฝ่าย โดยแต่ละฝ่ายก็มีการจัดตั้งรัฐบาลและรัฐสภาแข่งกัน ขณะที่กลุ่มติดอาวุธท้องถิ่นก็ฉวยโอกาสที่บ้านเมืองไม่สงบแผ่ขยายอิทธิพลและแสวงหาผลประโยชน์จากทรัพยากรน้ำมัน

การรุกรานจากนักรบญิฮาดยังทำให้คลื่นผู้อพยพจากแอฟริกายอมเสี่ยงตายข้ามทะเลเมดิเตอร์เรเนียนไปยังยุโรป จนกลายเป็นวิกฤตที่บีบให้สหภาพยุโรปต้องเร่งตอบสนองอยู่ในเวลานี้


กำลังโหลดความคิดเห็น