xs
xsm
sm
md
lg

ลุยทำเนียบ-สภาลงชื่อล้มกม.ปิโตรฯ คปพ.ลั่นหากไม่ถอน นัดเจอใหม่18ก.ค.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ASTV ผู้จัดการรายวัน - คปพ.บุกทำเนียบฯลงชื่อค้าน 2 ร่าง พ.ร.บ.อัปยศ ของกระทรวงพลังงาน “ปานเทพ” ชี้ช่องโหว่เพียบ เปิดโอกาสใช้ดุลพินิจมิชอบ แนะนายกฯทำประชาพิจารณ์เทียบ พ.ร.บ.ภาคประชาชน ขู่เคลื่อนไหวต่อหากไม่ถอนร่างฯ นัดอีกที 18 ก.ค. พร้อมยื่นหนังสือจี้ “พรเพชร” ไม่รับ 2 ร่าง กม.เข้าวาระ สนช. สับเนื้อหาหมกสัมปทานจำแลง ประธาน สนช.แจงร่างยังมาไม่ถึงสภา ยันพร้อมยึดหลักการและผลประโยชน์ชาติ

วานนี้ (9 ก.ค.) ที่ศูนย์บริการประชาชน ทำเนียบรัฐบาล (ฝั่ง ก.พ.) เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) นำโดย นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ นายคงสัน โพธิ์คง ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี นายวีระ สมความคิด และ พญ.กมลพรรณ ชีวพันธ์ศรี พร้อมด้วยประชาชนจำนวนหนึ่ง เดินทางเข้ายื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ เพื่อคัดค้านร่างแก้ไขพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ปิโตรเลียมฯ และร่างแก้ไข พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียมฯ ที่กระทรวงพลังงานได้เสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) และ ครม.มีมติเห็นชอบในหลักการไปแล้ว โดยมี นายกมล สุขสมบูรณ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นผู้รับเรื่อง

นายปานเทพ กล่าวว่า หลังจากที่ร่าง พ.ร.บ.ทั้ง 2 ฉบับผ่านความเห็นชอบจาก ครม.ตั้งแต่วันที่ 12 พ.ค.ที่ผ่านมา และได้ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกาเมื่อวันที่ 8 ก.ค.ที่ผ่านมา และคาดว่าจะส่งให้ สนช. พิจารณาต่อไป คปพ.จึงมายื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีเพื่อให้ยับยั้งและถอนร่าง พ.ร.บ.ออกจากคณะกรรมการกฤษฎีกาและ สนช. ซึ่งภาคประชาชนเห็นว่า พรบ. ทั้ง 2 ฉบับไม่สามารถรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนได้ อีกทั้งยังเต็มไปด้วยช่องโหว่ที่เปิดโอกาสให้มีการใช้ดุลพินิจมิชอบ ก่อให้เกิดการทุจริตมหาศาล นอกจากนี้จะมีการนำเสนอร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม ฉบับประชาชน ให้มีการเปรียบเทียบกับร่างของกระทรวงพลังงานด้วย และเสนอให้มีการทำประชาพิจารณ์รับฟังความคิดเห็นประชาชนถึงร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว

“ขอยืนยันว่าจะยังคงมีการเคลื่อนไหวของ คปพ.ต่อไปจนกว่าจะมีการถอนร่าง พ.ร.บ.ทั้ง 2 ฉบับออกจากการพิจารณา โดยวันที่ 11 ก.ค.นี้ ทาง คปพ.จะมีการจัดแถลงข่าวเพื่อให้ข้อมูลและรายละเอียด รวมทั้งเปรียบเทียบร่างฯ ฉบับประชาชนและฉบับกระทรวงพลังงาน” นายปานเทพ กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในระหว่างที่เครือข่าย คปพ.เข้ายื่นหนังสือนั้น บรรยากาศภายในศูนย์บริการประชาชนเป็นไปอย่างคึกคักมีประชาชนที่เดินทางมาจังหวัดต่างๆเพื่อสนับสนุนแนวทางของ คปพ.ร่วมลงชื่อคัดค้านร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับ ทั้งนี้ก่อนสลายตัวทางแกนนำได้ประกาศว่า คปพ.จะมีการชุมนุมอีกครั้งในวันที่ 18 ก.ค.ที่โรงแรมเอเชีย เวลา 08.00 น. เพื่อฟังแนวทางจาก สนช. และกำหนดท่าทีเคลื่อนไหวต่อไป

** วอน “พรเพชร” อย่าบรรจุวาระ

ต่อมาที่อาคารรัฐสภา เครือข่าย คปพ. นำโดย ม.ล.กรกสิวัฒน์ นายวีระ และ พญ.กมลพรรณ ชีวพันธ์ศรี เข้ายื่นหนังสือต่อ นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พล.อ.สกนธ์ สัจจานิต ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพลังงาน สนช. ในฐานะประธาน กมธ.วิสามัญศึกษาปัญหาการบังคับใช้ พ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ.2514 และพ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ.2514 และ น.ส.รสนา โตสิตระกูล กมธ.ปฏิรูปพลังงาน สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.)

ม.ล.กรกสิวัฒน์ กล่าวว่า พวกตนมาด้วยไมตรีจิตรและความเป็นมิตร เพราะห่วงใย ต่อ สนช.และท่าทีของพล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เนื่องจากที่ผ่านมาสนช.ได้มีการตั้ง กมธ.ศึกษา พ.ร.บ.ปิโตรเลียม และมีรายงานออกมาเป็นที่พอใจของประชาชน เพราะมีประโยชน์ และมีประเด็นที่จำเป็นจะต้องแก้ไข แต่ขณะที่ผลการศึกษายังไม่เสร็จสิ้น ทางกระทรวงพลังงานได้เสนอร่างแก้ไข พ.ร.บ.ปิโตรเลียมฯ และร่างแก้ไข พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียมฯ เข้าสู่ที่ประชุม ครม. โดยไม่มีการบรรจุ หรือแก้ไขปัญหาตามที่ กมธ.ของสนช.ทำไว้แต่อย่างใด ทำให้เกิดความกังวลใจของภาคประชาชนว่า ร่างกฎหมายที่กำลังอยู่ที่คณะกรรมการกฤษฏีกาคงไม่ได้รับการแก้ไขปัญหาที่ประชาชนห่วงใย

** เตือน ปชช.จะเข้าใจผิด

ม.ล.กรกสิวัฒน์ กล่าวต่อว่า ทางกระทรวงพลังงานงานยังอ้างว่ามีการทำประชาพิจารณ์ร่าง พ.ร.บ.ทั้ง 2 ฉบับไปแล้ว แต่ในทางข้อเท็จจริงไม่เคยทราบว่า มีการทำประชาพิจารณ์ หรือรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน จึงห่วงว่าประชาชนจะเข้าใจคลาดเคลื่อนว่า ร่างกฎหมายที่กำลังดำเนินการจากกระทรวงพลังงานนั้นเป็นกฎหมายของสนช. ทั้งที่ทาง สนช.ยังไม่ได้รับร่างกฎหมายนี้แต่อย่างใด นอกจากนี้ในร่างกฎหมายที่กระทรวงพลังงานเสนอนั้น แม้จะเขียนเพิ่มเติมในเรื่องระบบแบ่งปันผลผลิตแล้วก็ตาม แต่เมื่อได้อ่านแล้วปรากฏว่ามันไม่ใช่ กลายเป็นสัมปทานจำแลง โดยให้เอกชนนำปิโตรเลียมไปขายทั้งหมดแล้วแบ่งเงินให้รัฐ ซึ่งไม่ตรงกับหลักการแบ่งปันที่รัฐต้องตรวจนับปริมาณปิโตรเลียมก่อนแล้วจึงแบ่งให้เอกชน

“ขอความเมตตา กรุณาและความเป็นธรรม ประธาน สนช.ขอให้ถอนร่างกฎหมายของกระทรวงพลังงานออกไปก่อน เพราะเกรงว่าประชาชนจะเข้าใจผิด และจะสั่นคลอนต่อความเชื่อมั่นจากประชาชน โดยควรมีการตั้งคณะทำงานขึ้นมาทำการยกร่างกฎหมายใหม่ ภายใต้การศึกษาของ กมธ.ที่มี พล.อ.สกลธ์ เป็นประธาน รวมไปถึงนำร่างกฎหมายของภาคประชาชนมาร่วมพิจารณาเพื่อให้เกิดกฎหมายที่ดีที่สุด และเป็นประโยชน์ต่อประเทศและสร้างความมั่นคงของชาติที่สุด ก่อนเสนอเข้าสู่ที่ประชุม สนช.ต่อไป” ม.ล.กรกสิวัฒน์ กล่าว

** สนช.ยังไม่เห็นทั้ง 2 ร่าง

นายพรเพชร กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีเสนอร่างกฎหมายตามที่ระบุมายัง สนช. ซึ่งตนได้กำชับต่อสมาชิก สนช.ว่า การพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ต่างๆจะต้องคำนึงผลประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก โดยจะต้องมีการเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องมาชี้แจง และมาร่วมเป็น กมธ.เพื่อทำร่างกฎหมายให้ดีที่สุด พวกตนจะดำเนินการตามหลักการ เมื่อมีการเสนอร่างเข้ามาก็ต้องมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงเพิ่มเติม โดยจะมีการประสานงานกับเจ้าของร่างเพื่อให้เปลี่ยนแปลงหลักการบางอย่างเพื่อให้เป็นประโยชน์กับประชาชนมากที่สุด

** ชง 6 ประเด็นปฏิรูปพลังงานทดแทน

ที่รัฐสภา นายดุสิต เครืองาม ที่ปรึกษา กมธ.ปฏิรูปพลังงาน แถลงผลการดำเนินงานของคณะอนุ กมธ.ปฏิรูปพลังงานทดแทน พลังงานหมุนเวียนและการอนุรักษ์พลังงานว่า อนุกมธ.ได้กำหนดวาระปฏิรูปใน 6 ประเด็น ดังนี้ 1.ประชาชนเป็นผู้ใช้ผู้ผลิตและจำหน่ายพลังงาน โดยเสนอโครงการส่งเสริมการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าแสงอาทิตย์สำหรับบ้านและอาคารอย่างเสรี ซึ่งได้เสนอไปยัง ครม.แล้ว 2.การปฏิรูปกฏหมายด้านพลังงานทดแทนและพลังงานหมุนเวียน โดยจัดทำร่าง พ.ร.บ.พลังงานทดแทน พ.ศ. .. ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการยกร่าง 3.วิจัยและพัฒนาทดแทน พลังงานหมุนเวียนและอนุรักษ์ โดยจัดทำแนวทางการปฏิรูปพลังงานชีวภาพ และปฏิรูปแนวทางการส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านพลังงานชีวภาพของภูมิภาคอาเซียนภายใน 10 ปี 4.การอนุรักษ์พลังงานภาคบังคับเพื่อให้เกิดการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด โดยลดความเข้มข้นของการใช้พลังงานของประเทศให้ได้ร้อยละ 20 ภายใน 10 ปี 5.การใช้พลังงานไฟฟ้าในระบบโลจิสติกส์ โดยเสนอโครงการปฏิรูปเรื่องการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย และเน้นการส่งเสริมกรณียานยนต์ไฟฟ้าเป็นหลัก ทั้งนี้ได้เสนอเรื่องไปยัง ครม.แล้ว และ 6.เสนอให้แยกกรมพัฒนาพลังงานทดแทน และอนุรักษ์พลังงาน ให้เป็นคนละหน่วยงาน เพื่อให้มีองค์กรหลักดูแลการพัฒนาการพลังงานทดแทนและการอนุรักษ์พลังงานออกจากกันอย่างชัดเจน

** ปตท.ขายทิ้งธุรกิจน้ำปาล์มในอินโดฯอีก

อีกด้าน นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) ปตท.มีมติอนุมัติให้ บริษัท ปตท. กรีน เอ็นเนอร์ยี่ (ไทยแลนด์) จำกัด (PTTGE SG) บริษัทย่อยของ ปตท.ในประเทศสิงคโปร์ ดำเนินการจำหน่ายเงินลงทุนทั้งหมดใน บริษัท PT Az Zhara ที่ถือหุ้นโดยทางตรงและถือหุ้นทางอ้อมผ่าน PTT Green Energy Services (Netherlands) B.V.,Sabran Brothers และผู้ร่วมทุนท้องถิ่น จำนวน 99.98 % และโอนหนี้ให้แก่ Mr. Muhammad Agustiar Sabran Afandie โดย PTT Green Energy Services(Netherlands) B.V.,Sabran Brothers และ Mr. Muhammad Agustiar Sabran Afandie ได้มีการลงนามในสัญญาซื้อขายหุ้น (Sale and Purchase Agreement) เรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้ PTTGE SG ได้เริ่มเข้าถือหุ้นของ PT Az Zhara ซึ่งจัดตั้งและประกอบธุรกิจปลูกปาล์มน้ำมันและผลิตน้ำมันปาล์มในประเทศอินโดนีเซีย ตั้งแต่ปี 2551 การจำหน่ายเงินลงทุนดังกล่าวสอดคล้องกับนโยบายการปรับโครงสร้างของกลุ่ม ปตท. โดยมูลค่ารายการทั้งหมดเป็นเงินจำนวน 6.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 224.4 ล้านบาท ซึ่งเป็นราคาที่ต่อรองกันอย่างเป็นอิสระระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย ทั้งนี้ ปตท. คาดว่าการจำหน่ายไปซึ่งเงินลงทุนทั้งหมดและการโอนหนี้ใน บริษัทย่อยนี้จะแล้วเสร็จภายในเดือนก.ย.58 ซึ่งจะส่งผลให้บริษัทย่อยนั้นสิ้นสภาพการเป็นบริษัทย่อยของ ปตท.
กำลังโหลดความคิดเห็น